วิชาชีพทางเลือกบำบัดใคร


ขอบพระคุณเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณาจารย์คณะกายภาพบำบัดกับคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเนื่องในโอกาส MU Visit ครั้งที่ 16

มีหลายประเด็นที่ผมฟังอย่างตั้งใจลึกซึ้ง เมื่อคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดเวทีสุนทรียสนทนากับคณาจารย์คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล แต่สองประเด็นที่สำคัญที่ผมสนใจมาบันทึกเพื่อคิดใคร่ครวญตอบโจทย์ต่อไป ดังนี้

1. อาจารย์ให้บริการวิชาการในชุมชนใดๆ ด้วยกระบวนการบำบัดเพื่อสุขภาวะทางร่างกายจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ของคนในชุมชนหนึ่งๆ หรือไม่ หากทำได้แล้ว มีการประมวลความคิดและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจนถึงตีพิมพ์เป็นงานวิจัยหรือไม่ และวิจัยอย่างไรจะทำให้ภูมิปัญญาไทยที่บูรณาการกับศาสตร์แห่งวิชาชีพทางการแพทย์และศาสตร์แห่งแพทย์ทางเลือกได้กลายเป็นองค์ความรู้ที่ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริงสำหรับคนไทย

2. อาจารย์สร้างนักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดอย่างเป็นระบบได้อย่างไร ระบบใดที่จะสนองความต้องการของคนในสังคม ระบบใดที่คัดเลือกนักศึกษาที่มีทัศนคติดีต่อวิชาชีพและมีการติดตามพัฒนาการการเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดสี่ปีการศึกษา ระบบใดที่กระตุ้นการเรียนรู้ระหว่างทางโลกของความเป็นจริงกับโลกทางวิชาชีพ ระบบใดที่นักศึกษาสองวิชาชีพจะทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงกับศาสตร์ที่มีอยู่แล้วในไทยและโลก เช่น บุคคลใดๆ นำความรู้ทางวิชาชีพกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดไปดูแลสุขภาวะของตนเองและผู้อื่นแล้วได้ผลดีในทางโลก (แบบไม่ทางการ) แต่ยังขาดความรู้ในทางวิชาชีพและวิชาการที่น่าเชื่อถือและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับสากล

นั่นคือ อาจารย์ควรปรับเจตคติและทัศนคติในการทำวิจัยและการบริการวิชาการที่เน้นให้ความรู้ที่ง่ายและสร้างพลังใจให้บุคคลทุกช่วงวัยมีสุขภาพกายและใจด้วยตนเอง บางครั้งอาจารย์คิดย้ำประเด็นทางวิชาการตามกรอบแห่งวิชาชีพมากเกินไป จนมองข้ามความต้องการที่จะเรียนรู้สุขภาวะของคนหนึ่งคนจนถึงชุมชนหนึ่งชุมชน ที่อาจมีความรู้จากการค้นคว้าและปฏิบัติเอง หรืออาจแลกเปลี่ยนกับนักวิชาชีพกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดแล้วมาปฏิบัติเองจนได้ผลดี หากอาจารย์ศึกษาประเด็นเหล่านี้แล้วปรับกระบวนทัศน์ของงานวิจัยและงานบริการวิชาการ เพื่อเติมเต็มข้อมูลที่รู้และอยากรู้ให้เหมาะสม ก็จะเกิดศาสตร์ทางเลือกที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้อย่างแท้จริง

กล่าวสรุปง่ายๆ คือ ถ้าผมคิดโปรแกรมกิจกรรมบำบัดเอง โดยไม่ถามผู้ป่วยว่า ได้ทำกิจกรรมบำบัดอะไรมาบ้าง แล้วอะไรที่ได้ผลดี อะไรที่ควรปรับปรุง ผมตอบได้ทันทีว่า โปรแกรมกิจกรรมบำบัดนั้นไม่ถือเป็นศาสตร์และศิลป์แห่งวิชาชีพและทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้ป่วยท่านนั้น   

ในที่ประชุม มีคำถามย่อยๆ ว่า วิชาชีพกิจกรรมบำบัดคืออะไร ถ้าคนหนึ่งคนที่ไม่ได้เรียนสาขาวิชากิจกรรมบำบัดในม.มหิดล แล้วจะนำความรู้ทางกิจกรรมบำบัดไปพัฒนาสุขภาวะของบุคคลใดๆ ได้แบบกิจกรรมบำบัดทางเลือกได้อย่างไร

ผมจึงตอบไปว่า วิชาชีพกิจกรรมบำบัด หรือ Occupational Therapy Profession คือ การประกอบวิชาชีพที่ยั้งยืน มีความเป็นสากล มีมาตราฐาน มีจรรยาบรรณและกฎหมาย มีกระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทางคลินิก/การให้บริการสุขภาพของมนุษย์ มีการสอบใบประกอบโรคศิลปะ มีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นระบบ และมีความยั้งยืนในการสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิต โดยนักกิจกรรมบำบัด ที่มีหน้าที่ประเมิน บำบัดฟื้นฟู ส่งเสริม ป้องกัน แก่บุคคลทุกเพศทุกวัย ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้ และการพัฒนาเด็ก ด้วยกิจกรรม กระบวนการ และวิธีการทางกิจกรรมบำบัด ให้บุคคลใดๆ มีเป้าหมาย มีคุณค่า มีความหมาย มีความสุข และมีความสามารถในการประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การดูแลตนเอง การศึกษา การทำงาน การใช้เวลาว่าง การเล่น การพักผ่อน และการมีส่วนร่วมในสังคม

และถ้านักกิจกรรมบำบัดได้ให้ความรู้ทางกิจกรรมบำบัดแก่บุคคลใดๆ แล้ว ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ความรู้เหล่านั้นก็นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคคลใดๆ ด้วยเป้าหมายส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของประชากรไทยและโลก ก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่ถือเป็น "กิจกรรมบำบัดทางเลือก" ได้ แต่ไม่ใช่ทุกกิจกรรม ทุกกระบวนการ และทุกวิธีการ ตามกฎหมายการประกอบโรคศิลปะและเกณฑ์มาตราฐานวิชาชีพกิจกรรมบำบัด

ถ้าทุกองค์ความรู้ที่เน้นความเป็นวิชาชีพข้างต้น บุคคลใดๆ ก็ต้องผ่านระบบการศึกษาวิชาชีพกิจกรรมบำบัด ตามคุณสมบัติของบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกและสอบผ่านจากสถาบันการศึกษาและกฎหมายวิชาชีพอย่างถูกต้อง! และไม่ว่าจะเป็นบุคคลจากกลุ่มกิจกรรมบำบัดทางเลือกกับนักวิชาชีพกิจกรรมบำบัด ก็ควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่ต่อยอดกันและกันมากขึ้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันในประชาไทยและโลกอย่างยั้งยืน

ปล. ความสุขความสามารถในการประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิต อาจเขียนสั้นๆ ตามสมญานามที่ WHO ให้ไว้ว่าเป็น "วิชาชีพแห่งทักษะชีวิต" [Occupation ไม่ได้แปลว่า อาชีพ อย่างเดียว ทำให้สมัยก่อน เราใช้คำว่า "อาชีวบำบัด (Vocational Therapy)" แต่รวมถึง การอยู่ไม่ว่าง การจดจ่อทำกิจกรรมใดๆ จึงแปลเป็น "กิจกรรมบำบัด"]  

หมายเลขบันทึก: 404076เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2010 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท