เทคนิคการเขียนรายงานเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง


เทคนิคการเขียนรายงานเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เทคนิคการเขียนรายงานเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

    การเขียนรายงานการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในการทำวิจัย  มีเทคนิควิธีการอย่างไร วันนี้จะรวบรวมจากสาระที่น่าสนใจในประเด็นนี้ ที่ท่านอาจารย์ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้นำเสนอแนวทางไว้  จะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการเขียนรายงานเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีคุณภาพ ไม่เป็น”ขนมชั้น” หรือ “ตัดแปะ” อย่างที่ถูกกล่าวถึงกัน

    เรามาเริ่มที่ความสำคัญของการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้บทความนี้จะเขียนไว้นานแล้วแต่มีสาระน่าสนใจมาก  นงลักษณ์  วิรัชชัยและคณะ(2535, หน้า 57) ได้สรุปเกี่ยวกับการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ไว้ว่า ส่วนนี้มีความสำคัญมาก เป็นเครื่องบ่งชี้มาตรฐาน และคุณภาพของโครงการวิจัยว่า โครงการวิจัยนี้ดีมากน้อยเพียงไร การที่จะเขียนหัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้องและเอกสารอ้างอิงให้มีคุณภาพนั้น  นักวิจัยต้องอ่านมาก ศึกษามาก ค้นคว้ามากและคิดสังเคราะห์สิ่งที่ศึกษาอย่างมาก ก่อนจะลงมือเขียน วิธีการศึกษาควรเริ่มต้นจากการศึกษาความรู้และทฤษฎีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยทั้งหมดให้เห็นภาพกว้างๆเสียก่อนจากนั้นจึงศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สังเคราะห์ให้เห็นภาพรวมของเรื่องที่จะทำวิจัย การศึกษางานวิจัยเดิมต้องเก็บรายละเอียดให้ทราบว่าแต่ละเรื่องนั้นเป็นการวิจัยเรื่องอะไร ทำเมื่อไร ทำที่ไหน ศึกษากับประชากรกลุ่มใด ใช้วิธีการวิจัยอย่างไร ได้ผลการวิจัยอย่างไรและมีจุดบกพร่อง หรือข้อจำกัดอย่างไร ข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดเมื่อนำมาสังเคราะห์เข้าด้วยกันจะทำให้นักวิจัยตอบคำถามได้ว่า เรื่องที่จะทำวิจัยนั้นมีการศึกษาถึงขั้นไหนควรจะทำต่อในแนวใดหรือมีผู้ทำการวิจัยไว้มากเพียงพอแล้วไม่ควรจะต้องทำการวิจัยต่อไปอีก ในกรณีที่ยังทำการวิจัยต่อไปได้ผลการสังเคราะห์จะช่วยให้นักวิจัยทราบว่า งานวิจัยเดิมมีข้อจำกัดอย่างไร ควรจะปรับปรุง และนำแนวคิดใหม่ๆมาดำเนินการวิจัยได้อย่างไร รวมทั้งข้อมูลที่จะนำมาสร้างสมมติฐานการวิจัยด้วย  วิธีการเขียนหัวข้อเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้น นักวิจัยต้องจัดลำดับเนื้อหาเริ่มจากภาพรวมกว้างๆค่อยๆนำเข้ามาสู่ปัญหาวิจัย โดยอาจแบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อตามความเหมาะสม แต่ละหัวข้อมีส่วนการเสนอรายงาน และการอภิปรายให้เห็นความเชื่อมโยงของเนื้อหาแต่ละตอน และความเกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยอย่างชัดเจน มีการสรุปแต่ละหัวข้อและการสรุปรวม สาระสำคัญขอการสรุปควรนำไปสู่ตัวแปรสำคัญของโครงการวิจัย และโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดสมมุติฐานวิจัย   

    วิธีการนำเสนอการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อรุณี  อ่อนสวัสดิ์(2551, หน้า  40-41) กล่าวว่า  ผู้วิจัยควรให้เวลากับการวางแผนในการนำเสนอและเรียบเรียงเนื้อหาสาระที่จะนำเสนอโดยใช้ถ้อยคำของผู้วิจัยเอง มิใช่การตัดต่อสาระจากผลการบันทึกที่สะสมไว้เป็นจำนวนมาก หรือมิใช่การตัดต่อสาระจากเอกสารที่ถ่ายจากต้นฉบับของผู้อื่น เพราะจะทำให้ภาษาที่ใช้ไม่เป็นลักษณะเดียวกันโดยตลอด มีความซ้ำซ้อนที่สำคัญ คือ การละเมิดลิขสิทธิ์ หากผู้วิจัยตัดต่อจะเข้าลักษณะที่ว่า “เขียนเป็นขนมชั้น” หมายถึง สาระที่นำเสนอไม่ได้เรียงร้อยเข้าด้วยกัน ยังเห็นลักษณะแยกเป็นส่วนๆทำให้อ่านแล้วไม่เกิดภาพทางความคิดหรือยากต่อการทำความเข้าใจ  

    ส่วนการจัดหมวดหมู่ในการนำเสนอนั้น  รัตนะ  บัวสนธ์ (2552, หน้า 239) ได้ให้แนวทางในการนำเสนอเนื้อหาบทที่ 2 มีเนื้อหาที่จะต้องเขียนนำเสนอเป็นสองส่วน ได้แก่  แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่นักวิจัยได้ศึกษาค้นคว้าไว้แล้ว ก็จะต้องนำมาสังเคราะห์จัดเป็นหมวดหมู่เขียนเรียบเรียงไว้ตามลำดับ  ในส่วนของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่มีการศึกษา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยของผู้วิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ แล้วนำข้อค้นพบที่ได้จาการอ่านงานวิจัยเหล่านั้นมาเขียนเรียบเรียงนำเสนอตามลำดับพัฒนาการของการศึกษาหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ในการเขียนส่วนนี้ นักวิจัยจะต้องใช้ภาษาเรียบเรียงให้เห็นความเชื่อมโยงตามลำดับของพัฒนาทางความรู้ของเรื่องนั้น รวมทั้งการสรุปให้เห็นถึงผลการวิจัยเหล่านั้นว่า สนับสนุนหรือขัดแย้งซึ่งกันและกันหรือไม่ ข้อผิดพลาดที่มักจะพบเสมอในการเขียนส่วนนี้ก็คือ จะเป็นการเขียนนำเสนอเป็นท่อนๆว่าใครทำวิจัยเรื่องอะไรได้ข้อค้นพบเป็นประการใด โดยขาดการเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยของแต่ละคน นอกจากนั้น ก็จะจบแบบห้วนๆ โดยขาดการสรุปให้เห็นว่า จากการศึกษางานวิจัยทั้งหมดได้ผลโน้มนำเป็นประการใด สิ่งดังกล่าวนี้ จัดว่าเป็นการเขียนนำเสนอที่ทำให้รายงายวิจัยด้อยคุณค่าไม่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อเขียนนำเสนอส่วนที่เป็นรายงานที่เกี่ยวข้อเสร็จแล้ว ควรจะต้องเขียนสรุปให้เห็นถึงกรอบทฤษฎี และหรือกรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัยด้วย

    ในด้านการสรุปนั้น  องอาจ  นัยพัฒน์(2551, หน้า 88-89) สรุปว่า การเขียนข้อสรุปผลของการวิจัยที่ผ่านมาโดยรวม นักวิจัยควรบรรยายสั้นๆเพื่อแสดงให้เห็นว่าการศึกษาค้นคว้าของตนมีส่วนสร้างสรรค์องค์ความรู้ ความจริงอะไรขึ้นใหม่ และความรู้ความจริงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่นำสู่ความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้งและถ่องแท้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างไร การเขียนข้อสรุปในลักษณะแบบนี้ นักวิจัยจะต้องใช้ถ้อยคำที่สามารถสื่อสาร ให้ผู้อ่านเข้าใจว่า การศึกษาทบทวนผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องในอดีต ไม่ได้มีอิทธิพลครอบงำแนวคิดหรือมุมมองของนักวิจัยต่อการทำวิจัย หากแต่เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้นักวิจัยพยายามแสวงหาทางเลือกใหม่สำหรับการทำวิจัย โดยมุ่งหวังว่าจะทำให้ได้คำตอบของโจทย์หรือหัวข้อปัญหาการวิจัยมีความกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

    ข้อผิดพลาดที่พบในการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของจากการเขียนเค้าโครงวิจัยของนิสิตมีอยู่หลายประการ   ชูศรี  วงศ์รัตนะ(2549, หน้า 57) ได้สรุปข้อผิดพลาดที่พบจากงานเขียนเค้าโครงวิจัยของนิสิตนักศึกษา มีดังนี้

    1. บุคคลที่ใช้อ้างอิง "ความหมายของคำสำคัญ” ต้องเป็นผู้รู้ในสาขานั้นๆ อ้างอิงไม่ใช่อ้างอิงจากนิสิตที่ทำวิจัยกำลังค้นคว้า

    2. เอกสารที่นำมาอ้างอิง
    ควรเป็นเอกสารที่มาจากแหล่งปฐมภูมิ  เช่น จะอ้างอิง t-test  ผู้วิจัยก็ควรจะศึกษาจากหนังสือเทคนิคการวิจัยโดยตรง และควรอ้างอิงจากเล่มที่พิมพ์ในปีใหม่ที่สุด ไม่ใช่ไปคัดลอกมาจากบทที่ 3 ของสารนิพนธ์ที่ผ่านมา จะทำให้ได้สาระข้อความที่ถูกต้อง ในบางกรณีที่สารนิพนธ์เล่มที่ผู้วิจัยศึกษา พิมพ์สูตรผิด ก็จะทำให้ผู้วิจัยอ้างอิงสูตรผิดด้วย กรณีที่เอกสารที่ใช้เป็นแหล่งทุติยภูมิ  ผู้วิจัยก็ต้องใช้วิธีอ้างอิงให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นแหล่งทุติยภูมิด้วย

    3. ความทันสมัย
   
ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเอกสาร หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยควรพยายามค้นคว้าจากเอกสารและงานวิจัยที่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ล้าสมัยเกินไป  การอ้างอิงก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อมาสนับสนุนงานที่กำลังจะวิจัย ถ้าล้าสมัยเกินไปก็จะไม่เกิดประโยชน์

    4. ความเกี่ยวข้อง
   
เอกสารที่นำมาอ้างอิง ต้องมีความเกี่ยวข้องกับงานที่ผู้วิจัยกำลังจะทำวิจัย ความเกี่ยวข้องพิจารณาได้จากตัวแปรหลักที่ผู้วิจัยที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา และลักษณะประชากรที่ต้องการศึกษา โดยงานวิจัยที่นำมาอ้างอิงต้องพิจารณาประกอบทั้งตัวแปรและประชากร ไม่ใช่เกี่ยวข้องเฉพาะประชากร ก็นำมาอ้างอิงเลย

    จากข้อผิดพลาดต่างๆดังกล่าว อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ จะเป็นผู้ดูแลเพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถนำเสนอสาระจากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยได้อย่างมีคุณภาพ ในเรื่องนี้ สุวิมล  ว่องวานิช และ นงลักษณ์ วิรัชชัย(2546, หน้า 58-59) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการพัฒนากรอบแนวคิดของการวิจัย ไว้ว่า ในขั้นตอนของการพัฒนารายงานแนวคิดในการวิจัย(concept paper) ซึ่งมีรายละเอียดของเนื้อหาสาระที่ประกอบด้วย การสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งแนวคิดเชิงทฤษฎี รายงานผลการวิจัยและประเด็นที่ผู้วิจัยสรุปได้จากการสังเคราะห์เอกสาร  อาจารย์ที่ปรึกษาต้องชี้แนะแนวทางการค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ตรวจสอบผลการสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง การจัดลำดับเสนอความคิด การแสดงเหตุผลเชื่อมโยงเพื่อนำเข้าสู่การกำหนดประเด็นวิจัย และการกำหนดกรอบความคิดของการวิจัยที่สมเหตุสมผล

    บุญธรรม กิจปีดาบริสุทธิ์(2551, หน้า 134-135) ได้ให้เทคนิคในการเขียน  เป็นหลักการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ไว้ 9 ข้อ คือ เลียนแบบ ขยาย ย่อ ปรับ  เรียบเรียงใหม่ กลับสลับกัน แก้ไขดัดแปลง จัดโครงสร้างใหม่ และแทน ดังนี้

    1. เลียนแบบ(Adapting) ดูตัวอย่างของผู้อื่นแล้วเขียนเลียนแบบ สำนวนลีลา หลักการและแนวคิดด้วยภาษาของเราเอง

    2. ขยาย(Maximizing) นำเนื้อหาของผู้อื่นมาขยาย เพิ่มเติม ยกตัวอย่างประกอบให้ใยละเอียดและทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

    3. ย่อ(minimizing)สรุปย่อเนื้อหาด้วยสำนวน ภาษาของเราเอง

    4. ปรับ(Modifying) ปรับเนื้อหาสาระให้ตรง หรือหรือสอดคล้องกับประเด็นปัญหาที่เราต้องการศึกษา

    5. เรียบเรียงใหม่(Rearranging) นำเนื้อหามาเขียนเรียบเรียงใหม่ด้วยสำนวน ภาษา ลีลาของเราเอง

   6. กลับสลับกัน(Reversing)นำเนื้อหามาเขียนกลับ สลับที่กัน แต่ต้องเขียนเรียบเรียงใหม่ให้ผสมกลมกลืนกัน

   7. แก้ไข ดัดแปลง(Revising)นำแนวคิด หลักการและเนื้อหาสาระมาแก้ไข ดัดแปลงให้เป็นแนวคิด หลักการและเนื้อหาใหม่

   8. จัดโครงสร้างใหม่(Re-Organizing)เรียบเรียงเนื้อหาใหม่ด้วยการจัดโครงสร้าง เรียงลำดับเนื้อหาให้ต่างจากเดิม

   9. แทน(Substituting)ใช้คำอื่นมาแทนทำให้ได้เนื้อหาสาระใหม่

เกณฑ์ในการตรวจสอบการเขียนรายงานเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

    จะขอปิดท้ายด้วยเกณฑ์ที่จะใช้เป็นแนวทางการตรวจสอบการเขียนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่สามารถตรวจสอบงานเขียนส่วนนี้ได้ด้วยตนเองและปรับปรุงแก้ไขได้อย่างมีคุณภาพ นงลักษณ์  วิรัชชัย(2548, หน้า 59) ได้ให้แนวทางการตรวจสอบการเขียนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เพื่อวินิจฉัยว่า ข้อเขียนของท่านมีลักษณะครบถ้วนตามเกณฑ์ต่อไปนี้หรือไม่ หากขาดลักษณะข้อใดให้ท่านปรับปรุงให้เหมาะสม เป็นหลักการสำหรับการเขียนรายงานเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และหลักการสำหรับการวิจารณ์ และปรับปรุงการเขียนรายงานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย มีดังต่อไปนี้

1. ข้อเขียนทุกตอนมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัย

2. ข้อเขียนแต่ละตอนมีจุดมุ่งหมายว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร มิใช่เพียงเสนอให้ผู้อ่านมีความรู้

3. ข้อเขียนเสนอภาพรวมกว้างๆตะล่อมไปสู่การสร้างกรอบความคิดการวิจัย

4. แต่ละตอนมีการสรุปด้วยถ้อยคำหรือความคิดของนักวิจัยเอง

5. ส่วนที่เป็นรายงานการวิจัย มีการสรุปย่อ รายงานการวิจัยแต่ละเรื่อง นำเสนอทั้งปัญหา วัตถุประสงค์ กรอบแนวคิด วิธีดำเนินการวิจัย และข้อค้นพบ และต้องมีการสังเคราะห์งานวิจัยทุกเรื่องที่นำเสนอ ในแต่ละตอน มิใช่นำเสนอเฉพาะแต่สรุปสาระงานงานวิจัยแต่ละเรื่อง

6. มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบจุดเด่น จุดด้อยของเอกสาร แล้วนำแนวคิดที่ได้ไปใช้ประโยชน์

7. การเสนอรายงานทั้งหมดมีใจความถูกต้อง ตรงตามต้นฉบับ ไม่ลำเอียง และมิใช่การลอกข้อความ แต่เป็นการเสนอข้อความที่คู่ขนาน หรือการถอดความ(paraphrase)

8. มีหลักฐานอ้างอิงสนับสนุนกรอบความคิด และสมมติฐานการวิจัย

9. มีการสรุปแนวคิด วิธีการใหม่ๆจากรายงานมาใช้ในโครงการวิจัย

10. แสดงความเกี่ยวข้องระหว่างโครงการวิจัยกับงานวิจัยในอดีต

11. รูปแบบการนำเสนอถูกต้องตามหลักภาษาและหลักการเขียนเอกสารวิชาการ

 

เอกสารอ้างอิง

ชูศรี  วงศ์รัตนะ. (2549). เทคนิคการเขียนเค้าโครงการวิจัย.  แนวทางสู่ความสำเร็จ.  นนทบุรี : ไทเนรมิต อินเตอร์ โปรเกรสซิฟ.

นงลักษณ์  วิรัชชัย และคณะ. (2535).  คู่มือการเขียนโครงการวิจัย. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.  วารสารวัดผลการศึกษา. ปีที่ 12 ฉบับที่ 35(ก.ย.-ธ.ค. 2535) หน้า 43 -72.

นงลักษณ์  วิรัชชัย.  การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย(Related literature Review). บทความ ภาควิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 17 ตุลาคม 2548.

บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์. (2551). คู่มือการวิจัย การเขียนรายงาน การวิจัยและวิทยานิพนธ์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : จามจุรีโปรดักท์.

รัตนะ  บัวสนธ์. (2552). ปรัชญาวิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุวิมล  ว่องวาณิช และนงลักษณ์  วิรัชชัย. (2550).  แนวทางการให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์. (พิมพ์ครั้งที่ 2)ภาควิชาวิจัยการศึกษา  คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

องอาจ  นัยพัฒน์. (2551). วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร : สามลดา.

อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2551). ระเบียบวิธีวิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). พิษณุโลก : ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

หมายเลขบันทึก: 399544เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณ ช่วยได้มาก จากครูพิษณุโลก

นักศึกษาป.โท พระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

ผู้เริ่มศึกษาใหม่

ขอบคุณที่ให้คำแนะนำ เข้าใจง่ายดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท