ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของสันติวิธี


     เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๔๓ (เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.) ผู้เขียนได้รับนิมนต์จาก พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เพื่อบรรยาย เรื่อง "ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของสันติวิธี" แก่นักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี รุ่นที่ ๗ จำนวนประมาณ ๖๐ ท่าน  ซึ่งการบรรยายในครั้งนี้ นอกจากจะทำหน้าที่ในฐานะวิทยากรแล้ว ยังถือได้ว่า "เป็นรุ่นพี่ของนักศึกษาในหลักสูตรนี้ เพราะผู้เขียนจบหลักสูตรนี้ในรุ่นที่ ๒"  เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน "ชุมชนนักสันติวิธี" ผู้เขียนจึงได้นำประเด็นดังกล่าวมาเขียนเป็นบทความทางวิชาการ ดังนี้

     ๑. เกริ่นนำ

     "สันติวิธี" ถือว่าเป็นหลักการและเครื่องมือประการหนึ่งซึ่งมนุษยชาติมักจะนำมาเป็นทางเลือกในการจัดการความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม  ซึ่งหากจะวิเคราะห์ที่มาของประวัติศาสตร์ในการใช้เครื่องมือนี้จะพบว่า มนุษยชาติได้ใช้เครื่องมือนี้จัดการความความแย้งที่เกิดจากผลประโยชน์ ความต้องการ ค่านิยม ความสัมพันธ์ และอำนาจมาตั้งแต่มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และสังคม

     อย่างไรก็ดี "ความรุนแรง" เป็นเครื่องมือสำคัญอีกประการหนึ่งที่ได้รับการเลือกสรรมาใช้ในกรณีที่ตัวมนุษยชาติอับจนปัญญาที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือสันติวิธีได้อย่างประสานสอดคล้องกับตัวแปรและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนทำให้บางกลุ่มมองว่า "การใช้ความรุนแรง" น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ควรนำมาใช้จัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือระหว่างคนในรัฐเดียวกัน  บางครั้ง อาจจะไม่ใช้สงครามโดยตรง แต่อาจจะสื่อให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของความโน้มเอียงที่จะทำให้เกิดความรุนแรง เช่น กองกำลังรักษาสันติภาพ  และปรมาณูเพื่อสันติ

     จะเห็นว่า "การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี" และ "การจัดการความขัดแย้งด้วยความรุนแรง"  เป็นหลักการและเครื่องมือสำคัญที่มนุษยชาติมักจะเลือกนำมาใช้ในช่วงเวลา และสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่บทความนี้ จะมุ่งเน้นอธิบายแนวทางจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การตั้งคำถามว่า หากมนุษยชาติตัดสินใจที่จะนำ "สันติวิธี" ไปเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งในมิติต่างๆ นั้น  เขาควรจะคำนึงถึง "ปัจจัยและเงื่อนไขใดบ้าง จึงจะทำให้การจัดการความขัดแย้งประสบความสำเร็จ"

     ๒. กระบวนการขับเคลื่อนการทำงานของสันติวิธี

     คำถามที่ผู้เขียนมีต่อประเด็นนี้คือ (๑) เราควรจะดำเนินการขับเคลื่อนสันติวิธีอย่างไร จึงมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล (๒) เราควรมีกลไกการขับเคลื่อนสันติวิธีอย่างไร จึงจะทำให้กระบวนการทำงานไหลลื่น และไม่ติดขัด  

     คำถามที่หนึ่งสัมพันธ์กับ "ตัวเนื้อแท้ของสันติวิธี" ทั้งแนวคิดและเครื่องมือ และ "ผู้ใช้สันติวิธี" ที่ควรเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิภาพ  ส่วนคำถามที่สองสัมพันธ์กับขั้นตอนและแนวทางในการขับเคลื่อนสันติวิธีที่ควรมีกลไกไม่ซับซ้อน และง่ายต่อการนำเครื่องมือไปประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม

     การตอบคำถามดังกล่าวนั้น ไม่ได้ส่งผลในเชิงบวกต่อการปฏิบัติการสันติวิธี และการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในเชิงปัจเจกเท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดสันติภาพมนุษย์ และสังคมในมิติต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

     ๓. ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของสันติวิธี: ตัวสันติวิธีหรือผู้ใช้สันติวิธี

     นักสันติวิธีมักไม่ค่อยมีคำถาม หรือสงสัยต่อ "สันติวิธี" ในหลายๆ สถานการณ์ที่สันติวิธีไม่สามารถสำแดงศักยภาพในการขับเคลื่อนพลังออกมาช่วยเหลือสังคมในขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง  เพราะเข้าใจดีว่า "ความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นประกอบด้วยตัวแปรและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน"

     แต่ในหลายๆ สถานการณ์  กลุ่มคนที่มีความโน้มเอียงในการใช้ "ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง" มักจะตั้งข้อสังเกต และสงสัยต่อการสันติวิธีว่า "ตัวสันติวิธีอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการกับความขัดแย้งและความรุนแรงกับบางกรณี" และ "ผู้ใช้สันติวิธี หรือนักสันติวิธีเป็นผู้ขัดขวางต่อกระบวนการจัดการความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำให้ระยะเวลาในการจัดการความขัดแย้งต้องยาวนานเกินไป อีกทั้งไม่สามารถประกันความสำเร็จได้"

     ด้วยเหตุนี้  งานเขียนเรื่องนี้ จึงพยายามที่จะอธิบายประเด็น "ตัวสันติวิธี" และ "ผู้ใช้สันติวิธีว่า ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นจากสองประเด็นดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร  เพราะการทำความเข้าใจในสองประเด็นนี้ จะมีผลต่อการตอบคำถามที่ว่า "อะไรเป็นปัจจัยและเงื่อนไขต่อความสำเร็จของสันติวิธี"

    (มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 409410เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2010 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ ครับผม.. สาธุ

นอนดึกจังนะครับหลวงพี่

กราบนมัสการขอรับ

ขอแลกเปลี่ยนดังนี้ครับ

เรื่องของสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งนั้น

มีในพระวินัย เรื่องอธิกรณสมถะ 7 มีการเผชิญหน้าระหว่างคู่ขัดแย้ง

พร้อมด้วยวัตถุหลักฐาน พยานบุคคล การยกเว้นให้คู่ขัดแ้ย้งที่เป็นบ้า หรือ เป็นพระอรหันต์แล้ว

ถ้าผิดในข้อต่าง ๆ นั้นจริงก็ต้องยอมรับผิด และปลงความผิดไม่ให้เกิด

นอกจากนั้นยังมีการโหวต การเพิ่มโทษและการลดโทษ

สุดท้ายจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ win-win solution คือ กลบไว้ด้วยหญ้า

ส่วนความรุนแรงในพุทธศาสนาก็ได้แก่ การลอบฆ่าพระพุทธเจ้า

การเบียดเบียนด้วยวาจา มีเรื่องราวอีกมากที่เป็นการจัดการเรื่องสันติภาพของพระพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะห้ามญาติแย่งน้ำ กรณีวิฑูทัพพะฆ่าล้างศากยะก็ไปห้ามไม่สำเร็จเหมือนกัน

บางคราวก็ไปห้ามพระสงฆ์ไม่ให้ทะเลาะกันบางคราวก็สำเร็จ บางคราวก็ไม่สำเร็จ

สุดท้ายก็มาลงที่กรรมใครกรรมมัน

นมัสการท่าน มาเชียร์รุ่นพี่ ฮ่าๆ รออ่านต่อครับ ได้ความรู้เรื่องสันติวิธีเพิ่มเติม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท