การวิเคราะห์คุณค่าแท้และคุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูป


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย.2552

การจะให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูป มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการบูชา  เพราะจะทำให้ทราบถึงเป้าหมายที่พึงประสงค์หรือสิ่งที่เป็นที่ต้องการอันเป็นแรงจูงใจให้เกิดการบูชาของผู้บูชาพระพุทธรูปทั้งหลาย  เพราะฉะนั้นประเด็นแรกที่ควรทำความเข้าใจก่อนจะวิเคราะห์คุณค่าแท้และคุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูป คือ จุดมุ่งหมายของการบูชาพระพุทธรูป จากนั้นจะได้วิเคราะห์ถึงคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมเป็นลำดับไป  โดยการนำแนวคิดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการบูชาพระพุทธรูปและเกณฑ์การตัดสินต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วมาพิจารณาร่วมด้วย    

  

 จุดมุ่งหมายของการบูชาพระพุทธรูป

 

                  การพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของการบูชาพระพุทธรูปนั้น  ผู้วิจัยจะพิจารณาอย่างกว้างๆ  ตามกรอบหลักธรรมเพื่อให้เห็นเป้าหมายของการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา แต่จะได้วิเคราะห์โดยละเอียดในเรื่องการวิเคราะห์คุณค่าแท้และคุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูปต่อไป 

 

                  กรอบพิจารณาจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนานั้น  สามารถศึกษาได้จากหลักประโยชน์ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอนไว้  ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกประโยชน์ออกหลายลักษณะ เช่น ประโยชน์ในปัจจุบัน(ทิฏฐธัมมิกัตถะ) ประโยชน์ในชาติหน้า(สัมปรายิกัตถะ)และประโยชน์สูงสุด(ปรมัตถะ) หรือประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ประโยชน์ผู้อื่น   (ปรัตถะ) และประโยชน์ร่วมกัน(อุภยัตถะ)  ลักษณะของประโยชน์ดังกล่าวนี้  อาจจำแนกเป็น  2 ประการ[1]   ได้แก่ 

 

                  1. ประโยชน์ในแนวราบ 

                  ประโยชน์ในแนวราบ  หมายถึง  การใช้ชีวิตของตนโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนอย่างเดียว  แต่เผื่อแผ่ประโยชน์ไปสู่ผู้อื่นด้วย  ได้แก่

 

                        1) ประโยชน์ตนเอง (อัตตัตถะ)  คือ การพัฒนาตน  ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้  ความสามารถ  ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  จนสามารถพึ่งตนเองได้และสามารถเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้

 

                        2) ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)  หมายถึง เมื่อประโยชน์ตนมีพร้อมแล้ว  สมบูรณ์ดีแล้ว  ทั้งความรู้  ความประพฤติ  สังคมและเศรษฐกิจ  ย่อมมั่นใจได้ว่าสามารถเอื้ออำนวยอุดหนุนผู้อื่นได้ด้วย  โดยยึดหลักว่า  ชีวิตแบบพุทธนั้น  มิใช่ให้นึกถึงตัวเองเป็นเพียงหลักอย่างเดียว[2]  แต่สิ่งใดที่ทำแล้วเป็นผลได้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วยย่อมสมควรกระทำ

 

                        3) ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ)  หมายถึง  ประโยชน์ที่จะพึงเกิดขึ้นเพราะอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันทั้งตัวเราและผู้เป็นกัลยาณมิตร  ใกล้ชิด  เคยเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือกันมาแล้วร่วมกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่กว้างขวางออกไปอีก  โดยตนเองก็ได้รับประโยชน์จากการระทำนั้น  ผู้อื่นก็ได้รับประโยชน์ด้วย  โดยที่สุดแม้สังคมก็ได้รับประโยชน์ด้วย

 

                  2. ประโยชน์ในแนวตั้ง 

                  ประโยชน์ในแนวตั้ง  หมายถึง  การดำเนินชีวิตของตนเพื่อให้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงตามลำดับ  ได้แก่

 

                        1)  ประโยชน์ในปัจจุบัน  หมายถึง  ประโยชน์หรือคุณค่าที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตในชาตินี้   ประโยชน์ในแง่นี้ถือเป็นประโยชน์ขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต  เช่น  การมีสุขภาพที่ดี  การมีทรัพย์สามารถใช้ในการดำรงชีวิตได้ตามสมควรแก่อัตภาพ  การมีสังคมที่ดีและมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย  เป็นต้น 

 

                        2)  ประโยชน์ในเบื้องหน้าหรือในอนาคต  หมายถึง  ประโยชน์หรือคุณค่าที่จะพึงได้รับในกาลเบื้องหน้าที่สูงกว่าปัจจุบัน  อันเป็นประโยชน์ในทางคุณธรรมจริยธรรม อันเป็นคุณค่าที่ส่งเสริมให้ชีวิตในอนาคตสูงขึ้น  ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนา ได้แก่ การบรรลุผลจากการสร้างสมบุญบารมี  จนสามารถบรรลุความดีงามในอนาคตหรือได้เกิดในภพภูมิที่ดีหลังจากการตาย  เพื่อจะได้พัฒนาตนให้บรรลุคุณความดีขั้นสูงสุดต่อ ๆ ไปได้    ไม่ตกลงสู่อบายภูมิ  อันเป็นทางปิดกั้นการบำเพ็ญความดีในขั้นสูง 

 

                        3)  ประโยชน์สูงสุด  หมายถึง  ประโยชน์อันเป็นสาระแก่นสารที่แท้จริงของชีวิต เพื่อให้มีความสุขอย่างแท้จริง ได้แก่  การบรรลุนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา  เป็นภาวะที่สิ้นราคะ  โทสะ  โมหะ[3] ประโยชน์ขั้นนี้เป็นคุณค่าสูงสุดที่มนุษย์ควรจะบรรลุถึงให้ได้  เป็นผลจากการปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยอาศัยความสงบและปัญญาเป็นฐานสำคัญ

 

                  จากแนวคิดเรื่องประโยชน์นี้  จะเห็นได้ว่า  หากพฤติกรรมใดที่เป็นไปในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแนวราบและแนวตั้งตามที่กล่าวมา  พฤติกรรมนั้นย่อมเป็นความดีงามอย่างแท้จริง  ซึ่งในแง่ของการบูชาพระพุทธรูปก็สามารถนำหลักนี้มาพิจารณาได้  คุณค่าแท้และคุณค่าเทียมจึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการปฏิบัตินั้น ๆ มีจุดมุ่งหมายหรือเกิดประโยชน์อย่างไร  ดังจะได้จำแนกต่อไปนี้

 

 


เอกสารอ้างอิง

                  [1] บุญมี  แท่นแก้ว,  พุทธปรัชญาเถรวาท, หน้า  45.

                  [2] เรื่องเดียวกัน,  หน้า55.

                  [3] เสฐียรพงษ์  วรรณปก,  คำบรรยายพระไตรปิฎก, หน้า  182.

หมายเลขบันทึก: 403237เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณครับสำหรับบทความ
  • และข้อดคิดดีๆ
  • อาจารย์เก่งมากเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท