ทางเลือกของการป้องกันภัยพิบัติ: การเตรียมตัว และการเตือนภัย


แม้การเตือนภัยจะดีปานใด แต่ถ้าไม่มีการเตรียมการในภาคราชการ ในเชิงพื้นที่และการเตรียมตัวในภาคประชาชนแล้ว ก็คงจะหลีกเลี่ยงความสูญเสียจากภัยพิบัติได้ยาก

เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ พฤศจิกายน ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญจากทีมงานของคุณจอม เพ็ชรประดับ   ให้เข้าร่วมเสวนาในประเด็น  “ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วม กับต้นตอสาเหตุของปัญหา ”  ในวันจันทร์ที่  8 พฤศจิกายน  2553 เวลา 20.30 -21.30 น.  (รายการสด) ณ สถานีโทรทัศน์สปริงส์นิวส์ ที่ตึก IT แสควร์ หลักสี่ ชั้น 11

โดยมี ดร. สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติภาคประชาชน เป็นผู้ร่วมอภิปราย

ประเด็นที่คุยกันหลักๆ จึงเป็นเรื่องสาเหตุของปัญหา และการเตือนภัยที่เกิดขึ้นในวิกฤตน้ำท่วมประเทศไทยที่ผ่านมา

ที่เกิดจากการพัฒนาที่ผิดพลาดทั้ง

  • การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ
  • การเก็บกักน้ำ
  • การระบายน้ำ
  • การบริหารจัดการน้ำ
  • การเตรียมตัวของคนในพื้นที่เสี่ยงภัย
  • การเตือนภัย และ
  • การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตเกือบ ๒๐๐ ชีวิต และทรัพย์สินประมาณ สองแสนล้านบาท ที่ต้องใช้งบประมาณของประเทศในการเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้าประมาณเกือบห้าพันล้านบาท

ที่นับได้ว่าเป็นการสูญเสียที่ค่อนข้างมาก ที่ไม่ควรจะเสีย หรือไม่ควรจะมากมายขนาดนี้ ถ้ามีการเตรียมตัว เตรียมการ และเตือนภัยที่ดีและมีประสิทธิภาพกว่านี้

แต่....

แม้การเตือนภัยจะดีปานใด แต่ถ้าไม่มีการเตรียมการในภาคราชการ ในเชิงพื้นที่และการเตรียมตัวในภาคประชาชนแล้ว ก็คงจะหลีกเลี่ยงความสูญเสียจากภัยพิบัติได้ยาก

เพราะชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ “เสี่ยงภัย” ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตแบบประมาท ในแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น

  • การสร้างบ้านชั้นเดียว ติดพื้นดินที่ไม่มีทางหนีจากเหตุการณ์น้ำท่วมได้เลย
  • ไม่มีการเก็บสำรองน้ำ อาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคใดๆไว้ในครัวเรือน
  • ส่วนใหญ่ “ไม่คิด” ว่าน้ำจะท่วมบ้านตัวเอง
  • จึงแทบไม่มีการเตรียมการใดๆทั้งสิ้น
  • แม้จะมีการเตือนภัยล่วงหน้าที่ดีปานใด เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ก็ไม่อาจจะป้องกันปัญหาที่เกิดจากการ “ไม่เตรียมตัว” นี้ได้

แต่ในความเป็นจริง การ “เตือนภัย” ก็ยังมีปัญหาอย่างมาก

ทั้งเชิงข้อมูล ประสิทธิภาพ และการทันเวลา

เพราะข้อมูลมักไม่ชัดเจนในระดับที่ประชาชนจะเข้าใจ และตรงจุดพอที่ชาวบ้านทั่วไปจะตระหนัก และมั่นใจพอที่จะนำไปใช้ในการเตรียมตัวรับภัยพิบัติ

และ....

ในความเป็นจริงก็เป็นการยากที่จะกำหนดจุด และระดับความรุนแรงอย่างแน่นอน ที่ในที่สุดก็เป็นการคาดการณ์ ที่อาจเกิดหรือไม่เกิด ที่ในที่สุดแล้ว ก็ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ของระบบเตือนภัย

นอกจากข้อมูลจะไม่ชัดเจนแล้ว ข้อมูลและข่าวสารมักยังไม่ถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยทั่วไป และมักไม่ยาวนานพอที่ผู่ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจะเตรียมตัวได้ทัน

แต่ประเด็นสำคัญที่ผมพยายามชี้ให้เห็นก็คือ

การเตรียมการ และเตรียมตัว ที่ผมเคยเสนอไว้ในบันทึกก่อนๆ ที่ติดว่า การเตรียมตัวนั้นต้องใช้ความเข้าใจ ความตระหนัก และระยะเวลาพอสมควร เช่น

  • การเตรียมอาหารและน้ำสำรอง ต้องใช้เวลาวางแผนเป็นวัน เป็นเดือน หรือ เป็นปี
  • การวางแผนขนของหนีน้ำ ต้องใช้เวลาวางแผน ๒-๓ วัน
  • การวางแผนอพยพสัตว์เลี้ยง ต้องใช้เวลาวางแผนเป็นเดือน หรือเป็นปีๆ หรือหลายปี แล้วแต่กรณี
  • การเตรียมการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณะภัย ต้องใช้เวลาวางแผนเป็นเดือน หรือแม้กระทั่งเป็นปี
  • การวางแผนการสร้างบ้าน อาคาร ยุ้งข้าวเพื่อลดผลกระทบของน้ำท่วม ต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๕-๑๐ ปี ขึ้นไป
  • การเตรียมระบบระบายน้ำ ต้องใช้เวลาวางแผนอย่างน้อยเป็นเดือน เป็นปี หรือ หลายๆปี แล้วแต่ขนาดของงาน
  • การเตรียมการการสร้างถนนที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำขังแช่ ต้องใช้เวลาวางแผนอย่างน้อย ๒-๑๐ ปี
  • การเตรียมการด้านระบบการผลิตทางการเกษตรที่ลดผลกระทบของน้ำท่วม ต้องใช้เวลาวางแผนเป็นปี หรือเป็นสิบๆปี
  • การเตรียมการลดผลเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เช่นการหัดว่ายน้ำ การสร้างเรือ การทำสะพาน การสร้างถนนที่น้ำไหลข้ามได้ ต้องใช้เวลาวางแผนเป็นสิบๆปี

ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่า

การลดผลกระทบนั้น ต้องมีการวางแผนแบบบูรณาการ ทำงานแบบบูรณาการ และผสมผสานความรู้ ความร่วมมือ ทั้งเชิงวิชาการสมัยใหม่และบทเรียนจากภูมิปัญญาของคนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ภัยแล้ง ว่าจะนำมาปรับใช้ได้อย่างไร

และควรมี

  • การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
  • ระบบการศึกษาที่ทำให้คนเข้าใจธรรมชาติของน้ำท่วม และการลดผลกระทบด้วยตัวเอง และ
  • การทำงานเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรม

เพื่อลดปัญหา ที่มาจาก “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”

 

นี่คือข้อสรุปจากการเสวนาในวันนั้น ครับ

หมายเลขบันทึก: 407543เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2010 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อาจารย์ครับ...

เราจะตามชมได้ทางช่องไหนครับ ;)

ได้รับชมรายการนี้โดยบังเอิญ ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐบาลจะได้ดูหรือเปล่าเพื่อจะได้นำข้อคิดและข้อเสนอแนะของคุณครูผมไปพิจารณาและนำไปปฏิบัติต่อไป

ผมอยากจะบอกคุณครูว่าหน่วยงานราชการบ้านเราโคตรห่วยแตกสิ้นดี ไม่มีการเตือนภัยในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มีการให้ข้อมูลเรื่องน้ำท่วมที่แม่นยำหรือใกล้เคียงเลย ผมอยู่หาดใหญ่โดนเข้าไปเต็มๆเลยครับ

ขอเพียงแค่ทางเทศบาลกล้าๆประกาศออกมาว่าน้ำจะท่วมเขตเทศบาลในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 43 ตั้งแต่เช้า ความเสียหายในเขตเทศบาลจะต่ำกว่านี้ในระดับหนึ่ง

พวกเค้ามีข้อมูลปริมาณน้ำต่างๆอยู่เต็มมือไปหมด แต่ไม่ยอมบอก บอกแต่ว่าน้ำจะท่วม ผมถามว่า ระหว่างน้ำท่วมระดับเข่ากับระดับ3 เมตรนี้การเตรียมตัวมันต่างกันมากมาย แต่เราก็เรียกมันว่าน้ำท่วมใช่เปล่าครับ

ปี 43 โครงการพระราชดำริ ยังไม่มี แต่ปีนี้มีครบทั้งระบบ ถ้าคุณจะบอกว่าประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมตัว ถ้าอย่างนี้แสดงว่าหาดใหญ่กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยไปแล้วเหรอครับ

ขอบ่นให้คุณครูฟังหน่อยครับ

การหวังพึ่งคนอื่นมากยุ่งยาก และไม่ค่อยได้ผล

ในที่สุด พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน"

ผมยังคิดว่ "อีกนาน" กว่าระบบเตือนภัยจะใช้ได้จริง

อาจจะต้องหวังไปไกลถึงชาติหน้า หรือชาติต่อๆไป ก็ได้ครับ

 

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

      กระผมนั่งตรึงตรอง การพัฒนาประเทศเราในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม การเมือง แล้วเราก็บอกว่าทำให้ประเทศชาติเจริญและพัฒนาขึ้น แต่กระผมกลับนึกถึงคำท่านพุทธทาส สังคมเรา เอาตัณหาและความบ้ามากองสุมกันมากๆแล้วบอกว่าเรากำลังสร้างความเจริญ หรือพัฒนาประเทศ มันทำให้กระผมนึกถึงคำพุทธทาสท่านกล่าวไว้ว่า "ยิ่งเจริญ คือยิ่งบ้า"  ณ ตอนนี้กระผมก็คิดว่า เราก็ว่าย วนเวียน เบียดเบียน ในโลกแห่งสมมุติ ทั้งจิกตีกัน เบียดเบียนกันและกัน นอกจากนี้ยังร่วมกันแข่งกันพายเรือในทะเลชีวิตที่หมุนวน ดังที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า การแก้ปัญหาเรา ไปๆมาๆ เราเปรียบเหมือนการขุดหลุมฝังตัวเอง ความไม่รู้มันครอบงำหลายชั้นมาก ปกคลุมไปทั่วหล้า ไม่ต้องกล่าวถึงโลกแห่งวิมุติ ใครมีบุญได้ก้าวเข้ามาบ้างหรือแตะบ้างก็เบา มีใจที่สุข อิสระขึ้น

ด้วยความเคารพครับผม

  นิสิต 

  • ตามมาเก็บเกี่ยวความจริงครับ
  • หนึ่งผล คือ น้ำท่วมรุนแรง ช่างมาจากหลายสาเหตุจริงๆ
  • การแก้ไขที่จะได้ผลยั่งยืนไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการตามแก้ที่ปลายเหตุอย่างที่ทำๆกันอยู่
  • เมื่อทราบเหตุแห่งปัญหา ก็ต้องตั้งหน้าตั้งตา และทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำเหตุให้ถูกต้อง เหมาะสมยิ่งขึ้น ผลที่ร้ายๆจะได้ค่อยๆทุเลาลง
  • ผมขับรถตระเวณดูหลายๆจุดแถวๆบ้าน ขณะที่น้ำเริ่มลด ได้เห็นชัดเจนว่าถนนที่ตัดกันเป็นว่าเล่นนั้นคือตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำท่วม  ช่องทางให้น้ำผ่านถนนมีน้อยมาก จนถนนกลายเป็นเขื่อนอย่างชัดเจน
  • ทางระบายน้ำธรรมชาติเช่นพรุถูกยึดครองเป็นกรรมสิทธิ์และแปรสภาพเป็นสวนปาล์มและบ้านเรือน ขวางทางน้ำได้ยอดเยี่ยม
  • ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องเอาจริง จัดการ 2 เรื่อง คือหนึ่ง .. ขุดลอก ขยายคลองธรรมชาติที่เป็นทางผ่านหลักของน้ำให้รองรับการไหลของน้ำที่มากและเชี่ยวแรงได้  และสอง .. การสร้างทางระบายน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ตามที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา  แม้ว่าจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย หรือใช้งบเพื่อการเวณคืนที่ดินเท่าไหร่ ก็ต้องยอม
  • ขอบคุณครับ

ปัญหาภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องใกล้ตัว

 พอๆ กับปัญหา อายุที่มากขึ้น ของเกษตรกร ครับ อยากจะเเลกเปลี่ยนมุมมองกับอาจารย์ในเรื่องนี้ครับ

"Aging Society จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไป เมื่อ "อายุ ไม่เข้าใครออกใคร เกษตรกรต้องเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนแก่"

ปัจจุบันประชากรเกษตรมีจำนวน 22.7 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 35 ของประชากรทั้งประเทศ ลดลงจากปี 2541 ร้อยละ 1.87 ต่อปี ประชากรเกษตรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของประชากรเกษตรทั้งหมด และแม้ว่าประชากรเกษตรร้อยละ 90 จะเป็นผู้ที่อยู่ประจำในครัวเรือนแต่ก็มีแนวโน้มลดลง ...

 

ในที่สุด พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท