การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน


การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

"การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน..."

ถ้าพูดถึงการให้ ความหมายของการให้ในทศพิศราชธรรมจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี แล้ว คือ ทาน (ทานํ) หมายถึง การให้ การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นข้อที่ 1 ใน 10 ข้อของทศพิธราชธรรม...สำหรับการให้ ถ้าเป็นการให้โดยไม่หวังผลหรือสิ่งตอบแทน นั่นหมายถึง การให้ที่ให้ด้วยใจ ให้แล้วเกิดความสุขต่อเพื่อนมนุษย์...แม้แต่...ต่อสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาร่วมชะตาชีวิตบนโลกมนุษย์ด้วยกัน...เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน

การให้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการให้ด้วยทรัพย์สิน เงินทอง ในที่นี้จะหมายถึง การให้ด้วยน้ำใจ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า เป็นเรื่องที่หายากในสังคม การที่จะพบบุคคลที่มีความเสียสละ ทุ่มเท อุทิศแรงกายแรงใจ เสียสละเวลาส่วนตัว ด้วยแล้ว เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ยากเหลือเกินที่จะค้นพบ...การให้ด้วยน้ำใจ ปัจจุบันถ้าเป็นเชิงวิชาการ จะหมายถึง การให้ความรู้ ซึ่งเป็นการให้ที่ปราศจากการที่จะหวังผลสิ่งใดตอบแทน เป็นการให้ความรู้จากความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ของตนเอง เพื่อเป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่ไม่รู้ หรือเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้กับผู้อื่น

ความจริงแล้วในสังคมไทย ยังมีผู้ที่มีความรู้ในตนเองมากมาย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ความรู้หรือภูมิรู้นั้น อยู่ในตัวของบุคคลคนนั้น ซึ่งไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นองค์ความรู้ให้บุคคลอื่นได้รับทราบ...สำหรับการถ่ายทอดได้บ้างนั้น ก็เรียกว่า น้อยมาก...(เพราะไม่มีตัวจัดการความรู้) ในบางครั้งความรู้นั้นอาจเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นที่สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงานหรือการแก้ปัญหาในการทำงานได้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าต่อ ๆ ไป ถ้ามีการจัดการความรู้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการนำความรู้ซึ่งอยู่ในตัวคนออกมาเผยแพร่ให้กับบุคคลทั่วไปได้มากขึ้นแล้ว จะทำให้สังคมรุ่นใหม่เกิดการปฏิบัติไปในแนวทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบันอาจเป็นช่วงเริ่มต้นของการที่จะดึงความรู้ในตัวคนออกมาเพื่อเผยแพร่ให้กับสังคมได้รับทราบ เนื่องจากเกิดเหตุปัจจัยหลาย ๆ เรื่อง เช่น การที่ผู้มีความรู้ยังไม่เข้าใจในระบบ กลไกของเทคโนโลยี ตลอดจนบางท่านยังหวงวิชาเพราะเกรงว่าคนรุ่นใหม่จะรู้ทัน ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า “หาเป็นเช่นนั้นไม่ ยิ่งเราให้ความรู้ ความรู้ยิ่งกลับมีมากขึ้น ทำให้ความรู้เกิดการแตกยอดความรู้และมีความคิดว่า ให้ความรู้เท่าไรไม่มีวันหมดภูมิรู้ กลับได้รับความรู้เพิ่มขึ้น”...ดีเสียอีก ถ้าเรานำความรู้มาเผยแพร่จะทำให้สังคมมีคนช่วยคิดในการสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น...ชุมชน สังคม เข้มแข็งขึ้น และทำให้ประเทศชาติมีคุณภาพมากขึ้น

แต่สิ่งสำคัญ...ที่จะทำได้ นั่นคือ “การให้ความรู้นี้ ต้องไม่หวังผลตอบแทน” เรียกว่า เป็นการให้ที่มาจากใจส่วนลึก...โดยต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากผู้มีภูมิรู้ทุกท่านในการเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ที่อยู่ในตัวให้กับเด็กรุ่นใหม่ ได้รับรู้รับทราบเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป...อย่าปล่อยให้ความรู้นั้นสูญหายไปกับตัวท่านเอง เพราะจะไม่มีประโยชน์ต่อสังคมเลย...เพราะที่ผ่าน ๆ มา เราไม่มีตัวจัดการความรู้เข้ามา...แต่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีแล้ว ควรใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น...

หมายเลขบันทึก: 403396เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 05:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท