ข่าวล่ามาปลุกให้ตื่นแต่น่าสนใจเพราะไอคิวเด็กไทยเกือบต่ำกว่ามาตรฐาน


พบ IQ เด็กไทย เฉลี่ย 91 จุด เท่ากับกัมพูชา-บรูไน จัดเป็นอันดับที่ 53 จาก 190 ประเทศ ขณะที่ IQ ของคนสิงคโปร์-ฮ่องกง สูงถึง 108

พบ IQ เด็กไทย เฉลี่ย 91 จุด เท่ากับกัมพูชา-บรูไน จัดเป็นอันดับที่ 53 จาก 190 ประเทศ ขณะที่ IQ ของคนสิงคโปร์-ฮ่องกง สูงถึง 108 
       
   นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการเปิดการประชุมโครงการสำรวจสถานการณ์สติปัญญาเด็กไทย 2554เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พศ.2553 ว่า  กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข เร่งสำรวจไอคิวเด็กไทยทั่วประเทศจำนวนกว่า  93,923 ราย  ซึ่งคาดว่าจะเริ่มแจกแบบสำรวจราวเดือน ธ.ค.2553 และจะได้ทราบผลราวเดือน ม.ค. 2554
       
       สำหรับสถานการณ์ของระดับไอคิวนั้น ในปีจากการสำรวจระดับสติปัญญาหรือไอคิวเด็กใน 190 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2549 พบว่าตัวเลขไอคิว (IQ) เฉลี่ยของเด็ก ในระดับมาตรฐานสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับอยู่ที่ 90-110 จุด โดยมีระดับต่ำที่สุดคือ 59 จุด และสูงที่สุดคือ 108 จุด ซึ่งมีเพียง 66 ประเทศเท่านั้นที่ระดับไอคิวเฉลี่ยได้ตรงตามมาตรฐานสากล ส่วนระดับไอคิวเฉลี่ยของเด็กไทยอยู่ที่ระดับ 91 ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ระดับไอคิวของเด็กไทยยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากเกือบตกเกณฑ์มาตรฐาน และไทยยังอยู่ในลำดับเดียวกันกับประเทศบรูไน และกัมพูชา
       
       นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับประเทศที่มีระดับไอคิวสูงที่สุดในโลก 10 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง และ สิงคโปร์ มีระดับไอคิวเฉลี่ย 108 เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ มีระดับไอคิวเฉลี่ย 106 ญี่ปุ่น จีนและไต้หวันมีระดับไอคิวเฉลี่ย อยู่ที่ 105 อิตาลีเฉลี่ยที่ 102 ไอซ์แลนด์ มองโกเลีย และสวิสเซอร์แลนด์ เฉลี่ยที่ 101 ส่วนประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในอันดับที่ 53 จาก 190 ประเทศ
       
       “ทั้งนี้ คาดว่าจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องของการให้ความสำคัญกับการเพิ่มไอโอดีนในเครื่องปรุงอาหาร เช่น เกลือ ซอส น้ำปลา และนยาบายให้ไอโอดีนเม็ดเพื่อเพิ่มไอคิวของเด็กไทยนั้น จะสามารถมีผลในการพัฒนาระดับไอคิวสูงขึ้นได้ แต่ก็คงต้องใช้เวลานานสักระยะ ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ไอโอดีนมีผลต่อพัฒนาการไอคิวราว 10-15 จุด” นายจุรินทร์กล่าว
       
        นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2553 ถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาระบุว่าความเฉลียวฉลาดทางปัญญา (ไอคิว) เด็กไทยอยู่ที่ระดับ 91 จุด ขณะที่มาตรฐานสากลอยู่ที่ 90-110 จุด ซึ่งเท่ากับประเทศกัมพูชา และบรูไน ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม และมาเลเซีย ว่าทาง ศธ.ได้ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ในฐานะที่ตนเป็นรองประธาน อีกทั้งบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกันระหว่าง ศธ.และ สธ. ซึ่งทาง สธ.นั้นจะเป็นคนดำเนินการในการตรวจสอบไอคิวของนักเรียนหรือเด็กทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมา สธ.ได้ออกประกาศกำหนดให้ เกลือ น้ำเกลือปรุงอาหาร น้ำปลา และซอสปรุงรส เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใส่ไอโอดีน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสในการได้รับสารไอโอดีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาสมองเด็กไทย ในส่วน ศธ.นั้นจะต้องเอาใจใส่อย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่ทดสอบไอคิว แต่ต้องมาดำเนินการในการที่จะให้เด็กได้รับอาหารที่ต้องครบทุกหมู่ ออกกำลังกายที่ถูกต้องและสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนา ทั้ง ไอคิวและความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ไปพร้อมกันด้วย
       
       “ขณะนี้ทาง ศธ.ได้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ไอคิวเด็กไทย ต้องใส่ใจและพัฒนาอย่างยั่งยืน คือสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนให้มีโอกาสได้เรียนรู้ทุกพื้นที่ เมื่อเด็กและเยาวชน ในจำนวน 12 ล้านคน ได้เข้ามาสู่ในกระบวนการเรียนในระบบของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กจะได้รับการดูแลในเรื่องของ การดื่มนมฟรี กินอาหารกลางวันฟรี พัฒนาสุขลักษณะที่ต้องถูกในโรงเรียน และยังดูแลในเรื่องของการจัดงบสู่การเรียนฟรี 15 ปี ตลอดจนมีโครงการที่ช่วยเหลือเด็กอย่างรอบด้าน อาทิ โครงการเยี่ยมบ้านนักเรียน ทั้งนี้ยังมีการช่วยเหลือเด็กพิการในวัยเรียน โดยโครงการนี้เรียกว่าการสอนพ่อแม่ที่บ้านให้เป็นครูด้วย”

        อันที่จริงเรื่องไอคิวเด็กนี้ได้ถูกละเลยมานาน  จนไม่มีหน่วยงานใดจับประเด็นมาเป็นปัญหาในระดับชาติ จนล่วงเลยมาถึงไอคิวเด็กจะต่ำกวามาตรฐานจึงมีการกล่าวถึง ถือเป็นการปลุกให้ทุกคนในชาติได้รับรู้และจะได้ร่วมกันพัฒนาไอคิวเด็กกันอีกครั้ง  งานหนักก็น่าจะเป็นของคุณครูอีกเช่นเคย   หลักสูตรมีเปลี่ยนถี่มากในช่วง สิบกว่าปีที่ผ่านมาก็ยังพบคำตอบที่ชัดเจนว่าไม่ได้มีการพัฒนาไอคิวเด็กเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด  แต่งบประมาณกลับเพิ่มเท่าทวีคูณ   ถึงเวลาแล้วที่จะตื่นมามองปัญหาเรื่องไอคิวอีกครั้งอย่างจริงจังจะคอยติดตามต่อไป

        แหล่งอ้างอิงข้อมูล.....ผู้จัดการออนไลน์  ประจำวันที่ 9 ธันวาคม พศ.2553

หมายเลขบันทึก: 412930เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2010 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท