การเขียนสารคดี


 

การเขียนสารคดี

 

 

 

 ๑.       ความหมายและจุดมุ่งหมายของการเขียนสารคดี

 

“ สารคดี ” หมายถึง งานเขียนที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อเท็จจริง  เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่มีตัวตนจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีเจตนาเบื้องต้นในการให้สาระ ความรู้ ความคิด ทั้งนี้ ต้องมีกลวิธีการเขียนให้เกิดความเพลิดเพลินด้วย สารคดีโดยทั่วไปมีจุดมุ่งหมายดังนี้

๑.๑ เพื่อให้ความรู้  อาจจะเป็นความรู้เฉพาะสาขาวิชา เช่น  วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือภาษาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับการเจียระไนพลอย ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น

๑.๒ เพื่อให้ข้อเท็จจริง  ซึ่งอาจได้มาจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนค้นคว้า รวบรวมมา ประสบด้วยตนเอง หรือได้รับการบอกเล่าโดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเรียบเรียง หรือเล่าในรูปสารคดี เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า สารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

๑.๓ เพื่อแสดงความเห็น หรือแนวคิด เป็นการให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านมีความคิดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น  สารคดีเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน สารคดีเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของสังคม สารคดีเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติ เป็นต้น

๑.๔ เพื่อให้ความเพลิดเพลิน  เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด สารคดีบางเรื่องจึงเขียนให้เป็นสารคดีที่ไม่มีสาระวิชาการมากเกินไป ทั้งนี้เพื่อมุ่งสนองความต้องการของผู้อ่าน ให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนานไปกับเรื่อง ขณะเดียวกันก็ได้สาระความรู้ ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นด้วย เช่น สารคดีเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะนำชมสถานที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ สวย ๆ งาม ๆ โดยมีการพรรณนาความงามของธรรมชาติ ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย

 

๒.     ลักษณะของสารคดี

 

๒.๑ เนื้อเรื่องมีสารประโยชน์ เป็นงานเขียนที่มุ่งให้ผู้อ่านเกิดความรู้ ความคิด
๒.๒ เนื้อเรื่องไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องใด ถ้าเห็นว่าเนื้อหานั้นมีสาระบันเทิงก็สามารถนำมาเขียนได้
๒.๓ การใช้สำนวนภาษาสร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน และผ่อนคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน
๒.๔ สารคดีเป็นเรื่องราวที่ไม่ค่อยล้าสมัย ไม่มีการจำกัดกาลเวลาเหมือนข่าว


๓.     ประเภทของสารคดี

 

สารคดีแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

๓.๑ สารคดีวิชาการ  เป็นเรื่องที่ให้ความรู้วิชาการแขนงต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศาสนศาสตร์ เป็นต้น

๓.๒ สารคดีทั่วไป  เป็นเรื่องที่ให้ความรู้และความรอบรู้ทั่วๆ ไป เช่น การท่องเที่ยว การเล่นกีฬา งานอดิเรก สงคราม อุบัติเหตุ ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ การทำขนม ตัดเย็บเสื้อผ้า การออกกำลังกาย เป็นต้น

๓.๓ สารคดีชีวประวัติ  เป็นการเขียนเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลที่มีความสามารถเป็นพิเศษ ผู้เขียนจะต้องมีข้อมูลอย่างถูกต้อง ให้ความเป็นธรรม ปราศจากอคติลำเอียง เขียนโดยการไปสัมภาษณ์เจ้าของประวัติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้นั้น แล้วนำเอาสิ่งที่เป็นสาระมาเขียนไว้ เพื่อให้เกิดความรู้ ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน


๔.     องค์ประกอบของสารคดี

 

๔.๑ คำนำ  คือ การเริ่มต้นเรื่องโดยการเกริ่นให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องที่จะเขียนนั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นการเสนอทรรศนะอย่างกว้างๆ ไว้ก่อน ไม่ต้องอธิบายอย่างละเอียด และไม่ต้องเขียนยาวมากนัก มีเพียงย่อหน้าเดียว ควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้อ่านให้ได้ทราบข้อมูล เรื่องที่น่ารู้และน่าสนใจ
๔.๒ เนื้อเรื่อง  คือ การขยายเนื้อความให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูล รายละเอียด โดยอาจแทรกสถิติ ตัวอย่างประกอบ เพื่อความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น การเขียนเนื้อเรื่องอาจมีหลายย่อหน้า
๔.๓ สรุป  คือ การเขียนข้อความในตอนท้ายของเรื่อง ผู้เขียนต้องใช้ศิลปะในการสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน อาจใช้กลวิธีอย่างเช่น สรุปโดยการใช้สำนวน คำพังเพย หรือ คำคม หรือ ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่น่าสนใจ การเขียนสรุปควรมีเพียงย่อหน้าเดียว


๕.     ขั้นตอนการเขียนสารคดี

 

๕.๑ การเตรียมตัว  ผู้เขียนจะต้องศึกษาเหตุการณ์ ติดตามเรื่องราว ศึกษาจากเอกสาร หนังสือ หรือการทดลอง เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และเตรียมข้อมูล โดยต้องเลือกเรื่อง กำหนดจุดมุ่งหมาย ศึกษาแหล่งข้อมูล และเก็บรวบรวมข้อมูล
๕.๒ การลงมือเขียนเรื่อง  เมื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ได้พร้อมแล้ว ก็ลงมือเขียนโดยตั้งชื่อเรื่อง เขียนโครงเรื่อง และลงมือเขียนรายละเอียดของเรื่องด้วยความตั้งใจ ใช้ภาษาที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ เร้าใจให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ และจูงใจให้ผู้อ่านสนใจติดตามต่อไป
๕.๓ การทบทวนเรื่องที่เขียน  ควรทบทวนสาระของเรื่องว่า ตรงกับชื่อเรื่องและจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ตลอดจนควรพิจารณาความถูกต้อง สมบูรณ์ ความเหมาะสมของเนื้อหา รวมทั้งการใช้ภาษาและสัมพันธภาพของเรื่องด้วย
๕.๔ การตรวจทาน  หลังจากที่ได้ทบทวนและแก้ไขแล้ว ควรอ่านตรวจทานอย่างพินิจพิจารณาตั้งแต่ต้นจนจบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่

๕.๕ การตั้งชื่อเรื่อง ควรตั้งให้มีลักษณะคือ เหมาะแก่กาลเทศะ แปลกใหม่และคมขำ จำง่าย และคลุมถึงเนื้อเรื่องได้ดีที่สุด ชื่อเรื่องเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องพิถีพิถัน เพราะหากเนื้อเรื่องดีแต่ชื่อเรื่องไม่ดี ก็จะไม่สามารถดึงดูดความสนใจผู้อ่านได้

คำสำคัญ (Tags): #การเขียนสารคดี
หมายเลขบันทึก: 399466เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท