วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๑๘. เรียนรู้จากขบวนการเปลี่ยนระบบการศึกษาของบุคลากรสุขภาพของโลก



          วันที่ ๓๐ พ.ย. ๕๓ นี้ จะมีการเปิดแถลงข่าวเรื่อง Education of Health Professionals for the 21st Century ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  เท่ากับเป็นการวางฐานและแนวทางในการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของบุคลากรด้านสุขภาพหรือด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ในศตวรรษ 

          เท่ากับว่า การปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาไทย ให้เป็นอุดมศึกษาที่รับใช้ใกล้ชิดสังคม ที่เป็นการปรับเปลี่ยนใหญ่ในรอบร้อยปีเหมือนกัน  กำลังดำเนินคู่ขนานกันกับการปรับเปลี่ยนใหญ่ของการศึกษาของบุคลากรสาธารณสุขในระดับโลก   และผมโชคดีได้เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่บ้างทั้งสองรายการ

          ผมภูมิใจ ที่มีส่วนเข้าไปเสนอในทั้งสองรายการให้ใช้ยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ธรรมชาติของความเป็นระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (CAS) เป็นกลไกหลัก  ซึ่งมองมุมหนึ่งเป็นการใช้ positive approach และ empowerment เป็นหลัก   ไม่ใช้วิธีกำหนดวิธีการตายตัว (prescriptive)   ไม่ดำเนินการแบบ command & control

          หลักการที่สำคัญของ CAS ก็คือ ปัญหา (problem) กับทางออก (solution) อยู่ในที่เดียวกัน หรืออยู่ด้วยกัน   หรืออาจกล่าวใหม่ว่าในเรื่องที่มีความยากหรือความซับซ้อนเหลือหลาย วิกฤตกับโอกาสอยู่ในที่เดียวกัน   และโอกาสก็มีอยู่แล้วในรูปของความพยายามเล็กๆ ที่บางจุด   และที่บางจุดความพยายามนั้นได้บรรลุความสำเร็จเล็กๆ แล้วด้วย  ในกระบวนการแก้ปัญหา ทีมงานจัดการการเปลี่ยนแปลงต้องไปหาความสำเร็จเล็กๆ เหล่านั้นให้พบ   ทีมงานต้องพัฒนาทักษะในการมองเห็นความสำเร็จเล็กๆ นั้น  และในการค้นหา ตีความ ทำความเข้าใจ ในบริบทใหม่ที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่   นั่นคือการใช้พลังของ Success Story (SS) ที่มีอยู่แล้ว 

          โดยทั่วไป หากทีมจัดการการเปลี่ยนแปลงมีความสามารถสูง จะหา SS ได้มากมาย  สำหรับนำมาจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกย่องชื่นชม  เพื่อสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลง

          บุคลากรสาธารณสุข กับนักวิชาการสายรับใช้สังคมไทย มีส่วนที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันหลายอย่าง   อย่างหนึ่งคือทักษะด้านการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent)   ที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก   โดยที่ต้องตระหนักว่าความท้าทายในสังคมสมัยใหม่อย่างหนึ่งคือพลังของผลประโยชน์แบบไร้หัวใจ   ที่มาจากระบบทุนนิยม   โลกสมัยใหม่ก้าวหน้าอย่างมากมายจากพลังของระบบทุนนิยม   แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีส่วนเสียด้วย   ตรงที่มันไร้หัวใจ   ส่วนด้อยที่สุดของทุนนิยมคือมันสร้างความไม่เป็นธรรม (inequity) ในโลกและในสังคม   จึงต้องมีพลังเข้าไปแก้จุดอ่อนนี้

          ทั้งบุคลากรสาธารณสุข และนักวิชาการสายรับใช้สังคมไทย จะต้องได้รับการติดอาวุธ หรือความรู้และทักษะ สำหรับออกไปทำงานเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม/ชุมชน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

          แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าความรู้และทักษะคือแรงบันดาลใจหรือจินตนาการ ในการทำหน้าที่นี้ 

          เราต้องการกลไกทางสังคม และกลไกเชิงระบบ เพื่อดึงดูดเยาวชนที่มีแรงบันดาลใจเช่นนี้เข้ามาเป็นพลังขับเคลื่อนวงการอุดมศึกษา   ให้เข้าไปใกล้ชิดและรับใช้สังคม   และเราต้องการกระบวนการเชิงระบบ ที่ส่งเสริมหรือ empower กลุ่มคน หรือทีมงานที่มีแรงบันดาลใจและลงมือทำในแนวนี้อยู่แล้ว   ให้ร่วมมือกันเป็นเครือข่าย เกิดพลังสังคม (social energy) ในการขับเคลื่อน

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ต.ค. ๕๓
 

หมายเลขบันทึก: 407982เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2010 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท