Dhamma in English (8)


Living in the present moment      

      รายการ Dhamma in English ในสองตอนที่ผ่านมา (ตอนที่ ๖-๗) ผู้เขียนได้ย้อนกลับอ่านดูแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องทางวิชาการที่ค่อนข้างยาก  รู้สึกเห็นใจผู้มีพื้นฐานทางธรรมะน้อย  ดังนั้น ในตอนที่ ๘ นี้จึงอยากนำเรื่องสบายๆ มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติธรรมเช่นกัน และถือว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมด้วย นั่นคือเรื่อง "การอยู่กับปัจจุบัน" (Living in the present moment) 

     เล่ากันว่า มีคนไปถามพระเซน (Zen) รูปหนึ่งว่า "การปฏิบัติธรรมแบบเซนจะต้องทำอย่างไรบ้าง"  พระเซนตอบว่า "การปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรมาก เมื่อหิวก็กิน เมื่อง่วงก็นอน  แค่นั้นเอง"  พอได้ฟังคำตอบ ผู้ถามถึงกับงงว่าทำไมการปฏิบัติมันถึงง่ายอย่างนี้  ต่างอะไรกับชีวิตของชาวบ้านทั่วไป  คำตอบของพระเซนดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร  แต่ถ้าคิดให้ดีจะเห็นว่าคำพูดของท่านแฝงไว้ด้วยหัวใจแห่งการปฏิบัติธรรม นั่นคือการอยู่กับปัจจุบัน  หมายความว่า เวลากินก็ให้กินจริงๆ เวลานอนก็ให้นอนจริงๆ ให้มีสติ-สัมปชัญญะ (mindfulness/awareness) อยู่กับปัจจุบันแห่งการกินและการนอน  คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจในกิจวัตรประจำวันของตน  มักมองการกินแค่เพียงเอาอาหารใส่ปาก มองการนอนแค่เพียงการเอนหลังล้มตัวลงนอน  เรากินแต่ไม่ได้กิน นอนแต่ไม่ได้นอน (ไม่อยู่กับปัจจุบันแห่งการกินและนอน) สำหรับพระเซนแล้วท่านมองว่าทุกกิจกรรมของชีวิตคือโอกาสแห่งการปฏิบัติธรรม  แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นในบทกวีของพระเซนรูปหนึ่งนามว่า ท่านติช นัท ฮันห์ (พระเซนแห่งหมู่บ้านพลัม ฝรั่งเศส) ต่อไปนี้            

              

               Happiness is here and now,

               I have dropped my worries,

               Nowhere to go, nothing to do,

               No longer in a hurry

               Happiness is here and now,

               I have dropped my worries,

               Somewhere to go, something to do,

               But not in a hurry.

    

        บทกวีนี้ถูกนำไปร้องเป็นเพลงโอเปร่าประกอบดนตรี  โดยลูกศิษย์ของท่าน (ฟังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=Q5kteKBfQ0I) บทกวีนี้ต้องการจะบอกว่าความสุขมีได้ในขณะปัจจุบัน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ (here and now) ไม่ต้องหวนละห้อยถึงเรื่องอดีต และไม่ต้องวิตกกังวลถึงเรื่องอนาคต อดีตมันผ่านไปแล้ว ย้อนเวลาไม่ได้  อนาคตยังมาไม่ถึง ชีวิตจริงของเราคือปัจจุบันเท่านั้น  ความจริงแล้วคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ ก็มีรากฐานมาจากพระสูตรในพระไตรปิฎกชื่อว่า "ภัทเทกรัตตสูตร" (Bhaddekaratta Sutta) แปลว่า พระสูตรว่าด้วยผู้มีราตรีเดียวเจริญ ดังนี้   

      "บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน  ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผลัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย  พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้  มีความเพียร  ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญฯ" 

     "Do not pursue the past. Do not lose yourself in the future. The past no longer is. The future has not yet come. Looking deeply at life as it is. In the very here and now, the practitioner dwells in stability and freedom. We must be diligent today. To wait until tomorrow is too late. Death comes unexpectedly. How can we bargain with it? The sage calls a person who knows how to dwell in mindfulness night and day 'one who knows the better way to live alone." (แปลเป็นภาษาอังกฤฤษโดยท่านติช นัท ฮันห์)

     ผู้เขียนเคยถูกนักศึกษาถามอยู่บ่อยครั้งว่า "อาจารย์! ถ้าเราอยู่แต่กับปัจจุบันอย่างเดียว แสดงว่าเราไม่นำอดีตมาเป็นบทเรียน และไม่ต้องวางแผนเพื่ออนาคตเลยเลยหรืออย่างไร" ผู้เขียนได้ตอบไปว่า ไม่ได้หมายความอย่างนั้น  การไม่อยู่กับปัจจุบันนั้นมีความหมายในเชิงอารมณ์ (emotion) อย่างที่คนไทยเรียกว่า "จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว" เช่น คนที่ปล่อยใจให้เหม่อลอยโหยละห้อยหาอดีต  เพ้อฝันและวิตกกังวลถึงเรื่องอนาคต (มักทำให้นอนไม่หลับ) แต่ถ้าเราเอาเรื่องอดีตและอนาคตมาคิดในเชิงปัญญาว่าอดีตให้บทเรียนอะไรแก่เราบ้าง อนาคตเราจะมีแผนการทำอะไรบ้าง  ซึ่งก็คือการเอาเรื่องอดีตและอนาคตมาคิดอยู่ ณ ขณะปัจจุบันนั่นเอง (Think of the past and the future at the present moment) หลักสำคัญมีอยู่ว่า "อย่าปล่อยให้ใจของเราหลุดลอยไปหาเรื่องอดีตและอนาคต แต่ให้เอาเรื่องอดีตและอนาคตมาอยู่กับใจเรา ณ ปัจจุบัน" 

       ดูอย่างพระพุทธเจ้า  พระองค์ทรงมีญาณหยั่งรู้เรื่องอดีต  (อตีตังสญาณ-Knowledge of the past) มีญาณหยั่งรู้เรื่องอนาคต (อนาคตังสญาณ-knowledge of the future) และมีญาณหยั่งรู้เรื่องปัจจุบัน (ปัจจุบันนังสญาณ-Knowledge of the present) แม้ในการแสดงธรรมโปรดสัตว์แต่ละครั้ง พระองค์ก็ทรงวางแผนล่วงหน้าว่าจะไปแสดงธรรมโปรดใคร  ใครมีอุปนิสัยพอที่จะบรรลุธรรมได้บ้าง  อย่างนี้เรียกว่ารู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในเชิงของปัญญา ไม่ใช่ในเชิงอารมณ์แบบวิตกกังวล  หดหู่  ฟุ้งซ่าน  เหม่อลอย  เป็นต้น ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าอดีตและอนาคตเป็นเรื่องไม่ดี  หากอยู่ที่ว่าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร  ในเชิงสติปัญญาหรือในเชิงอารมณ์ 
       รายการ Dhamma in English ครั้งที่ ๘ คิดว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว  ก่อนจากขอฝากคติธรรมจากภัทเทกรัตตสูตรไว้ว่า

              พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ  

              ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่งนี้         

              We must be diligent today.

              To wait until tomorrow is too late.

              Death comes unexpectedly.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #dhamma in english (8)
หมายเลขบันทึก: 401272เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2010 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ  

              ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่งนี้         

              We must be diligent today.

              To wait until tomorrow is too late.

              Death comes unexpectedly.

ต้องจดและจำไว้เตือนตน เจ้าค่ะ

เจริญพรโยมภูสุภา

อนุโมทนาถ้าหากบทความนี้จะมีประโยชน์ในการเตือนอยู่บ้าง

ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ

มากราบรับความรู้ภาษาอังกฤษต่อค่ะ

และได้ The secret of Zen ด้วย

และหนู..ขอสนุกด้วยการฝากกลอนของท่านพุทธทาส นะคะ

จงรู้จัก ตัวเอง คำนี้หมาย

มิดีร้าย อยู่เท่าไร เร่งไขขาน

ข้างฝ่ายดี มีไว้ ในดวงมาน

ข้างฝ่ายชั่ว รีบประหาร ให้หมดไป.....

ด้วยความเคารพค่ะ

อ้วน

ปัจจุบันขณะ ง่าย แต่ ยาก...

ทำอย่างไรก็ไปโลกอนาคตเรื่อยเลย บางครั้งก็แบ่งภาคมาย้อนเวลาหาอดีตเสียอีก เฮ้อ.. ฝึกฝนๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท