หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ว่าด้วย "กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"


ขอขอบคุณกัลยาณมิตรที่ได้กรุณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนเป็นที่มาของการคิดต่อและกลายมาเป็นบันทึกนี้ครับ

          กัลยาณมิตรของผมท่านหนึ่ง แลกเปลี่ยนแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังจากผมได้ช่วยเผยแพร่บทความหนึ่งเกี่ยวกับกฏหมายนี้

          ท่านให้ความเห็นต่อกฏหมายนั้นในทำนองว่า กฏหมายนี้มีผลดีในแง่ที่ทำให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น แต่ก็ส่งผลกระทบทำให้คนไข้ไม่ใส่ใจกับการดูแลรักษาสุขภาพ เน้นการรักษามากกว่าการสร้างเสริมสุขภาพ พึ่งยามากขึ้นทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วยอะไรมาก และมักไม่ปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ และจากประสบการณ์ตรงของท่าน กฏหมายนี้ได้สร้างภาระงานจำนวนมากให้แพทย์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อคุณภาพในการให้บริการ

          ผมอ่านความเห็นแล้วก็มีความรู้สึกเห็นด้วย รวมทั้งเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์กับภาระที่หนักอึ้งในคราวเดียวกัน

          เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าทุกวันนี้ผู้คนเจ็บป่วยมากขึ้น รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ของผู้คนในสังคม

          แต่อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ยังไม่สู้จะแน่ใจนักว่าการเกิดขึ้นของ กฏหมายหลักประกันสุขภาพฯ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านไม่ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ เพราะสามารถเข้าถึงบริการรักษาได้ง่ายและไม่เสียเงิน

          ลึก ๆ แล้วผมยังค่อนข้างเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ล้วนไม่มีใครอยากเจ็บป่วย ไม่มีใครอยากเข้าไปรับการรักษาแม้ว่าจะไม่ต้องเสียเงินค่ารักษา ซึ่งการเจ็บป่วยสำหรับชาวบ้านนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่โต นอกจากจะเสียแรงงานของครอบครัวจากคนที่เจ็บป่วยแล้ว ยังต้องเสียแรงงานเพื่อมาเฝ้าไข้ ไปรับ ไปส่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่ารถค่ารา ค่าใช้จ่ายจิปาถะเมื่อต้องเดินทางและมาอยู่โรงพยาบาล ฯลฯ

          ผมคิดว่าความเจ็บป่วยของชาวบ้าน (โดยเฉพาะในระดับล่าง) จากสาเหตุที่ป้องกันด้วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพนั้น มีปัจจัยแวดล้อมที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน

          จากประสบการณ์ที่ทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านระดับล่าง ผมมั่นใจพอที่จะกล้าสรุปได้ว่าการเจ็บป่วยของชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นมาจากการถูกกระทำจากโครงสร้างสังคมที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรม หรือจะเรียกว่า “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” มากกว่าเกิดจากการกระทำของตนเอง

          การถูกกระทำนั้น ทำให้ความสามารถในการพึ่งตนเองและพึ่งพากัน กระทั่งสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นต้นทุนสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวบ้านถูกริดรอนลงไปจนแทบจะหมดสิ้น และนี่คือต้นเหตุสำคัญการเจ็บป่วยของชาวบ้านระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

          ตามความเข้าใจของผมนั้น ผมคิดว่าการเจ็บป่วยที่เป็นผลพวงมาการวิถีการดำเนินชีวิต (อาทิ เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง โรคหัวใจ ฯลฯ)  เริ่มปรากฏขึ้นและชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงวิถีทำมาหากินจากการผลิตเพื่อยังชีพไปสู่การผลิตเพื่อการค้า ซึ่งเกิดจากการผลักดัน ชักจูงและการครอบงำจากกลไกรัฐและทุนที่ร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแนบแน่น

          การเร่งผลผลิตอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยคาดหวังจะได้ผลตอบแทนสูงตามคำชวนเชื่อทั้งหลาย ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านทั้งหลายตกที่นั่งลำบากกันถ้วนหน้า

          การใช้สารเคมีในการผลิตอย่างบ้าระห่ำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผลกรรมไม่เพียงสะท้อนย้อนกลับมาทำร้ายตนเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสาหัส และนี่น่าจะเป็นต้นตอประการสำคัญญของการเจ็บป่วยที่สำคัญของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

          ความทุ่มเทในการผลิตเพื่อการค้า ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากละเลยในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองในด้านอาหาร หันไปพึ่งพาอาหารจากตลาดภายนอกมากขึ้น และด้วยทั้งความเขียมเจียมและขีดความสามารถในการจับจ่ายอาหารของชาวบ้าน ทำให้เข้าถึงได้เพียงอาหารคุณภาพต่ำ ที่เต็มไปด้วยสารปนเปื้อนนานาชนิด ทั้งนี้ไม่ต้องถามถึงคุณค่าทางโภชนาการ และนี่ก็คืออีกต้นตอหนึ่งของการเจ็บป่วยที่เกิดจากการกิน

          นี่คือปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อการเจ็บป่วยของชาวบ้านระดับล่างในชนบท แต่สิ่งที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือ การจำกัดและริดลอนสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นต้นทุนในการยังชีพของชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตเป็นไปตามอัตภาพ ในขณะที่รัฐและทุนรุกคืบเข้าไปดูดซับเอาทรัพยากรเหล่านั้นออกไปบำรุงความเติบโตซึ่งมีคนไม่กี่หยิบมือได้รับประโยชน์

          ทรัพยากรที่รัฐจัดสรรให้เป็นบริการสาธารณะและสวัสดิการให้แก่ประชาชน ในความเป็นจริงก็มิได้ลงไปถึงชาวบ้านระดับล่าง ดังมีเรื่องเล่าทีเล่นทีจริงว่า งบประมาณรัฐก็เปรียบเสมือนแท่งไอศครีม ที่กว่าจะลงไปถึงชาวบ้านก็เหลือเพียงแท่งไม้เปล่า ๆ

          ความทุกข์ยากของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ มักมิได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ความลำบากเดือดร้อนจึงเกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน คนที่อยู่ในสถานภาพได้เปรียบในสังคมซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อยก็พยายามรักษาสถานภาพของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่นและถีบตัวเองสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศต่างก็เผชิญชะตากรรมเดียวกันคือทรุดลงเรี่ยติดดิน ช่วงว่างแห่งความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างออกไปเรื่อย ๆ จนสุดกู่ สำหรับผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กันกับความเจ็บป่วยกันอย่างแยกไม่ออก

          และในเรื่องบริการสาธารณสุขนั้น ประเทศได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาล ทั้งการผลิตบุคลากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาหยูกยา การว่าจ้างบุคลากร การพัฒนาองค์ความรู้ ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการเหล่านั้น ชาวบ้านยากจนจำนวนไม่น้อยที่ต้องล้มตายเพียงเพราะไม่มีเงิน และที่สำคัญการเจ็บป่วยจำนวนมากมายเหล่านั้น หากสืบสาวลึกลงไปอย่างจริงจังก็จะพบว่าเกิดจาก “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” นั่นเอง

          ความพยายามในการทำให้ชาวบ้านยากจนจำนวนค่อนประเทศเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐโดยกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น แม้ว่าในระยะแรกจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่หากผมเข้าใจไม่ผิด นี่น่าจะเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวประการหนึ่งนั่นเอง

          การเกิดขึ้นของกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าจริง ๆ แล้วมีคนยากจนข้นแค้นที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ เต็มประเทศ ด้วยมีผู้คนแห่แหนมาโรงพยาบาลจนแน่นขนัด แน่นอนว่าเพิ่มภาระของแพทย์พยาบาลจนงานล้นมือแทบรับไว้ไม่ไหว ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยลดลง

          ทั้งนี้ก็อาจจะมีผลกระทบบ้างที่จะทำให้ผู้คนไม่ใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพ เน้นการรักษามากกว่าการสร้างเสริมสุขภาพ

          เท่าที่ผมได้ศึกษากฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาบ้าง ผมเข้าใจว่ากฏหมายนี้ไม่เพียงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการตั้งรับการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังมุ่งไปที่การทำงานเชิงรุกในการสร้างเสริมสุขภาพซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย เพียงแต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ถูกละเลยมานานจนฝังรากลึก การบรรเทาปัญหาจึงให้เบาบางจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสและจำเป็นต้องใช้เวลาไม่น้อย และด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดก็ยังทำให้การทำงานสร้างเสริมสุขภาพยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่นัก

          แม้ว่าการทำงานเชิงรุกหรือการสร้างเสริมสุขภาพจะยังมีข้อจำกัด แต่ก็ปรากฏว่าในบางโรงพยาบาลชุมชนได้เริ่มต้นดำเนินงานมาพักใหญ่และเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว ผมมักยกตัวอย่างที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่อธิบายแนวคิดที่สามารถขับเคลื่อนให้เป็นไปได้ตามเจตนารมย์ของกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

          ร.พ.อุบลรัตน์ เริ่มต้นให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่คนไข้ยังไม่มาก ชาวบ้านมักไม่มาหาหมอ แต่จะพึ่งพาการรักษาจากหมอพื้นบ้าน รวมทั้งการรักษาตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ ทางโรงพยาบาลต้องทำงานเชิงรุกเพื่อให้ชาวบ้านมารักษาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาล

          คำแนะนำ “เป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่ารักษาเอง ให้รีบมาหาหมอ” ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง เพียงไม่นานชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็เข้ามารักษาโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยความทุ่มเททำหน้าที่อย่างจริงจังในการทำหน้าที่ของแพทย์และพยาบาล ก็ยิ่งทำให้ปริมาณผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จากคนไข้ยี่สิบกว่าคนเพิ่มเป็นสองร้อยกว่าคนต่อวันภายในเวลาไม่กี่ปี โรงพยาบาลก็เริ่มตั้งคำถามว่าที่ทำงานมาอย่างหนักนั้นถูกทางแล้วหรือ ทำไมยิ่งรักษาคนก็ยิ่งเยอะขึ้น น่าจะเกิดความผิดพลาดอะไรสักอย่างแน่ ๆ ข้อสังเกตุในวันนั้นทำให้โรงพยาบาลกลับมาตั้งหลักทบทวนการทำงานเสียใหม่

          การตั้งหลักของ ร.พ.อุบลรัตน์ เริ่มจากการทำความเข้าใจความเจ็บป่วยของชาวบ้าน ซึ่งก็พบว่าการเจ็บป่วยของชาวบ้านนั้น มีทั้ง รักษาหายไม่รักษาก็หาย รักษาหายไม่รักษาตาย และรักษายังไงก็ไม่หาย นอกจากนั้นยังพบว่าความปรารถนาดีของโรงพยาบาลทำให้ภูมิคุ้มกันและศักยภาพการดูแลคนเองด้านสุขภาพของผู้คนและชุมชนลดลงอีกเป็นอันมาก

          ในขณะเดียวกันว่าทางออกที่น่าจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืนนั้นคืออะไร และในที่สุดก็พบว่าวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายายนั้นคือคำตอบของ “สุขภาวะ” และยิ่งศึกษาลงลึกก็พบว่าบรรดาปัญหาความเจ็บป่วยของชาวบ้านนั้นล้วนมีต้นตอมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง จากการพัฒนาที่ผิดทิศทางของประเทศที่มุ่งเน้นเงินเป็นใหญ่

          สิ่งที่ ร.พ.อุบลรัตน์ ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการทำงานมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคือ “การคืนความสามารถในการดูแลตนเองด้านสุขภาพให้แก่ชาวบ้านและชุมชน” ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ผลจากการขับเคลื่อนของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากผู้ป่วยที่แน่นขนัดเหลือเพียงเบาบาง ในช่วงบ่ายของแต่ละวันแทบไม่มีคนไข้

          แม้ว่าความสำเร็จของ ร.พ.อุบลรัตน์ จะมิได้เป็นผลมาจากกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ที่ยกตัวอย่างโรงพยาบาลนี้ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าเจตนารมย์ของกฏหมายฯ นี้เป็นไปได้จริงครับ

หมายเลขบันทึก: 404336เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2010 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ชอบและยกมือเห็นด้วยกับบันทึกนี้ค่ะ

การทำงานของของบุคลากรสาธารณสุข ควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างและคืนความสามารถในการดูแลสุขภาพตนเองได้ ...

เพราะการมีศักยภาพในการดูแลตนเองทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม "เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์"

จะเ็ป็นความคิดที่คับแคบเกินไปหรือไม่ หากจะคิดว่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะทำให้คนไม่ระวังดูแลตนเอง (คิดได้ไง?) หากทำหน้าที่ได้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว บุคลากรวงการสาธารณสุขจะมีงานเบาไปมากในระยะยาว

ชื่นชม รพ.อุบลรัตน์ค่ะ

(^__^)

เห็นด้วยนะคะที่คุณเห็นความสำคัญในเรื่องนี้

สวัสดีครับอาจารย์

 

Ico32
คนไม่มีราก 
เมื่อ 24 ตุลาคม 2553 13:28 
#2224440 [ ลบ ] 

 

 

ผมนั่งคิดเรื่องเหล่านี้อยู่เป็นวันเลยครับ ถ้าแท้ที่จริงแล้วผมรู้สึกและเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร

ต้องขอขอบคุณกัลยาณมิตรท่านที่ผมกล่าวถึง ที่ได้ตุดประกายให้ผมคิดเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ จนมาเป็นบันทึกนี้ 

ประสบการณ์ที่ ร.พ.อุบลรัตย์ ดีมาก ๆ ในแง่การทพงานสร้างเสริมสุขภาพครับ ผมจะเขียนเรื่องราวของโรงพยาบาลนี้ในเร็ววันนี้

สำหรับเรื่องผลกระทบจาก พรบ.สุขภาพ ที่ทำให้คนใส่ใจกับการรักษาสุขภาพน้อยลง จากประสบการณ์ของผมพบว่ามีส่วนเป็นจริงครับ เพราะวิทยาการและสวัสดิการที่เข้าถึงได้ง่าย ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงปล่อยตัวเลยตามเลย ตามใจปากท้องและกิเลส เป็นที่มาของการเจ็บป่วย แล้วก็ไปพึ่งพาการรักษาซึ่งก็เป็นภาระให้กับโรงพยาบาล

ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนครับ

 

สวัสดีครับ

Ico32
อารีย์ แก้วเกตุ 
เมื่อ 24 ตุลาคม 2553 15:49 
#2224549 [ ลบ ] 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนนะครับ

สวัสดีค่ะคุณน้อง

        พี่ยกมือให้สองข้างเลยนะคะ....วันนี้พี่มาชวนไปเที่ยวถิ่นคอมมิวนิสต์ค่ะ..ไปกันเถอะ..เกาหลีเหนือนะคะhttp://gotoknow.org/blog/0815444794/403277

เห็นสัญลักษณ์ในภาพมั้ยคะ ฆ้อน,พู่กัน ,เคียว แทนคนทุกชนชั้นค่ะ

โรงพยาบาลอุบลรัตน์เป็นโรงพยาบาลตัวอย่างในการนำเรื่องระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ในการพัฒนางานโรงพยาบาล ตอนสมัยเรียน ดาวจำได้แม่นยำว่าอาจารย์เคยพาไปดูงานที่ รพ.อุบลรัตน์ ตอนนั้นประทับใจมากแล้วก็ยังประทับใจมาจนทุกวันนี้ รพ.อุบลรัตน์สามารถพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นรูปธรรม มีการใช้การแพทย์ทางเลือกเข้ามาช่วย เน้นให้คนในชุมชนสร้างเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะยาว คงมุ่งเน้นให้บุคลากรสาธารณสุขหันมาส่งเสริมสุขภาพให้กับคนในชุมชน..."สร้างนำซ่อม" ซึ่งคงต้องขอเน้นว่าในระยะยาว เพราะปัจจุบันจะคงยังไม่เห็นผล ดาวเองมองว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และการจะพัฒนาให้ถึงจุดที่ชุมชนมีการสร้างเสริมสุขภาพ เช่นเดียวกับ รพ.อุบลรัตน์นั้น คงต้องขึ้นกับโครงสร้าง และวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย

ปัญหาที่พบและทำให้ยากแก่การพัฒนา นอกจากที่ท่านหนานกล่าวมาแล้ว ดาวคิดว่าตัวบุคลากรเองก็มีความสำคัญ

ปัญหาที่พบ เช่น...

1. บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ที่อยู่ ที่ รพช.นั้น ส่วนมากไม่ใช่คนในพื้นที่ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการไม่กี่ปีก็ย้าย หรือไม่ก็ไปเรียนต่อ การจะทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพซึ่งเป็นโครงการระยะยาวนั้น ทำได้ยากลำบากและขาดความต่อเนื่อง

2. ต้องยอมรับว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์ที่เรียน 6 ปีนั้น ไม่ได้เน้นย้ำเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนมากเป็นการสอนในเรื่องการซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัยโรค รวมทั้งแนวทางการรักษา ทำให้แพทย์บางส่วนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ

3. ระบบงานราชการที่ล่าช้า และผู้ใหญ่ (บางท่าน)ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการทำให้งานขาดความต่อเนื่อง การรณรงค์เป็นครั้งคราวคงไม่สามารถสร้างความตระหนักให้กับคนในชุมชนได้

กฎหมายหลักประกันสุขภาพนั้น มีหลักการที่ดี แต่ผลที่ได้จะเป็นเช่นไรนั้น ขึ้นอยู่กับผู้นำไปปฏิบัติ แม้ว่ารัฐจะทุ่มเงินงบประมาณในการผลิตบุคลากรเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ แต่ก็ยังคงขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อยู่ดี เพราะผลิตออกมาเท่าไหร่ ก็รั่วไหลออกนอกระบบเพราะผลตอบแทนแตกต่างกันมาก....เงินเดือนแพทย์ของรัฐบาลอยู่ในหลักหมืน ในขณะที่ไปรับงาน รพ.เอกชน อาจจะได้ในหลักแสน จะบอกว่าเป็นหมอต้องเสียสละเพื่อเส่วนรวม เห็นแก่ประโยชน์คนไข้ จะมีหมอสักกี่คนที่จะทำเช่นนั้น (แล้วถ้าถามคำถามนี้กับคนทั่วไปว่าจะอยู่กับอุดมการณ์ในชนบทรับเงินเดือนหลักหมื่น กับเดินทางเข้า กทม. ได้เงินเดือนเป็นแสน...เชื่อว่าส่วนมากคงจะเลือกข้อหลัง) นั่นเป็นเหตุผลว่าแพทย์กระจุกตัวอยู่ในส่วนกลางมากเกินพอ ในขณะที่ต่างจังหวัดยังขาดแคลนแพทย์

แม้ว่าจะมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพ แต่ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข สิทธิ์ประกันสุขภาพ สิทธิเบิกได้ สิทธิประกันสังคม...ยังคงมีการรักษาบางอย่างที่แตกต่างกัน ยาบางตัวที่ประกันสุขภาพไม่ครอบคลุม ผู้ป่วยตัองจ่ายเอง ดาวเคยเจอทั้งผู้ป่วยที่ไม่มีเงินแม้กระทั่งค่ารถมา รพ. และผู้ป่วยที่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นล้าน...ทุกคนล้วนไม่อยากป่วย แต่ถ้าป่วยแล้วก็ต้องการได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ยาที่ดีที่สุด แต่มันจะเป็นไปได้หรือกับทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด มันเป็นความท้าทายที่ต้องบริหารงบประมาณที่มีให้ดีที่สุด (ควรเพิ่มหลักสูตรการบริหารงบประมาณ รพ. ให้กับแพทย์)

ดาวอาจจะคิดในแง่ร้ายว่าระบบหลักประกันสุขภาพทำให้คนใส่ใจสุขภาพน้อยลง (ซึ่งก็เป็นเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด) เป็นการพิ่ม work load ให้กับบุคลากร ความจริงในระยะแรกก็เป็นเช่นนั้น เพราะระบบนี้ทำให้คนมารับบริการเร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ป่วยหนักก็มาโรงพยาบาล แต่ในระยะยาวหากระบบนี้สามารถพัฒนาไปถึงจุดที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพได้ งานของบุคลากรทางสาธารณสุขจะน้อยลงมาก คงจะดีไม่น้อยหากคนไทยมีสุขภาพแข็งแรงถ้วนหน้าตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ^v^

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัว...อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะดาวเองยอมรับว่าประสบการณ์ยังน้อย (แถมรอยหยักในสมองน้อยด้วย) ยังไม่แตกฉานลึกซึ้ง คงต้องศึกษาเพิ่มเติมหาประสบการณ์อีกมาก การได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับกัลยาณมิตรนับเป็นการเพิ่มรอยหยักในสมองน้อยๆ อิอิ

ขอบคุณมากนะคะ...แล้วจะแวะมาแลกเปลี่ยนใหม่

พี่มองว่าดีนะคะ ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องเน้นในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ และการให้บริการที่เข้าถึงได้ง่าย และอยากให้เพิ่มงบสนับสนุนจาก สปสช. และจ่ายค่ารักษาพยาบาลคืนให้โรงพยาบาลตามจริง ไม่ใช่ตามระบบ DRG.โรงพยาบาลใหญ่ ๆ จะขาดทุน

สวัสดีครับพี่กระแต

Ico32
มาตายี 
เมื่อ 24 ตุลาคม 2553 17:38 
#2224675 [ ลบ ] 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ
เดี๋ยวจะแวะไปเยี่ยมนะครับ...

สวัสดีครับ หมอดาว

Ico32
blue_star 
เมื่อ 24 ตุลาคม 2553 17:56 
#2224694 [ ลบ ] 

ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันความเห็นนะครับ
แหะ แหะ ถ้าหมอดาวรอยหยักน้อยเนี่ย ผมนี่น่าจะไม่มีเลยหละครับ
ขอบคุณคุณหมออีกรอบ ที่จุดประกายให้คิดเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง จนมาเป็นบันทึกนี้ครับ
อยากให้ประเทศนี้มีหมอแบบหมอดาวเยอะ ๆ ครับ
ผมมั่นใจว่าการปรับระบบบริการสาธารณสุขของบ้านเราจะไปได้ไกลกว่านี้มาก

สวัสดีครับพี่ไก่

Ico32
ประกาย~natachoei ที่~natadee 
เมื่อ 24 ตุลาคม 2553 19:21 
#2224771 [ ลบ ] 

ระบบสาธารณสุขบ้านเราคงต้องทำงานหนักหลายเรื่อง ผมว่าเราควรทุ่มเทการแก้ปัญหาหรือทำงานเฉพาะหน้าลดลง เพื่อเอาทรัพยากรไปทำงานสร้างเสริมสุขภาพ 
ระบบการศึกษาที่ผลิตบุคลากรสาธารณสุข ก็ควรมุ่งเน้นไปในเรื่องเหล่านี้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท