อาม่าเล่าเรื่อง (๑๑) ตู้ทรหดหลังน้ำท่วมบ้านอาม่าที่ปักธงชัย


     หลังจากการเดินทางไปเยี่ยมอาม่าที่บ้านทีปักธงชัยในเช้าวันที่ ๑๖ ตุลาคม กลับมาแล้ว ในวันรุ่งขึ้น (๑๗ ตุลาคม) ก็ได้ทราบว่าระดับน้ำท่วมสูงขึ้นอีกประมาณ ๑ เมตร  บริเวณถนนหน้าบ้านมีระดับน้ำสูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร การเดินทางเข้าไปที่บ้านอาม่าต้องอาศัยเรือยางของทหารเท่านั้น  ติดตามข่าวจากทีวีและสอบถามข่าวอาม่าผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง  ลูก ๆ หลาน ๆ พยายามโน้มน้าวให้อาม่าเดินทางออกจากบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูง มาพักอยู่ที่บ้านวรารักษ์ที่โคราช  แต่อาม่าก็ยังคงยืนยันว่าจะอาศัยอยู่ที่ชั้นสองของบ้านสองคนกับอาโก  แม้ว่าน้ำประปาไม่มี แต่ไฟฟ้ายังคงใช้การได้ (แม้ว่าบ้านติดกันไฟฟ้าถูกตัดไปแล้ว) จนกระทั่งเช้าวันที่ ๑๙ ที่มีข่าวว่าน้ำอาจจะท่วมสูงเพิ่มขึ้นอีกระลอก อาโกจึงตัดสินใจว่าจะนำอาม่าออกจากบ้าน กระบวนการนำอาม่าและอาโกออกจากบ้านจึงเริ่มขึ้น และจากการช่วยกันหลาย ๆ ฝ่าย การช่วยเหลือเพื่อนำอาม่าและอาโกออกจากบ้านจึงสำเร็จได้ด้วยดีในบ่ายวันนั้นเอง  (อ่านรายละเอียดได้จากบันทึกของ อ. หลินฮุ่ย)

 

      ดีใจสุด ๆ ที่อาม่า พร้อมพี่ใหญ่และครอบครัว เดินทางออกมาจากบ้านที่ปักธงชัย ที่ถูกน้ำท่วม ไม่มีน้ำไม่มีไฟฟ้าใช้มา ๓ วัน สามารถเดินทางมาถึงที่บ้านโคราชโดยสวัสดิภาพ และได้รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ด้วยบริการของอาม่าหลินฮุ่ย

     อาม่าเดินทางกลับไปพักที่บ้านปักธงชัยเมื่อวันพฤหัสที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ หลังจากน้ำลดหมดแล้วและลูก ๆ หลาน ๆ ช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านที่ถูกน้ำท่วมนานกว่าสัปดาห์  ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่พอจะเข้าไปอาศัยอยู่ได้  โดยผมและ อ. หลินฮุ่ย น้องสาวและครอบครัวน้องชาย เป็นผู้ขับรถไปส่ง หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว  ผมเดินทางเข้าไปช่วยน้องสาว(อาโก) ในการจัดของและเก็บกวาดสิ่งต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทางในวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมาด้วย  เลยถือโอกาสถ่ายภาพตู้สองชั้น ที่เป็นตู้เก่าแก่ ที่อากงอาม่าใช้ในการวางสินค้าจำหน่ายในร้านตั้งแต่เริ่มทำการค้าที่บ้านไม้สามชั้น และต่อมาย้ายมาที่บ้านเช่าในตลาดเก่าปักธงชัย จนเมื่อมีการซื้อบ้านและสร้างบ้านใหม่ จึงเลิกใช้ตู้ไม้สองชั้นนี้ในการวางสินค้า อากงอาม่าจึงนำมาไว้ที่บ้านตึกในปัจจุบัน โดยใช้เป็นที่เก็บของเก่าต่าง ๆ รวมทั้งรูปภาพต่าง ๆ ดังในภาพ ที่ถ่ายเมื่อศุกร์วัน ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา หลังจากการถูกน้ำท่วมสูงเกือบ ๑.๕๐ เมตร เปรียบเทียบกับภาพที่ผมถ่ายไว้เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๓  ก่อนถูกน้ำท่วม 

  

     ตู้ไม้สองชั้นนี้นับว่ามีความทรหดมากเพราะผ่านการใช้งานมานานกว่า ๗๐ ปี ถูกน้ำท่วมมาหลายครั้งแต่ก็ยังสามารถใช้การได้หลังน้ำท่วม แม้ว่าครั้งนี้จะหนักสุด (ท่วมสูงสุด) ก็ยังคงสามารถใช้การต่อไปได้หลังน้ำลด (แต่สภาพไม่ดีเท่าเดิม) เป็นตู้ทรหดจริง ๆ ครับ ขอให้ทุก ๆ ท่านที่ประสบภัยน้ำท่วม สู้ ๆ ต่อไปอย่างเช่นตู้ไม้สองชั้นนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 406946เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2010 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2013 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์Pandaที่เคารพ
  • ปีนี้น้ำท่วมโคราชก่อนใครจนน่าตกใจ
  • โดยเฉพาะอำเภอปักธงชัยที่เสียหายหนักมากๆ
  • นักเรียนสุรธรรมฯจำนวนมากเป็นชาวปักธงชัย
  • ช่วงเปิดเรียนใหม่น้ำยังขังต้องช่วยทางบ้าน
  • ทำความสะอาดจัดการขยะมาเรียนไม่ได้ค่อนโรงเรียน
  • ครอบครัวอาจารย์ต่างมีสุขภาพแข็งแรงดีนะคะ
  • โดยเฉพาะอาม่า.. เป็นครอบครัวอบอุ่นน่าชื่นชมค่ะ
  • สุดยอดตู้ไม้ต้องยกให้ตู้ที่นำภาพมาโชว์ให้เห็น
  • นี่ขนาดถูกน้ำท่วมตั้งหลายครั้งแต่ก็ยังดูดีอยู่นะคะ
  • สุดท้ายก็ขอให้อาจารย์ อาม่าและครอบครัว
  • มีแต่ความสุขสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงตลอดไปทุกๆคนค่ะ.

มาให้กำลังใจค่ะ...ลูกๆหลานๆดูแลท่านผู้ใหญ่อย่างน่าชื่นชม..น้ำท่วมมากและไปเร็ว..ทิ้งความเสียหายไว้..พวกเราต้องช่วยกันสร้างสมดุลให้แก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืนนะคะ..

            

ขอบคุณ ครูแป๋ม มากครับที่ให้กำลังใจและอวยพร

วันนี้เข้าไปที่บ้านอาม่าอีก เพื่อซ่อมแซมบานประตูตู้ไม้ชั้นล่างที่จมอยู่ใต้น้ำนานประมาณหนึ่งสัปดาห์ บานประตูจึงเสียหายปิดไม่ได้และกระจกบางช่องหลุดออกมา  ค่อย ๆ เคาะให้เข้าที่จนสามารถใช้การได้แล้วครับ

ขอบคุณ พี่ใหญ่ มากครับที่ให้กำลังใจ

เรื่องภัยธรรมชาติ ต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนได้ร่วมมือกันรักษาความสมดุลให้แก่ธรรมชาติ จึงจะสามารถลดการเกิดลงได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท