บัญญัติ 10 ประการของการทำงานวิจัย (Research Scholar)


การเขียนวิทยานิพนธ์

บัญญัติ 10 ประการของการเป็นนักศึกษาปริญญาเอก (Research Scholar)

 

   1.ตัดตัวแปรที่จะส่งผลเสียต่อการทำงานวิจัยออกไปให้มากที่สุด  ทั้งตัวแปรทางสังคมและตัวแปรทางจิตใจ

       2. การวิจัย คือ ศึกษากรณีศึกษาในบางเรื่องแล้วนำผลการศึกษานั้นมาเขียนเป็นวิทยานิพนธ์  การเขียนงานวิจัยไม่ใช่การเขียนตำราวิชาการ  งานวิทยานิพนธ์อาจผิดพลาดหรือโต้แย้งได้ แต่ตำราวิชาการต้องถูกต้องสมบูรณ์แบบ

       3. ลดเงื่อนไขให้มากที่สุด  นั่นคือ ต้องสามารถทำงานได้ทุกกรณี เพื่อให้งานวิจัยเดินหน้าเต็มที่  อย่าพยายามสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้งานวิจัยมีอุปสรรค (อย่าอาย อย่ากลัวเสียหน้า อย่ามากเรื่อง)

       4. พยายามทำตัวเหมือนเด็ก คือมีความซื่อ  มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ โดยไม่ต้องกลัวผิดพลาด ทำทุกอย่างให้เป็นการพิสูจน์ทดลอง  และอย่าคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นดีอยู่แล้ว หรือตัวเองรู้ดีอยู่แล้วเก่งอยู่แล้ว  ซึ่งแม้เราจะรู้และทำได้ก็ต้องทำเป็นไม่รู้  ที่สำคัญกล้าที่จะผิดพลาด พร้อมที่จะได้รับคำตำหนิอย่างมีใจเปิดกว้าง  ให้มองเห็นความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการวิจัย  มองการตำหนิจากอาจารย์เป็นการนำเสนอแนวทางใหม่ที่ถูกต้องดีกว่าที่เราทำ

        5. ต้องมีทัศนคติแบบเปิดกว้าง  อย่ามีทัศนคติและท่าทีแบบคับแคบ  เพราะด้วยท่าทีที่เปิดกว้างเท่านั้นที่จะช่วยให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าได้  ทำให้มีมุมมองที่หลากหลายมีปัญหาก็สามารถที่จะหาทางออกได้อย่างมากมาย  ตรงกันข้ามการมีทัศนคติที่คับแคบจะทำให้เราไม่ต้องการเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองเพราะคิดว่าตัวเองดีอยู่แล้ว  ทำให้มีมุมมองด้านเดียว  เพราะฉะนั้นเวลาประสบกับปัญหาจึงมักจะตีบตันหาทางออกได้น้อยมาก  ไม่ค่อยมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหา

        6. ต้องมีความกล้า  กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ กล้าที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ โดยไม่ต้องกลัวความผิดพลาด  เพราะความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและการเรียนรู้  ที่สำคัญจะต้องเป็นความกล้าที่ตั้งอยู่บนฐานคือความถ่อมตน 

         7.ทำให้แตกต่างจากการเรียนบาลีมากที่สุด (สำหรับคนที่เรียนบาลีมาก่อน)  เพราะมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน การเรียนบาลีมีจุดหมายเพื่อให้เราได้เรียนรู้ความผิดพลาดจากความถูกต้อง  เมื่อเรารู้ความถูกต้องเราก็ย่อมที่จะเข้าใจความผิดพลาด  ส่วนการทำงานวิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เราได้เรียนรู้ความถูกต้องจากความผิดพลาด  เพราะความผิดพลาดทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง

         8. อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง  ให้ถือว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นการก้าวเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่า  ต้องมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  มองการเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการที่สร้างสรรค์  เพราะด้วยความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะทำให้เราก้าวหน้าอย่างแท้จริง  จริงอยู่เราอาจขยาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงในตอนแรก  แต่เมื่อเราวางใจเดินตามความเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติ  มีความสนุกที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากความเปลี่ยนแปลง  ความหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงก็จะหายไปกลายเป็นความสุขที่ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

         9. อย่าคิดว่าความถูกต้องมีอยู่เพียงวิธีการเดียว  ถ้าเราคิดว่าความถูกต้องจะต้องเป็นอย่างนี้เราจะไม่กล้าทำอไรที่แตกต่างจากคนอื่นหรือจากรูปแบบที่เคยเรียนมา  การไม่กล้าที่จะทำอะไรให้แตกต่างเป็นการทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง  ขอให้เราเข้าใจว่าความแตกต่างไม่ใช่ความไม่ถูกต้อง  แต่เป็นการแสดงออกอีกด้านหนึ่งของความจริงอันเดียวกัน  ความแตกต่างเป็นลักษณะของสังคมที่มีความเจริญ  ขณะเดียวกันการรู้จักทำให้แตกต่างก็เป็นลักษณะของคนที่เจริญหรือคนมีปัญญา  ดังนั้นจงกล้าที่จะแตกต่าง

        10. อย่าคิดว่าทุกอย่างสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว  แต่จงคิดว่าทุกอย่างสามารถที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งกว่านี้  และไม่มีอะไรในโลกนี้ที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์  ทุกอย่างล้วนมีความบกพร่องอยู่ในตัวเอง  ทุกอย่างล้วนมีข้อจำกัดของมันเอง  จงเรียนรู้ข้อบกพร่องและขีดจำกัดนั้นเพื่อพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  อย่ามองความบกพร่องหรือขีดจำกัดนั้นเพื่อที่จะยอมรับมันโดยดุษฏี  แต่มองความบกพร่องเป็นสิ่งกระตุ้นให้เราทำให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 399374เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท