เทคนิคการเขียนรายงานวิจัย (ตอนที่ 3)


เทคนิคการเขียนรายงานวิจัย (ตอนที่ 3)

         เทคนิคง่ายๆ สำหรับการเขียนรายงานวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  การเขียนและการกำหนดประชากร และกลุ่มตัวอย่าง การเขียนสถิติที่ใช้ในการวิจัย ค่ะ

การเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

         1. ควรสรุปเป็นคำพูดของตนเอง  เขียนในลักษณะของการวิเคราะห์มากกว่าที่จะนำเอามาย่อ  แล้วก็เรียงลำดับกัน  

         2. ควรเขียนให้ต่อเนื่องเกี่ยวโยงกันตลอดเนื้อหา  ไม่เขียนในลักษณะการนำมาเรียงต่อกัน  เพราะจะทำให้การอ่านไม่ต่อเนื่องและราบเรียบ   การเขียนต้องให้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎี  แนวคิด  หลักการ และผลงานวิจัย 

         3. ไม่ควรเขียนเรียงตามปีที่พิมพ์/วิจัย  หรือ เรียงตามชื่อผู้เขียน แต่ควรเรียบเรียงใหม่ตามแนวคิด และตัวแปรที่ศึกษา  โดยระบุความสำคัญ และความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ       

         4. ควรแบ่งกลุ่มหรือประเภทเนื้อหาที่นำมาอ้างอิง  จัดให้เป็นหมวดหมู่ โดยแบ่งออกเป็นประเด็นต่าง ๆ หรือ แยกเป็นหัวเรื่องต่าง ๆ อย่างชัดเจน

         5. ทฤษฏี แนวคิด หลักการ และงานวิจัยที่นำมาเขียนหรืออ้างอิง ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยที่ศึกษาโดยตรง  

         6. ควรมีการสรุปประเด็นหรือหัวเรื่องที่นำเสนอทุกเรื่อง   ตามแนวคิดของผู้วิจัยเอง  เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจในหัวเรื่องนั้น ๆ    โดยใช้คำว่า   จากที่กล่าวมาแล้วนั้นสรุปได้ว่า……….  หรือ  จะเห็นได้ว่า………………..  เป็นต้น   ดังตัวอย่าง

         7. ควรมีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง  และชัดเจน    โดยต้องระบุที่มาของเอกสารว่า   เอกสารชื่ออะไร  ใครเป็นผู้เขียน  พิมพ์ที่ไหน เมื่อไหร่   ตามรูปแบบการอ้างอิง

 

การเขียนและการกำหนดประชากร และกลุ่มตัวอย่าง

       ในการเขียนรายงานวิจัย  ผู้วิจัยต้องระบุประชากร และกลุ่มตัวอย่างให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ทราบว่า  งานวิจัยได้ศึกษากับใคร มีจำนวนเท่าใด

       1. หลักการกำหนดกลุ่มประชากร  คือ  เป็นใคร  อยู่ที่ไหน  มีจำนวนเท่าใด

       2. หลักการกำหนดกลุ่มกลุ่มตัวอย่าง  คือ เป็นใคร  อยู่ที่ไหน  มีจำนวนเท่าใด  ได้มาอย่างไร

 

การเขียน การสร้างและการหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

       1. การเขียนการสร้างเครื่องมือ  ให้ระบุลักษณะของเครื่องมือ จำนวนข้อ  จำนวนตัวเลือก

       2. การหาคุณภาพของเครื่องมือ  มีดังนี้

           2.1  ประเภทนวัตกรรมให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ประเมิน และนำไปทดลองใช้ หาประสิทธิภาพของนวัตกรรม 

           2.2  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  หาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา  ความยากง่าย    อำนาจจำแนก  และความเชื่อมั่น

           2.3  แบบสอบถามหรือแบบวัดเจตคติ  หาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา    อำนาจจำแนก  และความเชื่อมั่น

           2.4  แบบประเมินภาคปฏิบัติ  หาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา  และความเชื่อมั่น

 

การเขียนสถิติที่ใช้ในการวิจัย

      1. สถิติบรรยาย (Descriptive statistics)

          เป็นสถิติที่ใช้ในการสรุปภาพรวมทั้งหมดของการวิจัย โดยนำเสนอในลักษณะบรรยายข้อมูล     ส่วนการนำเสนอข้อมูล  อาจจะเสนอในรูปแบบตาราง  กราฟ  ฯลฯ  สถิติบรรยายที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่  การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง  เช่น ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน และค่าฐานนิยม การวัดการกระจาย เช่น พิสัย ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และความแปรปรวน 

      2. สถิติอ้างอิง (Inferential statistics)

          การวิจัยส่วนใหญ่จะศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง (Sample) ซึ่งทำการสุ่มมาจากประชากร(Population)  เมื่อได้ผลการวิจัยที่ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างว่ามีผลเป็นอย่างไร   การศึกษากับประชากรก็จะได้ผลอย่างนั้นด้วย  จึงเรียกว่าเป็นการอ้างอิง (Infer) ไปยังกลุ่มประชากร  สถิติอ้างอิง ได้แก่ t-test,  ANOVA,  Chi-square  เป็นต้น  

 

หลักการวิเคราะห์ข้อมูล และ การแปลผล

        1. วิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

        2. การนำเสนออาจนำเสนอในรูปแบบของตาราง แผนภูมิรูปภาพ  แผนภูมิกง กราฟ เส้นตรง  กราฟแท่ง ฯลฯ โดยทั่วไปแล้ว นิยมนำเสนอรูปแบบของตาราง รูปแบบที่นำเสนอ จะประกอบด้วย 3  ส่วน คือ  ส่วนหัว (ส่วนที่เป็นชื่อตาราง  แผนภูมิ หรือ กราฟ)  ส่วนเนื้อหา (ส่วนที่แสดงข้อมูล เช่น  ความถี่ ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ฯลฯ) และ ส่วนที่เป็นการแปลผลหรืออธิบายผลของเนื้อหา

        3. ควรมีการรวมหลาย ๆ เรื่อง เพื่อนำเสนอในตาราง/แผนภูมิ/กราฟเดียวกัน  เพราะจะทำให้ไม่สิ้นเปลืองตาราง/แผนภูมิ/กราฟ  

        4. การแปลผลควรนำเสนอต่อกันไปทีละเรื่อง  เพราะจะทำให้ไม่สับสน

        5. การแปลผลต้องอธิบายข้อมูลที่นำมาเสนอเท่านั้น ไม่ควรแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม  

 

อ้างอิง

รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 399464เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท