ปัญหาและวิธีการแก้ไข ตอนที่ 8 วิธีการแก้ปัญหาในการรับงานแสดงเพลงอีแซวในโรงเรียน


ชุดการแสดงของเราไม่มีงบประมาณสนับสนุน กรณีอย่างนี้ไม่ควรไปร่วมกิจกรรมเสียเลยจะดีกว่า

ปัญหาและวิธีการแก้ไข

การจัดกิจกรรม

เพลงอีแซวในโรงเรียน

ตอนที่ 8 วิธีแก้ปัญหาในการรับงานแสดงของวงเพลงอีแซวในโรงเรียน

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ต้นแบบกิจกรรมนันทนาการเพลงอีแซว ประเทศไทย รุ่นที่ 1

           ช่องทางในการรับงานแสดง วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ ผมแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

           1. งานเข้ามาจากการติดต่อผ่านทางโรงเรียนแล้วสั่งการมายังผู้ควบคุมวงเพลง

           2. งานเข้ามาตามคำสั่งของหน่วยงานที่เหนือกว่าให้จัดชุดการแสดงไปร่วมกิจกรรม

           3. งานเข้ามาถึงวงโดยตรงที่ตัวครูผู้ควบคุมวงโดยการพบกันของผู้ติดต่อกับวงเพลง

          

          

          

1. งานเข้ามาจากการติดต่อผ่านทางโรงเรียนแล้วสั่งการมายังผู้ควบคุมวงเพลง

          วิธีแก้ปัญหาการติดต่องานแล้วของดอย่างกะทันหัน พวกเราได้แต่เซ็งและมึนงงไปหลายวัน งานแบบนี้พบไม่บ่อยแต่ก็ไม่น่าที่จะเป็นไปได้ ลงเอยคือ ไม่มีผู้รับผิดชอบความเสียหาย วิธีการแก้ไขปัญหานี้ คือ ขอให้ทางผู้ติดต่อส่งเอกสารคำเชิญวงเพลงอีแซวไปแสดงมายังสถานศึกษาเพื่อเอาไว้เป็นหลักฐานที่มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น แต่บางทีก็ทำไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่บางท่านถือว่ามีตำแหน่งสูงอยู่แล้ว แค่โทรศัพท์มาติดต่อก็น่าเชื่อถืออยู่แล้ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่เป็นไร เมื่อเกิดมีการกลับลำนักแสดงก็เสียความรู้สึกมาก อีกอย่างหนึ่งคือ ขอเชิญท่านมาพบกับนักแสดงในช่วงเวลาของการฝึกซ้อม ตรงนี้จะทำให้ผู้ที่ติดต่อกาสรแสดงได้เห็นภาพในการเตรียมการอย่างต่อเองและมีความสนใจในผลงานของเราด้วย มีหน่วยงานเอกชน ติดต่อการแสดงของเราไปในกิจกรรมระดับประเทศ หลังจากที่ได้ติดต่อกันเรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะส่งตัวแทนมาเยี่ยมชมการฝึกซ้อมที่ห้อง 512 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 มาครั้งใดก็มักจะมีของฝาก มาฝากเด็ก ๆ ในวงเพลงด้วย นักแสดงก็มีกำลังใจขึ้นอีกมาก

2. งานเข้ามาตามคำสั่งของหน่วยงานที่เหนือกว่าให้จัดชุดการแสดงไปร่วมกิจกรรม

          วิธีแก้ปัญหางานที่เข้ามาทางนี้ มองที่ปัญหา งานการแสดงที่เข้ามาช่องทางนี้มักจะไม่มีผู้ที่เข้ามารับผิดชอบให้การดูแลพวกเราเลย เรียกว่าไปแสดงแล้วทุกอย่างอยู่ที่ครูผู้ฝึกสอนหรือผู้ควบคุมเพียงคนเดียว เหมาไปเต็ม ๆ ทั้งหมด ทั้งค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยงเด็ก ๆ นักแสดง และอื่น ๆ การเสียสละในบางสถานการณ์ก็ไม่น่าที่จะต้องเสียหลายด้าน วิธีการแก้ไขคือ

          วิธีแรก ผมได้ติดตาม ณ เวทีการแสดงว่า คณะกรรมการชุดใดรับผิดชอบเวทีการแสดงนี้และมีหน้าที่อำนวยความสะดวก และสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง คำตอบคือ ไม่มี

          วิธีที่สอง ผมติดตามและแจ้งความรับผิดชอบให้สถานศึกษา คือโรงเรียนที่ผมปฏิบัติงานได้ทราบว่า ผมนำคณะนักแสดงไปร่วมกิจกรรมด้วยความเรียบร้อย แต่ในการไปในครั้งนี้มีค่าใช้จ่าย ค่ารับส่งนักแสดง ค่าวัสดุแต่งหน้า ค่าเบี้ยเลี้ยงนักแสดงสำหรับเป็นค่าอาหารและน้ำดื่ม ผมจ่ายสำรองไปก่อนแล้ว ผลก็คือ เงียบหายกันไป

          วิธีที่สาม ผมประสางานไปยังหน่วยงานที่เหนือขึ้นไป ถามหาผู้ที่มีหน้าที่ให้การดูแล รับผิดชอบ ได้ทราบว่าไม่มีงบประมาณ (เป็นไปได้อย่างไร) ก็จบเพียงแค่นั้น

          มีอยู่ครั้งหนึ่งผมนำคณะนักแสดงไปร่วมพิธีเปิดงานระดับหนึ่ง โดยนำชุดการแสดงที่โรงเรียนอื่นเขาเล่นไม่ได้ คณะผู้จัดพิธีเปิดงาน เขาเสาะหาผู้ที่จะทำการแสดงชุดนี้ ปรากฏว่าเด็กของเราเล่นได้จึงได้ไปร่วมงาน โรงเรียนอื่น ๆ ก็นำชุดการแสดงของเขามาและได้รับงบประมาณสนับสนุนมาด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ชุดการแสดงของเราไม่มีงบประมาณสนับสนุน กรณีอย่างนี้ วิธีแก้ไขสุดท้ายก็คือ ไม่ไปร่วมกิจกรรมเสียเลยจะดีกว่า

3. งานเข้ามาถึงวงโดยตรงที่ตัวครูผู้ควบคุมวงโดยการพบกันของผู้ติดต่อกับวงเพลง

          งานที่เข้ามาโดยตรง ยังมีปัญหาเข้าจนได้ เหลือเวลาอีก 3-4 วันจะถึงวันแสดงแล้ว ผู้ที่ติดต่อมีโทรศัพท์ประสานงานมาว่า “ขอยกเลิกงาน” กรณีอย่างนี้ไม่มีผู้รับผิดชอบในความสูญเสียที่ต้องลงทุนไปในระหว่างการเตรียมงานให้เลย เพราะคนเราไม่เหมือนกัน คิด ทำ มีความรับผิดชอบในคำพูดเพียงแค่ขอไปที ผลลัพธ์มาตกที่คำว่า “เสียเวลาแล้วไม่ได้อะไรเลย” แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือ  “ได้รับบทเรียนที่คุ้มค่าอีกครั้ง” ครับ

          ถ้าพูดถึงความรับผิดชอบของคนเรา พูดอะไรออกไปโดยเฉพาะที่เป็นคำมั่นสัญญา จะต้องให้เป็นไปตามนั้น หากผิดข้อตกลงใครเป็นผู้ได้รับความเสียหาย ใครคือผู้ที่ได้รับประโยชน์ จะต้องคิดหาทางช่วยเหลือกัน แต่ที่ไหนได้ไม่มีเลย ผมจึงต้องหาวิธีการแก้ไขสถานการณ์อย่างนี้เอาไว้

          วิธีแรกคือ ทวงถามความรับผิดชอบที่เขาได้กระทำขึ้น เพื่อที่จะช่วยบำรุงขวัญนักแสดง แรก ๆ ก็จะพูดคุยกับเราดีแล้วก็เงียบไปเลย ผมก็พยามติดตามโดยให้คนที่ใกล้ชิดไปทวงถามก็ยังคงนิ่งเฉยเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราได้รับแค่เพียงบทเรียนที่ล้ำค่าเอามาเก็บไว้ในใจ

          วิธีที่สองคือ ส่งเอสารหลักฐานการติดต่อมายังทีมงานของเรา เพื่อที่จะเป็นหลักฐานยืนยันในคำพูด แบบนี้พอได้บ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นกับว่าได้ความน่าเชื่อถือเต็มร้อย บางทีก็มีเปลี่ยนแปลงและเอาเปรียบเราเข้าจนได้

          อีกวิธีหนึ่งก็คือ ขอเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมมาก่อนล่วงหน้า ถ้าเป็นบริษัทจัดการแสดงเขาจะมีงบประมาณเพียงพอที่จะให้การสนับสนุนเราได้อยู่แล้ว ถ้าทำงานกันแบบตรงมาตรงไป และที่สำคัญไม่คิดที่จะเอาเปรียบนักแสดงมากจนเกินไป

ติดตาม ตอนที่ 9 วิธีแก้ไขปัญหาในการนำเสนอและการเผยแพร่ผลงาน

หมายเลขบันทึก: 403567เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอเป็นกำลังใจให้ครูชำเลือง...งานนี้เป็นผลงานที่ประจักษ์โดยแท้จริง...เพื่อสืบสานตำนานเพลงอีแซว..แห่งเมืองสุพรรณบุรี...

  • ขอบคุณ ครูอ้อยเล็ก ที่ส่งกำลังใจมาให้คนรักในศิลปะเหมือนกัน
  • ผมเดินทางเกือบจะทุกด้านในศิลปะทั้งทัศนศิลป์ ดนตรี-นาฏศิลป์ เพื่อสนับสนุนผู้เรียนให้ตรงความสามารถของเขา
  • สุดท้าย คงมาจบที่เพลงพื้นบ้านซึ่งเป็นชีวิตจริงที่ควบคู่มากับการรับราชการตั้งแต่วันแรกจนใกล้ที่จะถึงวันสุดท้ายแล้ว

ค่ะยินดีด้วยค่ะที่รักในศิลปะเหมือนกัน...ชื่นชมค่ะอาจารย์...ถามว่าชื่นชมในด้านไหน...ตอบว่า..การเป็นครูศิลปะความเก่งกาจอาจไม่เท่ากันในเรื่องของฝีมือ...และความคิดสร้างสรรค์ แต่ในเรื่องของการถ่ายทอดประสบการณ์ของการทำงานศิลป์ผ่านตัวหนังสือไว้เป็นฐานข้อมูลแก้คนรุ่นหลังๆยี่...ยกให้อาจารย์เป็นที่ 1 ค่ะ

- ถูกต้องแล้วครับ ครูอ้อยเล็ก เด็ก ๆ ก็เช่นเดียวกัน เขามีความสามารถต่างกัน ครูต้องให้เวลาลูกศิษย์ได้ทำความเข้าใจ

- ขอเชิญชวนคุณครูศิลปะและผู้ที่มีใจรักในศิลปะ เข้าไปเยี่ยมเยือนและชมผลงานของ ครูอ้อยเล็ก มีหลาย ๆ อย่างที่ครูศิลปะควรที่จะได้รับรู้ "คลิ๊กที่รูป อ้อยเล็ก" ด้านบน ในความเห็นที่ 3 จะเข้าถึงข้อมูลได้เลย ครับ (ขออนุญาตกระซิบ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท