บทบาทของสภามหาวิทยาลัยในการกำกับความเสี่ยง



          ผมไปร่วมฟังและ ลปรร. เรื่องสภามหาวิทยาลัยกับการกำกับระบบการบริหารความเสี่ยง ในหลักสูตรธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา รุ่น ๒ เมื่อวันที่ ๓ พ.ย. ๕๓  โดยในหัวข้อนี้มีคุณสมภพ อมาตยกุล เป็นวิทยากร   ผมได้รับความรู้มาก

 

          แต่อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า แนวคิดหรือหลักการบริหารความเสี่ยงมาจากภาคธุรกิจ แม้ว่าการกำกับดูแลและการบริหารมหาวิทยาลัย จะต้องดำเนินการแบบ business-like มากขึ้น แต่ core value และ core business ของมหาวิทยาลัยแตกต่างจากธุรกิจ ดังนั้น หัวใจของความเสี่ยงน่าจะต่างกัน

 

          ผมตีความว่า หัวใจของความเสี่ยงต้องเน้นที่ core business เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ core business ล่มจมหรือทำให้ดีไม่ได้   หรือแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้   ผมจึงสนใจความเสี่ยงที่จะทำให้ไม่บรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งเลียนมาจากภาคธุรกิจโดยตรงไม่ได้เลย   เรียนได้จากวิธีคิด ที่จะต้องเอามาปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม และ core values ของอุดมศึกษา

 

          ความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจกลัวที่สุดคือตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและตลาด   ทำให้แข่งขันไม่ได้ และเจ๊งในที่สุด   แต่อุดมศึกษาในส่วนที่เป็นของรัฐไม่เคยมีคำว่าเจ๊งอยู่ในหัว   รวมทั้ง “ตลาด” ของอุดมศึกษาในเวลานี้ก็ใหญ่และแตกต่างหลากหลาย   มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งอู้ฟู่กับ “ตลาด” ฐานานุภาพ  ต้องการปริญญาไปประดับฐานานุภาพ   ไม่ใช่เพื่อเป็นฐานปัญญา   ตราบใดที่สังคมไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสังคมฐานานุภาพ ที่คนมีความสุขความมั่นใจตนเองและนับถือกันด้วยปริญญา และคำนำหน้าว่า ด็อกเตอร์ มหาวิทยาลัยที่อยู่กับตลาดก็ไม่มีความเสี่ยง

 

          ผมจึงมองว่า สภามหาวิทยาลัยต้องมอง “ความเสี่ยง” หลายชั้น   และชั้นสูงสุดคือ ความเสี่ยงของประเทศ   แต่ละสภามหาวิทยาลัยต้องไม่มองเฉพาะความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เท่านั้น   ต้องมองทะลุขึ้นไปถึงความเสี่ยงของประเทศด้วย  ว่าพฤติกรรมใดบ้างของมหาวิทยาลัย ที่มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของประเทศ หรือของส่วนรวมภาคใดภาคหนึ่ง 

 

          การบริหารความเสี่ยงในสายตาของผมเป็นการมองภาพใหญ่ และภาพอนาคต   มองนอกกรอบแนวคิดเดิมๆ  และมองระแวดระวังกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว  

 

          คุณสมภพ ท่านมีวิธีตั้งคำถามแบบสมมติ scenario และถามว่ามีความเสี่ยงตรงไหน  และทำให้ผมคิดว่า รากเหง้าของความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดคือความประมาท ที่ฝรั่งเรียกว่า complacency   ซึ่งเกิดจากความหลงผิดคิดว่าตัวแน่  หรือความมีอัตตาตัวตนนั่นเอง

 

          ในสายตาของผม มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยทุกแห่ง ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงด้าน ego สู่ complacency นี้มากบ้างน้อยบ้าง ที่จุดนั้นบ้าง จุดนี้บ้าง ทั่วกันหมดทุกมหาวิทยาลัย

 

          หน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยคือหาทางเอาชนะ ego และ complacency สู่การมองระแวดระวังการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน   โดยการตั้งคำถามด้วย scenario สมมติ อย่างที่วิทยากร คือคุณสมภพ อมาตยกุล ทำให้ดู

 

 

วิจารณ์ พานิช
๘ พ.ย. ๕๓
 
                            
หมายเลขบันทึก: 411162เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ที่ท่านอาจารย์พูด ใช่เลยค่ะ เห็นด้วยอย่างมากกกก แต่ว่าสภามหาวิทยาลัยมีวิธีการกำกับดูแลความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น

ที่เป็นรูปธรรมหรือยังคะ

JJ.

อาจจะต้องสร้างอะไรที่ "สมมุติ ๆ" ใหม่ ๆ ขึ้นมา

เมื่อเราสมมติคำว่า "ดร." ให้แสดงเห็นความมีปัญญาของบุคคลที่มีคำหน้านามเช่นนั้นแล้วไม่ได้ไม่เป็นจริงตามที่สมมติกัน ดร. ก็เสื่อม ใครไปเรียนจบปริญญาเอกที่ไหนก็ได้ ดร. กันทั้งนั้น

ไม่ว่าจะจบในประเทศ นอกประเทศ เต็มเวลาหรือ part time มหาวิทยาลัยชั้น 1 2 หรือ 3 ก็ได้คำว่า ดร. เหมือน ๆ กัน

ถ้าหากสังคมยังยอมรับคนที่มีคำหน้านามว่า "ดร." เป็นผู้มี "ปัญญา" แล้ว สังคมบ้านเราก็จบ

เมื่อสังคมยังหนีเรื่องสมมติไม่ได้ คงจะต้องมีการสร้างสมมติตัวใหม่ที่บอกใครต่อใครได้ว่าบุคคลผู้นี้มี "ปัญญา"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท