ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ : หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ ยุคโครงการพัฒนาการศึกษาของชาติ


ข้อคิด คติเตือนใจศึกษานิเทศก์ 5 ประการของ ศ.ฐะปะนีย์ เพื่อจดจำ นำไปปฏิบัติ และปรับปรุงตนเอง คือ “แม่นวิชา รู้หน้าที่ มีน้ำใจ ไม่ลำเอียง เสียงน่าฟัง” และเสนอลายแทง 5 ประการในการนิเทศของศึกษานิเทศก์ คือ “เตรียมตัวพร้อม ยอมรับฟัง ไม่ทิ้งหลัก รักค้นคว้า และเอื้ออาทร”

  บุคคลสำคัญในวงการนิเทศการศึกษาท่านที่ 4 ที่ผมอยากเล่าให้ศึกษานิเทศก์และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้ทราบและเรียนรู้ คือศาสตราจารย์กิตติคุณ ฐะปะนีย์ นาครทรรพ

 ขอเล่าประวัติศาสตราจารย์กิตติคุณ ฐะปะนีย์โดยสังเขปก่อนว่า สกุลเดิมของท่านคือ ณ ถลาง เป็นพี่สาวคนโตของน้องๆอีก 6 คน ในจำนวนนั้นก็มี ท่านวทัญญู ณ ถลาง และท่านอธิบดีเอกวิทย์ ณ ถลาง)ท่านจบปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2485 ได้อนุปริญญาประโยคครูมัธยม เมื่อ พ.ศ. 2486  และได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านอักษรศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เมื่อ พ.ศ. 2496     ท่านเคยเป็นครูสอนที่โรงเรียนศึกษากุมารี จังหวัดนครศรีธรรมราช  โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมวังจันทรเกษม  ต่อมา พ.ศ.2496-2497 ได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่โรงเรียนสตรีฉะเชิงเทราดัดดรุณี จังหวัดฉะเชิงเทรา(ปัจจุบันคือโรงเรียนดัดดรุณี) ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมแบบประสมรุ่นแรก ในโครงการปรับปรุงการศึกษาฉะเชิงเทรา  แล้ว พ.ศ. 2498 ก็ได้รับการชักชวนจากอาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือให้มาเป็นศึกษานิเทศก์สายวิชาภาษาไทย หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา  พ.ศ. 2502 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ จนถึง พ.ศ. 2515  หลังจากมีการรวมกรมวิสามัญเป็นกรมสามัญศึกษาใน พ.ศ. 2516 ก็ได้โอนไปเป็นอาจารย์ภาควิชามัธยมศึกษา คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงตำแหน่งศาสตาจารย์    

   ขอคุยให้เห็นถึงงานนิเทศการศึกษาโครงการพัฒนาการศึกษาของชาติที่หน่วยศึกษานิเทศก์มีส่วนรับผิดชอบ ขณะที่ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา ต่อจากท่านอาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ระหว่าง พ.ศ. 2502-2515 นอกจากท่านจะทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์แล้ว ท่านยังรับหน้าที่หัวหน้าสายวิชาภาษาไทยด้วย 

 ในช่วงนั้นเป็นระยะเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังพัฒนาการศึกษาของชาติทุกระดับ โดยเมื่อ พ.ศ. 2501 รัฐบาลได้แถลงนโยบายว่าจะพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดจนการศึกษาชั้นสูงเพื่อทะนุบำรุงการศึกษาให้ก้าวหน้าโดยทั่วไป กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดวางโครงการขึ้นให้ชื่อว่า โครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค(พ.ศ.ภ.) เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Regional Education Development Project Including Higher Education(R.E.D.P.H.E.) โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่คลุมงานการศึกษาในจังหวัดต่างๆ เกี่ยวข้องกับงานทุกกรมในกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้พิจารณาสภาพการศึกษาในปัจจุบันและหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น แล้วสรุปเป็นแนวพัฒนาการศึกษาที่จะต้องดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 14 รายการด้วยกัน เช่น เปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้น จัดการศึกษาสงเคราะห์ประเภทต่างๆ เร่งขยายโรงเรียนฝึกหัดครูอบรมครูประจำการเป็นประจำตลอดปี เน้นในเรื่องวิธีสอนและการใช้อุปกรณ์การศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ได้กำหนดเอาภาคการศึกษา 12 ภาค(ต่อมาคือเขตการศึกษา)เป็นหน่วยพัฒนา โดยจะเริ่มดำเนินการทีละหน่วยตั้งแต่ พ.ศ.2501 เป็นต้นไป จนครบ 12 หน่วย ในเวลาประมาณ 3 ปี

         ขั้นแรกจะต้องรีบสร้างคุรุสัมมนาคารประจำภาคเพื่อเป็นศูนย์ดำเนินการ และหาตัวบุคคลช่วยเหลือผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการสำหรับภาคนั้นๆ โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาวไม่มีกำหนด ไม่มีขอบเขต ต้องทำไปเรื่อยๆตามเหตุการณ์และความเหมาะสม ประการสำคัญที่สุดคือมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

        พร้อมๆกับการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาคดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ดำเนินการพัฒนาการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา การฝึกหัดครู และอาชีวศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยจัดทำเป็นโครงการชื่อ โครงการพัฒนาการศึกษา(ค.พ.ศ.) เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า General Education Development(G.E.D.)กำหนดระยะเวลาดำเนินการไว้ 5 ปี คือ พ.ศ.2501-2505 โดยสร้างศูนย์พัฒนาการศึกษาขึ้นที่ภาคการศึกษาทั้ง 12 ภาค ใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินและกองทุนสมทบระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา

         ในแต่ละศูนย์พัฒนาการศึกษามีหน่วยดำเนินงานประกอบไปด้วย สถาบันการฝึกหัดครู 1 แห่ง โรงเรียนประถมศึกษา 2 แห่ง โรงเรียนมัธยมสามัญศึกษา 2 แห่ง โรงเรียนมัธยมวิสามัญศึกษา 2 แห่ง โรงเรียนอาชีวศึกษา 1 แห่ง และหน่วยศึกษานิเทศก์ท้องถิ่น 1 แห่ง โรงเรียนต่างๆที่กล่าวมานั้นเรียกว่าโรงเรียนประเคราะห์ ซึ่งมีความหมายว่าประคับประคอง และจะได้ปรับปรุงให้เป็นตัวอย่าง จนสามารถช่วยโรงเรียนอื่นในภาคการศึกษานั้นต่อไปได้

ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ฝ่ายมัธยมเป็นกรรมการทำงานร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นผู้นำหลักการเผยแพร่ให้ความรู้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาทุกด้านแก่ศึกษานิเทศก์ทุกสายวิชา ให้เข้าใจและรับหลักการที่จะออกไปนิเทศ อบรมครูโรงเรียนในโครงการ ตลอดจนการผลิตเอกสารการเรียนการสอน จุลสาร และคู่มือครู รวมทั้งมีส่วนในการคัดเลือกบุคลากรในโครงการไปศึกษาต่อและดูงานในต่างประเทศด้วย

        นับได้ว่าศาสตราจารย์ฐะปะนีย์เป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติในขณะนั้นอย่างมาก  เมื่อสิ้นสุดโครงการนี้แล้ว ท่านยังเป็นผู้นำศึกษานิเทศก์มัธยมศึกษาร่วมทำงานในโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม(Comprehensive School Project) เรียกชื่อย่อว่า ค.ม.ส. ซึ่งมีโรงเรียนทดลองทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยหลักสูตรโรงเรียน ค.ม.ส.นอกจากนักเรียนจะเรียนวิชาสามัญตามหลักสูตรแล้ว ยังจะต้องเลือกเรียนวิชาเลือกของแต่ละสายวิชาตามความถนัดของผู้เรียน เมื่อจบโครงการทดลองนี้แล้ว กระทรวงศึกษาธิการก็ประกาศใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 ตามแนวทางของหลักสูตรโรงเรียนมัธยมแบบประสม

        พูดถึงหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา ได้ย้ายที่ทำงานหลายครั้ง จนถึง พ.ศ.2512 จึงได้มาอยู่เป็นสัดส่วนที่บริเวณโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย มีศึกษานิเทศก์แต่ละสายวิชามากขึ้น ศาสตราจารย์

ฐะปะนีย์จะออกไปนิเทศ อบรม สัมมนา ร่วมกับศึกษานิเทศก์สายวิชาต่างๆเสมอ ท่านมีความสามารถสูงในการจัดกิจกรรมนิเทศ รวมทั้งมีความสามารถในการแต่งกาพย์ กลอน ท่านจะมีบทกลอนที่ไพเราะ คำขอบคุณ อวยพรวันเกิด บทเพลงที่แต่งประกอบบทเรียน เพลงชมธรรมชาติและสถานที่ ในโอกาสต่างๆมาฝากเสมอ จึงเป็นที่ชื่นชอบของครูและผู้ร่วมงานอย่างยิ่ง

       ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ มีข้อคิด คติเตือนใจให้ศึกษานิเทศก์ทุกสายวิชา 5 ประการ เพื่อจดจำ นำไปปฏิบัติ และปรับปรุงตนเอง คือ “แม่นวิชา รู้หน้าที่ มีน้ำใจ ไม่ลำเอียง เสียงน่าฟัง” และเสนอลายแทง 5 ประการในการนิเทศของศึกษานิเทศก์ คือ “เตรียมตัวพร้อม ยอมรับฟัง ไม่ทิ้งหลัก รักค้นคว้า และเอื้ออาทร”

       ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์สร้างผลงานการนิเทศและการสอนภาษาไทยไว้เป็นอันมาก ท่านเขียนตำราและเอกสารค้นคว้าวิชาภาษาไทยไว้มากมายทั้งในรูปร้อยแก้วและร้อยกรอง ท่านให้แนวคิดแก่ครูในการสอนภาษาไทยให้สนุกและได้ผล 10 ประการคือ “ปลูกศรัทธา หาตัวอย่าง ช่างสังเกต คิดเหตุผล ค้นคว้ารวบรวม ร่วมกิจกรรม ทำอุปกรณ์ สอนการใช้ ให้หลักเกณฑ์ เล่นร้อยกรอง”

       เอกสารวิชาภาษาไทยที่ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์เรียบเรียงไว้มีเป็นจำนวนมาก เช่น ความสำคัญของภาษาไทยและข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะภาษาไทย เรื่องภาษิตและการสื่อสาร การสื่อความหมาย การใช้คำในภาษาไทย วัฒนธรรมการใช้ภาษาเรื่องฉันทลักษณ์ไทย และผลงานการประพันธ์ที่แสดงให้เห็นความสามารถทั้งด้านภาษาและวรรณกรรมในรูปแบบต่างๆอีกมากมาย

      คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม เขียนยกย่องไว้ในหนังสือ “ในความทรงจำฐะปะนีย์ นาครทรรพ”ความตอนหนึ่งว่า

     “ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ เป็นปูชนียบุคคลที่เป็นที่รักที่เคารพ...เป็นครูสอนภาษาไทยที่ปราดเปรื่องและได้สร้างศิษย์ออกมาเป็นครูภาษาไทยที่มีความสามารถจำนวนมาก...

     ...นอกจากท่านอาจารย์ฐะปะนีย์จะเป็นครูของครู เป็นกวีชั้นครูของกวีแล้ว ท่านอาจารย์ฐะปะนีย์ยังเป็นผู้ใหญ่ที่มีความนุ่มนวลอ่อนโยน ละมุนละไมในการสนทนาปราศรัยกับทุกคนที่ได้พบปะ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นศิษย์หรือคนทั่วไป อาจารย์มีความเมตตา กรุณาปรานีทุกๆคนถ้วนหน้า ท่านจึงเป็นที่เคารพรัก ชื่นชม ประทับใจ ยกย่องสรรเสริญของผู้คนจำนวนมาก...”

นายธเนศ ขำเกิด ผู้เรียบเรียง


 ข้อมูลอ้างอิง

1.หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2555

2.วารสารวิทยาจารย์ ปีที่ 113  ฉบับที่ 7 มีนาคม 2557                            

         

 

หมายเลขบันทึก: 406336เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2017 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วันก่อนได้ดูข่าวทางทีวี ยังนึกอยู่เลยว่าสมัยเด็กๆเรียนหนังสือ เคยรู้จักนามปากกาของท่านผู้นี้รึเปล่า ดีจัง เหมือนหนังสือมีชีวิต อ่านคนเดียวรู้หลายคน บางท่านได้มาแล้วก็วางเลย ดิฉันจะรอตอนต่อไปค่ะ

กราบเรียนท่านอาจารย์ธเนศค่ะ 

  • ไปสัมมนาปักกิ่งเสียหลายวัน 
  • ระลึกถึงชาวG2K และกัลยาณมิตรตลอดเลย
  • วันนี้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้กับท่านค่ะ

ชื่นชมผลงานการประพันธ์บทกลอนสอนธรรมของท่านศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ มากๆค่ะอยากได้หนังสือรวมเล่มผลงานบทกลอนของท่านค่ะไม่ทราบว่า จะหาซื้อได้ที่ไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท