อภิธรรม


อภิธรรม

.๗  ประเภทของจิต

                  จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาพที่มีจริง เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ ถึงแม้จะไม่มีรูปร่างเป็นตัวตน แต่ก็แสดงความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ในจิตตุปปาทกัณฑ์ได้แบ่งจิตเป็น  ๔ ประเภท หรือแบ่งจิตออกเป็น ๔ ระดับ คือระดับกามาวจรจิต ระดับรูปาวจรจิต  ระดับอรูปาวจรจิต และระดับโลกุตตรจิต  มีรายละเอียดดังนี้

 ๒.๗.๑  กามาวจรจิต  อรรถกถาได้ให้ความหมายว่าเป็น จิตที่นับเนื่องในกามาวจรธรรมทั้งหลาย  จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  คำว่ากาม แปลว่าใคร่ มี ๒ อย่าง คือกิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑ กิเลสกามได้แก่ฉันทราคะ (โลภเจตสิก) วัตถุกามได้แก่ วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ[1]กามาวจรจิต ซึ่งยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเหนียวแน่นมาก แม้ว่ารูปจะปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยที่สุด คือชั่วขณะที่กระทบจักขุปสาท  เสียงก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน คือชั่วขณะที่กระทบกับโสตปสาท กลิ่น รส และโผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป(ปริตตธรรม)  แต่จิตก็ยินดีพอใจติดข้องอยู่ในปริตตธรรมนั้นอยู่เสมอเพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของปริตตธรรมนั้นๆ จึงดูเสมือนไม่ดับไป

                        ความเพลิดเพลินยินดีพอใจในอารมณ์ที่น่าปรารถนาคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่หมดสิ้น แม้ว่ารูป  เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นๆ จะดับไปแล้ว แต่รูป เสียง กลิ่น  รส โผฏฐัพพะอื่นๆก็เกิดสืบต่อทำให้ความหลงติดยินดีพอใจในรูป เสียง ฯลฯ สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นรูปใดก็ตามซึ่งเป็นที่พอใจแล้ว ก็อยากจะเห็นอีกบ่อยๆ เมื่อได้ยินเสียงที่พอใจแล้ว ก็อยากได้ยินเสียงนั้น อีก กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน เมื่อบริโภครสใดที่พอใจแล้ว ก็อยากบริโภครสนั้นซ้ำๆอีก[2]  เป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ ๑๑  ซึ่งประกอบด้วย อบายภูมิ ๔  มนุสสภูมิ ๑    เทวภูมิ ๖[3] กามจิตย่อมท่องเที่ยวไปในภูมิเหล่านี้ หรืออีกประการหนึ่ง จิตที่ยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกาม กล่าวคือ กามภพ เหตุนั้นจิตนั้นชื่อว่า กามาวจร   กามาวจรจิตมี ๕๔คือ

อกุศลจิต  จิตที่เป็นอกุศลมี ๑๒ สภาวะ อเหตุกจิต  จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖  มีจำนวน ๑๘ สภาวะ  กามาวจรโสภณจิต  จิตที่สวยงามในกามภูมิ มีจำนวน ๒๔ สภาวะ

4] โลภมูลจิต ๘ สภาวะ  อกุศลจิต๑๒ สภาวะ โทสมูลจิต ๒ สภาวะ โมหมูลจิต  ๒ สภาวะ    จิตในกามภูมิเหล่านี้ เป็นจิตดีงามก็มี เป็นจิตชั่วเลวก็มี และเป็นจิตที่เป็นผลของบุญ ผลของบาปก็มี กิริยาอาการต่างๆที่ปรากฏเป็นการแสดงออกของจิตใจของคนเราสั่งให้พูด สั่งให้เคลื่อนไหวไปมาได้[5]

  ๒.๗.๒ รูปาวจรจิต  หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูปและกิเลสรูปเป็นส่วนมาก[6]จิตที่ประพฤติเป็นไปในรูปภูมิ เป็นจิตที่เกิดดับอยู่ในรูปพรหมเป็นส่วนมาก แต่สามารถจะเกิดขึ้นได้ในมนุษย์และเทวดาบ้าง รูปาวจรจิตนี้มีกรรมฐาน ๔๐ อันเป็นบัญญัติเป็นอารมณ์กรรมฐาน กรรมฐาน ๔๐ นั้นแบ่งออกเป็น ๗ หมวด คือ

                        ๑. กสิน ๑๐ ว่าด้วยสีทั้งปวง มีสีดินเป็นต้น

                        ๒. อสุภ ๑๐ ว่าด้วยความไม่งาม มีศพขึ้นพองเป็นต้น

                        ๓. อนุสสติ ๑๐ ว่าด้วยการระลึกตาม มีการระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นต้น

                        ๔. อัปปมัญญา ๔ ว่าด้วยการแผ่ไปโดยไม่มีประมาณมีเมตตาเป็นต้น

                        ๕.อาหาเรปฏิกูลสัญญา ว่าด้วยความสำคัญในอาหาร มีอาหารที่คลุกเคล้า ปฏิกูล น่าเกลียด เป็นต้น

                        ๖.จตุธาตุววัตถาน ๑ ว่าด้วยธาตุ ๔ ประชุมกันมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น

                        ๗. อรูปกรรมฐาน ๔ ว่าด้วยกรรมฐานที่ไม่ใช่รูปมีอากาสเป็นต้น[7] 

                   รูปาวจรจิตมี ๑๕ ดวง แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทคือ

                        ๑.รูปาวจรกุศลจิต จิตที่เป็นรูปาวจรกุศลมี ๕ ดวง

                        ๒.รูปาวจรวิปากจิต จิตที่เป็นรูปาวจรวิบากมี ๕ ดวง

                        ๓.รูปาวจรกิริยาจิต จิตที่เป็นรูปาวจรกิริยามี ๕ ดวง[8]

                  รูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตกุศล ที่เป็นเหตุให้ประพฤติเป็นไปในรูปภูมิคือ ปฐมฌานภูมิ ๑ ทุติยฌานภูมิ๑  ตติยฌานภูมิ ๑ จตุตถฌานภูมิ ๑ จิตที่ปฏิสนธิ(เกิด) ภวังค์(เป็น) จุติ (ตาย) ในรูปภูมินั้นๆ อันเป็นผลของรูปาวจรกุศล เรียกว่า รูปาวจรวิปากจิต  ส่วนรูปาวจรกิริยาจิตนั้น เป็นจิตของพระอรหันต์ที่ได้ฌานตั้งแต่ ปฐมฌานถึง ปัญจมฌาน เช่นเดียวกันกับรูปาวจรกุศลจิต      แต่รูปาวจรกิริยาจิตเป็นจิตกิริยาของพระอรหันต์ที่สักแต่ทำฌานตามอำนาจของความชำนาญเท่านั้นย่อมไม่ให้ผลตอบแทนในชาติต่อไป เพราะภพชาติได้สิ้นสุดลงในชาตินั้นแล้วไม่เกิดในชาติต่อไปอีก[9]  

             ๒.๗.๓  อรูปาวจรจิต หมายถึง จิต ๑๒ ดวง ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุอรูปและกิเลสอรูปเป็นส่วนมาก[10] ผู้ที่เห็นโทษของรูปธรรมก็เจริญอรูปฌานผู้ที่บรรลุอรูปฌานเกิดในอรูปพรหมภูมิซึ่งไม่มีรูปเลย อรูปพรหมภูมิมี ๔ ภูมิ ในภูมินี้มีแต่นามไม่มีรูป อาจสงสัยว่าจะมีบุคคลที่มีแต่รูปเท่านั้น หรือมีแต่นามเท่านั้นได้อย่างไร ถ้าประจักษ์ลักษณะต่างๆของนามธาตุ และรูปธาตุที่ปรากฏ ทีละลักษณะ และรู้ว่าเป็นแต่เพียงธาตุที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ก็จะไม่สงสัยว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ควรแก่เหตุ ก็มีแต่รูปได้โดยไม่มีนาม และมีแต่นามได้โดยไม่มีรูป[11]

                  อรูปาวจรจิต ๑๒  คือ

           ๑. อากาสานัญจายตนกุศลจิต ๑  วิปากจิต ๑  กิริยาจิต ๑

           ๒.วิญญานัญจายตนกุศลจิต ๑ วิปากจิต ๑  กิริยาจิต ๑

           ๓.อากิญญายตนกุศลจิต  ๑ วิปากจิต ๑  กิริยาจิต                                    

           ๔.เนวสัญญานาสัญญยตนกุศลจิต ๑ วิปากจิต ๑ กิริยาจิต  ๑ [12]

   ๒.๗.๔ โลกุตตรจิต หมายถึงจิตที่ข้ามโลก พ้นจากโลก ก้าวล่วง ครอบงำโลกทั้ง ๓ ตั้งอยู่ ออกจากโลกและจากวัฏฏะ [13]โลกุตตรจิตเป็นจิตที่เหนือโลก หรือจิตที่พ้นจาก กามโลก รูปโลก และอรูปโลก  โลกุตตรจิต มี  ๘ - ๔๐

                      นับ ๘โดยนับตามผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน ๆ ดังนี้

                        โสดาปัตติมัคคจิต   ๑   โสตาปัตติผลจิต   ๑

                         สกทาคามิมัคคจิต   ๑   สกทาคามิผลจิต  ๑

                          อนาคามิมัคคจิต     ๑     อนาคามิผลจิต    ๑

                         อรหัตตมัคคจิต       ๑      อรหัตตมัคคจิต  ๑

            นับ ๔๐  นับตามฌาน หรือ นับตามบุคคลที่ได้ฌาน ดังนี้

                        โสตาปัตติมัคคจิต  ๕ โสตาปัตติผลจิต ๕

                        สกทาคามิมัคคจิต  ๕ สกทาคามิผลจิต๕

                        อนาคามิมัคคจิต     ๕  อนาคามิผลจิต๕

                        อรหัตตมัคคจิต      ๕  อรหัตตผลจิต๕[14]

           สรุปความว่า  จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์อยู่เสมอ เป็นลักษณะที่ไม่มีตัวตน เป็นสภาวะที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา จิตมีทั้งหมด ๔ ประเภท  หรือลักษณะการรู้อารมณ์มี ๔ระดับ คือ 

            ๑. การรู้อารมณ์ระดับกามาวจรเป็นการรู้อารมณ์หรือนึกคิดอารมณ์ที่มีแรงชักจูงโน้มน้าวที่ถูกกำหนดโดยความต้องการอารมณ์ที่น่าปรารถนาที่ได้รับทางประตูทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

            ๒. การรู้อารมณ์ระดับรูปาวจร เป็นการรู้อารมณ์หรือนึกคิดอารมณ์ที่สูงกว่ากามาวจร เป็นจิตได้รับการอบรมสมถกรรมฐานจนเป็นจิตที่สงบมั่นคง สามารถข่มกิเลสไว้ไม่ให้ผุดในอารมณ์ได้  

            ๓.การรู้อารมณ์ระดับอรูปาวจรเป็นการรู้อารมณ์ที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะเมื่อมีรูปเป็นอารมณ์อยู่ ก็ยังใกล้ชิดต่อการที่จะมีกามารมณ์ เมื่อพระโยคาวจรบรรลุฌานที่ ๕(ปัญจมฌาน) ซึ่งมีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา แล้วก็เพิกรูปที่เป็นอารมณ์ โดยน้อมระลึกถึงสภาพที่ไม่มีรูป

            ๔.การรู้อารมณ์ระดับโลกุตตร เป็นการรู้อารมณ์ที่สูงสุด กว่าการรู้อารมณ์ทั้ง๓

อย่างข้างต้น เพราะเป็นการรู้อารมณ์ระดับเหนือโลก เป็นการรู้อารมณ์ที่ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาในระดับสูงสุด เป็นการรู้อารมณ์ที่ไม่ถูกกิเลสรบกวน

 

 


        [1] อภิ.สงฺ.อ. ๑/๒๒๕.

        [2] สุจินต์  บริหารวนเขตต์, ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขปและภาคผนวก, (กรุงเทพมหานคร: โรงชวนพิมพ์,๒๕๓๖),หน้า ๑๙๐.

        [3] Narada  Maha Thera, A Manual of  Abhidhamma,p10.

        [4] พระสัทธัมมโชติกะธัมมาจริยะ, ปรมัตถโชติกะปริจเฉทที่ ๑-๒-๖ จิต เจตสิก รูป นิพพาน,หน้า ๑๙.

        [5] พระครูสังวรสมาธิวัตร, คู่มือการศึกษาพระอภิธรรมปิฎก,หน้า ๒๐.

        [6] พระสัทธัมมโชติกะธัมมาจริยะ, ปรมัตถโชติกะปริจเฉทที่ ๑-๒-๖ จิต เจตสิก รูป นิพพาน,หน้า ๒๐. 

        [7] พระครูสังวรสมาธิวัตร, คู่มือการศึกษาพระอภิธรรมปิฎก, หน้า ๑๕๘.

        [8] Bhikkhu  Bodhi, A  Comprehensive  Manual of  Abhidhamma, ( Buddhist  Publication Society  Kandy  Srilanka), p 52.

        [9] พระครูสังวรสมาธิวัตร, คู่มือการศึกษาพระอภิธรรมปิฎก,หน้า ๑๖๐–๑๖๑.

        [10] พระสัทธัมมโชติกะธัมมาจริยะ, ปรมัตถโชติกะปริจเฉทที่ ๑-๒-๖, หน้า ๒๐.

        [11] Nina Van Gorkom, พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน, แปลโดยดวงเดือน บารมีธรรม หน้า ๒๖๓; Narada Maha Thera, A Manual of Abhidhamma, p 46.

        [12] พระสัทธัมมโชติกะธัมมาจริยะ, ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ ๑-๒-๖,หน้า ๑๗.

        [13] อภิ.สงฺ.อ. ๑/๖๐๒.

        [14] พระสัทธัมมโชติกะธัมมาจริยะ, ปรมัตถโชติกะปริจเฉทที่ ๑-๒-๖,หน้า ๑๕; Narada  Maha  Thera, A Manual of  Abhidhamma, p 60.

คำสำคัญ (Tags): #อภิธรรม
หมายเลขบันทึก: 410115เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2010 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท