รพ.อุบลรัตน์ ระบบสาธารณสุขสายพันธุ์ใหม่


โรงพยาบาลแห่งหนึ่งปลูกต้นไม้เพื่อส่งลูกหลานชาวบ้านเรียนหนังสือ กลับไปเป็นพยาบาลในหมู่บ้าน

สิ่งที่ทำเพื่อคนอื่นแล้วมีความสุข สามารถแก้ปัญหาของชาวบ้าน ที่เป็นพ่อ แม่พี่น้องของเราได้ เติมเต็มความหมายละคุณค่าในชีวิตของเราละคนในองค์กรได้ด้วย นี่คือคุณภาพที่มาจากภายในของตนเอง คิดเอง ทำเองที่จะพัฒนาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เกิดความสุขและมีแนวโน้มที่จะเข้าไปสู่ความยั่งยืน... 

       

ตัวอย่างของโรงพยาบาลในโครงการ SHA รุ้น 1 ที่มีแนวคิดเรื่องสุขภาวะด้วยนิยามของเอง...

 

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งปลูกต้นไม้เพื่อส่งลูกหลานชาวบ้านเรียนหนังสือ กลับไปเป็นพยาบาลในหมู่บ้าน หมอคนหนึ่งมีเพื่อนเป็นปราชญ์ชาวบ้าน หนำซ้ำยังชักชวนบุคลากรออกจากโรงพยาบาลมาแก้ปัญหาปากท้องชุมชน 

          ระบบสุขภาพชุมชนเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกับระบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างไร พบคำตอบที่ “โรงพยาบาลอุบลรัตน์” จ.ขอนแก่น

 

 “ปรับวิธีคิด” เปลี่ยนวิธีปฏิบัติ เป็นพันธมิตรสุขภาพ

“ปัญหาสุขภาพของคนไข้ไม่สามารถแก้ไขได้ หากไม่ทำให้ชาวบ้านมีแนวคิดการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง”  

          นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผอ.ผู้บริหารโรงพยาบาลอุบลรัตน์ เล่าว่าเริ่มแรกมีแต่ความตั้งใจจึงหลงทาง มัวคิดว่าสุขภาพดีหมายถึงโรงพยาบาลที่ดี ใครไม่สบายก็ต้องรีบมาหาหมอ คนไข้จึงล้นโรงพยาบาล คุณภาพบริการจึงไม่เต็มที่ เมื่อรู้สึกว่าผิดทางจึงเริ่มใหม่

          “เราเริ่มคิดใหม่ 20 ปีก่อน ว่าโรคภัยไข้เจ็บมันไม่จำเป็นต้องมาหาหมอหมด บางอย่างดูแลกันเองในชุมชนได้ บางอย่างป้องกันได้โดยสร้างสุขภาพ ช่วงนั้นทำโครงการ Health Care กับองค์การอนามัยโลก วิจัยทั้งในโรงพยาบาลและลงชุมชน ก็รู้ว่าจริงๆแล้วผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลมีไม่ถึง 25% อีก 75% ดูแลตัวเองได้ เช่น นอนพักผ่อน ซื้อยากินเอง อาศัยหมอพื้นบ้าน ร้านขายยา สถานีอนามัย”

          เป็นจุดเปลี่ยนทั้งความคิดและการทำงาน โดยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรสุขภาพคือ หนึ่ง-ดึงสถานีอนามัยตำบลทั้ง 8 แห่งในอำเภอมาร่วม พัฒนา สนับสนุนงบ กำลังคน สร้างกำลังใจ ทำให้ดูแลผู้ป่วยดีขึ้น

          สอง-ดึงร้านขายยาในหมู่บ้านที่มีมากถึง 300 แห่งในอำเภอเป็นภาคีได้เกือบหมด อบรมความรู้ เอาพยาบาลไปช่วยจัดร้านให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งยังเป็นกุศโลบายให้เห็นว่ายาตัวไหนเป็นอันตรายหรือหมดอายุ

          สาม-ดึงภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านในชุมชนกว่า 50 คนมาหนุนเสริม เน้นสร้างเสริมสุขภาพและดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง โดยนวดประคบ อบสมุนไพร มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับหมอพื้นบ้านเดือนละครั้งเพื่อช่วยเหลือกัน อีกทั้งยังเป็นทางเลือกในการรักษาให้ผู้ป่วย

“เราสร้างเครือข่ายได้ เพราะความคิดว่าทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ดึงตรงจุดดีๆของเขามาร่วม

กันช่วยเพื่อนมนุษย์”

 

เมื่อซ่อมน้อยลงก็มีเวลาทำงาน “สร้างสุขภาพ”

จากวัตถุประสงค์คือ 1.โรงพยาบาลสามารถดูแลชาวบ้านเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ

ประสิทธิผล ปลอดภัย เท่าเทียมด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ 2.ทำให้ชาวบ้านสุขภาพดีมีความสุข

          เมื่อคนไข้ 75% ได้รับการดูแลทั่วถึงด้วยระบบสุขภาพใกล้บ้าน ส่วนโรงพยาบาลดูแลคนไข้เพียง 25% ที่จำเป็นต้องมา “ซ่อม” หรือรักษา ไม่เพียงทำให้มีเวลาพัฒนาคุณภาพงานบริการภายใน แต่ยังมีเวลาลงไปทำงาน “สร้าง” หรือสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ซึ่งเป็นการป้องกันระยะยาวดีกว่ารักษาปลายเหตุ เช่น งานอนามัยแม่และเด็ก ดูแลผู้สูงอายุ ป้องกันโรคระบาด

          “พอคนไข้ในโรงพยาบาลลดลง คุณภาพบริการก็ดีขึ้น ยังมีเวลาลงชุมชนไปฉีดวัคซีน ชวนชาวบ้านออกกำลังกาย เปลี่ยนอาหารการกิน อย่างเบาหวานเมื่อก่อนมาที่โรงพยาบาลเยอะ สภาพแออัดเหมือนขอทานบริการ แทนที่จะมาปีละ 12 ครั้งก็แค่ 2 ครั้ง จ่ายยาไปเลยครั้งละ 6 เดือน แล้วพยาบาลชุมชนลงไปดูแลต่อในหมู่บ้าน”

          ไม่กำหนดเป็นนโยบายหรือบังคับ แต่ใช้วิธีชักชวนบุคลากรที่มีจิตอาสา ทั้งหมอ พยาบาล ทันตแพทย์ ฯลฯ ลงไปทำงานเชิงรุกในชุมชน ซึ่งคุณหมออภิสิทธิ์บอกว่าทำให้คนทำงานไม่เครียด และได้เพื่อนใหม่เป็นชาวบ้าน ชาวบ้านก็มีความสุข

          และนี่ก็คือรูปธรรมของ Humanized Health Care หรือ “การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” ที่คุณหมอประเวศ วะสี ได้จุดประกายไว้ และ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) รวบรวมประสบการณ์ตกผลึกเป็นความคิดในโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน(SHA) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลไทย

          ไม่เพียงการดูแลด้วยหัวใจ แต่ยังเป็นระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกับการพัฒนาท้องถิ่น ยึดโยงกับภูมิปัญญาปราชญ์พื้นบ้าน เช่น ปลูกต้นไม้สร้างพยาบาลชุมชน หนุนเศรษฐกิจพอเพียงชาวบ้าน

 

ปลูกต้นไม้เป็นรายได้ มาสร้าง “พยาบาลชุมชน”

คนที่จะดูแลรักษาชาวบ้านได้อย่างใกล้ชิดแท้จริงก็คือคนในท้องถิ่น หรือลูกหลานชาวบ้านเอง ด้วยความคิดเช่นนี้จึงเกิดโครงการ “พยาบาลชุมชน”

 “เจ้าหน้าที่ลงไปทำงานในชุมชน ก็ต้องเกษียณไปตามวัยไม่ยั่งยืน เลยร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กับ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทดลองเอาเด็กในหมู่บ้านมาคัดเลือกในระบบคนดี แล้วสร้างให้เก่ง ปลูกสำนึกให้รักบ้านเกิด เรียนจบแล้วกลับลงไปทำงานในหมู่บ้านตัวเอง”

คุณหมออภิสิทธิ์บอกว่า “โชคดีมีเพื่อนเป็นปราชญ์ชาวบ้าน” จึงนำแนวคิดปลูกต้นไม้แล้วมีอยู่มีกินมีเพื่อนมีบำนาญชีวิตมาใช้ คือปลูกต้นไม้เป็นรายได้มาจ้างพยาบาลชุมชน ผ่านไป 5 ปี ต้นไม้ยืนต้นออกดอกผล ไม้ล้มลุก 3 เดือนก็ให้ผล เอามาขายที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ โรงพยาบาลขอนแก่น วิทยาลัยพยาบาล 2-3แห่ง ก็มีเงินส่งเสียลูกหลานชาวบ้าน และระยะยาวก็จะเป็นเงินเดือนให้พยาบาลเหล่านี้

“ขอนแก่นมี 2,331 หมู่บ้าน สมมุติมีพยาบาลชุมชน 1,150 คน คนหนึ่งดูแล 2 หมู่บ้าน อยู่หมู่บ้านตัวเองเลย อาทิตย์ละ 2-3 วันก็เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็ได้อานิสงค์ที่มีคนมาช่วยดูแล ชาวบ้านก็สุขภาพดีขึ้น ถ้าทำอย่างนี้ได้ต่อไปไม่เฉพาะพยาบาล ชุมชนอาจมีเงินจ้างหมอของตัวเอง”

พยายาบาลชุมชนก็มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือญาติพี่น้องชาวบ้านของตัวเอง ระบบสุขภาพชุมชนก็เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกับระบบสุขภาพที่โรงพยาบาล และเป็นความยั่งยืนในระบบสุขภาพ

 

เรียนรู้จากปราชญ์ พัฒนาสุขภาพกายดี-ใจมีสุข

          การคลุกคลีกับชุมชน ทำให้เกิดการเรียนรู้ภูมิปัญญาจากปราชญ์ชาวบ้าน จนเข้าใจแก่นแท้ของปัญหาว่า “การพัฒนาที่ตั้งเป้าอยากรวยกลับทำให้เกิดหนี้สิน” สร้างมลภาวะ ครอบครัวแตกแยก ชุมชนสั่นคลอน เด็กๆไม่ได้รับความเอาใจใส่ขาดสารอาหาร ติดยาเสพติด ผู้สูงอายุไม่มีคนดูแล คนอพยพแรงงานไปที่อื่นและติดเอดส์กลับมา สรุปคือ “สุขภาพเสื่อมโทรมทั้งกายและใจ”

โรงพยาบาลจึงน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างรูปธรรมให้คนในท้องถิ่นอยู่ดีกินดีมีสติปัญญา สนับสนุนให้ชาวบ้านมีสัมมาอาชีพ มีรายได้ ไม่หวังพึ่งการพนัน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาสร้างมูลค่า เช่น พืชผัก การปลูกป่า

          “โรงพยาบาลเป็นคนเริ่มในฐานะที่เราทำวิจัยเล็กๆเห็นปัญหา เราก็ชวนเพื่อนๆข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน มาขยายแนวร่วม บทบาทเราคือจัดกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิด ทำให้เกษตรกรกลับมาคิดใหม่ แล้วเราก็เป็นตลาดใหญ่ที่จะซื้อผักปลอดสารเคมีได้”

          “มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” ในระดับจังหวัด และ “มูลนิธิโรงพยาบาลอุบลรัตน์”ในระดับอำเภอ จึงมีภารกิจทั้งงานบริการสุขภาพ และชวนชาวบ้านมาเรียนรู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข

          คุณหมออภิสิทธิ์ สรุปว่าเป้าหมายคือทำให้ชาวบ้านเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ เริ่มจากคิดใหม่จากขายหมดเอาเงินมาซื้อความสุข เป็นมีเหตุผลในการใช้จ่าย-สร้างการออม ปลูกทุกอย่างที่กิน-กินทุกอย่างที่ปลูก แจกพี่น้อง เหลือก็ขาย ความเสี่ยงน้อยลงเพราะปลูกหลายอย่าง-ปลูกปลอดสาร รายจ่ายลด-รายได้เพิ่ม ไม่มีหนี้สิน กลายเป็นคนมีอยู่มีกินมีเพื่อน สุขภาพกายดี-สุขภาพใจก็ดีเพราะหลับสบาย ลูกหลานกลับมาอยู่บ้าน มีสุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญาคือพอแก้ปัญหาปากท้องได้ก็มีฉันทะที่จะแก้ปัญหาอื่นๆ

          “ถ้าชาวบ้านเศรษฐกิจดีขึ้น เวลามาโรงพยาบาลเขาก็ไม่เดือดร้อน และร้านขายยาก็แข็งแรง หรือมีเงินจ้างพยาบาลชุมชนให้อยู่ในหมู่บ้านเขาได้ โรงพยาบาลก็ยั่งยืนเพราะชุมชนรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ”

-------------------------------------------------------------------

ฝันที่เป็นจริงในระบบสาธารณสุขไทย เกิดขึ้นแล้วที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เริ่มจาก “ปรับวิธีคิด” ไปสู่ “เปลี่ยนวิธีปฏิบัติ” จนสามารถสร้างสุขภาวะกาย ใจ สังคม ปัญญา และมีระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกับท้องถิ่นอย่างเป็นองค์รวม ที่น่าสนใจคือทำมาร่วม 20 ปีแล้ว .

 

คำสำคัญ (Tags): #sha#รพ.อุบลรัตน์
หมายเลขบันทึก: 404227เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2010 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ยอดเยี่ยมเลยครับ คิดแก้และลงมือทำกันทั้งระบบ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เน้นสุขกาย สุขใจ สุดท้ายความเข้มแข็งและความยั่งยืนของชุมชนจะเกิดขึ้นครับ
  • พอลล่าสบายดีนะครับ หายๆไป
  • ขอบคุณความรู้ครับ

รู้สึกสัมผัสได้ในสิ่งดีงามที่ถ่ายทอดออกมา พี่ดีใจที่มีโรงพยาบาลแบบนี้

แนวคิดที่ดีแบบนี้ นี่คือต้นแบบของการพัฒนาสาธารณสุขไทย

ขอขอบคุณแทนประชาชนผู้รับบริการจริงๆ

ไม่ค่อยได้มาทักทายนักแต่ก็คอยติดตามอยู่นะคะ

มาชื่น มาชม รพ. แนวคิดเพื่อชุมชน ค่ะ ... ต้องอยู่กันไปอีกนาน ในบ้านหลังนี้ เพื่อสุขภาพดีๆ ที่ยังมีอีกหลายพื้นที่ ยังเข้าไม่ทั่วถึง ..

ระหว่างเดินทาง พี่ได้คุยกับแม่บ้านท่านนึง “เรื่องสุขภาพนี่ล่ะสำคัญสุด บ้านเมืองเรายังมีหลายรพ.รัฐ แม้ในเมืองกรุงเองก็ตาม ซี่งชาวบ้านต้องเข้าคิว รอนานๆ เป็นวันๆ กว่าจะได้ตรวจรักษา .. ”

.. ถ้าส่งเสริมให้ดูแลสุขภาพ มีสวัสดิการตรวจโรคฟรีปีละครั้ง น่าจะแก้ไขป้องกันได้ทันท่วงที .. ก็น่าจะช่วยลด บรรเทา จำนวนผู้ป่วยลงได้ในระดับหนึ่ง ? เชียร์ๆ ค่ะ ;)

ตามมาอ่านเข้าใจว่าคุณเภสัชกร ศุภลักษณ์ ก็อยู่ที่นี่ด้วยใช่ไหมครับ คุณหมอผู้อำนวยการโรงพยาบาลเข้าใจชุมชนได้ดีมากๆ

มาชื่นชมด้วยคนครับ...เป็นอะไรที่น่าถือเป็นตัวอย่าง

ดีใจ ดีใจค่ะ มีคนมาเยี่ยม ขอบคุณนะคะ

มาเยี่ยมพรหล้าเหมือนกัน โรงพยาบาลอุบลรัตน์ สุดยอดจริงๆ

เดือนหน้าจะไปรพ.นี้อีกครั้ง ดีใจจังเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท