คุยสบายๆ ...เรื่อง Labกับพยาบาล ปี 2553


เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพและถูกต้อง ....การแลกเปลี่ยนความรู้ครั้งที่ 1/ 2553

           ห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์หรือเรียกสั้นๆว่าห้องLabนั้น มีบทบาทสำคัญในการให้บริการการตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และอีกภารกิจหนึ่งคือการให้ความรู้และทักษะการปฏิบัติงานทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการทำงานนั้นต้องสัมพันธ์กับทั้งแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์หน่วยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพยาบาลมีบทบาทสำคัญกับห้องปฏิบัติการมาก โดยเฉพาะการเก็บสิ่งส่งตรวจที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นการได้รู้จักการทำงานของกันและกันจึงทำให้การทำงานร่วมกันนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

           

 

แนะนำLabและบุคลากรในสายงาน

            คุณอารีย์ ประสิทธิพยงค์ ได้แนะนำหัวหน้าห้องปฏิบัติการและหน่วยงานทั้งหมดของห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ว่ามี 8 หน่วยงานคือ งานธนาคารเลือด งานโลหิตวิทยา งานชีวเคมี งานจุลทรรศน์วิทยา งานอิมมูโนวิทยา งานจุลชีววิทยา ห้องเจาะเลือด และห้องปฏิบัติการนอกเวลา ซึ่งจะต้องใช้สิ่งส่งตรวจที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของงานเช่น เลือด อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำจากช่องท้อง น้ำไขสันหลัง เสมหะ Swabจากแผลและจากอวัยวะต่างๆ เป็นต้น ซึ่งลำดับของการเจาะเลือดที่ส่งตรวจก็มีส่วนสำคัญกับผลการตรวจวิเคราะห์ ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ได้มีโอกาสมาอธิบายให้ได้เข้าใจถึงการทำงานร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างLabกับพยาบาลซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง

 

      

 

รูปแบบการทำงานในห้องปฏิบัติการ

            คุณศิริรัตน์ ตันสกุล ได้อธิบายถึงรูปแบบการทำงานในห้องปฏิบัติการนั้นมีกระบวนการทำงานโดยแบ่งเป็น ก่อนการตรวจวิเคราะห์ การตรวจวิเคราะห์ หลังการตรวจวิเคราะห์  ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็มีความสำคัญและ ต้องใช้เวลาในการทำงานในแต่ละขั้นตอนสามารถทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งโดยความผิดพลาดก่อนการวิเคราะห์นั้นจะพบมากถึง 45% ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนการเตรียมผู้ป่วย การสั่งตรวจ การเก็บตัวอย่าง การขนส่งตัวอย่าง รวมถึงการตรวจรับตัวอย่าง เนื่องจากสิ่งส่งตรวจที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม  แม้จะทำการตรวจวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำเพียงใด ผลการตรวจวิเคราะห์ที่ได้ นอกจากจะไม่มีประโยชน์ใดๆต่อผู้ปป่วยแล้ว กลับจะส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยด้วย ส่วนขั้นตอนการวิเคราะห์นั้นห้องปฏิบัติการมีขบวนการควบคุมคุณภาพทั้งภายนอกและภายในถูกต้องตามมาตรฐานของสภาเทคนิคการแพทย์

ลักษณะของการให้บริการ   ซึ่งได้แบ่งเป็น 4 ระดับตามความจำเป็นคือ

  1. ติดธงแดงหรือSuper stat – ด่วนที่สุด

  2. Stat  - ด่วนมาก

  3. ASAP (As soon As Possible) – ด่วน

  4. Routine – ปกติ

โดยมีการประกันเวลาในการรอคอยหรือ Turn Around Time (TAT) ในแต่ละชนิดตามแต่ห้องปฏิบัตินั้นๆและผลการวิเคราะห์ที่ได้จะมีการรายงานผลที่หน่วยงานสั่งตรวจเป็นใบรายงานผล

 

        

 

การจัดลำดับของหลอดเลือด    เมื่อมีการเจาะเลือดพร้อมกันหลายชนิดนั้นต้องคำนึงถึงประเภทของการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยว่าส่งตรวจการทดสอบชนิดไหน? ซึ่งในกรณีการสั่งตรวจการทดสอบที่ต้องใช้หลอดเลือดหลายประเภท ควรพิจารณาเก็บเลือดในลำดับดังนี้

ลำดับที่ 1 – ขวดสำหรับHemoculture 

ลำดับที่ 2 – หลอดสำหรับ Coagulation (Sodium citrate) : PT,PTT’TT

ลำดับที่ 3 – หลอดสำหรับ Clotted blood

ลำดับที่ 4 – หลอดLithium heparin (E,lyte)

ลำดับที่ 5 – หลอด EDTA  ( CBC , HbA1c)

ลำดับที่ 6 – หลอด Sodium fluoride (Glucose)

การจัดลำดับก่อน-หลังเป็นการป้องกันการปนเปื้อนระหว่างกันในขณะเจาะเลือด ซึ่งจะไปรบกวนการตรวจ โดยชี้ถึงผลการตรวจวิเคราะห์ที่ได้ อาจทำให้ค่าขึ้นสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง โดยไม่เกี่ยวกับพยาธิสภาพผู้ป่วยเลย

 

การปฏิเสธสิ่งส่งตรวจ   ในกรณีที่ตัวอย่างตรวจกับใบสั่งตรวจไม่ตรงกัน  ยกตัวอย่างรพ.รามา จะใส่หลอดเลือดทั้งหมดของผู้ป่วย หนึ่งคนพร้อมใบสั่งตรวจในถุงซิป เป็นต้น  (อาจจะนำมาใช้ในอนาคต)  การเก็บสิ่งส่งตรวจผิดคน  การส่งสิ่งส่งตรวจผิดประเภทเช่น ต้องใช้หลอดเลือดที่ใส่สารกันเลือดแข็งเลือด(จุกม่วง) สำหรับการตรวจ CBC แต่เจาะมาใช้หลอดไม่ใส่สารกันเลือดแข็ง(จุกแดง)มาก็ไม่สามารถทำการทดสอบได้หรือการเก็บสิ่งส่งตรวจ ผิดเวลา ผิดวิธี ก็มีผลต่อการตรวจวิเคราะห์ทั้งสิ้น

 การขอตัวอย่างซ้ำ  มีบางกรณีของห้องLab จำเป็นต้องขอตัวอย่างซ้ำ เนื่องจากอาจจะมีค่าสูงหรือต่ำผิดปกติหรือตัวอย่างน้อยเกินไปเม็ดเลือดแตกหรือเลือดมีความขุ่น จนไปรบกวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

 

การรายงานผลค่าวิกฤติ  ค่าวิกฤติหมายถึงค่าที่ผิดปกติทั้งค่าสูงหรือต่ำผิดปกติ ซึ่งมีผลต่อผู้ป่วยซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลแก้ไขและต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที โดยต้องมีการทวนสอบและขอทราบชื่อพยาบาลที่รับแจ้งเรื่อง(ตามมาตรฐานที่ต้องบันทึก)

 

การสั่งตรวจและการรายงานผลทางโทรศัพท์ 

-  ห้องปฏิบัติการไม่มีนโยบายในการรับการสั่งตรวจด้วยวาจา ในกรณีที่แพทย์ต้องการสั่งตรวจเพิ่มเติมจากสิ่งส่งตรวจเดิมที่ส่งมาแล้ว ต้องแจ้งห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของตัวอย่างและสั่งตรวจเพิ่มโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และส่งใบตรวจเพิ่มมาที่ห้องปฏิบัติการ   

-  ห้องปฏิบัติการไม่มีนโยบายการรายงานผลทางโทรศัพท์ไม่ว่ากรณีใดๆ  

 

การส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการภายนอก  เมื่อมีการสั่งตรวจรายการใดๆที่ไม่มีการให้บริการในสถาบันมะเร็งฯ ทางห้องปฏิบัติการจะทำการตรวจสอบไปยังห้องปฏิบัติการภายนอก ซึ่งได้ผ่านการคัดเลือกแล้วว่าได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน เช่นISO15189 และต้องได้ผลการตรวจภายในเวลากำหนด

 การปรับปรุงคู่มือปี2554  ขณะนี้ทางห้องปฏิบัติการกำลังปรับปรุงคู่มือการให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ ซึ่งมีรายละเอียดการให้บริการทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด โดยทำการแก้ไข ปรับปรุงให้มีความทันสมัยและครอบคลุมรายการที่เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในกลางปีหน้า

 

     

                การที่ทางLabและพยาบาลได้เปิดโอกาสให้ซักถามปัญหาและข้อสงสัยระหว่างกัน ทำให้การทำงานสอดคล้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้อยทีถ้อยอาศัยและร่วมกันลดข้อผิดพลาดในการทำงาน โดยเฉพาะบุคลากรใหม่ๆที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติงานได้เข้าใจและเก็บตัวอย่างตรวจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ถูกคนและถูกวิธี ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการคุยกันสบายๆ ...ซึ่งการสื่อสารตรงกันทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร...

 

สิ่งที่ได้จากการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. การแลกเปลี่ยนความรู้ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ที่จะให้ความรู้แก่บุคลากรใหม่ๆที่ที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติงาน ให้เกิดความเข้าใจและเตระหนักถึงความสำคัญในการเก็บตัวอย่างตรวจให้ถูกต้อง ถูกชนิด ถูกคน  ถูกวิธีและลดความผิดพลาดในการทำงานร่วมกัน

  2. การทำงานนั้นมีขั้นตอนหลายขั้นตอน ซึ่งพยาบาลอาจจะไม่เข้าใจ ว่าต้องใช้เวลาในการทำการตรวจไม่เท่ากัน ดังนั้นการมีโอกาสได้มาอธิบายลักษณะการทำงานและแนะนำบุคลากรในงานให้ได้รู้จัก ทำให้การทำงานร่วมกันเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

  3. การได้แลกเปลี่ยนปัญหาและข้อสงสัยซึ่งกันและกันระหว่าง Labกับพยาบาล โดยเปิดใจคุยกัน ส่งผลถึงการทำงานที่ดีร่วมกันแพทย์ก็ได้รับผลการตรวจที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย

  4. การนำข้อเสนอแนะและปัญหามาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาคู่มือให้มีความทันสมัยและเข้าใจที่ตรงกัน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท