การวิจัยในชั้นเรียน (ต่อ)


เกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน  (ต่อ)

8. การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนต้องเขียนตามระเบียบวิธีวิจัย คือต้องมีบทที่ 1 ถึง บทที่ 5 ใช่หรือไม่

      ไม่จำเป็น การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน ครูสามารถเขียนง่าย ๆ โดยระบุปัญหาที่ พบ สาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ปัญหา และผลการแก้ปัญหา อาจมีข้อเสนอแนะหรือ ข้อสังเกตต่อท้าย และแนบหลักฐานสิ่งที่ได้ ดำเนินการ เช่น แบบฝึก แบบบันทึก ฯลฯ

 9. ทำวิจัยแล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

     ทำวิจัยแล้วมีประโยชน์อย่างแน่นอน ประโยชน์ต่อนักเรียนคือ นักเรียนแต่ละคนจะได้รับการพัฒนา หรือแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ประโยชน์ต่อครูคือ ครูมีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ครูผู้สอนสามารถสรุปเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อรอรับการประเมินตามมาตรฐานวิชาชีพครู และ สามารถรวบรวมเป็นผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนระดับให้สูงขึ้น

 10. การวิจัยในชั้นเรียนและการวิจัยในโรงเรียนต่างกันอย่างไร

       การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการวิจัยของครูที่ประจำอยู่ในห้องเรียน ซึ่งสังเกตพบว่า   นักเรียนบางคนมีปัญหา และเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาของนักเรียนบางคนดังกล่าว ระบุได้หลายสาเหตุ จึงเลือกสาเหตุที่ตนสามารถ แก้ไขได้ หาวิธีแก้ไข (ซึ่งไม่ใช่วิธีสอน) ดำเนินการแก้ไขไปพร้อม ๆ กับการสอนนักเรียนกลุ่มใหญ่ จนปัญหา ดังกล่าวได้รับการคลี่คลาย จึงเขียนรายงานการวิจัยซึ่งมีความยาว 2-3 หน้า

       การวิจัยในโรงเรียน เป็นการวิจัยของผู้บริหารโรงเรียน หรือศึกษานิเทศก์ ซึ่งสังเกตพบว่า ครูบางคนมีปัญหา ในงานครู และเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุดังกล่าว ก็ระบุได้หลายสาเหตุ จึงเลือกสาเหตุที่ตนสามารถแก้ไขได้ หาวิธีการ แก้ไข ดำเนินการแก้ไข ไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติงานปกติของตน จนปัญหาดังกล่าวได้รับการคลี่คลาย จึงเขียน รายงานการวิจัยซึ่งมีความยาว 2-3 หน้า เช่นเดียวกัน

 11. การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนจะทำได้ทุกกลุ่มสาระหรือไม่

       การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน สามารถทำได้ทุกกลุ่มสาระไม่ว่าจะเป็นสาระความรู้ การปฏิบัติ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการพัฒนาคุณธรรม ลักษณะของแต่ละกลุ่มสาระใช้กระบวนการเดียวกัน คือ ก่อนวิจัยต้องมีการหาปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนา หาแนวทางแก้ไข นำแนวทางไปดำเนินการ สรุปผล การเขียนรายงาน

 12. โดยสรุปการวิจัยในชั้นเรียนจะมีลักษณะอย่างไร

       การวิจัยในชั้นเรียนจะมีลักษณะดังนี้

       1)  ผู้วิจัยยังคงทำงานตามปกติของตน 

       2)  ไม่ต้องสร้างเครื่องมือวิจัย

       3)  ไม่มีข้อมูลจำนวนมาก 

       4)  ไม่ต้องทบทวนรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

       5)  ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการสังเกต การพูดคุย และใช้การวิเคราะห์เนื้อหา

       6)  ใช้เวลาทำวิจัยไม่นาน ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและจำนวนบุคคลที่ต้องการแก้ไข   

       7)  ความยาว 2-3 หน้าต่อเรื่อง 

       8)  นักเรียน/ครู ได้รับการแก้ไขหรือพัฒนา

       9)  ไม่มีการระบุประชากร กลุ่มตัวอย่าง การสุ่มตัวอย่าง 

      10)  ไม่ต้องใช้สถิติสรุปอ้างอิง และไม่มีระดับนัยสำคัญ

      11)  ไม่มีการทดสอบก่อนหลัง 

      12) ไม่มีกลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุม

      13)  เป็นการวิจัยเชิงคุณลักษณะ (Qualitative research มากกว่า Quantitative research)

      14)  เน้นการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาของนักเรียน/ครู บางคน บางเรื่อง 

   ซึ่งการวิจัยในชั้นเรียนที่นำเสนอนี้มีลักษณะแบบไม่เน้นการรายงานที่ไม่เป็นทางการ  เป็นการวิจัยในชั้นเรียนที่มุ่งนำผลไปใช้แก้ปัญหาในการเรียนการสอนทันที  โอกาสหน้าผู้เขียนจะได้นำเสนอการวิจัยในชั้นเรียนแบบเชิงวิชาการ หรือแบบสากลต่อไปค่ะ

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2553).  เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง (390611).พิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร. 

 

หมายเลขบันทึก: 396358เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2010 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาทักทาย ดีใจมากที่เจอเพื่อนเก่า เป็นกำลังใจให้นะ

เเวะมาเยี่ยมมาทักทาย ดีครับแล้วจะแอบมาอ่านบ่อยๆ เผื่อว่าจะเป็นกำลังใจ ให้อยากทำวิจัยขึ้นมาบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท