การประเมินงานวิจัย ( evaluation of Research ) ตอนที่ 1


การประเมินงานวิจัย ( evaluation   of  Research )

       ในการทำวิจัยในแต่ละครั้งผู้วิจัยจะต้องศึกษาแนวคิด  ทฤษฎี  เพื่อที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์  ในงานวิจัยของตนแต่สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนักวิจัยทุกคนก็คือ  การศึกษาค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งในประเด็นนี้ผู้วิจัยจำเป็นต้องทราบว่างานวิจัยที่เราจะนำมาใช้สำหรับการวิจัยของตนนั้นมีความรู้น่าเชื่อถือเพียงใด  ควรแก่การนำผลการวิจัยมาใช้หรือไม่   ดังนั้นสิ่งจำเป็นประการหนึ่งสำหรับนักวิจัยที่ต้องรู้ก็คือ  การประเมินงานวิจัย (Evaluation of  Research)

      การประเมินงานวิจัยนั้น  มีมิติการพิจารณาอยู่  2   มิติ  คือ

           1.  มิติด้านคุณค่า  ซึ่งเป็นการพิจารณาประโยชน์หรือความสำคัญของงานวิจัยนั้น  เช่น  ช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วน  ปัญหาสำคัญ  พัฒนาสิ่งใหม่  หรือเป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการ เช่น ทดสอบทฤษฎี

           2. มิติด้านคุณภาพ  เป็นการพิจารณาถึงความถูกต้อง เหมาะสม  ตามหลักของการวิจัยที่ดี

การประเมินคุณภาพ 

       การประเมินคุณภาพงานวิจัยนั้นเป็นการพิจารณาในด้านวิธีวิทยาการวิจัย ( Research  Mothodology )

       ชื่อหัวข้อปัญหาการวิจัย

             1) หัวข้อปัญหาการวิจัยหรือชื่อเรื่องมีความชัดเจนเพียงใด

             2) หัวข้อปัญหาการวิจัยได้แสดงถึงขอบเขตการวิจัยหรือไม่

             3) หัวข้อปัญหาการวิจัยได้แสดงถึงวิธีการศึกษาหรือแนวทางการศึกษาหรือไม่

 

        ความเป็นมาของปัญหา 

            รัตนะ  บัวสนธ์  (2548 : 256) ได้เสนอข้อพิจารณาสำหรับการประเมินความเป็นมาของปัญหาการวิจัยไว้ ดังนี้

            1) มีการนำเสนอความเป็นมาของปัญหาที่ชัดเจนเพียงไร

            2) ปัญหาที่ศึกษานั้นได้เสนอแนวคิดให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นควรศึกษา  เพราะเหตุใดและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร  หรือไม่

            3) ได้เสนอให้ทราบว่าสิ่งที่เป็นปัญหานั้นเกิดขึ้นตามสภาวะหรือสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันนั้นอย่างไรหรือไม่

            4) ได้เสนอให้ทราบว่าสิ่งที่เป็นปัญหานั้นมุ่งศึกษาหรือมุ่งแก้ปัญหาในประเด็นใด  ชัดเจนเพียงใด

            5) ได้เสนอให้ทราบว่าการศึกษาตัวแปรของปัญหานั้น ๆ  อาศัยทฤษฎีหรืหลักการใด ๆ  หรือไม่

            6) การบรรยายรายละเอียดของปัญหาได้เสนอไว้อย่างมีระบบตามความสัมพันธ์ของสิ่งที่เกี่ยวข้องตามลำดับเพียงใด

             นอกจากนี้บุญชม  ศรีสะอาด  (2543 : 158 ) ได้เสนอข้อพิจารณาสำหรับการประเมินความเป็นมาของปัญหาการวิจัยไว้ในลักษณะเดียวกัน  กล่าวคือ

             1) กล่าวถึงปัญหาชัดเจน  ชี้ให้เห็นความสำคัญของปัญหาการวิจัยนั้นคือมีเหตุผลที่ทำการวิจัยชัดเจนและเหตุผลที่ทำการวิจัยก็เป็นเหตุผลสำคัญ

             2) มีหลักเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอในการเลือกตัวแปรหรือองค์ประกอบที่จะศึกษาและแสดงถึงความสัมพันธ์กับปัญหาวิจัย

             3) ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมโนภาพ (Concept)  ที่อยู่เบื้องหลังปัญหาอย่างเป็นระบบไปตามลำดับ

             4) แยกประเด็นปัญหาที่ชัดเจน  โดยใช้หัวข้อหรือบริบท  (Pragraph) ดีเหมาะสม

             5) ใช้ข้อความที่รัดกุมไม่คลุมเครือ

 

เอกสารอ้างอิง

บุญชม  ศรีสะอาด. (2543). วิธีการทางสถิติสำหรับการวิจัย. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.

รัตนะ บัวสนธ์. (2548).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 

 

หมายเลขบันทึก: 399146เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท