Siriniran
นางสาว ศิรินิรันดร์ ปัญญาพูนตระกูล

หลักสูตรฝึกอบรม......


มนุษย์....เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กรนะคะ

หลักสูตรฝึกอบรม

    ถ้าพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์  ก็ต้องหนีไม่พ้นเรื่องหลักสูตรฝึกอบรมนะคะ   เพราะก่อนที่องค์กรจะได้บุคลากรที่ดีมีคุณภาพมาทำงานด้วยนั้น  ก็ต้องมีการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมก่อนเข้าทำงาน  ระหว่างทำงาน  หรือฝึกอบรมเฉพาะเรื่อง  เฉพาะโครงการ  

   เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพร้อมจะทำงานในภาคปฏิบัติได้  หลังจากที่เตรียมความพร้อมในภาคทฤษฎีจากการฝึกอบรมไปเรียบร้อยแล้ว

    วันนี้เล็กมีเนื้อหาของหลักสูตรฝึกอบรมคราว ๆ มาฝากผู้อ่านกันค่ะ   หวังว่าคงจะมีประโยชน์กับผู้ที่สนใจเรื่องหลักสูตรฝึกอบรม   เรามาเริ่มกันจากเรื่องของ  แนวคิด  ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมกันก่อนนะคะ  

1.   แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม  มีอะไรบ้าง

1.1  ความหมายของหลักสูตร

        อาจกล่าวได้ว่าความหมายของหลักสูตรไว้ 3 ประการ คือ

1) หลักสูตร คือ เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เป็นระบบให้ผู้เรียนได้ศึกษา เช่น หลักสูตรสังคมศึกษา

2) หลักสูตร คือ เค้าโครงทั่วไปของเนื้อหาหรือเรื่องเฉพาะที่จะสอน ซึ่งโรงเรียนจัดให้แก่เด็กให้มีความรู้สำเร็จในการเรียนในชั้นหนึ่ง ๆ จนได้รับประกาศนียบัตร เพื่อให้สามารถเข้าเรียนวิชาอาชีพต่อไป

3) หลักสูตร คือ กลุ่มวิชาและการจัดประสบการณ์ที่กำหนดไว้ให้นักเรียนได้เรียน   ภายใต้การแนะนำของครูในโรงเรียน และในสถาบัน

                ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า   หลักสูตร  คือ  เค้าโครงของเนื้อหาวิชา  หรือเรื่องเฉพาะที่จะสอน  ซึ่งต้องการจะให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์  และความรู้ตามที่ได้กำหนดไว้   ในลักษณะของเอกสารที่กำหนดโครงการศึกษาโดยสถาบัน หรือโรงเรียนนั้น ๆ

1.2  ความหมายของการฝึกอบรม

               อาจสรุปได้ว่า   การฝึกอบรม  คือ  กระบวนการที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  ทัศนคติ  ของบุคคลให้เป็นในทางที่ดีขึ้น   และเพื่อเพิ่มพูนทักษะ  ความรู้  ความชำนาญให้แก่บุคคลขององค์กร  ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ   ซึ่งจะมีการกำหนดไว้ล่วงหน้า   ดังนั้น  การฝึกอบรมจึงเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานมากที่สุด

1.3     ความหมายของหลักสูตรฝึกอบรม

           สรุปได้ว่า   หลักสูตรฝึกอบรม  หมายถึง หัวข้อวิชา เนื้อหาสาระ วิธีการ กิจกรรม ประสบการณ์ที่ผู้จัดการฝึกอบรมจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านความรู้  ทักษะ  และทัศนคติไปในทิศทางที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้  

 1.4    แนวคิดของหลักสูตรฝึกอบรม

          การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ

                ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของทุกองค์การ  เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด  ทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สร้างสรรค์คุณค่าให้แก่องค์การสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นทรัพยากรประเภทมีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เพราะยิ่งใช้ยิ่งทำให้มีประสบการณ์ทักษะเพิ่มมากขึ้น

                แนวโน้มของการแข่งขันในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าบางธุรกิจแทบจะพูดได้ว่าไม่จำเป็นต้องลงทุนทรัพยากรอย่างอื่นเลย   เช่นไม่จำเป็นต้องไปเช่าซื้ออาคารสถานที่   ไม่ต้องมีเครื่องจักรใหญ่โต   ไม่ต้องมีรถส่งของ   ไม่จำเป็นต้องมีที่ดิน   มีเพียงคนหนึ่งหรือคนเพียงไม่กี่คนก็สามารถสร้างรายได้มหาศาล  เช่น  ธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต   จะเห็นว่าทรัพย์สินจริง ๆ อาจจะมีเพียงแค่คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น

                ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดก็ตาม แต่ทรัพยากรที่แต่ละองค์การต้องการเป็นทรัพยากรพื้นฐาน  คือ “คน”    และในอนาคตมีแนวโน้มว่า    การแข่งขันจะเปลี่ยนจากยุคข้อมูลข่าวสาร (Information) ไปสู่สังคมของการแข่งขันด้านองค์ความรู้ (Knowledge - Based Society) มากยิ่งขึ้น และองค์ความรู้ต่าง ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจาก “คน”

                ดังจะเห็นได้ว่า     งานทรัพยากรบุคคลจะมีส่วนในการผลักดันให้องค์การมีพัฒนาการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง     ตลอดจนส่งเสริมให้องค์การประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในอนาคต        โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่แต่ละองค์การต่างก็ให้ความสำคัญต่องานทรัพยากรบุคคลเพิ่มขึ้น     เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญว่างานนี้จะแทรกอยู่ในแทบทุกกิจกรรมขององค์การ         เพื่อส่งเสริมและเป็นหลักประกันว่าทุกกิจกรรมขององค์การจะสามารถดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ      ส่งผลให้ผู้จัดการทุกคนต้องให้ความสำคัญต่อทรัพยากรบุคคลภายใต้การดูแลของตน   ดังคำกล่าวที่ว่า   “ผู้จัดการทุกคน”    คือ   ผู้จัดการทรัพยากรบุคคล (Every Manager is Human Resource Manager)”    เนื่องจากทรัพยากรบุคคลไม่เพียงแต่เป็นทรัพยากรพื้นฐานทางการจัดการแต่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงสุดขององค์การ    และเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจ       ดังนั้นผู้จัดการทุกคนสมควรต้องมีความรู้      และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงหลัก การจัดการทรัพยากรบุคคล      เพื่อให้สามารถบริหารทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่แก่องค์การ   

1.5    องค์ประกอบของหลักสูตรฝึกอบรม

            องค์ประกอบของหลักสูตรการฝึกอบรม  ประกอบด้วย   7 องค์ประกอบใหญ่ ๆ คือ

1) หมวดหัวข้อวิชา ได้แก่ หัวข้อวิชาต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นมา   โดยเห็นว่ามีสาระสำคัญที่ผู้เข้ารับการอบรมต้องการหรือควรได้รับการเรียนรู้ ในแต่ละหลักสูตรจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่  กับว่าเป็นหลักสูตรอะไร หัวข้อวิชาเหล่านี้ หากเป็นเรื่องลักษณะเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จะจัดไว้เป็นพวกเดียวกัน เรียกว่าหมวดหัวข้อวิชา

2) วัตถุประสงค์ของแต่ละวิชา ได้แก่ จุดมุ่งหมาย หรือสิ่งที่มุ่งหวังว่าจะให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้ผ่านการฝึกอบรมในหัวข้อวิชานั้น ๆ แล้ว     โดยทั่วไปวัตถุประสงค์นี้จะเขียนในรูปของวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม     เพราะทำให้ง่ายต่อการจัดกิจกรรมและการประเมินผล

3) ประเด็นสำคัญ ได้แก่ เนื้อหาหรือหัวข้อย่อยที่สำคัญ ๆ ในแต่ละวิชา เพื่อให้ทราบในหัวข้อวิชานั้น น่าจะกล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง มีขอบข่ายครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด

4) เทคนิคและวิธีการฝึกอบรม ได้แก่ เทคนิคหรือวิธีการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่จะมาใช้ในหัวข้อวิชานั้น ๆ เช่น   การบรรยาย   การอภิปรายกลุ่ม   การระดมสมอง   บทบาทสมมติ   กรณีศึกษา หรือการสาธิต เป็นต้น

5) ระยะเวลาแต่ละวิชา ได้แก่ กำหนดระยะเวลาที่จะใช้ในแต่ละหัวข้อวิชานั้น ๆ  ว่าจะใช้เวลานานเพียงใด

6) วิทยากรในแต่ละวิชา ได้แก่ ชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ที่เชิญมาเป็นผู้ถ่ายทอด หรือ  ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในหัวข้อวิชานั้น ๆ โดยอาจระบุตำแหน่ง สถานที่ทำงานของวิทยากรไว้ด้วย

7) กำหนดการฝึกอบรม ได้แก่ ตารางเวลาที่บอกว่าจะมีการอบรมหัวข้อวิชาใดในวันเวลาใด ใช้เวลานานเท่าใด และโดยใคร ซึ่งคล้ายกับตารางสอนเพื่อให้ผู้เข้าอบรมวิทยากรและผู้จัดโครงกาiทราบ

1.6    กระบวนการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม

             การกำหนดขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมไว้ 5 ขั้นตอน คือ

1. ความจำเป็นของการฝึกอบรม

2. การสร้างและกำหนดหลักสูตร

2.1 การกำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

2.2 การเลือกเนื้อหา

2.3 การจัดลำดับเนื้อหา

3. สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม

3.1 การกำหนดและคัดเลือกวิทยากร

3.2 การกำหนดตัวผู้เข้ารับการฝึกอบรม

3.3 การกำหนดสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก

3.4 การกำหนดและจัดหางบประมาณ

4. การดำเนินการฝึกอบรม

5. การประเมินและติดตามผลการฝึกอบรม

           แนวทางหรือการพัฒนาหลักสูตรมี  5  ขั้นตอนดังนี้

1. การกำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร คือ เป็นการกำหนดความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้าใจ เพื่อเตรียมตัวให้ได้ตรงกับ จุดประสงค์   กำหนดเนื้อหาวิชาสาระ   และระยะเวลาเพื่อก่อให้เกิดการเรียนการสอน

2. การเลือกการจัดเนื้อหาวิชา เทคนิคการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาให้เกิดการเรียนการสอนสอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ ควรจัดเนื้อหาที่ง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยาก เรียงลำดับจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย จัดตามลำดับเวลา

3. การนำเอาหลักสูตรไปใช้ เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์และเนื้อหาได้แล้ว เพื่อให้เกิดผลดี การประสานงานควรชี้แจงทำความเข้าใจกับวิทยากรผู้ให้การฝึกอบรม ที่จะประยุกต์เนื้อหาให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ตลอดจนการเตรียมสถานที่ วัสดุอุปกรณ์

4. การประเมินผลหลักสูตร เพื่อทำให้ทราบว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีผลสัมฤทธิ์ตามที่ตั้งไว้หรือไม่เพียงใด โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และการติดตามการปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์และรายงานผล

5. การปรับปรุงหลักสูตร หลังจากการประเมินผลของหลักสูตร จะทำให้เราทราบว่ามีส่วนใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

           สรุปได้ว่า องค์ประกอบที่สำคัญ ที่ควรนำมาพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม ประกอบด้วยจุดประสงค์ของหลักสูตร เนื้อหาวิชา หรือประสบการณ์การจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการประเมินผล ซึ่งองค์ประกอบทุกขั้นตอนต้องมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกัน เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

1.7     ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง

            สำหรับทฤษฎีการเรียนรู้มีหลายทฤษฎี  ได้แก่

                1. ทฤษฎีการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง (Connectionism) เอ็ดเวิร์ด แอล. ธรอนไดค์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า การเรียนรู้เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง โดยสิ่งเร้าสิ่งหนึ่ง อาจทำให้เกิดการตอบสนองได้หลายทาง แต่อินทรีย์ จะเลือกการตอบสนองที่พอใจที่สุดไว้เพียงสิ่งเดียวเพื่อใช้ในการตอบสนองครั้งต่อ ๆ ไป หรืออาจจะกล่าวได้ว่า การเรียนรู้เกิดจากการลองผิดลองถูก ธรอนไดค์ได้ตั้งกฎที่สำคัญ 3 กฎ คือ

           1.1 กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness)

                1.1.1 ถ้าบุคคลพร้อม แล้วได้กระทำจะเกิดความพอใจ

                1.1.2 ถ้าบุคคลพร้อม แล้วไม่ได้กระทำ ก็ย่อมเกิดความรำคาญใจ

                1.1.3 ถ้าบุคคลไม่พร้อมแต่ถูกบังคับให้กระทำ ก็จะเกิดความรำคาญใจ

            1.2 กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Experience) คือ ถ้าบุคคลได้กระทำหรือฝึกฝนทบทวนบ่อย ๆ ก็จะกระทำสิ่งนั้นได้ดีและเกิดความชำนาญ

            1.3 กฎแห่งผล (Law of Effect) คือ ถ้าบุคคลได้กระทำสิ่งใดแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็อยากกระทำสิ่งนั้นอีก แต่ถ้ากระทำแล้วไม่ได้ผลดี ก็ไม่อยากกระทำอีก

                2. ทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Theory) ทฤษฎีนี้มีหลักการว่า การเรียนรู้เกิดจากการเสริมแรง การเสริมแรงเป็นการให้รางวัลเพื่อก่อให้เกิดการลดแรงขับ หรือลดความต้องการลงทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ขึ้น

                การนำหลักทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์ ไปใช้ในการเรียนการสอน คือ

                1) พยายามจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียน

                2) พยายามจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน

                3) พยายามสร้างแรงเสริมทุกขั้นตอนของบทเรียน

                4) จัดการเรียนการสอนจากง่ายไปหายาก

                5) จัดการเรียนการสอนให้พอเหมาะแก่วัยของผู้เรียน

                6) เปลี่ยนกิจกรรมการสอน เมื่อพบว่าผู้เรียนเหนื่อยล้า หรือง่วงนอน

                3. ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของอัลเบิร์ต แบนดูรา

มีความเห็นว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ด้วยการเลียนแบบหรือสังเกตการกระทำของผู้อื่น

                สำหรับการนำ เอาทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน มีข้อควรพิจารณาดังนี้

                1) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พบตัวแบบหลาย ๆ ประเภท

                2) พูดคุยและรับฟังเกี่ยวกับตัวแบบที่เด็กต้องการเทียบเคียง ให้การเสริมแรงเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมซึ่งเป็นที่ต้องการ

                3) พูดคุยและรับฟังเกี่ยวกับตัวแทนที่เด็กต้อง การเทียบเคียง

                4) ให้การเสริมแรงเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมซึ่งเป็นที่ต้องการ

                4. ทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ความรู้ (Constructivist Theory) เชื่อว่า ความรู้ได้มาจากการสร้างขึ้นด้วยการทำความเข้าใจการให้ความหมายกับเหตุการณ์ ประสบการณ์  หรือสารสนเทศ โดยอาศัยความรู้เดิม ทฤษฎี และความคาดหวังของตนในการแปลความหมายเพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์   แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับว่าประยุกต์มาจากทฤษฎีพัฒนาการความรู้ความเข้าใจของเปียเจย์ วีไกสกี และบูรเนอร์ เป็นอย่างมาก   ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้รับความสนใจอย่างสูง เพราะถือว่าเป็นแนวคิดของการเรียนรู้ที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง แนวคิดของเปียเจย์ นำมาสู่การเรียนรู้ แบบสร้างสรรค์ความรู้ โดยเมื่อครูทำหน้าที่สอนนั้นครูควรจะ

                1) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง

                2) ลงมือกระทำเพื่อการเรียนรู้

                3) ต้องให้เกิดสภาวะสมดุล

                4) ต้องให้เหมาะกับขั้นตอนของพัฒนาการของความรู้ความเข้าใจ

                5. ทฤษฎีการเรียนรู้ของเออร์ซูเบลและของบรูเนอร์ ทั้งสองทฤษฎีนี้ให้แนวคิดว่าคนเราจะเรียนรู้ได้ดี หากสิ่งที่เรียนนั้นมีความหมายและถูกจัดให้มีโครงสร้างที่เหมาะสม

                6. ทฤษฎีการเรียนรู้ของทอลแมน (Tolman’s Sign Learning Theory)  ทฤษฎีนี้มีหลักการว่า การเรียนรู้เกิดจากการที่บุคคลตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดยใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เป็นแนวทางนำไปสู่เป้าหมายทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ

                การนำทฤษฎีการเรียนรู้โดยใช้เครื่องหมายของทอลแมนไปใช้ในการเรียนการสอน

                1) จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้มี ส่วนร่วมในการคิด คือเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูด และแสดงความคิดเห็น เพื่อส่งเสริมการคิดเป็น

                2) จัดแบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือศูนย์การเรียน มอบงานหรือกิจกรรมให้ทุกกลุ่มได้กระทำให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมการคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น

                3) จัดการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนได้อภิปรายในชั้นเรียน และหรือใช้กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูกับเพื่อน ๆ เพื่อให้เข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น

                7. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operation Conditioning Theory) สกินเนอร์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ซึ่งมีหลักการว่า การเรียนรู้เกิดจากการที่บุคคลได้มี การกระทำแล้วได้รับการเสริมแรง

                การนำความรู้จากทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ ไปใช้ในการเรียนการสอน

                1) สร้างนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก เพื่อสร้างคุณภาพแห่งชีวิต

                2) ลบนิสัยที่ไม่ดีออกจากตัวเด็ก โดยวิธีการปรับพฤติกรรม

                3) ปลูกฝังค่านิยมพื้นฐานให้แก่เด็ก

                4) ให้การเสริมแรงแก่เด็กที่กระทำความดี

                5) จัดประกวดเด็กดีเด่นในด้านต่าง ๆ และให้รางวัลตามความเหมาะสม

                6) นำมาใช้สร้างบทเรียนสำเร็จรูป

                7) นำมาใช้ในการสอนวิธีการพูด

                8. ทฤษฎีสนาม (Field Theory) โคห์เลอร์และคณะ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้ที่ ตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า ในการเรียนรู้หรือในการแก้ปัญหาบุคคลจะพิจารณาสิ่งเร้าหรือโครงสร้างของปัญหาโดยส่วนรวมทุกแง่ทุกมุมเสียก่อน จากนั้นจะแยกเป็นส่วนย่อย ๆ เหล่านั้น จนในที่สุด จะเกิดความคิดหรือเห็นช่องทางในการแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยฉับพลัน จะเกิดการเรียนรู้ด้านความเข้าใจอย่างชัดเจน

                การนำความรู้จากทฤษฎีสนามไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

                1) ก่อนดำเนินการที่จะสอนควรชี้ให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายหรือวัถตุประสงค์ของบทเรียน

                2) อธิบายให้นักเรียนเห็นภาพรวม หรือโครงสร้างของบทเรียน

                3) สอนให้นักเรียนแก้ปัญหาด้วยตนเองจะนำไปสู่การคิดเป็น ทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น

                 อ๊ะ อ๊ะ ..........  ยังไม่จบเพียงเท่านี้นะคะ  ยังมีอีกหนึ่งหัวข้อที่เล็กอยากฝากให้ผู้อ่านได้รับความรู้จากข้อมูลเหล่านั้นค่ะ   แต่...... ต้องติดตามตอนต่อไปนะคะ

หมายเลขบันทึก: 397821เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2010 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มากมายๆ อ่านไม่ไหว "คนเป็นทรัพยากรที่ต้องพัฒนามากที่สุด"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท