ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของลิงบนเกาะในประเทศญี่ปุ่นฝูงหนึ่ง ที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าสังเกตอาการตอบสนองของมันหลังจากโยนฝักข้าวโพดให้กิน บางตัวรีบตะครุบฝักข้าวโพดแล้ววิ่งหายขึ้นไปบนต้นไม้ หลายตัวแย่งชิงกันอย่างตะกรุมตะกราม แต่มีลิงอยู่ตัวหนึ่งนำฝักข้าวโพดไปแช่ในน้ำทะเลแกว่งไปแกว่งมาสักพักแล้วจึงกิน คิดว่ามันคงได้รสชาติแตกต่างจากที่เคยได้สัมผัสมาก่อน เจ้าลิงตัวดังกล่าวทำเช่นนี้อยู่เป็นประจำทุกวัน วันต่อๆมาลิงตัวอื่นเริ่มสังเกตและแปลกใจ สิงสองสามตัวเริ่มทำตามแล้วก็เพิ่มเป็น สี่ตัว ห้าตัว หกตัว จนกระทั่งถึงตัวที่แปดหรือเก้าไม่เป็นที่แน่ชัดก็เกิดปรากฎการณ์อันน่าแปลกใจคือลิงทั้งฝูงต่างเฮโลกันนำฝักข้าวโพดไปกวัดแกว่งในน้ำทะเลโดยพร้อมเพรียงกันแล้วกัดกินกันอย่างเอร็ดอร่อย นักวิทยาศาสตร์สังเกตพบปรากฏการณ์เช่นเดียวกันนี้หลายๆครั้งและพบว่า คนก็มีพฤติกรรมทำตามกันหรือเลียนแบบกันเช่นนี้เหมือนกันเมื่อมีผู้พลิกผันบางคนที่มีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยปฏิบัติอยู่เป็นประจำและผลของการเปลี่ยนพฤติกรรมเกิดเป็นปรากฏการณ์เชิงบวก จำนวนของคนที่เป็นผู้เริ่มต้นพลิกผันเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนส่วนใหญ่ อาจจะมีจำนวนแค่ สอง สาม สี่ ห้า หรือ สิบคน ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจำนวนนั้นควรจะเป็นเท่าไร แต่จำนวนดังกล่าวสามารถเป็นกลไกพลิกผันให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งองค์กรได้อย่างไม่น่าเชื่อ จำนวนคนหรือลิงที่เป็นเหตุให้เกิดการพลิกผันพฤติกรรมทั้งองค์กรนี่แหละครับที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า critical mass หรือ มวลวิกฤติ
ในชีวิตการทำงานของผมก็ได้มีโอกาสสัมผัสปรากฎการณ์ critical mass เช่นกันเมื่อครั้งที่เข้ามารับผิดชอบงานพัฒนาเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ในสมัยนั้นคำว่าเครือข่ายยังหาคนที่เข้าใจถึงความสำคัญได้ยากยิ่ง ทั้งในโรงพยาบาลและสถานีอนามัยต่างก็ทำงานของตัวเองตามแบบเดิมๆที่เคยปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ สายการบังคับบัญชาแยกกันคนละสาย วัฒนธรรมและทัศนคติในการดูแลสุขภาพคนก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจนมีคำเปรียบเปรยของใครบางคนว่า “เลือดสองสี แม่น้ำสองสาย ยากที่จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้” นี่คือคำถามแรกสำหรับผมว่า โรงพยาบาลพุทธชินราชและสถานีอนามัยในเขตอำเภอเมืองจะเชื่อมคล้องกันเป็นเครือข่ายเดียวกันได้อย่างไร?
ในช่วงปลายปี 2544 หนทางหาคำตอบสำหรับคำถามนี้ช่างลำบากยากเย็น แต่ด้วยความมั่นใจว่าการเชื่อมคล้องเครือข่ายเดียวกันระหว่างโรงพยาบาล สถานีอนามัย และชุมชนเพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นทางออกทางเดียวของระบบสุขภาพ จุดประกายความคิดและความหวังว่าหนทางดังกล่าวมิได้มืดมนจนหาทางไม่ได้ แต่ยังมีแสงไฟที่ปลายอุโมงค์ถึงแม้จะไม่สว่างเจิดจ้าแต่ก็มีกำลังมากพอที่จะคลำทางไปต่อได้ ผมเริ่มเดินออกนอกรั้วโรงพยาบาลพุทธชินราช ทำความรู้จักกับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น สาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล อสม. แกนนำและผู้นำในชุมชน ฯลฯ ผมเริ่มเข้าใจสภาพแวดล้อมการทำงานในระดับตำบลของสถานีอนามัย วัฒนธรรม ค่านิยมของชาวบ้านในสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เป็นอยู่จริง เมื่อยิ่งคุ้นเคยกันมากขึ้นก็เข้าใจอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่า คนสาธารณสุขไม่ว่าจะทำงานอยู่ในสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลต่างก็มีความเหมือนหรือจุดร่วมอยู่อย่างหนี่งคือ ต่างมุ่งหวังให้ผู้ป่วยที่ตนดูแลอยู่ หายหรือว่าทุเลาจากโรคหรือความเจ็บป่วย อยากให้คนที่ตนดูแลมีสุขภาพดี ป้องกันจากโรคต่างๆได้ แต่จุดต่างก็มีอยู่ไม่น้อยทั้งเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน วิถีแนวความคิดของคนทำงานในโรงพยาบาลกับคนที่ทำงานกับชุมชนก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ถ้าผมสมมุติตัวเองและทีมคือผู้พลิกผันในส่วนของโรงพยาบาลในขณะนั้นผมก็พบว่ามีผู้พลิกผันในส่วนของสถานีอนามัยเช่นเดียวกัน หัวหน้าและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย 2-3 แห่งมีความคิดเห็นไม่ต่างไปจากผมซักเท่าไร พวกเราร่วมมือกันแสวงหาจุดร่วมในการสร้างระบบเชื่อมโยงการทำงานระหว่างโรงพยาบาล สถานีอนามัยและชาวบ้านอาสาสมัครในชุมชน เริ่มดำเนินการจากจุดเล็กๆในโรงพยาบาล (กลุ่มงานตั้งใหม่ในสมัยนั้นคือ กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว) และสถานีอนามัยในเขตอำเภอเมือง 2- 3 แห่งเกิดปรากฏการณ์ใหม่ในการดูแลสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมเป็นองค์รวมเชื่อมคล้องเป็นเครือข่ายเดียวกัน เวลาผ่านมาไม่นานปรากฏการณ์ดูแลสุขภาพแบบใหม่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลพุทธชินราชและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยหลายแห่งเริ่มสนใจเข้าร่วมในการดูแลสุขภาพแบบใหม่ดังกล่าวทีละเล็กทีละน้อย แล้วในที่สุดผมก็ได้พบปรากฏการณ์ critical mass ในชีวิตจริงนั่นคือเกิดการพลิกผันสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งอำเภอ สถานีอนามัยทั้ง 25 แห่ง ในเขตอำเภอเมือง พิษณุโลก แพทย์ พยาบาลในหลากหลายสาขา ผู้บริหารระดับท้องถิ่นและแกนนำอาสาสมัครในชุมชนเข้าร่วมระบบการดูแลสุขภาพประชาชนแบบเครือข่ายเป็นองค์รวมและมีส่วนร่วม
ผมไม่ทราบจริงๆครับว่า critical mass ที่ผ่านมาในชีวิตผมเป็นปรากฏการณ์ที่แท้จริงเช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตและสร้างทฤษฎีทางสังคมไว้ดังกล่าวข้างต้น หรือเป็นเพราะบังเอิญไปพ้องกับนโยบายของรัฐที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบเครือข่ายและบริการปฐมภูมิมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม ผมเชื่อว่าแนวคิดเรื่อง critical mass หรือ “ผู้พลิกผัน” ก็เป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ทำงานประสานและเชื่อมโยงเครือข่ายเช่นเดียวกับผม คงจะรับรู้ได้ว่าแม้จุดเริ่มต้นแต่เพียงจุดเล็กๆก็สามารถสร้างสรรค์ปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งกระดานอย่างน่าประหลาดใจ ไม่แน่นะครับแสงไฟที่เราเห็นริบหรี่อยู่ปลายอุโมงค์ อาจจะสว่างเจิดจ้าทันตาเห็นอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว