เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว ตอนที่ 13 ฝึกหัดอย่างไรไปไม่ถึงมืออาชีพ (มองที่ผู้เรียน)


ถ้าเราได้คนกลุ่มหนึ่งมาอยู่ในทีมงานแล้วมีความพร้อมใจที่จะเริ่มพร้อมใจที่จะหยุดพักเหนื่อยพร้อมใจที่จะทำต่อไปอย่างไม่เห็นแก่ความยากลำบาก เมื่อนั้นความสำเร็จก็อาจเข้ามาใกล้เพียงแค่เอื้อม

เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว

จากจุดเริ่มต้นจนถึง

ขั้นการแสดงอาชีพ

ตอนที่ 13 ฝึกหัดเพลงอีแซว

อย่างไร ไปไม่ถึงมืออาชีพ (มุมมองที่ผู้เรียน)               

โดย ชำเลือง มณีวงษ์   กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว

เครือข่ายนันทนาการต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1

          มีเด็ก ๆ เป็นจำนวนมากที่ได้รับการฝึกหัดเพลงอีแซวอันเป็นเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2541 มาจนถึง ปี พ.ศ.2553 นับได้ว่าเป็นโอกาสที่เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับศิลปะท้องถิ่นอย่างแท้จริง ยิ่งเป็นการดีที่มีครูผู้สอนร่วมมาเข้ารับรู้ ครูได้มาเรียนรู้พร้อมกับนักเรียนด้วยเมื่อเวลากลับไปยังสถานศึกษาจะได้ร่วมกันทบทวนเรื่องราวที่ได้ฝึกหัดเอาไว้ได้อย่างทันท่วงที เด็ก ๆ หัดอะไรอย่างไรก็รับได้รวดเร็วเพียงแต่ว่า ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านประเภทเพลงอีแซวนี้ มีเยาวชนคนรุ่นหลังให้ความสนใจน้อย เมื่อฝึกหัดไปแล้วก็ต้องปล่อยเลยตามเลยไป โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการต่อยอดให้ได้พัฒนาความสามารถสูงยิ่ง ๆ ขึ้น จนมีความสามารถในระดับมืออาชีพ (ที่เหมาะสมกับวัย) ผมหมายถึงการมีงานแสดงออกไปรับใช้สังคมได้อย่างต่อเนื่อง แต่คงไม่มากมายอย่างศิลปินตัวจริง เพราะเด็ก ๆ จะต้องมีเวลาสำหรับการเรียนเป็นหลัก

          แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานพอสมควร ต่างกลุ่มต่างก็แยกทางกันไปเพาะบ่มความสามารถ เมื่อผมได้มีโอกาสเจอพวกเขาเหล่านั้นบนเวทีการแสดงอีกครั้งได้พบว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่น่าจะให้ความรู้แก่เด็ก ๆ เหล่านั้น เพื่อที่จะให้พวกเขาได้ตั้งต้นเดินอย่างถูกทางและได้รวมตัวกันเป็นทีมเล่นเพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบมากที่สุด แต่ในบางกลุ่มเราไม่อาจที่จะไปตามแก้ไขได้เพราะเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะทำงานทางด้านนี้อย่างอิสระไม่มีขอบเขตขวางกั้น ผมเคยยกเอาคำกล่าวของศิลปินพื้นบ้านรุ่นบรมครูหลายท่าน อย่างป้าอ้น จันทร์สว่าง ป้าทรัพย์ อุบล ลุงหนุน กรุชวงษ์ เอามาเล่าในที่นี้ว่า ครูเพลงรุ่นเก่า ๆ เขาไม่ปิดทางกัน ใครมีความสามารถอะไรก็แสดงออกมา เมื่อเรามองลึกๆ ลงไปคน 5 คนร้องเพลงอีแซวบทเดียวกันยังมีความแตกต่างกัน และเมื่อให้นักเพลง 10 คนร้องเพลงอีแซวบทเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกัน 10 แบบ เด็ก ๆ จะพอเข้าใจสิ่งที่ยกมาให้รับทราบหรือไม่

          ผมกล่าวอย่างนี้ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งงง อย่าสับสนในความคิด ผมขอยกตัวอย่างเพลงแหล่ นักร้องเพลงแหล่ 5 ท่านร้องเพลงแหล่ในบทเพลงเดียวกันก็จะออกมา 10 ลีลา ทั้งสำเนียง ทำนองลูกเอื้อนเอ่ยก็ต่างกัน การแสดงนาฏดนตรี (ลิเก) 10 คณะก็มีรูปแบบลักษณะของการแสดง 10 แบบ ต่อให้เล่นเรื่องเดียวกัน แต่ความคิดสร้างสรรค์ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีผู้ที่ให้ความสนใจนักแสดงแตกต่างกัน ศิลปินบางท่านมีเสน่ห์ทางเพลงพื้นบ้านก็เดินไปทางนี้ต่อไปได้ ศิลปินบางกลุ่มมีความสามารถทางด้านดนตรีสมัยใหม่ก็ว่ากันไปตามความนิยม แต่เราไม่ควรลืมศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม ถึงแม้ว่าจะรับไว้ได้ไม่หมดเก็บไว้ได้เพียงบางส่วนก็ยังดี

         

         

         

                              (การเรียนรู้ โดยมีครูเป็นผู้สอน เป็นต้นแบบในการร้อง ทำท่าทางในการแสดง)

          ปัญหาที่ผมพบในเด็ก ๆ ที่ผมได้มีส่วนร่วมในการฝึกหัดเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ผลพวงที่มองเห็น ได้แก่

          1. เด็กๆ ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ลีลาของศิลปินได้ทันจึงหันไปจำต้นแบบที่มีความสามารถลดลงมา เช่น เสียงร้องของวิทยากรสดใสไพเราะมาก เด็ก ๆ บังคับเสียงร้องยังไม่ได้ก็จะร้องไปตามความเข้าใจ ร้องแบบพูด ก็ต้องมีการพัฒนาต่อไป

          2. เด็กผู้ชายให้ความสนใจเพลงอีแซวน้อยกว่าผู้หญิง หลายคณะที่รวมตัวตั้งเป็นทีมนักแสดงมีแต่ผู้หญิงล้วน ๆ ซึ่งคุณครูเคยนำมาประกวดบนเวทีในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ คณะกรรมการก็ต้องอนุโลมกันไป เพราะเด็ก ๆ เขาตั้งใจมาแล้ว

          3. เด็ก ๆ ถูกปลูกฝังให้เป็นผู้รำประกอบการแสดงเพลงอีแซวจนเขาเข้าใจว่า เพลงอีแซวจะต้องมีคนรำอยู่ด้วยตลอดเวลาที่ทำการแสดง ความจริงจะรำหรือไม่รำก็ได้ ตามแบบฉบับตั้งเดิมเขาก็ไม่มีรำกันมาประยุกต์ขึ้นทีหลัง เด็ก ๆ บางคนเดินเข้ามาหาผม มาขอสมัครเล่นเพลงอีแซว ขอทำหน้าที่รำประกอบการแสดง

          4. เด็ก ๆ ที่หัดเพลงใหม่ ๆ ไม่มีโอกาสได้ชมการแสดงของนักเพลงรุ่นครู หรือมีโอกาสบ้างก็น้อยเต็มที่ ที่คุณครูจะได้พาพวกเขาไปชมการแสดงของคณะเพลงอีแซวดัง ๆ หรือรุ่นพี่ ๆ ที่เล่นเพลงเก่ง ๆ ทำให้ไม่ได้มีโอกาสสังเกตการณ์แสดงบนเวทีจริง ๆ

          5. ผู้เรียนรู้และฝึกหัดเพลงอีแซวได้ฝึกกับครูเพลงที่สอนโดยการอธิบาย บอกให้ทำตาม เด็ก ๆ ก็อาจจะมองภาพไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไร และก็น่าเห็นใจครูเพราะท่านไม่ถนัดทางนี้จริง ๆ และท่านก็ไม่มีโอกาสที่จะไปฝึกหัดเพลงอีแซวกับครูเพลงที่ไหนเท่าที่ได้รับมาจากห้องอบรมก็เต็มที่แล้ว

          6. เด็ก ๆ ยังขาดความเข้าใจในการร้องรับ อาจเป็นเพราะผู้สอนบอกผิดพลาดหรือเด็กจำผิดก็เป็นได้ เมื่อเวลาร้องรับในเพลงอีแซว ลูกคู่จะต้องร้องรับ 3 คำสุดท้าย ถ้าคำไม่ครบให้ร้องคำว่า “แล้ว” เติมไปข้างหน้า เช่นคำร้องว่า “สวัสดีพี่น้อง  ผมจะร้องให้ฟัง เอย.... (ลูกคู่รับ)  “ร้องให้ฟัง” แต่เด็ก ๆ ในวงเพลงส่วนมากจะร้องรับว่า  “แล้วให้ฟัง” กลายเป็นว่าลงเพลงทีก็จะต้องได้ยินคำว่า “แล้ว” ทุกลง ความจริงไมใช่

          7. เด็ก ๆ ไม่สามารถที่จะคิดสร้างสรรค์เองได้ จะต้องมีบทสำหรับการแสดงเป็นตัวนำอยู่ตลอดเวลาทำการแสดง หากจะต้องหลุดจากบทไปบ้างก็ติดขัดขึ้นมาทันที ต่อกันไม่ติด คลำหาที่เล่นค้างที่เอาไว้แล้วต่อไม่ได้ ทำให้การแสดงต้องหยุดสะดุดหรือชะงักไป ปัญหานี้สามารถที่จะพัฒนาได้ด้วยการฝึก

          8. ขาดความต่อเนื่องในการฝึกปฏิบัติ เมื่อได้รับการอบรม เมื่อได้เรียนรู้เพลงอีแซวในชั่วโมงเรียนแล้ว ไม่ได้ฝึกฝนหรือฝึกปฏิบัติต่อไปจนเกิดทักษะ ความคล่องตัว ความเชื่อมั่นในการแสดง ได้รับการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติแต่ไม่ได้เติมเต็ม เรียกว่าทำแล้วขาดตอน พอเด็กจะเก่งก็เป็นอันว่าต้องหยุดไปด้วยเหตุผลบางประการ เช่น ขาดการสนับสนุน ไม่มีผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรง

          9. เด็กขาดความเชื่อมั่น ขาดความมั่นใจในการแสดงความสามารถ ไม่กล้าที่จะแสดงออกอย่างเต็มที่ เช่น เสียงร้องเบา เปล่งเสียงออกมาไม่เต็มกำลัง ยกมือ ยกแขนไม่สื่อทางอารมณ์ แค่ยกขึ้นมาลอย ๆ ปัญหานี้สามารถที่จะพัฒนาได้ แต่จะต้องให้เวลาและฝึกอย่างมีระบบ เช่น เมื่อร้องคำใดออกไปให้แสดงสีหน้าท่าทางประกอบเท่าที่จำเป็นให้ได้ โดยฝึกร้องบทสั้น ๆ และทำท่าทางตามบท เมื่อเกิดความมั่นใจ การแสดงจะออกมาดูพลิ้วไหวอ่อนช้อยสวยงาม

          ฝึกหัดเพลงอีแซวอย่างไรจึงไปไม่ถึงอาชีพ คำกล่าวนี้อาจจะสูงเกินเอื้อมมาก แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ผลงานว่า “เราสามารถทำได้สุดแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น” ผมพยามเดินทางมาไกลกว่า 19 ปี ทั้งที่เคยย่ำอยู่กับที่และเลื่อนขึ้นลงในระดับที่ต่างกัน จนกระทั่งช่วงจังหวะหนึ่งนักแสดงมีความสามารถเต็มที่ มีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะ การที่มีผู้เรียนศิลปะการแสดงเพลงอีแซวแล้วไปไม่ถึงระดับมืออาชีพ ผมมองว่ามาจากสาเหตุหลายประการ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ไว้ ดังนี้

          1. ผู้เรียนขาดความรู้ความเข้าใจในศิลปะการแสดงเพลงอีแซวที่ถูกต้องแท้จริง

          2. ผู้เรียนไม่ได้ฝึกหัดเพลงอีแซวมาจากครูเพลงแต่ได้ฝึกกับครูผู้สอน

          3. ผู้เรียนมีความสามารถเป็นเพียงด้านเดียวยังขาดความเข้าใจในอีกหลายด้าน  

          4. ผู้เรียนไม่มีประสบการณ์ตรงไม่เคยได้ชมหรือได้แสดงเพลงอีแซวบนเวทีร่วมกับศิลปินหรือนักแสดงรุ่นครู

          5. ผู้เรียนไม่ให้ความสำคัญหรือไม่สนใจจริงในแขนงงานด้านนี้

1. ผู้เรียนขาดความรู้ความเข้าใจในศิลปะการแสดงเพลงอีแซวที่ถูกต้องแท้จริง

          ปัญหานี้เด็ก ๆ คิดเองไม้ได้ จะต้องมีครูหรือมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ ผมยังชื่นชมบางโรงเรียน เขาเชิญครูเพลงชาวบ้านไปพบกับนักเรียน ให้ท่านช่วยแนะนำวิธีการแสดงเพลงอีแซวที่ถูกต้อง อันนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเด็ก ๆ จะได้พบกับต้นตำรับเพลงอีแซวที่แท้จริงกันเลย ได้รับความรู้และยังได้ฝึกปฏิบัติจริงด้วย แต่ก็อีกนั่นแหละ บางสถานศึกษาทั้งที่อยู่ใกล้ปราชญ์ชาวบ้านแต่ก็ไม่เชิญท่านเข้าไปในโรงเรียนน่าเสียดาย

2. ผู้เรียนไม่ได้ฝึกหัดเพลงอีแซวมาจากครูเพลงแต่ได้ฝึกกับครูผู้สอน

          ประเด็นนี้วิธีการแก้ไขมี 2 ทาง ทางที่ 1 คือเชิญครูเพลงไปแนะนำให้ความรู้สอนปฏิบัติการแสดงเพลงอีแซวที่โรงเรียนกันเลย ครูฝึกไปกับนักเรียนด้วยก็จะเป็นการดีจะได้รับความรู้ไปพร้อม ๆกัน  วิธีที่ 2 นำคณะนักเรียนที่สนใจไปพบครูเพลงหรือปราชญ์ชาวบ้านโดยมีคุณครูควบคุมไป ไปกันเป็นกลุ่ม อาจจะ 5-7 คน หรือมากน้อยกว่านั้น ไปพบท่านและขอสัมภาษณ์ ขอฝึกหัดเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ในช่วงเวลาที่ผมอยู่ในวัยหนุ่ม อายุ 17-18 ปี มีช่วงเวลาปิดภาคเรียน ผมฝึกร้องเพลงไทยเดิม ฝึกร้องเพลงแหล่ ฝึกหัดทำขวัญนาคโดยไปพบครูเพลงที่อยู่ใกล้ ๆ บ้าน หากเราไม่ไปพบท่านเราก็ไม่ได้ความรู้

3. ผู้เรียนมีความสามารถเป็นเพียงด้านเดียวยังขาดทักษะในอีกหลายด้าน  

          ปัญหานี้ผมหมายถึง การเป็นนักแสดง จะต้องฝึกหลายหน้าที่ เป็นได้ทั้งผู้ร้องนำ เป็นผู้แสดงประกอบ เป็นลูกคู่ เป็นผู้ให้จังหวะ เป็นผู้เดินเรื่องในการแสดง 1 ครั้ง/คืน มีนักแสดงในวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ หลายคนฝึกแสดงละครประกอบเพลงอีแซว ทำให้การแสดงบนเวทีดูมีสีสันขึ้นมา มองเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นและสร้างความสนุกสนาน นักแสดงจะต้องสามารถเปลี่ยนหน้าที่กันได้บ้าง เผื่อถึงคราวจำเป็น มิเช่นนั้นถ้าขาดผู้แสดงด้านใดไปไม่ได้ก็ไม่สามารถที่จะเล่นได้

4. ผู้เรียนไม่มีประสบการณ์ตรงไม่เคยได้ชมหรือได้แสดงเพลงอีแซวบนเวทีร่วมกับศิลปินหรือนักแสดงรุ่นครู

          ปัญหานี้พบมาก เพราะว่าครูก็ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสที่จะพานักเรียนไปชมการแสดง และอีกอย่างเวลานักเรียนไปชมการแสดงพื้นบ้านจะมีคำร้องที่เป็นเชิงปะทะคารม ออกไปในทางคิดได้ต่าง ๆ กัน (สองแง่สองง่าม) ครูต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจหรืออาจจะเปลี่ยนไปเป็นจัดหาวีซีดีบันทึกการแสดงของศิลปินหรือวงเพลงอีแซวที่ได้มาตรฐานในการแสดง วงที่มีงานแสดงมาก ๆ หน่อยมาให้เด็กได้ชม ส่วนที่ว่าควรที่จะหาโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ร่วมแสดงกับวงเพลงอาชีพหรือศิลปินระดับครูเพลง ตรงนี้ยอมรับว่าหาโอกาสยากหน่อย เพราะเมื่อเด็ก ๆ ขึ้นไปเล่นกับระดับมืออาชีพจะไม่สามารถประสานสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ได้ ต่อเมื่อเด็ก ๆ มีความกล้าและสามารถร้องด้นสด ได้ตอนนั้นจะมีความสุขมาก และการแสดงจะสนุกสนานเมื่อได้ต่อกลอนกับระดับครูเพลง

5. ผู้เรียนไม่ให้ความสำคัญหรือไม่สนใจจริงในแขนงงานด้านนี้

          ผู้ที่มีความตั้งใจจริง มีจุดประสงค์ที่จะแสดงเพลงอีแซวเป็นชีวิตจิตใจ คนอย่างนี้จะสามารถสร้างจิตวิญญาณให้เกิดขึ้นในตนเองได้ เด็กประเภทนี้จะคอยอยู่ใกล้ชิดกับครูตลอด เช้า เย็นพบหน้าไม่ห่าง ทำให้มีเวลาในการฝึกความสามารถได้มากและคนประเภทนี้มักจะรับได้หลายรูปแบบ ฝึกเพลงอีแซวก็ได้ ฝึกเพลงแหล่ก็ทำได้ ฝึกร้องเพลงลูกทุ่งก็ทำได้ ไปจนถึงฝึกด้นกลอนสด ๆ เด็ก ๆ ในวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯของผมทุกรุ่น ผมสอนให้พวกเขาได้ฝึกด้นกลอนสดอย่างมีขั้นตอนและตามวิธีที่ผมประสบความสำเร็จมา เขาก็ทำกันได้ พอใช้ได้  ทำได้ดี ไปจนถึงดีมาก ด้นสดได้อย่างฉับพลันทันใจไม่ต้องแต่งเนื้อร้องเอาไว้ล่วงหน้า คนประเภทนี้สร้างได้โดยมีครูเป็นต้นแบบในหัวใจของเขา เมื่อเขายกย่องและศรัทธาในตัวครูจะสอนจะฝึกอะไรก็ง่ายและนำไปสู่การแสดงเพลงอีแซวระดับมืออาชีพได้ในที่สุด

         

         

         

                                  (ภาพนักแสดงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ ฝึกซ้อมด้นกลอนสดทั้งทีม)

          การเดินทางไปสู่การเป็นนักแสดงเพลงอีแซวในระดับมืออาชีพนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลแต่ละคน ผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากัน ความสนใจของผู้เรียน จุดมุ่งหมายความใฝ่ฝันสูงต่ำแค่ไหนเพียงใดไม่เหมือนกัน รวมไปถึงความมุมานะพยายามที่จะทุ่มเทให้กับการแสดงเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ มีมากน้อยต่างกัน แต่ถ้าเมื่อใดถ้าเราได้คนกลุ่มหนึ่งมาอยู่ในทีมงานแล้วมีความพร้อมใจที่จะเริ่ม พร้อมใจที่จะหยุดพักเหนื่อย พร้อมใจที่จะกระทำต่อไปอย่างไม่เห็นแก่ความยากลำบาก เมื่อนั้นความสำเร็จก็อาจจะเข้ามาใกล้เพียงแค่เอื้อม

ติดตามตอนที่ 14 ฝึกหัดเพลงอีแซวอย่างไรไปไม่ถึงมืออาชีพ (มุมมองที่บทร้อง)               

หมายเลขบันทึก: 398922เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2010 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท