การใช้และความเปลี่ยนแปลงในการใช้ภาษาไทย: แค่ผิดพลาด หรือความเสื่อม หรือเป็นวิวัฒนาการตามปกติ


ที่ได้ตัดทอนทุกความหมายที่ดีๆ ออกจนหมด เหลือแต่เปลือกนอกที่แทบไม่มีประโยชน์อะไรจนทำให้คำว่า “มีการศึกษา” ด้อยค่า ไร้ความหมาย ไปอีกคำหนึ่ง

ตั้งแต่สมัยเด็กๆที่อยู่ในชนบท ที่การคมนาคมยังไม่สะดวกเช่นในปัจจุบัน ผมได้สังเกตเห็นความแปรปรวนของการใช้ภาษาของแต่ละหมู่บ้าน ที่อยู่ห่างกันไปแค่ไม่เกิน ๒ กิโลเมตร

ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาของแต่ละหมู่บ้าน ว่าการใช้คำ สำนวน และสำเนียง ที่พบว่าการใช้ภาษาแบบนั้นๆ เป็นคนบ้านไหน

ทำให้ผมเริ่มหัดเทียบเคียงความหมายของคำที่ใช้ และความแปรปรวนของความหมายที่พูดกัน ที่ทำให้ผมเข้าใจความเป็น “ภาษาไทย” มากขึ้น

พอเข้าโรงเรียนที่ห่างจากบ้านไป ๒ กิโลเมตร ผมได้ไปอาศัยอยู่วัด เพื่อประหยัดเวลาเดินทาง และลดภาระครอบครัวด้าน “ข้าวไม่พอกิน” ตามที่ผมเคยเล่าไปแล้ว ก็พบกับการใช้ภาษาที่ต้องปรับพอสมควร

เมื่อต้องย้ายไปเรียนชั้นประถมปลาย ที่ห่างจากบ้านออกไป ๔ กิโลเมตร ผมมีปัญหาการใช้ภาษามาก ถูกเพื่อนที่อยู่ใน “ชุมชนใหญ่กว่า” (ที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ของชุมชนในละแวกรัศมี ๔-๕ กิโลเมตร) ล้อเลียนว่าใช้ภาษาแบบ “บ้านนอก” ผมต้องมีการปรับตัวอีกมากพอสมควร จนจบชั้นประถมปีที่ ๗ ก็ยังมีหลายคำที่ผมพูดยังไม่เป็น

หลังจากนั้น ผมก็ต้องย้ายไปอยู่วัดในกรุงเทพฯ ที่วัดมหาพฤฒาราม (วัคตะเคียน) ที่อยู่ห่างจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ประมาณ ๒ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากโรงเรียนวัดปทุมคงคา (ที่ผมต้องสอบเข้าให้ได้) ประมาณ ๒ กิโลเมตร

ที่พบว่าผมจะต้องมีการปรับวิธีการใช้ภาษาที่ไกลจากฐานเดิมค่อนข้างมาก ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสพบวิธีการใช้ภาษาของคนจากต่างจังหวัด และคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่นับได้ว่าเป็นภาษาที่หลากหลายมาก น่าเรียนรู้และทำความเข้าใจของที่มา พัฒนาการ และการปรับตัวในการใช้ภาษาของคนในสังคมใหญ่ๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

เมื่อผมกลับมาอีสาน เป็นการเดินทางครั้งแรกที่มาสัมผัสการใช้ภาษาอีสาน ทั้งการพูดและการใช้คำที่ผมแทบไม่ค่อยเข้าใจมาก่อน

เมื่อมาศึกษาภาษาเพื่อการสอนในมหาวิทยาลัย ยิ่งทำให้ต้องพยายามเข้าใจทั้งรากศัพท์ ความหมายเดิม ความหมายแยก และความหมายรวม ทีละคำ ๆ จนพอที่จะนำไปสื่อและถ่ายทอดได้อย่างผิดพลาดน้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้

ที่ผมพบว่า มีความผิดพลาดในการใช้ภาษา ความหมายของภาษา ความหมายทางสังคม และความหมายทางวิชาการแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

แต่คนที่นำไปใช้ และสื่อสารแบบต่างๆ ก็มักจะใช้อย่างหละหลวม จนเกิดความเข้าใจที่สับสน หรือผิดความหมายอยู่บ่อยๆ

เช่น แค่คำว่า ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า Soil Fertility

จากรากศัพท์ภาษาไทย

อุดม แปลว่า มีมาก

สมบูรณ์ แปลว่า มีครบ

รวมแล้ว น่าจะแปลว่า มีมากและครบถ้วน ที่กินความได้ดีมาก

ภาษาอังกฤษ Fertility หมายถึง สภาพที่พร้อมจะรองรับการเจริญเติบโต

ก็ต่างมุมกันเล็กน้อย แต่ก็เทียบเคียงได้ว่า ผลที่จะเกิดใกล้เคียงกัน

คนที่ใช้แบบ “จำมาบอกต่อ” ก็จะเหมาว่าเป็นความหมายเดียวกัน

และไปเชื่อมโยงกับคำว่า “ปุ๋ย” ว่าเป็น “สิ่งปรับปรุงความอุดม และความสมบูรณ์ของดิน” ทั้งๆที่ ปุ๋ย แปลว่า วัสดุที่มีสารอาหาร

ที่ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Fertilizer ที่นับว่าค่อนข้างที่จะชูประเด็นว่าเป็นตัวทำให้เกิดการ “เกิดและเจริญเติบโต” ที่พอเทียบเคียงได้ แต่แก่นแท้ของความหมายก็แตกต่างกัน

คำนี้จึงมีวิวัฒนาการไปตามกระแสของคนเชื่อ และคนใช้ที่ไม่ทราบที่มาของคำ และแม้จะทราบบ้างก็ตีความหมายเข้าทางตัวเอง โดยไม่สนใจความจริงว่า คืออะไร

จึงเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า ปุ๋ยเคมี ที่สามารถให้ธาตุอาหารแก่พืชได้

แบบเดียวกับที่กำลังอยู่ในกระแสการโฆษณาว่าเครื่องดื่มที่มีวิตามิน บี ๑๒ สามารถช่วยพัฒนาสมอง ให้คนไทยเป็นคนดีในสังคมได้ ก็ปานกัน

ที่คนที่ไม่ขาดสติคงจะคิดได้ว่าอะไรจริงไม่จริง

คำสำคัญอีกคำหนึ่งคือ

ประสบการณ์ ที่ตามรากศัพท์ สื่อว่า การนำสิ่งที่พบมาสู่การเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง

ที่แตกต่างจาก ประสพ ที่เป็นการพบเห็นเฉยๆ

โดยไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการเรียนรู้

ที่มักใช้ปะปนกัน

และบางทีก็ลดความหมายของคำว่า “ประสบการณ์” มาเหลือแค่ “ประสพ”

ทำให้เราต้องพยายามย้ำเติมไปอีกว่า มีประสบการณ์และการเรียนรู้

และการเรียนรู้ก็ยังถูกตัดทอนออกให้เหลือแค่ “การเรียนที่ไม่จำเป็นต้อง “รู้” จริงๆ

แต่....ก็มาคุยว่าเป็นการ “เรียนรู้”

ที่ทำให้เสียหายไปถึงคำว่า “การศึกษา” ที่รากศัพท์แปลว่า การพัฒนาตนเอง

ที่บางคนบอกว่าตัวเองมี “การศึกษา” แต่ก็ยังทำตัวเสมือนหนึ่ง “ไร้การศึกษา”

เพราะเขาตัดลดความหมายของคำเหลือเพียง “การเข้าโรงเรียน” หรือ “การเข้าและผ่านการเรียนในสถาบันการศึกษา” ว่าเป็น ผู้มี “การศึกษา”

ที่ได้ตัดทอนทุกความหมายที่ดีๆ ออกจนหมด เหลือแต่เปลือกนอกที่แทบไม่มีประโยชน์อะไร

จนทำให้คำว่า “มีการศึกษา” ด้อยค่า ไร้ความหมาย ไปอีกคำหนึ่ง

ที่ผมบ่นดังๆ มาก็เพื่อสะกิดหลายๆมุม ทั้งในเชิงภาษา และพัฒนาการทางสังคม ไม่อยากเห็นว่าสิ่งดีๆ ที่เคยมีอยู่ ได้ถูกทำลายจากความผิดพลาด ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือทำให้เกิดความ “เสื่อม” โดยไม่จำเป็น

แต่ผมเห็นด้วยกับวิวัฒนาการทางภาษาครับ แม้จะเสียไปบ้าง ก็น่าจะมีข้อดีอยู่บ้าง

แต่อยากเห็นว่า เราช่วยกันประคองให้เกิดผลเสียน้อยที่สุดครับ

หมายเลขบันทึก: 401018เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2010 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์

มายกมือเข้าเรียนครับ...

good.

but compared with other limiting factors I prefer to let it pass thru.

regards,

zxc555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท