ขอเถอะครับ...ขออย่ามักง่ายในวันสำคัญ


“...อย่าได้ใช้ยาฆ่าวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้า มาใช้เป็นอันขาด เพราะร้ายแรงมาก นอกจากฆ่าหญ้าแล้ว ยังตกค้างเป็นพิษอยู่ในพื้นดินเป็นเวลานาน...” พระบรมราโชวาท พ.ค.2537
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการโครงการพระราชดำริหนองใหญ่ ที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร โดยมีนายพินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานการประชุม เรื่องราวที่พูดคุยกันเป็นการทบทวนวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ 4 ประเด็น คือ 1) การเทิดพระเกียรติในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพรโดยระบบแก้มลิงหนองใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) เป็นแหล่งเรียนรู้โครงการพระราชดำริซึ่งรวบรวมได้กว่า 3,000 โครงการ จำแนกได้ 8 หัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ แหล่งน้ำและการบำบัดน้ำเสีย การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าชายเลน ข้าว และแนวพระราชดำริด้านการสหกรณ์ 3) เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง และ 4) เป็นสวนสาธารณะที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดชุมพร

 

ประธานได้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาโดยหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในกิจกรรมต่าง ๆ อาจจะมีจุดมุ่งเน้นเฉพาะด้านที่ตัวเองชำนาญการและมีความสนใจเป็นพิเศษ แต่ในการบริหารจัดการภาพรวมของพื้นที่โครงการฯ ทั้งหมดจะต้องบูรณาการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์หลักทั้ง 4 ประการ การประชุมในวันนี้จึงมีขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน จากนั้นขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จัดทำแผนปฏิบัติการในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเองมาพิจารณาร่วมกันในการประชุมครั้งต่อไป

 

บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ มีการเสนอแนะข้อคิดเห็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และมีการรับฟังอย่างเอาใจใส่เปี่ยมล้นไปด้วยไมตรีจิต ด้วยเหตุนี้เองเมื่อประธานตั้งคำถามมายังผู้เขียนเพื่อขอความคิดเห็น ผู้เขียนจึงกล้าที่จะพูดเรื่องสำคัญในความรู้สึก แต่ไม่เคยพูดเพราะเกรงว่าถ้าไม่ชัดเจนจะเกิดความเข้าใจผิดกลายเป็นการกล่าวหาหน่วยงานต่าง ๆ ว่าทำงานแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ดำเนินตามแนวทางพระราชดำริ

 

4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เกษตรกรชาวชุมพรซึ่งแต่เดิมเคยทำสวนผลไม้เป็นหลักได้หันไปปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารากันมาก อุปสรรคอย่างหนึ่งของการจัดการสวนในมุมมองของเกษตรกรส่วนใหญ่ คือ การปราบวัชพืชด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมคือ การใช้แรงคนถางหญ้า ตัดหญ้า ในระยะหลังเกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันมาใช้ยาปราบวัชพืช หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ยาฆ่าหญ้า”

 

การใช้ยาฆ่าหญ้าแม้จะเป็นเทคโนโลยีที่ง่าย สะดวกและต้นทุนถูกกว่าการใช้แรงคนถากถางก็ตาม แต่ยาฆ่าหญ้ามีผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของแมลงและสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อคน พืช และสัตว์ ผู้ฉีดยาและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นอาจได้รับมลพิษทางอากาศ ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคผิวหนังตามมา การใช้ยาฆ่าหญ้ายังมีผลกระทบทำให้ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม มีผลต่อเนื่องไปยังแหล่งน้ำ เกิดผลกระทบต่อสัตว์นำและคนที่ใช้น้ำในที่สุด ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่เจ้าหน้าที่ กปร.(สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2537 ว่า

 

“...อย่าได้ใช้ยาฆ่าวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้า มาใช้เป็นอันขาด เพราะร้ายแรงมาก นอกจากฆ่าหญ้าแล้ว ยังตกค้างเป็นพิษอยู่ในพื้นดินเป็นเวลานาน...”

 

ที่น่าสะเทือนใจคือ ในวันสำคัญของชาติโดยเฉพาะวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม และวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ของทุกปี ชุมชนต่าง ๆ โดยการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.และเทศบาล จะจัดกิจกรรมร่วมแรงร่วมใจพัฒนาสถานที่สาธารณะ เช่น ถนน คู คลอง หนอง บึง ฯลฯ ภาพที่เคยเห็นในอดีตจะเป็นการแบกจอบ แบกเสียม มีดพร้า เครื่องตัดหญ้า ฯลฯ ออกมาทำงานร่วมกันคนละไม้-คนละมือ

 

แต่ต่อมาไม่ทราบว่าเป็นเพราะความร่วมมือร่วมใจทำงานเพื่อส่วนรวมลดน้อยลงไปหรืออย่างไร ภาพของการฉีดยาฆ่าหญ้าในพื้นที่สาธารณะเริ่มเข้ามาแทนที่ ผู้เขียนเคยสอบถามชาวบ้านก็ได้รับคำตอบว่า ปกติ อบต.หรือเทศบาลจะจัดงบประมาณเพื่อทำกิจกรรมนี้ในวันสำคัญ แต่เมื่อไม่สามารถระดมชาวบ้านมาร่วมงานแบบเสียสละได้อย่างเก่า ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณไปจัดจ้างแรงงานมาทำแทน ได้ผลงานไม่มากเพราะมีงบจำกัด ตอนหลังเลยคิดกันว่า เปลี่ยนมาจ้างแรงงานฉีดยาฆ่าหญ้าริมถนนกันดีกว่า เพราะใช้งบน้อยกว่า ได้ระยะทางและพื้นที่มากกว่า วิธีการฉีดยาฆ่าหญ้าก็ไปไกลถึงขั้นนั่งรถซาเล้งแบบมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างฉีดกันให้เสร็จไปด้วยความรวดเร็ว หลังวันสำคัญดังกล่าวเราจึงเห็นภาพของหญ้าแห้งตาย 2 ข้างริมถนนในชุมชนจนกลายเป็นเรื่องปกติ

 

ผู้เขียนได้ขอร้องผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ตระหนักในเรื่องนี้เป็นสำคัญ และต้องระมัดระวังอย่านำมาใช้ในพื้นที่โครงการพระราชดำริหนองใหญ่ ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นแล้วคงต้องขอร้องผ่านคอลัมน์นี้ว่าขอเถอะครับ...ขออย่ามักง่ายในวันสำคัญ”
คำสำคัญ (Tags): #ยาฆ่าหญ้า
หมายเลขบันทึก: 408074เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สวัสดีค่ะ
  • บุษราแวะมาทักทาย กับบรรยากาศดี ๆ ยามเช้า หลังจากเมื่อคืนฝนตกมาตลอดคืน
  • และเห็นด้วยกับบันทึกนี้เป็นอย่างยิ่งค่ะ  บุษราขอร่วมรณรงค์เกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าหญ้าด้วยคนค่ะ
  • ขอบคุณอาหารสมองยามเช้าค่ะ

                                      

สวัสดีครับท่านอาจารย์ อาจารย์ เจริญ นกหนู คุ้นชินกันครับ ลูกชายคนที่เป็น อัยการ ก็พบกันในการประชุมบ้างครับ

ส่วนความเสียหายจากวาตภัย อยู่ในบันทึกนี้ครับ

http://gotoknow.org/blog/bangheem/406339

ด้วยความขอบคุณครับท่าน

สวัสดีครับ อ.ไอศูรย์

เห็นด้วยกับท่านครับ (สารฯตัวนี้มันอันตรายมาก)

สู้ต่อไปนะครับเพื่อชุมชนฯ

นอกจาก "ยาฆ่าหญ้า" ที่ว่าน่ากลัว แล้ว "ไม้ขีด"+ "ทัศนคติ ที่เป็นลบ" ก็น่ากล้ว ครับ ทำให้โลกร้อน และก็จนลงด้วย

ขอขอบคุณทุก ๆ ความเห็นครับ.

  • สวัสดีค่ะ 
  • สุขสันต์วันลอยกระทงนะคะ...คุณไอศูรย์
  • ขอบคุณค่ะ
     
                                  ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง
  • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท