วันออกพรรษา


เช้าตรู่มากๆ รู้สึกตัวตื่นจากที่นอน ทันทีที่ตื่นความระลึกได้ว่าวันนี้เป็นวันพระ กำหนดความตั้งใจให้แน่วแน่ในกิจกรรมที่จะทำในวันนี้...

โดยเริ่มตั้งแต่...

การไปทำบุญใส่บาตรที่วัด ซึ่งมีขึ้นประมาณเจ็ดโมง เช้านี้ข้าพเจ้าจึงต้องออกจากบ้านตั้งแต่หกโมงครึ่งใช้เวลาขับรถไปที่วัดไม่เกินครึ่งชั่วโมง และก็ยังคงหุงข้าวตามเดิมโรยงาดำไปด้วย ข้าวก็ยังเป็นข้าวกล้อง... แม่เตรียมขนมเทียนให้ลูกสาวไปใส่บาตรด้วย และตัวเองก็ทำขนมปังทาแยมผลไม้ที่ไม่มีส่วนผสมน้ำตาลหากแต่ใช้ความหวานจากธรรมชาติโดยแท้ทาลงไปบนขนมปังโฮลวีท

ดีใจที่เช้านี้ได้มาร่วมกิจกรรมที่วัด เพราะได้มีโอกาสฟังสวดสารภัณญะ (ไม่แน่ใจว่าเขียนถูกหรือเปล่า)... เวลาที่ได้ฟังแม่ออกร้อง จะซาบซึ้งใจมาก สงสัยความชอบส่วนนี้ได้เรียนรู้มาจากพ่อผู้ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เพราะพ่อนั้นจะชอบทุกอย่างที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมพื้นบ้าน จำได้ว่าตอนเด็กๆ...ได้รับโอกาสจากพ่อไปคลุกคลีเรื่องราวในเชิงวัฒนธรรมนี้อยู่เสมอ จึงทำให้ตนเองค่อนข้างหลงใหลอะไรที่เป็นวิถีแห่งธรรมชาติ

เนื้อเสียง ทำนอง และเสียงร้อง ได้บอกถึงเรื่องราวของจิตใจของคนพื้นบ้านที่เคารพเลื่อมใสในพุทธศาสนา เชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แห่งวิถีบ้าน วัด และชุมชน...

ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้มาที่วัดนี้... มีคณะของชาวบ้านทั้งหญิงชายสลับกันมาขับร้องขณะที่พระท่านกำลังฉันจังหัน หลวงปู่เมตตาเล่าให้ฟังว่าบางวัดพระท่านก็สวดในทำนองเช่นนี้และไพเราะมาก หากมีโอกาสสักวันข้าพเจ้าคงได้ฟัง...

หลังจากการขับร้องสารภัญญะจบไปแล้ว ก็เป็นการจับฉลาก ซึ่งของส่วนใหญ่ก็จะเป็นตระกร้า กระบุง หวด เครื่องจักรสานต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รวมชาวบ้านให้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับวัด... ในวัดป่าที่อื่นอาจจะไม่มีแต่ที่นี่ นับตั้งแต่หลวงปู่ผั่นท่านก็พยายามคงรักษาทั้งความเป็นปฏิปทาวัดป่า และคงความสัมพันธ์กับบ้านและชุมชนอย่างเนียนเนื้อไม่เสียรูปแบบ...และในสมัยของหลวงปู่ประสาร ท่านก็ยังคงสานต่อเจตนารมย์นี้ต่อ ตลอดจนการสงเคราะห์สรรพสิ่งต่างๆ อย่างเปี่ยมด้วยความเมตตาและกรุณา...

ครึ่งวัน...ความเงียบก็กลับมาที่วัดอีกครั้ง

แม่ออกที่มาจำศีลที่วัด ต่างก็ช่วยกันทำน้ำปานะ...ระหว่างที่พระท่านลงอุโบสถและปวารณาออกพรรษา

ภาพที่ปรากฏคือ ความงามของชีวิตและจิตวิญญาณที่ร้อยเรียงกันเนียนเนื้ออย่างไม่เสียเอกลักษณ์ของพื้นที่วัฒนธรรมท้องถิ่น

พี่ณีและหมออ้อร่วมกันถวายอาหารแม่ชี

ความร่วมมือของชาวบ้าน ที่เน้นความเบิกบานใจในการร่วมสวดสารภัญญะ

ยายดอน...เสียงก้องกังวานมากเวลาสวดมนต์

แม่ออกทั้งหลายที่ต่างล้วนอุทิศตนเพื่อทำนุบำรุงศาสนา

หมออ้อกับแม่แต๋ว...แม่ของพระผู้มีบุญ

 

วันออกพรรษา

๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 404258เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2010 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วันนี้ได้ไปส่งแม่ขาว (เหมือนแม่ออก) คุณแม่ของ namsha เองไปวัดและร่วมทำบุญตามประเพณี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระคุณเจ้าหลายเรื่อง ได้เตือนสติดีค่ะ

วันนี้ข้าวปลาอาหารเหลือมากมาย ทำให้นึกถึงพี่น้องที่ถูกน้ำท่วมกำลังรอรับการช่วยเหลือ

ท่านเจ้าอาวาสได้จัดให้มีตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้งแล้วท่านจะนำไปบริจาคและช่วยเหลือผู้ที่ถูกน้ำท่วมกันค่ะ

ขออนุโมทนาบุญกับ อ.กระปุ๋มด้วยนะคะ

วันนี้ได้มีโอกาสไปทำบุญ ที่วัดหลักสี่ ในกรุงเทพมหานคร

มีคนจำนวนมาก และทุกคนตั้งใจมาฟังพระสวดมนต์ พร้อมทั้งฟังพระเทศน์

ตัวเองที่ค่อนข้างแปลกใจ ที่คนเข้าวัดจำนวนมาก และเข้าวัดอย่างมีสมาธิ

พาลูก พาครอบครัว มาทำบุญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท