บันทึกน่าจดจำ..สำรวจ.. เรียนรู้.. บูรณาการ กับแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ “ห้วยเข” (15 พ.ย. 53)


สำรวจ.. เรียนรู้.. บูรณาการ กับแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ “ห้วยเข”

มาศึกษาหาความรู้กับแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ห้วยเข กันเถอะค่ะ

     น้ำตกห้วยเข เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีอยู่ด้วยกัน ๕ ชั้น ตั้งอยู่เขตพื้นที่บ้านคำปากดาว หมู่ ๕ ต.คำแคน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น บนเขาภูเม็ง เขตอุทยานแห่งชาติน้ำพอง ลักษณะพื้นที่เป็นป่าไม้เต็งรัง น้ำตกห้วยเขเกิดจากการไหลรวมตัวกันของลำห้วย ๓ สาย คือ ลำห้วยกุดบาก ลำห้วยทราย และลำห้วยเข บนแนวเขาภูเม็ง แล้วไหลลงลำห้วยคำปากดาว และไหลลงสู่แม่น้ำชีบริเวณ ต.กุดเค้า

     ที่มาของชื่อ น้ำตกห้วยเข เนื่องจากสภาพพื้นที่อุดมไปด้วยต้นเข จำนวนมาก  ชาวบ้านจึงเรียกน้ำตกนี้ว่า ห้วยเข เข เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นขณะโตเต็มที่ประมาณ ๕ เซนติเมตร ลำต้นมีหนามแหลม ลักษณะเป็นต้นไม้กึ่งเถาวัลย์ ชาวบ้านจะนำแก่นไม้เข ไปใช้ในการย้อมสีไหม เนื่องจากมีสีเหลืองอ่อน จนเป็นที่มาของการย้อมผ้าไหมของชาวขอนแก่น

     เช้าวันที่ ๑๕ พ.ย. ๕๓ ข้าพเจ้าและคณะ ครู กศน.มัญจาคีรี เริ่มออกเดินทางตามทางหลวง สายมัญจาคีรี-ขอนแก่น  ประมาณ ๑๘ กม. ก็มาถึงเขต ต.คำแคน แรกมาถึงข้าพเจ้าและคณะก็ได้สัมผัสธรรมชาติตลอดแนวจนมาถึงบริเวณด่านเข้า “ห้วยเข”

     เมื่อทุกคนเดินทางมาถึง “ห้วยเข” ก็ได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่อุทยานน้ำพอง รับฟังการบรรยายจากเจ้าหน้าที่และเตรียมตัวสำรวจพื้นที่...คณะครู กศน.มัญจาคีรีทุกคนเริ่มออกเดินทางสำรวจแหล่งเรียนรู้พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานน้ำพอง พวกเรารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย จากการที่เจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพวกเราและเป็นทั้งวิทยากรให้ความรู้

(ภาพก่อนสำรวจพื้นที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ..สดใส..ร่าเริง..กระตือรือร้น..กระปี้กระเป่า)

     น้ำตกชั้นที่ 1 เรียกว่า วังไทร มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำ มีต้นไทรร่มรื่น เหมาะสำหรับเล่นน้ำ เดินชมความงามของธรรมชาติ บริเวณโดยรอบมีโขดหินเป็นรูปลักษณะต่างๆ และบริเวณใกล้เคียงเราได้พบกับกลุ่มเด็ก ๆ ที่มาเล่นน้ำตก  ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน คณะครู จึงเข้าไปถ่ายรูปร่วมกับเด็ก ๆ ในชั้นนี้คณะครูยังคงสดใสร่าเริงและมีพลังเต็มร้อยในการเดินสำรวจพื้นที่... และเก็บข้อมูล

     น้ำตกชั้นที่ 2 เรียกว่า โสกโดด มีลักษณะเป็นแอ่งที่ไม่เสมอกัน บางที่เป็นแอ่งลึก บางที่เป็นแอ่งตื้น เกิดจากกระแสน้ำที่มีความแรงกระแทกกัดเซาะเป็นเวลานานทำให้มองเห็นพื้นที่ของแอ่งไม่เสมอกัน บริเวณโดยรอบมีกิ่งไม้ระโยงระยางและเถาวัลย์แต่ไม่มากนัก เมื่อเดินต่อไปเรื่อย ๆ คณะครู ของเราได้เจอกับอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ เนื่องจากทางข้ามน้ำตกมีตะไคร้หิน ครูผู้หญิงไม่สามารถข้ามไปได้... ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็ได้เกิดขึ้นเมื่อ  ครูผู้ชายได้พยายามช่วยเหลือเพื่อนเพื่อให้ข้ามน้ำตกไปด้วยกันด้วยความปลอดภัย...เรายังคงไม่ลืมเก็บข้อมูลและภาพกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู

     น้ำตกชั้นที่ 3 เรียกว่า “ สวนหิน” มีลักษณะเป็นลานหินกว้าง  มีหินขนาดต่าง ๆ มากมาย สวนหินนี้สามารถใช้สำหรับนั่งพักผ่อนเพื่อผ่อนคลายความเหนื่อย  คณะครูของเราก็ได้ใช้สวนหินแห่งนี้เป็นจุดชมวิว ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก และพักผ่อนตามอัธยาศัย 

   

     เมื่อหายเหนื่อยคณะครูจึงเริ่มการสำรวจและเดินทางต่อไป ตามทางเดินข้าพเจ้าได้เห็นดอกไม้และพืชชนิดต่าง ๆ จึงได้ถามเจ้าหน้าที่ เช่น ดอกว่าน, ดอกดิน, เห็ดกระด้าง, ต๋าว, ภูด่าง,เฟรินข้าหลาง, หญ้าบ้านล้าง เป็นต้น และยังมีพืชอีกมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดล้วนมีทั้งคุณและโทษ เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่าไม่ควรสัมผัสหรือนำไปรับประทานถ้าไม่รู้เกี่ยวกับคุณและโทษของพืชชนิดนั้น...สังเกตได้ว่า ครูทุกคนเก็บข้อมูลตลอดระยะเวลาการเดินทาง

     น้ำตกชั้นที่ 4 เรียกว่า ตาดโตนน้อย มีลักษณะเป็นน้ำตกที่ตกลงมาจากชั้นของหินสูงพอประมาณแต่ไม่สูงมากนัก และมีน้ำไหลตามซอกหิน ซึ่งเป็นน้ำตกที่มีขนาดเล็ก บริเวณโดยรอบเป็นหินก้อนใหญ่ทับซ้อนกันมีไม้เลื้อยปกคลุม ชั้นนี้เริ่มจะได้ยินเสียงพูดของคณะครูน้อยลงไปทุกที..ทุกที..ส่วนที่มองเห็นได้มากขึ้นคือทุกคนเริ่มมีเหงื่อ อ่อนล้า ก้าวขาไม่ขึ้น  เนื่องจากทางที่เดินเริ่มชันขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยระยะทางที่เดินมาทำให้ทุกคนเหนื่อยเมื่อล้า  แต่ด้วยความตั้งใจประกอบกับการได้ยินเสียงของน้ำตกชั้นที่ 5 ดังขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทุกคนมีพลังที่จะสู้ต่อไป...เราจะถึงชั้น 5 แล้วค่ะ...

     น้ำตกชั้นที่ 5 เรียกว่า ตาดโตนใหญ่ มีลักษณะเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สวยงาม น้ำใส สามารถมองเห็นตัวปลา (ถ้ามีปลานะค่ะ) มีใบไม้ปกคลุมเล็กน้อย ตรงกลางมีต้นไม้แผ่กิ่งใบให้ความร่มรื่น สามารถนั่งพักผ่อนและใช้เป็นที่ทานอาหารได้ (แต่คณะครูมีจำนวนหลายคนไม่สามารถนั่งได้หมด..เราจึงแบ่งกลุ่มตามสภาพของพื้นที่) ชั้นนี้เป็นชั้นที่มีน้ำไหลแรงมากค่ะ เมื่อพวกเราเดินทางมาถึงความเหนื่อยล้าทั้งหมดก็หมดลงด้วยธรรมชาติที่สวยงาม  ทำให้ครูบางคนทนไม่ไหวต้องลงไปเล่นน้ำ 

     ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่าทำไมจึงเรียกว่า ตาดโตนใหญ่ และก็พลางคิดเอาเองว่า  ตาด เป็นภาษาอีสาน คือมีลักษณะของชั้นหินที่เรียงกันหลายชั้นและมีน้ำไหลเชี่ยวผ่านแนวเดียว  ลักษณะของน้ำที่ไหลนี้เรียกว่า ตาด ส่วนคำว่า โตน นี่ก็เป็นภาษาอีสาน คือลักษณะการลงไปที่ใดที่หนึ่งด้วยแรงกระทำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ด้วยคำสองคำนี้เมื่อมารวมกันจึงเรียกว่า ตาดโตน คือลักษณะของน้ำที่ไหลเชี่ยวจากแนวต่างระดับด้วยความแรง ความแตกต่างระหว่าง ตาดโตนน้อย และตาดโตนใหญ่ข้าพเจ้าก็คิดอีกนั่นหละว่า เพราะชั้น 4 มีน้ำน้อยการไหลของน้ำไม่แรงมากนัก จึงเรียกว่า ตาดโตนน้อย ส่วนชั้นที่ 5 การไหลของน้ำเชี่ยวและมีขนาดใหญ่กว่าจึงเรียกว่า ตาดโตนใหญ่ แต่นี่ก็เป็นความคิดความเข้าใจส่วนตัวของผู้เขียนเอง... พักการบันทึกไว้แค่นี้ก่อนนะค่ะ...มาดูมิตรภาพระหว่างการเดินทางกันค่ะ

            

     ชื่นชมภาพสวย ๆ กันแล้ว อย่าลืมนะค่ะว่าเราต้องเดินทางกลับกันแล้ว มีใครคิดบ้างไหมว่าเวลาไปที่ไหนสักแห่งโดยที่เราไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยไปมาก่อน รู้สึกว่าไกลและลำบากมาก แต่เวลากลับแป๊บเดียวและง่ายกว่าเวลาที่ไปอีก” เพราะอะไรค่ะ .......?

     เป็นไงค่ะกับแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ “ห้วยเข” เราไม่ได้แค่ไปเดินเที่ยวป่าหรือน้ำตกนะค่ะ  แต่เราได้มิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมงานเพิ่มมากขึ้น..ได้เรียนรู้และสัมผัมธรรมชาติที่สวยงาม.. ได้ความรู้ต่าง ๆ มากมาย และต่อไปเราจะต้องถอดองค์ความรู้ที่ได้ไปสำรวจ เพื่อนำมาบูรณาการให้เข้ากับงานของเรา โดยท่าน ผอ.สุรินทร์  หว่างจิตร มอบนโยบายการทำ “ฝายแม้ว” ให้กับ กศน.ตำบล ทุกตำบล ซึ่งเราจะต้องวางแผนและดำเนินการต่อไปค่ะ...กศน.มัญจาคีรี... สู้..สู้

                                   ขอบคุณ ท่านผอ.มากค่ะ ที่ให้เราได้เรียนรู้คู่การปฏิบัติจริง

หมายเลขบันทึก: 408706เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2010 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น้ำตกและธรรมชาติสวยมากเลยครับ.......................... จะหาโอกาสไปเที่ยวชมให้ได้ครับ..........................

...เขียนได้ดี มีหลายประเด็นให้คิดและน่าสนใจ รูปภาพประกอบชัดเจนเข้ากับเรื่อง...มีทักษะการเก็บและเผยแพร่ข้อมูลดี ชื่นชมครับ...

ผมคงต้องขอพึ่งอีกหลายเรื่องแล้วล่ะครับ...ขอบคุณมากสำหรับมุมมองหลายมุมที่ออกจากครู กศน.มัญจาคีรี

ความเข้าใจที่ดี..นำมาซึ่งการกระทำที่ถูกต้อง อยากให้หลายคนได้อ่าน...ได้เข้าใจ "คน กับ ธรรมชาติ" ธรรมชาติจะช่วยหล่อหลอมจิตใจคน และคนกับธรรมชาติ จะอยู่ร่วมกัน ไม่ทำลายธรรมชาติ (ทั้งๆที่ทำลายมามากแล้ว) ช่วยกันทำให้ธรรมชาติในอดีตหวนกลับคืน..เพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้เห็นในอนาคตครับ

-สวัสดีครับ...

-แวะมาเยี่ยม.....และเที่ยว "ห้วยเข" ครับ...

-บรรยากาศ...น่าสนุกนะครับ....

-กศน.มัญจาคีรี... สู้..สู้.......ครับ...

-ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท