กระจายอำนาจแบบเป็นไปเอง


กระจายอำนาจ คือ ช่วยคนไข้คุมบังเหียนชีวิตตนเอง

เมื่อกล่าวถึงการกระจายอำนาจในระบบราชการสายสุขภาพ คำว่า "รพ.บ้านแพ้ว"  "รพ.ในกำกับรัฐ"  "ถ่ายโอนสถานพยาบาลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"  "นโยบาย" อาจจะผุดขึ้นในวงเสวนา ซึ่งไม่ใช่ของแปลกกระมังครับ

แต่อาจน่าแปลก ถ้าคำว่า "ช่วยคนไข้คุมบังเหียนชีวิตตนเอง" จะแทรกเข้ามาในวงสนทนาเรื่องการกระจายอำนาจ  เพราะอาจทำให้หลายคนคิดเอาว่า กำลังเอาเรื่องเล็ก เรื่องคนไข้เป็นรายๆมาพูดกัน ทั้งๆที่ควรเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวกับกฎหมาย กลไกองค์กร งบประมาณ ฯลฯ

สำหรับตนเอง เมื่อได้ยินเรื่องราว ที่คนไข้เบาหวาน ในอำเภอมวกเหล็ก ที่หมอ พยาบาลมีใจเป็นหนึ่งเดียว มุ่งมั่นให้คนไข้ รู้จักและตระหนักว่าจะมีชีวิตอยู่กับโรคเรื้อรังนี้โดยพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ควรทำอย่างไร  หรืออาจพูดว่า ทำอย่างไรให้คนไข้กำหนดชะตากรรมของตนเองด้วยตนเอง นั่นเอง นี่คือ ความหมายของคำว่า "ช่วยคนไข้คุมบังเหียนชีวิตตนเอง" ณ ที่นี้

ลองหลับตานึกวาดภาพดูว่า ถ้าชีวิตเราต้องพึ่งพาคนอื่น หรือสิ่งภายนอกเป็นหลัก จนอาจสุดโต่งถึงขั้นที่ฝรั่งเรียกว่า out of control เราจะรู้สึกอย่างไร 

ที่อำเภอแก่งคอย มีคนไข้เบาหวานที่อยู่ตามลำพังตัวคนเดียว พยายามฆ่าตัวตายด้วยเคมีการเกษตรเพราะเบื่อการกินยาทุกวันไม่รู้จักหายขาดจากโรคเสียที  นี่ยังไงล่ะครับการตัดสินใจของคนที่ตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง และรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง

คนไข้เบาหวาน ในอำเภอมวกเหล็กเรียนรู้การพึ่งตนเองด้วยการหัดตรวจน้ำตาลในเลือดโดยเจาะตรวจจากปลายนิ้ว หลังกินข้าวสองชั่วโมง แล้วพยายามทำความเข้าใจว่าที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเพราะกินอะไร มากแค่ไหนเมื่อสองชั่วโมงก่อน ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจะลงเอยอย่างไร ถ้าจะหลีกเลี่ยงจะเลือกกินอย่างไร แก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำด้วยการอมลูกกวาดอย่างไร เลือกใช้แรงกายอย่างไร(ไม่อยากใช้คำว่า ออกกำลังกาย เพราะมักชวนให้เข้าใจผิดว่า ทำงานประจำวัน ไม่ใช่การออกกำลังกาย ไม่ต้องใช้พลังงาน ซึ่งไม่จริง)

วิธีทำความเข้าใจ ของคนไข้ที่อำเภอนี้ เป็นไปโดยผ่านกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การพูดคุยกับหมอ พยาบาล กับคนไข้ด้วยกันเอง บันทึกประจำวันเกี่ยวกับรายการอาหารและระดับน้ำตาลในเลือด การร่วมกิจกรรมกายบริหาร กิจกรรมปรุงอาหาร  การแวะเวียนของพยาบาล อสม คนไข้ด้วยกันเพื่อพูดคุย กระตุ้นเตือน ให้กำลังใจ ท้าทายให้เรียนรู้และปรับตัว

แหม ฟังดู ไม่ใช่ของง่ายเลยนะครับ แต่ก็ไม่ยากเกินกำลังหรอกครับ  อย่างน้อยคนไข้เบาหวานเกือบครึ่งหนึ่งของ1164 รายในอำเภอนี้ สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้เข้าเป้า แปลว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติติดต่อกันอย่างน้อย 3 ครั้ง มีระดับน้ำตาลในเม็ดเลือด(ฮีโมโกลบินเอวันซี)เป็นปกติ และไม่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

อ่านถึงตรงนี้ บางคนอาจเกิดคำถามในใจว่า แหม ที่ว่าเกือบครึ่งนี่ ก็ไม่เห็นมีอะไรวิเศษเลยน้อ  เพราะผลสำรวจระดับชาติล่าสุดตัวเลขก็ประมาณนี้แหละ  ใช่ครับ แต่ ก็อาจไม่ใช่เพราะใช้นิยามที่เข้มต่างกันครับ  ของอำเภอมวกเหล็กนี้ นิยามเข้มกว่ามากเลย ในขณะที่ตัวเลขระดับชาตินั่น เขาหมายถึง เจาะตรวจน้ำตาลครั้งเดียวนะครับ

เอ แล้วที่เขารักษาเบาหวานกัน ไม่ใช่รักษาแต่ตัวเลขน้ำตาลไม่ใช่หรือ.... อีกเสียงทักขึ้นมา 

แม่นเลย  เขารักษาเพื่อถนอมคุณภาพชีวิต ถนอมอวัยวะไม่ให้เสื่อม ตามที่นิยมพูดกันว่า รักษา "ตา ตีน(เท้า) ไต" นั่นแหละครับ 

ตัวเลขปัจจุบันของอำเภอมวกเหล็ก โชว์ว่า คนไข้เบาหวานมีโอกาสถูกตัดนิ้วเท้า(ร้อยละ 0.17)หรือเป็นแผลที่เท้า(ร้อยละ6.5)ต่ำกว่าเป้าหมาย(ร้อยละ2 และ 10ตามลำดับ)ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดชัดเจน  ที่เป็นเช่นนี้ได้นอกจากกิจกรรมที่กล่าวข้างต้น รพ.มวกเหล็กและสถานีอนามัยยังมีกิจกรรมตรวจหาและป้องกันหรือแก้ไขภาวะแทรกซ้อน สาม"ต"แต่เนิ่นๆ นั่นอย่างสม่ำเสมอและเกือบถ้วนหน้าให้คนไข้เบาหวาน 

เช่นคนไข้เกือบร้อยละ90ได้รับการตรวจเท้าครบถ้วนทุกขั้นตอน

พญ.ศิรดา ภูริวัฒนพงศ์ ผอ.รพ.มวกเหล็ก และผู้นำทีมดูแลคนไข้เบาหวานของอำเภอ เล่าให้ฟังตอนหนึ่งว่า รพ.ได้รับความอนุเคราะห์ปากกาอินสุลินจากบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ ช่วยให้คนไข้ที่จำเป็นต้องคุมเบาหวานด้วยอินสุลินได้รับความสะดวกจนติดใจ ไม่เพียงเท่านี้ คนไข้ที่นี่คงจะเป็นที่น่าอิจฉาของอีกหลายอำเภอ เพราะได้รับการดูแลเท้าอย่างดีเยี่ยม  ผมยังประทับใจภาพบนสไลด์ที่พยาบาลผู้เล่าเรื่องฉายให้ดูเป็นภาพคุณหมอศิวลาบรรจงฝานตาปลาบนเท้าคนไข้เบาหวานที่วางบนตักของคุณหมอ  ภาพพยาบาลนั่งนวดเท้าให้คนไข้ และสอนญาติคนไข้ให้สามารถดูแลเท้าให้คนไข้ได้เองเมื่ออยู่ที่บ้าน

ตัวเลขงบประมาณที่ผมได้ยินจากทีมดูแลคนไข้เบาหวานอำเภอมวกเหล็ก ทำให้เห็นว่า การสนับสนุนทางการเงินที่ทีมได้รับไม่ได้แตกต่างไปจากระบบปกติเลย จึงอนุมานต่อไปว่า กระบวนการให้บริการเบาหวานที่เกิดผลลัพธ์ชัดเจนดังกล่าว น่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่าภาพเฉลี่ยของประเทศ  อย่างไรก็ตามการวิจัยอย่างละเอียดมากขึ้นคงจะให้คำตอบที่หนักแน่นกว่านี้อีก

การที่ลูกทีมซึ่งประกอบด้วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด ผู้แทนอบต.พลัดกันเล่าเรื่องราวตลอดเวลาเกือบสามชั่วโมง ซึ่งผมเลือกมาเขียนเพียงบางส่วนนี้ ก็บ่งชี้ว่า อำนาจความรู้ได้กระจายอยู่ในบรรดาสมาชิกของทีมอย่างถ้วนหน้า และกระจายไปสู่คนไข้ ญาติและอสม.จนเกิดอานิสงดังตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นหลักฐานเบื้องต้น

นี่แหละครับการกระจายอำนาจที่เป็นไปเอง และผมเชื่อว่าจะมีความยั่งยืนสืบไป

หมายเลขบันทึก: 412398เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2010 05:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท