คำถามจากครูนักวิจัย ข้อ 5


คุณภาพของงานวิจัยตั้งต้นที่ปัญหาวิจัย คุณภาพปัญหาวิจัยขึ้นกับการคิดและการเขียนของนักวิจัย

5.  การตั้งชื่อเรื่องที่วิจัยควรตั้งอย่างไร

โดยธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้เขียนเอกสารวิชาการจะ เสนอนำด้วยชื่อเรื่องเป็นอันดับแรก  เป็นการแสดงให้ผู้อ่านเริ่มรับรู้สาระที่จะตามมา  แต่โดยการทำงานของผู้เขียนจะมีลำดับการคิด ที่แตกต่างกัน  บางคนเริ่มต้นด้วยความมั่นใจ และดำเนินเรื่องต่อมาด้วยความต่อเนื่อง  แต่ก็มีผู้เขียนจำนวนมากที่มีการคิดไตร่ตรอง  ทบทวน ชั่งใจ กว่าจะได้หัว ก็ใช้เวลาคิดย้ำซ้ำทวน  การเขียนชื่อเรื่องจึงเป็นงานที่เขียนภายหลังจากการตัดสินใจต่อมา 

งานวิจัยเป็นงานวิชาการที่มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เรื่องที่จะวิจัย  จะมีคำถามวิจัยที่ชัด และมองเห็นคุณค่าของงานที่จะเกิดขึ้น  การวิจัยจะจบลงด้วยการได้คำตอบตรงวัตถุประสงค์  ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องวิจัยจึงเป็นงานที่ต้องการความคิดที่ประณีต  นักวิจัยมักจะตั้งชื่อครั้งแรก แล้วทบทวนแก้ไขจนมั่นใจว่าตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตนต้องการ

 จากการวิเคราะห์การตั้งชื่อเรื่องในงานวิจัยที่เผยแพร่ทั่วไป  พบจุดอ่อนหลาย ประเด็น ได้แก่

¤ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย 

นักวิจัยคงต้องตรวจสอบวัตถุประสงค์และคำถามวิจัย ว่าต้องการศึกษาอะไร เกี่ยวข้องกับตัวแปรอะไร

¤ไม่สื่อถึงระเบียบวิธีวิจัยที่จะได้ความจริงที่ต้องการ 

นักวิจัยคงต้องตรวจสอบเป้าหมายลานของตน ว่า ต้องการบรรยายปรากฏการณ์ หรือ ค้นหาความสัมพันธ์ของตัวแปร หรือ ต้องการหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น หรือ ต้องการสร้างรูปแบบของระบบการเรียนรู้

¤ไม่ระบุขอบเขตของการวิจัย

การวิจัยที่ ต้องการความจริงที่เฉพาะบริบท หรือ พื้นที่ หรือ กลุ่มเป้าหมาย ผู้วิจัยต้องระบุชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลการวิจัยที่เกิดความคลาดเคลื่อน ที่เรียกว่า overgeneralization  ซึ่งเป็นจุดอ่อนกระทบต่อคุณภาพการวิจัยในด้านความตรงภายนอก (external validity)

¤ เขียนไม่กระชับ ใช้คำมากเกินความจำเป็น

โดยปกติ การตั้งชื่อเรื่องจะมีหลักของความกระชับ ตรงประเด็น  แต่ก็พบลักษณะของการใช้ภาษาที่มีคำขยายมากเกินความจำเป็น  นักวิจัยจะแก้ไขเองได้ไม่ยาก ด้วยการอ่านทบทวน ไม่รีบร้อนเกินไป

 

กล่าวโดยสรุป  หลักการตั้งชื่อเรื่อง  มีดังนี้

@ สั้น กระชับ   และใชคำถูกต้องตามหลักภาษา

@ สื่อความหมายว่ากระบวนการนั้นต้องการค้นหาความจริงเรื่องอะไร เห็นตัวแปร 

@ เกี่ยวข้องกับใคร  ในสถานการณ์หรือบริบทใด  เวลาใด  เป็นขอบเขตที่ต้องกำหนดเพื่อความถูกต้องของการสรุปผลที่ได้

@ ทำอย่างไร เป็นการระบุการทำชื่อที่ตั้งได้ถูกต้องเหมาะสมจะสะท้อนถึงระเบียบวิธีวิจัย และความรู้หรือผลการวิจัย

 

ข้อสังเกตที่น่าพิจารณา   ประเด็นความกระชับ กับ ประเด็นความครอบคลุม บางครั้งก็มีความขัดแย้งกัน   นักวิจัยอาจตัดคำบางคำ แล้วนำไปขยายในรายงาน  เช่น รายละเอียดของกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษา มีทั้งระดับชั้น  ลักษณะเฉพาะกลุ่ม  สังกัดของโรงเรียน ปีที่ศึกษา เป็นต้น  นักวิจัยจะพิจารณาว่าคำใดเป็นการขยาย  หรือเป็นลักษณะที่ต้องระบุให้ชัดเจนให้สอดคล้องกับผลการวิจัย   ในกรณีที่เป็นคำขยายอาจนำไปเขียนในขอบเขตของการวิจัย  หรือ ในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง  ถ้านักวิจัยไม่แน่ใจ ก็สามารถขอความเห็นจากผู้อ่านที่มีคุณวุฒิ  หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนนักวิจัยได้

 

พึงระลึกเสมอว่า คุณภาพของงานวิจัยตั้งต้นที่ปัญหาวิจัย   คุณภาพปัญหาวิจัยขึ้นกับการคิดและการเขียนของนักวิจัย

หมายเลขบันทึก: 396726เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2010 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีความรู้ดีมากครับ

จากการอ่านในหัวข้อ เรื่อง คำถามจากผู้วิจัยข้อ 5 ทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำวิจัยมากยิ่งขึ้นว่าการทำวิจัยนั้นจะต้องมีกระบวนการวางแผนอย่างชัดเจน และเป็นระบบแบบแผนตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องของงานวิจัย ผู้ทำวิจัยต้องใช้กระบวนการคิดในการไตร่ตรองเพื่อให้ชื่อเรื่องวิจัยนั้นมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ทำ มีการสื่อถึงระเบียบวิจัย การระบุขอบเขต และที่สำคัญจะต้องเขียนให้สั้นและกระชับ •ขอบคุณผู้เขียนนะคะที่ให้สาระความรู้อย่างดีเยี่ยมสำหรับผู้ที่จะเริ่มการทำวิจัย และผู้ที่เคยทำวิจัยแล้วแต่ยังมีความสับสนอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท