การละลายความเป็นตัวตน : สิ่งที่คุณครูควรตระหนัก


การละลายความเป็นตัวตนในที่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ภายใต้ความเสมอภาค โดยคุณครูจะต้องสนองต่อ "ความโหยหาทางจิตใจ" ของคนทุกคนที่มีความแตกต่างให้ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมชั้นเรียน ของคุณครู แต่มิได้หมายความถึงการทำให้ผู้เรียนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองนะครับ ความเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งที่ดีสำหรับมนุษย์อยู่แล้ว และผมเชื่อว่าคุณครูทุกท่านตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

            การมาพบกันครั้งแรกของมนุษย์นั้น สามารถจำแนกการแสดงพฤติกรรมออกเป็น ๕ กลุ่ม เป็นอย่างไรบ้างมาดูกัน[๑] 

                        คนกลุ่มที่๑    “เนียน” เปรียบเสมือนเคยรู้จักกันมายาวนานคนกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นพวกที่มีจริตวิทยาสูง พอๆกับการนำหลักจิตวิทยามาใช้ จะดูแลภาพลักษณ์ตัวเองเป็นพิเศษ มักมีความมั่นใจในตนเองสูง ชอบเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น อยากจะมีที่ยืน มีหน้ามีตาในสังคมเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ

                        คนกลุ่มที่๒    “ถามคำ ตอบคำ” คนกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่คิดว่าตัวเองรู้ พวกเจ้ายศเจ้าอย่าง ให้ความสำคัญเรื่องภาพลักษณ์อยู่บ้าง และไม่ค่อยพึงประสงค์ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีภูมิความรู้ด้อยกว่าหรือไม่เอื้อประโยชน์

                        คนกลุ่มที่๓    “สำรวม” คนกลุ่มนี้เข้าหากันด้วยความสุภาพ อ่อนโยน ไม่ห่วงเรื่องภาพลักษณ์มากนัก คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเข้าถึงความเป็นมนุษย์ได้ดี สามารถปรับตัวและสร้างความเข้าใจผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ปฏิสัมพันธ์เป็นไปแบบธรรมชาติ

                        คนกลุ่มที่๔    “สร้างเกราะ” คนกลุ่มนี้จะมีเกราะที่สร้างขึ้นอันเนื่องมาจากประสบการณ์ที่ได้รับ ภูมิหลังการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่เติบโต จะให้ความไว้ใจผู้อื่นยาก นอกเสียจากผู้ที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์นั้นจะเข้ามาทำลายเกราะและผ่านเข้าไปเข้าใจให้ได้ แต่หากได้ซึ่งความเข้าใจกันแล้วคนกลุ่มนี้จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างยาวนาน

                        คนกลุ่มที่๕    “ผ่ามาแล้วก็ผ่านไป” มาพบกันเพื่อประโยชน์หรือภารกิจในบางอย่าง หลังจากได้ในสิ่งที่ต้องการหรือภารกิจเสร็จสิ้นแล้วก็จากกันไป และค่อยๆหายไปจากความทรงจำ

          คนแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมที่เป็นปัจเจกแตกต่างกันออกไป แต่เชื่อไหมครับว่าพวกเขามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ “ความโหยหาทางจิตใต” มันเป็นสิ่งที่ผมพยายามศึกษา เรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจมาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมันกระทบและมีอิทธิพลอย่างมากกับการ “ควบคุมชั้นเรียน” สำหรับคุณครูอย่างผม

          ลองคิดสภาพดูว่าระหว่างที่คุณครูตั้งใจมุ่งมั่นในการสอนอยู่นั้น โดยเฉพาะการสอนผู้ใหญ่ ที่ท่านมีประสบการณ์ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน เคยได้ยิน ได้ฟังในเรื่องที่บางทีตัวคุณครูผู้สอนเองยังไม่เคยรู้มาก่อนในชีวิตด้วยซ้ำ พวกท่านๆทั้งหลายก็พยายามสร้างเกราะสร้างกำแพงขึ้นมา นั่งฟังเราแบบเอียงข้าง กอดอก ไขว่ห้าง พอเจอข้อมูลที่ขัดแย้งกับความคิดเห็นจากประสบการณ์ตนเองก็จะทำหน้างงให้เห็นอย่างชัดเจน บางคนก็พูดโต้แย้งขึ้นมาทันทีโดยไม่ขออนุญาต และพยายามใช้คำถามลักษณะคล้ายๆทนายถามจำเลยต้อนให้คุณครูจนมุม โดยลืมบทบาทของตนเองในขณะนั้นไป หากคุณครูผู้สอนหลงไปกับอารมณ์แล้วคล้อยตามไปก็จะเกิดการโต้แย้งกันไปกันมา ท้ายที่สุดเพื่อนร่วมชั้นเรียนท่านอื่นๆก็พลอยไม่ได้อะไรไปด้วย คุรครูผู้สอนก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการสอนครั้งนั้นได้ นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงที่เคยได้รับมาในชีวิตของผมเอง และยังมีอีกหลายหลายรูปแบบสารพัดที่คุณครูผู้สอนจะต้องประสบพบเจอในคนกลุ่มต่างๆที่ผมได้จำแนกออกมาข้างต้น

          ครั้งหนึ่งสมัยที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นครูฝึกอบรมด้านเทคนิคของศูนย์บริการรถยนต์ นโยบายของศูนย์บริการข้อหนึ่งก็คือ การพัฒนาทักษะของช่างบริการเพื่อวินิจฉัยปัญหาให้กับลูกค้าได้ตามต้องการ มีการเรียกช่างบริการประจำสาขาต่างๆมาฝึกอบรมให้ความรู้อยู่ตลอดทั้งปี วันนั้นผมสอนเกี่ยวกับทฤษฎีของระบบไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ ช่างที่มาจากศูนย์บริการแต่ละสาขาก็จะคละกัน เป็นผู้อาวุโสบ้าง เป็นช่างใหม่ซึ่งเพิ่งจบมาบ้าง เป็นช่างรุ่นที่เติบโตมาจากประสบการณ์บ้าง พี่ๆพวกนี้ต้องยอมรับว่าเก่งมากๆครับในเรื่องของการแก้ไขปัญหาในระบบไฟฟ้ายานยนต์ เพราะพวกพี่ๆเขาเป็นมือวางอันดับหนึ่งของแต่ละศูนย์บริการ เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเลยทีเดียว แต่วันนี้พวกเขามารวมกันเพื่อเรียนรู้จุดกำเนิดจากรากเหง้าของสิ่งที่เขาทำกันจนเชี่ยวชาญแล้ว ถามว่ากดดันไหม? แน่นอนกดดันมากๆครับ เพราะดูประวัติแต่ละคนแล้วไม่ธรรมดากันเลย ก่อนสอนประมาณ ๒ สัปดาห์ ผมทำการบ้านอย่างหนัก เตรียมสื่อที่คิดว่าดีที่สุดในตอนนั้น หนังสือทฤษฎีไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์เป็นสิบๆเล่มผมอ่านศึกษาทบทวนใหม่ทั้งหมดจนเต็มโต๊ะทำงานไปหมด ทั้งๆที่สมัยตอนผมเรียนช่างยนต์นั้น วิชาไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์เป็นวิชาที่ผมไม่พึงปรารถนาเอามากๆเรียกว่าสอบแค่ผ่านเท่านั้นพอไม่หวังว่าจะต้องได้คะแนนสูงๆเลย เพราะอะไรทราบไหมครับ? ก็เพราะมันเป็นวิชาที่มองไม่เห็นนั่นเอง

          แล้ววันนั้นก็มาถึง เริ่มต้นชั่วโมงสอนผมเริ่มปฏิบัติการตามบทที่เขียนเอาไว้เลยครับ เรียกว่าต้องเขียนบทเพื่อกำกับตัวเองกันเลยทีเดียว กลัวครับกลัวจะพลาด พอพูดมาถึง คำนิยามของพลังงานไฟฟ้า ผมยังจำได้ดีจนถึงทุกวันนี้ ผมพูดว่า “ไฟฟ้าเป็นพลังงานรูปหนึ่ง ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของอิเล็คตรอน” และผมก็มานิยามลงไปที่คำว่า “อิเล็คตรอน” เท่านั้นแหละครับผู้เข้าอบรมในห้องตอนนั้นประมาณ ๒๐ กว่าคนเห็นจะได้ เริ่มทำหน้างงมองกันไปคนละทิศละทาง (ผมเริ่มสังเกตและจับความรู้สึกพวกเขาได้) พวกเขาคงจะมีคำถามอยู่ในใจกันหลายหลาย ประมาณว่า “มันคืออะไร”,”ทำไมต้องเรียน”,”รู้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร”.....????? งานเข้าทันทีเลยครับ สอนไปก็กดดันไป สภาพบรรยากาศเงียบสงัด เหมือนผมพูดอยู่คนเดียวในห้อง! สรุปแล้วการเรียนการสอนในวันนั้นจบลงที่ความเงียบสงบผู้เข้าอบรมหลายคนในห้อง สามารถเข้าถึงสมาธิได้จนเกือบถึงขั้นนิพพาน ผมสอนจนสาแก่ใจที่ผมใช้เวลาเตรียมการสอนอยู่กว่า ๒ สัปดาห์ ด้วยจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ แต่ผมก็หารู้ไม่ว่าขณะนั้น จิตวิญญาณของผู้เรียนได้ออกจากร่างกันไปหลายรายแล้ว จากวิชาไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์ กลายเป็นวิชาสร้างสมาธิสู่จิตที่สงบไปเสียได้ ไม่ต้องถามถึงผลการประเมินความพึงพอใจในการเข้าฝึกอบรมนะครับ คำตอบมันชัดเจนตามเหตุอยู่แล้ว

         “ความผิดพลาดเป็นครูที่ยิ่งใหญ่”[๒] แม้ผมจะเป็นครูแต่ผมก็มีครูของผมอีกทีหนึ่งที่คอยสอนผมในจิตสำนึกตลอดเวลา และผมได้ยึดมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตจนถึงปัจจุบันว่า “คนเรามีโอกาสผิดพลาดจากสิ่งที่ไม่เคยผิด แต่ไม่มีโอกาสผิดพลาดจากสิ่งที่เคยผิดไปแล้วอีก” ผิดครั้งแรกก็เพียงพอแล้วในเรื่องๆหนึ่ง จดจำเอาไว้แล้วใส่ลงไปในจิตใต้สำนึกเลยก็ได้ว่า “ฉันจะไม่ผิดเรื่องนี้อีกแล้วนะพอกันที ฉันจะมีความแน่วแน่แก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดให้จงได้” พูดภายในดังๆให้จิตวิญญาณของเรามันได้ยิน มันจะได้ตื่นมารับรู้และรับทราบเสียบ้าง

          ผมทบทวนเพื่อหาทางแก้ไขในระยะเวลาหนึ่งพยายามใช้สติ คิดอย่างมีสมาธิ เพื่อจะได้เกิดปัญญามาแก้ไขความผิดพลาด นึกถึงครูบาอาจารย์ท่านที่เคยประสิทธ์ประสาทให้ความรู้แก่เรามา ตอนสมัยที่เป็นนักเรียน นักศึกษา เราก็เคยได้รับรู้มาแล้ว แต่ยังไม่เคยได้เรียนรู้ วันนี้โชคดีแล้วมีโอกาสนำสิ่งที่เราเคยได้รับมา มาต่อยอดจากประสบการณ์ เพื่อที่จะได้บูรณาการองค์ความรู้ด้วยตัวของเราเอง และเป็นวิถีทางของเราเอง โดยไม่ไปลอกวิธีการของคนอื่นเขามาใช้ ด้วยหลักวิธีการดังกล่าวนี้จึงทำให้ผมค้นพบว่า ความจริงแล้วสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีความต้องการเหมือนกันในเบื้องลึกของความเป็นมนุษย์ นั่นก็คือ “ความโหยหาทางจิตใต”

          องค์ความรู้นี้สอดคล้องกับหลักการที่นักวิชาการ นักจิตวิทยาตะวันตกหลายๆท่านได้เคยกล่าวไว้ แต่การเรียนรู้ของผมจะไม่ใช่วิธีการไปค้นๆหาๆหนังสือที่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมต้องการมาอ่าน แล้วนำมาบี้ๆขย้ำๆรวมกัน (เหมืนเวลาเขายำแหนมสดกับก้อนข้าวทอด เคยรับประทานกันไหมครับ) เพราะเหตุใดผมถึงไม่ทำอย่างนั้น ก็เพราะเราจะไม่ได้อะไรที่เป็นในวิถีของเราเองไงครับ มันไม่เนียน มันไม่ได้ย่อยสลายจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน บางครั้งเวลานำเสนอดูอลังการน่าเชื่อถือมากๆแต่ก็เอาเข้าจริงกลับนำมาปฏิบัติในวิถีชีวิตของเราไม่ได้ “สิ่งใดหากเราทำไม่ได้อย่างที่คิด ก็ถือว่าความคิดนั้นไม่มีประโยชน์” เห็นด้วยไหมครับ? ความคิดที่เป็นประโยชน์ควรเป็นความคิดที่มาจากความเป็นตัวตนภายใต้จิตวิญญาณของตัวเราเอง และผมก็เชื่อด้วยว่า หากเป็นของเราเองโดยแท้ต่อให้เวลาผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม หรือจะไปอยู่กับใครก็ตาม มันก็ยังเป็นของเราอยู่ดี ผมนั่งพิจารณาโดยการมองตนเองว่า สิ่งใดคือ “ความโหยหาทางจิตใจ” สิ่งใดเป็นสิ่งที่เรา Need มันมากๆเลย และคนอื่นที่เป็นมนุษย์เขาก็ Need เหมือนกับเราด้วย มันจำเป็นจริงๆจิตใจของคนเรียกร้องโหยหา (Need) ไม่ใช่เพียงแค่ความอยาก (Want) เท่านั้น

          ลองตอบคำถามผมในใจนะครับ เราต้องการ ความรัก ไหม? เราต้องการ ความเข้าใจไหม? เราต้องการ ให้คนอื่นยอมรับเรา ไหม? เราต้องการ เป็นคนสำคัญของทุกคน ไหม? สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ความต้องการธรรมดานะครับ มันถึงขั้นเป็น ความโหยหาเลยทีเดียว ใครก็ตามที่เข้าใจเรื่องนี้และเข้าถึงจุดนี้ของตัวบุคคลได้ รับรองเลยว่า เขาพร้อมที่จะมอบใจให้เราอย่างแน่นอน แต่ยังไม่ได้ใจนะครับ อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุป

          คุณครูที่อยู่ในสถาบันการศึกษาอาจจะไม่จำเป็นต้องให้ความใส่ใจกับ“ความโหยหาทางจิตใจ” มากนัก เพราะเนื่องจากอำนาจที่ได้ตามตำแหน่ง บทบาทหน้าที่ประการหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าคุณครูเป็น “ศูนย์กลาง” ด้วยความเชื่อแบบเดิมๆว่า ครูต้องเป็นผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ครูพูดอะไรมาก็ต้องเชื่อแบบนั้น อย่าพยายามมีข้อโต้แย้ง เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นครู หากทำให้เขาไม่พอใจอาจมีผลกระทบต่อเกรดต่อคะแนนได้ มันอาจจะเป็นไปได้นะครับแต่คงไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกบริบท โดยเฉพาะคุณครูที่ไม่ได้อยู่ในสถาบันการศึกษาอย่างผม ผู้เข้าอบรมเขาไม่ได้เกรงกลัวกันหรอกนะครับ อำนาจจากตำแหน่งยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยครับ ในวิถีชีวิตของคนทำงานความคิดที่เป็นกรอบเดิมๆก็คือ การให้ความเคารพนั้นจะให้ความสำคัญกันตามตำแหน่ง ยศฐา บรรดาศักดิ์ ทั้งนั้น แค่เขาเรียก ครู , อาจารย์ ก็ถือว่าได้รับเกียรติอันสูงสุดแล้ว ส่วนความศรัทธานั้นไปสร้างกันเอาเอง ใครสร้างไม่ได้ ไม่รู้วิธีสร้าง และยังคงยึดติดแต่กรอบความเป็นครูแบบเดิมๆ คงไม่สามารถอยู่ในวงการนี้ได้อย่างยั่งยืนครับ คุณครูนอกสถาบันการศึกษาอย่างผมจึงให้ความสำคัญกับ “ความโหยหาทางจิตใจ” เป็นอย่างมากวิธีง่ายๆคือ การเอาใจเขามาใส่ใจเราและเข้าถึงมิติความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนให้ได้ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผมตระหนักอยู่เสมอด้วยว่า เราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง แต่เราพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกันทุกเรื่อง บทบาทหน้าที่ของผมคือ จัดสภาพความพร้อมและบรรยากาศในการเปิดใจเรียนรู้ร่วมกันให้มากที่สุด องค์ความรู้จะต้องเกิดจากตัวผู้เรียน ไม่ได้เกิดจากครูผู้สอนและไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดในขณะที่ฝึกอบรม จะเกิดเมื่อใดก็แล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัยของแต่ละบุคคลการกระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมทุกคนได้พูด ได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็น ข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆที่เขาคิดว่ามันสำคัญต่อตัวเขา นี่คือสิ่งที่คุณครูกำลังสนองความโหยหาทางจิตคนทั้ง ๕ กลุ่มที่มาเข้าร่วมฝึกอบรมอยู่กับเรา จุดนี้ผมเรียกตามความเข้าใจของผมเองว่า “การละลายความเป็นตัวเป็นตนออกจากจิตสำนึก” จากนั้นคุณครูก็คอยกำกับประเด็นให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่จะสอนโดยคุณครูจะต้องศึกษาเข้าให้ถึงแก่นในเนื้อหานั้นๆเรียกว่าหลับตาแล้วสร้างเป็นมโนภาพออกมาได้เลย แล้วนำเสนอผ่านสื่อที่เป็นเทคโนโลยีต่างๆซึ่งคุณครูในยุคปัจจุบันสามารถเรียนรู้และสร้างสรรค์เองได้เต็มที่ การเรียนรู้ร่วมกันลักษณะเช่นนี้จะทำให้การควบคุมชั้นเรียนเป็นไปโดยง่าย ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมก็จะได้รับการตอบสนองต่อความต้องการ สร้างความรู้สึกที่เสมอภาค ไม่ต้องกลัวที่จะพูดจะแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ที่สำคัญเราต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและตรงไปตรงมา เพราะ“ครูคือผู้ขายความจริงไม่ได้ขายความเชื่อ”[๓] ตัวของคุณครูเองต้องเป็นแบบอย่างเชิงลึกในเรื่องพวกนี้ด้วย ลองคิดดูนะครับว่าเราสอนเขาอย่างนั้นอย่างนี้ (ตามทฤษฎี) แต่การปฏบัติจากตัวคุณครูที่เป็นพฤติกรรมให้คนอื่นเห็นกลับไม่มีปรากฎเลย ครั้งต่อไปเวลาไปสอนใครเขาจะฟังใครเขาจะยอมรับ เพราะ สิ่งที่เราทำมันดังกว่าสิ่งที่เราพูดเสมอ นะครับ

          เมื่อเรารู้ในสิ่งที่เป็นความต้องการที่เหมือนกันของคนทุกกลุ่มแล้ว เราในฐานะคุณครูจำเป็นต้องบูรณาการ “ความโหยหาทางจิตใจ” ให้เข้ากับเนื้อหาการสอนของเราให้ได้อย่างลงตัวและเหมาะสมที่สุด ตามกระบวนการของหลักการสอนผมจะเรียกว่าการ “นำเข้าสู่บทเรียน” (Motivation) เพื่อดึงความสนใจผู้เรียนให้มีความต้องการเรียนรู้ในเนื้อหานั้น หากเป็นการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในสถาบันการศึกษา เป็นลักษณะของการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคนก็ยิ่งมีความจำเป็นมากๆอาจต้องสอดแทรกลงไปในเนื้อหาเป็นระยะๆอยู่ตลอดชั่วโมงในการสอนเลยก็ได้ ผมเรียกว่า “การกระตุ้นผู้เรียนทุกขณะจิตที่ตื่นรู้” มีหลากหลายเทคนิคเลยครับในตำราก็พอมีบอกเอาไว้บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามลักษณะเฉพาะที่เป็น “เอกลักษณ์” ของวิทยากร ครูผู้สอนแต่ละท่านเสียมากกว่า อย่างที่ผมบอกแหละครับ “สิ่งใดที่เป็นของเราออกมาจากจิตวิญญาณของเรา ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน นานเท่าใด มันก็เป็นของเราอยู่ดี” แน่นอนครับเพราะเป็นของแท้ ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ มันเป็นกฎของธรรมชาติที่ได้กำหนดให้สิ่งมีชีวิตทุกอย่างต้องมีความแตกต่างกันทุกตัวทุกตนนะครับ



[๑] ข้อเท็จจริงจากการประมวลประสบการณ์ของผู้เขียน โปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูล

[๒] ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมได้จากบทความ “การเรียนรู้จากความผิดพลาด Bad Practice” โดย ธนากรณ์     ใจสมานมิตร เข้าถึงโดย www.gotoknow.org หรือ http://www.jobpub.com/editor/thanakorn

[๓] ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมได้จากบทความ “Teacher isn’t just a Presenter” โดย ธนากรณ์  ใจสมานมิตร เข้าถึงโดย www.gotoknow.org หรือ http://www.jobpub.com/editor/thanakorn

หมายเลขบันทึก: 410287เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 02:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ...

  • มนุษย์ที่เกิดมาบนโลกนี้ มีหลากหลายประเภทค่ะ...
  • เฉกเช่น "บัวสี่เหล่า" ไงค่ะ...
  • คนเราต้องปฏิบัติก่อนค่ะ ถึงจะสอนให้คนอื่นทำตาม เห็นตามค่ะ...
  • แต่ที่เห็น ๆ กันทุกวันนี้ แม้แต่ใน ม. ก็ยังมีแต่ทฤษฎีเต็มไปหมดเลยค่ะ...
  • แต่ตนเองทำไม่ได้ค่ะ...อิอิอิ...

สวัสดีครับ คุณบุษยมาศ

ต้องขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ ความจริงแล้วทฤษฎีก็มีประโยชน์ครับ เรียกว่าเป็นข้อมูลความรู้เริ่มต้นที่ผู้เรียนต้องนำไปต่อยอดกันเอง การต่อยอดขององค์ความรู้ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เกิดการบูรณาการข้อมูลความรู้ใหม่ที่เหมาะสมตามบริบทนั้นๆ ผมเชื่อว่าทฤษฎีหลักการที่มีอยู่บนโลกและสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันถือว่าเป็นสิ่งที่ได้ผ่านการพิสูจน์คุณค่าในตัวแล้ว หากเราเรียนตามหนังสือ ตามตำราตะวันตก เราก็จะต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน ให้เกิดความรู้แจ้ง ไม่ใช่เพียงความเข้าใจ ที่ใช้หลักการทางตรรกะเข้ามาตัดสินเท่านั้น

ครู อาจารย์ ก็มีความเป็นปัจเจก มีความแตกต่าง มีบุคลิก Style ที่แตกต่างกัน แต่ผมคิดว่าถ้าจะให้เหมาะสม ครู อาจารย์ ควรรู้จักตนเองให้ดี แล้วเลือกที่จะสอนในสิ่งที่เป็นตนเอง เหมาะสมกับตนเอง (คล้ายแพทย์เฉพาะทาง) และพัฒนาองค์ความรู้ บูรณาการเรื่องนั้นไปให้เต็มศักยภาพ สิ่งหนึ่งที่ผมได้กับตนเองเมื่อปฏิบัติวิธีนี้ก็คือ ยิ่งค้นยิ่งสนุก ยิ่งท้าทาย ยิ่งน่าตื่นเต้น มันเป็นพลังขับดันภายใน กระตุ้นเราอยู่ทุกขณะจิตเลยครับ เรียกว่ามันทำให้เรามีจินตภาพ และเกิดความอยากที่จะแสดงให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย (ตรงนี้มันเป็นตัณหาประเภทหนึ่งเหมือนกันครับ)

ด้วยความเคารพ

สวัสดีครับ

    ความโหยหาทางจิต เพราะคนเราขาดความเป็นตัวของตัวเอง ครับ

    ในเรื่องนี้ จางเต๋อฟิน ได้กล่าวไว้ว่า 

      เมื่อเราอยู่ห่างจากตัวตนที่แท้จริงไกลออก ไปมากเท่าไร เราจะสูญสียความเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นเราต้องคว้าจับเหนี่ยวรั้งบางสิ่งบางอย่างเอาไว้เพื่อซึมซับตัวเอง อัตตาจึงเกิดขึ้น ไล่คว้าสิ่งภายนอกไม่หยุด เพียงเพื่อเติมเต็มความรู้สึกมีตัวตนของตัวเอง และ ต่อชีวิตออกไปอย่างทุลักทุเล

  

                                         
      ทำให้นึกถึงทฤษฎีหัวหอมครับ   หัวหอมมีเปลือกหลายชั้น   ห่อหุ้มความเป็นตัวตนของเราเอาไว้ข้างใน   เราจึงมักแสดงออกแต่เปลือก   ไม่ได้แสดงออกมาจากตัวตนของเรา  เพราะตัวตนที่แท้จริงของ้รา มีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ยากเข้าไปเจอ เราจึงต้องโหยหาทางจิต  หรือ โหยหาเปลือกมาปกปิดแก่นแท้ของตัวเอง
      จะลอกเปลือกหัวหอม ก็ต้องยอมเสียน้ำตาบ้างครับ
      ต้องกล้าเผชิญกับความโกรธ   ความเกลี่ยด ความเศร้า  ที่อยู่ในใจ(ตัวตน) ด้วยความรัก ครับ

เรียนท่านอาจารย์

สุดยอดมากๆครับกับข้อมูลความรู้นี้ ทฤษฎี "หัวหอม" ทำให้ผมเห็นภาพชัดเจน ชัดมากๆเลยครับ ขอบคุณท่านอาจารย์ที่ชี้แนะครับผม

ด้วยความเคารพ

ด้วยความยินดีครับคุณต้นกล้า ภาพที่ส่งมาเป็นสถานที่ที่น่าอยู่นะครับ ธรรมชาติโอบล้อม ชีวิตคนกรุงเทพฯอย่างผมไม่มีโอกาสได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบธรรมชาติมากนัก ช่วงเวลาหยุดยาวจึงจะได้ไปอยู่บ้านภรรยาผมที่อยุธยา มีความรู้สึกว่าไม่อยากกลับมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯอีกเลยครับ

ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมนะครับ

ความงดงามของมนุษย์เราแต่ละคนย่อมมีแตกต่างกันออกไปครับ

จิตของมนุษย์เราชังแตกต่างกันครับ

 

ขอบคุณบันทึกดีๆ ครับ

    แวะมาเยี่ยมค่ะ

ดีใจที่ มีคนชอบหนังสือประเภทเดียวกัน

 ดีใจที่ประเทศของเรามีครูที่เข้าใจและนำธรรมะมาบูรณาการในความรู้ของตนเอง

เป็นกำลังใจให้ในการสร้างสรรค์ความดี และช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์ทางปัญญาให้แก่ตน

เองและอนาคตของชาติต่อไปนะคะ

ใจใสใส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท