ถุงทองหน้าท้อง


 สภาพปัจจุบันหรือหลักการและเหตุผล

          เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลพิจิตรมีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้จนถึงทวารหนักและผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณลำไส้ใหญ่ มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นทุกปี  จากทะเบียนผู้ป่วยมารับบริการในโรคดังกล่าวและได้รับการผ่าตัดทั้งหมด ใน 3 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด  44 รายโดยล่าสุดพบว่าในปี 2552 มีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยในโรคดังกล่าว  107  ราย และมี 22 รายที่มีอุจจาระออกทางหน้าท้องและเข้ารับการดูแลรักษาในหอผู้ป่วยพิเศษจำนวน 8 ราย โดยผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการผ่าตัดเปิดทวารเทียมทางหน้าท้อง ส่งผลให้การดูแลต่อเนื่องจำเป็นต้องมีการนำอุปกรณ์ ที่มีขนาดและความเหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายมาไว้ในโรงพยาบาล ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ และความเจ็บป่วย ซึ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการรองรับอุจจาระทางหน้าท้องมีราคาแพงจนถึงแพงมาก ส่งผลให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและโรงพยาบาล  โดยเฉพาะโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถซื้อหรือเบิกจ่ายได้  แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ถุงรองรับอุจจาระ บางรายต้องใช้ตลอดชีวิต ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะเครียดและวิตกกังวลกังวล  เนื่องจากไม่สามารถซื้อถุงมารองรับอุจจาระได้ เพราะจะต้องใช้ถุง  วันละ 2 ถุง ราคาถุงละ  12  บาท ชนิดชิ้นเดียว  ถ้าใช้แบบ    2 ชิ้น ราคาชุดละ  226  บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาของผู้ป่วยและโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันถุงพลาสติกที่สำเร็จรูปเป็นชนิดที่เหนียว หนา ทำลายยาก ส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศน์ในสภาพแวดล้อมทั้งปัจจุบันจนถึงอนาคต

           ดังนั้นความสำคัญในการช่วยลดสภาพปัญหาดังกล่าว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแล โดยเฉพาะพยาบาลจะต้องตระหนัก และเห็นความสำคัญดังกล่าวให้มากขึ้นกว่าการดูแลผู้ป่วยเป็นประจำทุกวัน ดังนั้นพยาบาลต้องช่วยมองถึงการช่วยคิดค้นหาวิธีต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดทั้งผู้ป่วย/ครอบครัว และสังคมร่วมด้วย จึงมีแนวคิดประดิษฐ์ถุงรองรับอุจจาระเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยและโรงพยาบาลที่ต้องเสียเงินวันละ 24 บาท/ วัน/ คนหรือการใช้ถุงชนิด 2 ชิ้นราคาชุดละ 226 บาท/วัน/คน ถุงที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ราคาถุงละ 1.05 บาทดังนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง วันละ 2.10 บาท/ คน/วัน และสามารถลดภาวะโลกร้อนจากการทำลายถุงด้วยการเผาไหม้ที่ใช้พลังงานน้อยลงมากกว่าถุงที่มีราคาแพงอีกด้วย

 

จากการวิเคราะห์โดยใช้ความสัมพันธ์ของเหตุและผลมี  2  ข้อ  ดังนี้  คือ

         1.วิเคราะห์จากปัจจัยด้านผู้ป่วยและครอบครัวรวมถึงด้านเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์  มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในการเลือกใช้ถุงรองรับอุจจาระหน้าท้อง     แต่เมื่อวิเคราะห์ตามเหตุและผลแล้ว ด้านตัวเจ้าหน้าที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน หรือกำหนดทางเลือกในการเลือกใช้ถุงรองรับอุจจาระ ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้มาก ทั้งด้านการจัดหา จัดซื้อ หรือแม้แต่การจัดทำ

        2.วิเคราะห์การช่วยชี้แนะช่องทางในการจัดซื้อ จัดหาอุปกรณ์ที่ส่งผลประโยชน์กับผู้ป่วย ครอบครัว และปัญหาในชุมชน ที่เกิดมลพิษในการใช้สารพลาสติกที่ทำลายยากน้อยลง จะส่งผลดีกับการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้มากขึ้น

 การเก็บข้อมูลก่อนการปรับปรุง

       1.ก่อนการดำเนินโครงการมีการประดิษฐ์ ถุงทองหน้าท้องโดยการใช้พลาสเตอร์เหนียวด้านเดียวสีขาวติดกับถุงพลาสติกธรรมดาแต่วิธีการประดิษฐ์ยุ่งยากเนื่องจากเป็นกาวเหนียวด้านเดียวทำให้ติดถุงลำบากและสิ้นเปลืองพลาสเตอร์มากเวลาลอกถุงผู้ป่วยจะเจ็บและมีภาวะแทรกซ้อนที่ผิวหนังเช่นมีแผลถลอกและอุจจาระที่เป็นของเหลวมาถูกผิวหนังทำให้ผู้ป่วยปวดแสบปวดร้อน,แผลเปื่อยทุกข์ทรมานมาก  ถุงไม่แนบลำตัวไม่สามารถเก็บกลิ่นทำให้ผู้ป่วยไม่มีความมั่นใจและวิตกกังวลว่าคนอื่นจะรังเกียจ

      2.การดำเนินโครงการ ปี 2552 พบว่ามี 22 รายที่มีการเปิดทวารเทียมทางหน้าท้องและเข้ารับการดูแลรักษาในหอผู้ป่วยพิเศษจำนวน 8 ราย โดยใช้ถุงที่โรงพยาบาลสั่งซื้อจากบริษัทยาซึ่งมีราคาแพง ผู้ป่วยและโรงพยาบาลเสียค่าใช้จ่ายมากพร้อมทั้งการสังเกตความผิดปกติของลำไส้ภายหลังการผ่าตัดเห็นไม่ชัดเท่าถุงทองหน้าทองที่ผลิตขึ้นใหม่ใช้เทปกาวชนิด 2 หน้ามาติดกับถุงแทน  ทำให้การประดิษฐ์ง่ายขึ้นการลอกกาวที่ติดกับผิวหนังก็สะดวกไม่ระคายผิวหนังกาวมีลักษณะบางเบาและใสทำให้สะดวกในการใช้  ทำกิจวัตรประจำวันได้สะดวกขึ้นเมื่อใช้แล้วทิ้งได้เลย  นอกจากนี้สามารถมองเห็นความผิดปกติของอุจจาระและทวารเทียมได้ดีกว่าถุงที่ซื้อ  เช่น  การมีเลือดออก   การเปลี่ยนสีของลำไส้เป็นสีม่วงหรือคล้ำลงแสดงว่าลำไส้มีอาการของการขาดเลือดไปเลี้ยง  แพทย์อาจต้องทำผ่าตัดให้ใหม่เพื่อป้องกันการเน่าตายของลำไส้ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้

 

การวางแผนและดำเนินการแก้ไข / ปรับปรุง

1)ก่อนดำเนินการ

        1.ทบทวนปัญหาแนวทางในองค์กร

        2.กำหนดกิจกรรมและกลุ่มเป้าหมาย

        3.ลงมือประดิษฐ์

        4.ประสานความร่วมมือในงานที่เกี่ยวข้อง

2)ขั้นการดำเนินการ

         1.ประชุมทบทวนกำหนดแนวทาง การจัดทำประดิษฐ์อุปกรณ์

         2.กำหนดผู้รับผิดชอบ ติดตามผล ดำเนินการ

         3.ทดลองการนำไปใช้ในผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย  ตามรูปแบบที่กำหนด

        4.ประเมินผลเป็นระยะ

        5.ปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ

        6.กำหนดทางเลือกและให้ผู้ป่วย/ญาติมีส่วนร่วม

        7.มีการจัดทำสำเร็จรูปใช้ต่อเนื่อง

        8.ประเมินผลหลังใช้ทุกราย

 

3)หลังดำเนินการ

        1.ทบทวนปัญหาอุปสรรคที่พบในกลุ่มเป้าหมายที่ทดลอง

        2.วิเคราะห์ปรับปรุงอุปกรณ์ตามปัญหาส่วนขาด

        3.ลงมือประดิษฐ์

         4.ทดลองการใช้

 

ผลลัพธ์ / การวิเคราะห์ผลและการจัดทำมาตรฐาน

        1.ความพึงพอใจของผู้ป่วยและครอบครัว  อยู่ระดับ > 90%

        2.อัตราการซื้อ colostomy  bag ในโรงพยาบาลลดลง

        3.มูลฝอยที่ถูกทิ้งเป็นพลาสติกที่สามารถทำลายได้ง่าย จากการเผาไหม้อย่างชัดเจน

       4.จากนวัตกรรมที่ได้จัดทำเป็นแนวทางการปฏิบัติ Tick 1 และ Tick 2 ให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันจนเกิดประสิทธิภาพ

       5.ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการฝึกทักษะ (2 Tick) ทั้งขณะที่อยู่โรงพยาบาลและการเตรียมพร้อมเพื่อการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน

       6.หน่วยงานได้มีการจัดระบบการดูแลอย่างต่อเนื่องที่บ้านโดยการส่งต่อข้อมูล (บ.ส 1) ไปสู่ชุมชน และการใช้นวัตกรรม “ใบส่งมอบข้อมูลประจำตัวสู่ชุมชน” 

       7.จัดทำเอกสารคำแนะนำ เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ผู้ร่วมวิชาชีพทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน

 

ประโยชน์ต่อตนเอง / หน่วยงาน / ลูกค้า

* ประโยชน์ต่อผู้ป่วยและญาติ

        1.ลดความเจ็บปวดและระคายเคืองของผิวหนังขณะใช้และลอกถุงเปลี่ยน

        2.ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง  สะดวก  สบายและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว

        3.เป็นการส่งเสริมสัมพันธภาพอันดีในครอบครัวและระหว่างผู้ป่วย / ครอบครัวกับเจ้าหน้าที่   

*  ประโยชน์ต่อตนเอง

        1.สามารถสังเกตสี / ลักษณะความผิดปกติของแผลผ่าตัดและทวารเทียม  พร้อมทั้งอุจจาระที่ระบายออกได้ชัดเจนตลอดเวลา (โดยไม่ต้องรอดูตอนเต็มถุง / เปลี่ยนถุง )

       2.ลดภาระงานในการเปลี่ยนถุงโดยญาติและผู้ป่วยมีส่วนร่วมได้ง่าย

*  ประโยชน์ต่อหน่วยงาน/ชุมชน

       1.ลดต้นทุนการผลิต

       2.สามารถเก็บกลิ่นได้ดีไม่ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยเกิดความเครียดจากกลิ่นรบกวน โดยเฉพาะเวลาเข้าสังคม

       3.ลดภาวะโลกร้อนจากมูลฝอยที่ย่อยสลายยาก

 

ภาคผนวก

วิธีประดิษฐ์ถุงทองหน้าท้อง

การเตรียมอุปกรณ์

      1.ถุงพลาสติกชนิดทนความร้อน ขนาด 6 นิ้ว X  9 นิ้ว

     2.กระดาษแข็งสำหรับทำแบบ

     3.เทปกาว 2 หน้าแบบบาง ขนาดกว้าง  2  นิ้ว หรือ 4  นิ้ว

     4.ไม้บรรทัด

     5.แบบวัดขนาดลำไส้มาตรฐาน

     6.ปากกาเมจิก

     7.กรรไกรปลายแหลม

     8.เครื่องรีดถุง  (ถ้าไม่มีให้ใช้เทียนไขแทน )

วิธีการประดิษฐ์

      1.นำกระดาษแข็งมาตัดให้พอดีกับถุงพลาสติกขนาด 6 นิ้ว X  9 นิ้ว

     2.วัดขนาดทวารเทียมของผู้ป่วยโดยใช้แบบวัดทวารเทียมมาตรฐาน

     3.ใช้ไม้บรรทัดวัดเป็นแบบลงบนกระดาษแข็งลงมา 1 นิ้ว ด้านข้างข้างละ 1 นิ้ว ตีเส้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 3.5 นิ้ว X 4 นิ้ว และวาดรูปลำไส้ลงบนกระดาษเป็นรูปวงกลม

     4.เทปกาว 2 หน้าแบบบางวาง (แปะ)ลงบนถุงตามแบบ

     5.วาดรูปลำไส้ลงบนเทปกาวเป็นรูปวงกลม

     6.นำกระดาษแข็งออกจากถุงพลาสติก

    7.นำกรรไกรตัดถุงพลาสติกตามรอยเส้นที่วาดไว้

    8.นำถุงพลาสติกที่ประดิษฐ์เรียบร้อยแล้วมาปิดปากถุงด้วยเครื่องรีดหรือใช้เทียนไขมาลนปากถุงให้ปิดสนิทโดยรีดให้ห่างจากปากถุง  1 เซนติเมตร

    9.ทดสอบประสิทธิภาพ  การรั่วของถุงใส่ลมธรรมชาติ  บีบทุกด้านของของถุงไว้  เพื่อทดสอบรอยรั่วของลมในถุงที่ประดิษฐ์

    10.สามารถทำไว้ครั้งละหลายๆถุงได้  พกพาสะดวก

 

การใช้งาน

      1.ทำแผลบริเวณ Colostomy เหมือนแผล Contaminate ทั่วไป

      2.นำถุงประดิษฐ์ที่พร้อมใช้ดึงกระดาษป้องกันกาวออกแล้วแปะให้สนิท โดยใช้เทคนิค   การไล่ลมก่อนแปะสนิท 100% มุมใดมุมหนึ่งก่อน

      3.สังเกตลักษณะของอุจจาระได้ด้วยตาตนเองตลอดเวลาโดยไม่ต้องดึงถุงออก หรือรอจนถึงเวลาหรือเมื่ออุจจาระเต็มถุง

      4.สามารถเปลี่ยนถุงประดิษฐ์ในห้องน้ำได้ทุกที่โดยเทอุจจาระลงโถส้วมก่อนทิ้งถุงประดิษฐ์ลงถังขยะ

      5.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

      6.ประเมินผลงานเป็นระยะ

 

งบประมาณ

      1.ถุงพลาสติก  ครึ่งกิโล                                                         35     บาท

      2.เทปกาวสองหน้าแบบบางขนาด 2นิ้ว 1 ม้วน           45     บาท

      3.ไม้บรรทัด                                                                      5       บาท

      4.ปากกาเมจิก                                                                  12      บาท

      5.กรรไกรปลายแหลม                                                         25      บาท

      6.เครื่องรีดถุง                                                                  500      บาท

      งบประมาณรวม                                                                622      บาท

 

หมายเลขบันทึก: 403983เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2010 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ถ้าจะซื้อจากโรงพยาบาลเลยได้มั้ยใช้ครั้งเดียวทิ้งเลยนะคะเป็นความคิดที่ดีมากๆเพราะตอนนี้ใช้กับแม่ใบละเกือบแปดสิบบาท

ขอบคุณมากค่ะ จะลองไปประดิษฐ์ดูค่ะ ดูจากงบประมาณแล้วน่าจะคุ้มค่ามากๆ แล้วก็น่าจะสะอาดกว่าแบบที่ต้องนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะเราไม่รู้ว่าล้างแล้วจะมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่มากมั๊ย เพราะไม่มีการผ่านการค่าเชื้ออะไรเหมือนโรงพยาบาล และประหยัดมากๆเลย 

ขอบคุณที่สุดค่ะ ได้ผลอย่างไรแล้วจะมาเล่าให้อ่านนะคะ

เเม่ของดิฉันป่วยเป็นโรคนี้เเต่ทางรพ.ไม่เคยสนใจเลย;(

มีรูปแบบถุงที่ เอาไว้ทำเองไหมครับ พอดีภรรยา ต้องใช้ประจำครับ

ขอรูปและวิธีทำด้วยนะครับ

ขอบคุณมากครับ

ขอชื่นชมคะ เป็นนวตกรรมที่ดีมาก ช่วยเหลือคนไข้ได้เยอะ จากประสบการณ์ขอเล่าสู่กันฟังนะคะ เคยดูแลผู้ป่วยที่มี colostomy แต่ลักษณะอุจาระเป็นก้อน ผู้ป่วยเล่าให้ฟัง ได้ดูแลตนเอง โดยการ ปรับเรื่องการขับถ่ายให้เป็นเวลา เช่นถ่ายตอนเช้า และทำความสะอาดตามปกติให้เรียบร้อยและปิดบริเวณ colostomy ด้วยผ้า gauze เท่านั้น คนไข้คนนี้มีอาชีพขายของ ต้องยืนทั้งวัน และต้องหาเงินส่งลูกเรียน เลยไม่ย่อท้อและดูแลตัวเองดีมาก รักษาต่อเนื่อง ให้ยาครบ เพื่อรอวันที่ลูกสำเร็จการศึกษา

ถ้าสามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ก็น่าจะประหยัดอีกทางนะคะ แต่ต้องให้การฝึกฝนคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท