การใช้เหตุผล (๑)


การใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก[๑]

พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา)

บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

----------------------------------- 

ความนำ: มนุษย์กับการใช้เหตุผล

            ก่อนจะกล่าวถึงการใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก  ในเบื้องต้นนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงการใช้เหตุผลของมนุษย์โดยภาพรวมก่อน   มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์สายพันธุ์หนึ่งที่ได้วิวัฒนาการเคียงคู่กันมากับสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ  ตลอดเส้นทางวิวัฒนาการอันยาวนานนั้นเราได้ปรับตัวหลายอย่างเพื่อความอยู่รอดในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง  อย่างที่ชาร์ลส์  ดาวิน บอกว่า “ความอยู่รอดของผู้ที่เหมาะที่สุด” (Survival of the fittest) การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดนี้ทำให้เรามีพฤติกรรมหลายอย่างร่วมกันกับสัตว์อื่น เช่น การกิน การนอน การสืบพันธุ์ การอยู่รวมกันเป็นสังคม เป็นต้น  พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีเพื่อความอยู่รอดก็ได้  แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกพิเศษอะไร  เพราะสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ก็มีเหมือนกับเรา แต่ที่ถือว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษที่เรามีแต่สัตว์อื่นไม่มี  นั่นก็คือ “ความมีเหตุผล” หรือการรู้จักคิดพิจารณาได้อย่างสลับซับซ้อน   อย่างที่อริสโตเติลกล่าวไว้เมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้วว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล” (Man is rational animal)  กล่าวได้ว่า ความมีเหตุผลนี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีพัฒนาการก้าวล้ำนำหน้าสัตว์สายพันธุ์อื่น  ภูมิปัญญาด้านต่างๆ ที่เราสร้างสรรค์แล้วสั่งสมต่อกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็นศาสนา  วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี เศรษฐกิจ  การเมือง เป็นต้น ส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากความมีเหตุผลของมนุษย์นี้เอง  ถ้าขาดคุณสมบัติด้านเหตุผลสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์คงไม่มีอะไรแตกต่างจากสัตว์อื่นมากนัก

            การใช้เหตุผลนั้นเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในชีวิตประจำวันของเรา  แต่เนื่องจากความเคยชินเราอาจไม่ทราบหรือไม่ได้ตระหนักว่าเรากำลังใช้เหตุผลอยู่  ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

๑. เรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าเห็นเมฆดำตั้งเค้ามืดครึ้ม มีเสียงฟ้าร้องสลับฟ้าแลบเป็นระยะๆ  จึงคิดต่อไปว่าอีกไม่นานฝนกำลังจะตก แล้วเตรียมหาร่มเพื่อป้องกันไม่ให้เปียกฝน  ถามว่าทำไมเราจึงคิดว่าฝนกำลังจะตก  ทั้งๆ ที่ตอนที่เห็นเมฆดำนั้นฝนยังไม่ได้ตกเลย  ที่คิดอย่างนี้เพราะประสบการณ์ในอดีตสอนเราว่าเมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมักจะมีฝนตกเสมอ  เราจึงคิดเชื่อมโยงจากสิ่งเห็นตรงหน้าไปหาสิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคตว่าฝนกำลังจะตก 

๒. เรามองเห็นควันสีดำพวยพุ่งขึ้นมาท่ามกลางตึกสูงระฟ้าในกรุงเทพฯ  ซึ่งตามปกติควันแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในที่แห่งนั้นมาก่อน  จึงคิดเชื่อมโยงต่อไปว่าคงมีเหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นตรงนั้น  ทั้งๆ ที่เรายืนอยู่ห่างไกลและมองไม่เห็นเปลวไฟเลย  การคิดอย่างนี้เกิดจากประสบการณ์ในอดีตสอนเราว่าควันกับไฟจะอยู่ด้วยกันเสมอ  แยกขาดจากกันไม่ได้  พอมองเห็นเพียงแค่ควันที่พวยพุ่งออกมา  เราจึงสรุปอย่างไม่ลังเลว่าจะต้องมีไฟไหม้เกิดขึ้นตรงนั้นแน่ๆ 

๓. เราขับรถไปทำงานตอนเช้าในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน  พยายามขับรถเลี่ยงเส้นทางที่เราคิดว่ามีรถติดหนาแน่น  ถามว่าทำไมเราจึงคิดว่ามีรถติดอยู่  ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ผ่านเส้นทางนั้นเลย   เพราะประสบการณ์ในอดีตสอนเราว่าเส้นทางนั้นมักจะมีรถหนาแน่นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเสมอ  เราจึงเอาข้อมูลในอดีตเชื่อมโยงไปหาเหตุการณ์ที่มองไม่เห็นว่าตอนนี้รถกำลังติดอยู่ 

๔. เราทั้งหลายไม่มีใครสงสัยเลยว่าวันพรุ่งนี้ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกหรือไม่  ทั้งๆ ที่วันพรุ่งนี้เป็นเหตุการณ์ในอนาคตและข้อมูลวันพรุ่งนี้เรายังไม่มีเลย  แต่เราก็ยังมั่นใจอยู่ดีว่าพรุ่งนี้และวันต่อไปดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกแน่นอน  ความมั่นใจนี้เกิดจากประสบการณ์ในอดีตที่เราเคยเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเป็นประจำทุกวัน  เราจึงคิดเชื่อมโยงจากข้อมูลเก่าไปหาเหตุการณ์ในอนาคตว่ามันจะต้องเป็นเช่นเดิมอีกแน่นอน   

๕. เราไม่มีข้อสงสัยเลยว่าคนที่อยู่รอบข้างเรา ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือมิตรสหายก็ตาม  วันหนึ่งข้างหน้าไม่ช้าก็เร็วพวกเขาจะต้องตายอย่างแน่นอน  ถามว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าคนเหล่านั้นจะต้องตาย  ทั้งๆ ที่ความตายของพวกเขาเป็นเหตุการณ์วันข้างหน้าที่ยังไม่เกิดขึ้น  แน่นอนว่าเราคิดเอาตามหลักเหตุผลที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามนุษย์ทุกคนต้องตาย  รวมทั้งประสบการณ์ที่เราเคยเห็นคนตายมาแล้วหลายคน  เมื่อคนที่อยู่รอบข้างเราก็เป็นคนเหมือนกัน  พวกเขาจึงไม่มีทางหลีกเลี่ยงความตายไปได้ 

๖. คนสมัยโบราณมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าประจำธรรมชาติ  คือเชื่อว่าเบื้องหลังปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฝนตก  ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ล้วนมีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่คอยบงการอยู่เบื้องหลัง  ความเชื่อแบบนี้แม้คนรุ่นปัจจุบันจะมองว่างมงายไร้เหตุผล  แต่อย่าลืมว่านี้คือมรดกแห่งการคิดและการใช้เหตุผลอย่างหนึ่งของมนุษย์  พวกเขาอาจคิดเชื่อมโยงเชิงเหตุผลแบบง่ายๆ ว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ  จะต้องมีใครบางคนสร้างมันขึ้นมา  เช่นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันของพวกเขา  แม้ไม่รู้ว่าใครสร้างมันขึ้นมา  แต่ก็สามารถคิดเชื่อมโยงเอาได้ว่ามาจากฝีมือของใครบางคนแน่นอน  เพราะมันเกิดขึ้นเองลอยๆ โดยปราศจากคนทำไม่ได้  ปรากฏการณ์ธรรมชาติก็คือผลงานหรือผลผลิตอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับเครื่องใช้ไม้สอยอื่นๆ แต่เนื่องจากเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่เกินวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาสามัญจะทำได้  ดังนั้น ผู้ที่สร้างมันขึ้นมาจะต้องไม่ใช่มนุษย์  หากแต่คือผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์ นั่นคือเทพเจ้าประจำธรรมชาตินั่นเอง 

กล่าวโดยสรุป  การใช้เหตุผลก็คือกิจกรรมการคิดเชื่อมโยงออกไปจากข้อมูลที่เรามีหรือรู้ไปหาข้อมูลใหม่ที่เรายังไม่รู้นั่นเอง  ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานและเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์  อย่างไรก็ตาม  เมื่อพูดถึงหลักการใช้เหตุผลในฐานะเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่เรียกว่า “ตรรกวิทยา”(Logic) นั้น  ความจริงแล้วก็มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักคิดหรือรู้จักใช้เหตุผลนั่นเอง  จากความเชื่อนี้เราจึงสร้างกฎเกณฑ์และวิธีการที่จะทำให้การใช้เหตุผลนั้นเป็นไปด้วยความรอบคอบรัดกุมมากที่สุด  จนกลายเป็นที่มาของศาสตร์แห่งการใช้เหตุผลหรือตรรกวิทยาในปัจจุบัน  ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอรูปแบบการใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยาโดยภาพรวม ดังนี้[๒]

            ๑. การใช้เหตุผลแบบนิรนัย (Deductive Reasoning) หมายถึงการใช้เหตุผลแบบคิดเชื่อมโยงจากเรื่องใหญ่ไปหาเรื่องเล็ก หรือจากเรื่องสากลไปหาเรื่องเฉพาะ (from the universal to the specific) จากตัวอย่างเรื่องความตายที่ยกมาข้างต้น ก็คือการใช้เหตุผลแบบนิรนัยนี้เอง เพราะเราคิดจากหลักการที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “มนุษย์ทุกคนต้องตาย”  แล้วเราก็คิดเชื่อมโยงไปหากรณีเฉพาะคือคนที่อยู่รอบข้างเราว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน   ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าคนรอบข้างเราจะต้องตายในอนาคตแน่ๆ เขียนเป็นประโยคตรรกวิทยาได้ดังนี้

                        มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่ต้องตาย

                        คนรอบข้างเราเป็นมนุษย์

                        ดังนั้น  คนรอบข้างเราจะต้องตาย    

            จะเห็นว่า สองบรรทัดแรกเป็นข้ออ้างหรือข้อความเรายกขึ้นมาเป็นเหตุผลสนับสนุน  ส่วนบรรทัดสุดท้ายเป็นข้อสรุปที่เราถอดออกมาจากข้ออ้างในสองบรรทัดแรก  การใช้เหตุผลแบบนิรนัยนี้ถ้าหากข้ออ้างในสองบรรทัดแรกจริง  กล่าวคือถ้ามนุษย์ทุกคนต้องตายจริงๆ และคนที่อยู่รอบข้างเราก็เป็นมนุษย์จริงๆ ด้วย ข้อสรุปในบรรทัดที่สามจะต้องจริงอย่างแน่นอน  ไม่มีทางที่เราจะสรุปเป็นอย่างอื่นได้  อย่างไรก็ตาม การใช้เหตุผลแบบนี้แม้คำตอบจะดิ้นไม่ได้  แต่ก็มักถูกวิจารณ์ว่าไม่ทำให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมา  เพราะเป็นเพียงการดึงเอาความรู้เก่าที่มีอยู่แล้วออกมาพูดทวนซ้ำเท่านั้นเอง   กล่าวคือเรายอมรับตั้งแต่แรกแล้วว่า “มนุษย์ทุกคนต้องตาย”  ซึ่งการพูดแบบนี้ก็รวมเอาคนทุกคนไว้ในนั้นอยู่แล้ว  ไม่จำเป็นต้องคิดเชื่อมโยงไปหาใครอีกแล้วสรุปว่าเขาต้องตายแน่ๆ ให้เสียเวลาก็ได้  

            ๒. การใช้เหตุผลแบบอุปนัย (Inductive Reasoning) หมายถึงการใช้เหตุผลแบบคิดเชื่อมโยงจากเรื่องเล็กๆ หรือกรณีเฉพาะไปหาเรื่องใหญ่หรือหลักการสากล (From the specific to the universal) จากตัวอย่างเรื่องดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกที่ยกมาข้างต้น  ก็คือการใช้เหตุผลแบบอุปนัยนี้เอง  กล่าวคือเราคิดเชื่อมโยงจากประสบการณ์การขึ้นทางทิศตะวันออกของดวงอาทิตย์ที่เรามีอยู่จำนวนน้อย  การขึ้นของดวงอาทิตย์ในอดีตหลายล้านปีเราก็ไม่เคยเห็น  และการขึ้นของดวงอาทิตย์ในอนาคตอีกไม่รู้กี่ล้านปีเราก็ยังไม่เคยเห็นเช่นกัน  เราเพียงอาศัยประสบการณ์จำนวนน้อยที่เคยเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกแล้วคิดเชื่อมโยงต่อไปว่า วันพรุ่งนี้และวันต่อๆ ไปมันจะต้องขึ้นทางทิศตะวันออกอย่างนี้ตลอดไป  อีกตัวอย่างหนึ่งเช่นตะกร้าใบหนึ่งมีส้มจำนวน ๑๐๐ ลูก  เราอยากรู้ว่าส้มเหล่านี้หวานหรือเปรี้ยวจึงสุ่มหยิบส้มขึ้นมาชิมทีละลูกไปเรื่อยๆ จนครบ ๑๐ ลูก  ปรากฏว่าส้มสิบลูกที่เราชิมหวานทั้งหมด  เราจึงคิดเชื่อมโยงจากข้อมูลส้มสิบลูกไปหาส้มอีกเก้าสิบลูกที่ยังไม่ได้ชิมว่ามันมีรสหวานทั้งหมด  การใช้เหตุผลแบบอุปนัยนี้ไม่จำเป็นต้องถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนแบบนิรนัย  เป็นเพียงความน่าจะเป็นเท่านั้น (probability) เพราะเป็นเพียงการสรุปจากข้อมูลจำนวนน้อยให้ครอบคลุมข้อมูลจำนวนมากที่ยังไม่มี  ความถูกต้องจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลที่เราใช้เป็นฐานในการคิด  การใช้เหตุผลแบบอุปนัยนี้ถือว่าเป็นวิธีการใช้เหตุผลที่ทำให้เกิดความรู้ใหม่  และเป็นวิธีการแสวงหาความรู้ในวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น  เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ล้วนเกิดมาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ผ่านการพิสูจน์และทดสอบแล้วสรุปเป็นหลักการสากลทั่วไป   อย่างไรก็ตาม  การใช้เหตุผลแบบอุปนัยนี้มักถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสรุปเกินหลักฐานที่มีอยู่ในมือ  เพราะแทนที่เราจะสรุปว่าส้มสิบลูกที่ได้ชิมมีรสหวาน  กลับสรุปคลุมไปถึงส้มอีกเก้าสิบลูกที่ยังไม่ได้ชิมว่ามีรสหวานทั้งหมด  ดังนั้น ข้อสรุปของการใช้เหตุผลแบบนี้จึงมีความแน่นอนในระดับ “ความน่าจะเป็น” เท่านั้น

การใช้เหตุผลโดยรวมในพระพุทธศาสนา 

            เป็นที่ทราบกันดีว่า พระพุทธศาสนานั้นเน้นสอนให้คนมีปัญญา  ให้รู้จักคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ  ไม่ให้เชื่อถืออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล  ดังจะเห็นได้จากหลักธรรมหลายหมวด  เมื่อกล่าวถึงเรื่องศรัทธาหรือความเชื่อมักจะมีหัวข้อปัญญากำกับเอาไว้เสมอ  ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนศรัทธาอย่างเดียวจนงมงายไร้เหตุผล  หลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  ไม่ว่าจะเป็นหลักกรรม หรือหลักปฏิจจสมุปบาท  ก็เป็นหลักที่แสดงให้เห็นความเป็นเหตุเป็นผลตามกฎธรรมชาติ  ผู้ที่เชื่อในหลักกรรมหรือหลักปฏิจจสมุปบาท  ก็คือคนที่ยึดหลักความเป็นเหตุเป็นผลว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนี้จะทำให้เกิดผลอย่างนี้ตามมา  หลักธรรมของสัตบุรุษที่เรียกว่า “สัปปุริสธรรม” นั้น ก็เริ่มต้นด้วยหัวข้อที่ว่าด้วยความเป็นผู้รู้จักเหตุ (ธัมมัญญุตา) คือรู้แบบคิดเชื่อมโยงว่าเมื่อมีเหตุแบบนี้จะทำให้เกิดผลอะไรตามมา  และความเป็นผู้รู้จักผล (อัตถัญญุตา) คือรู้แบบคิดเชื่อมโยงว่าผลที่เกิดขึ้นนี้มาจากสาเหตุอะไร  ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ก็คล้ายกับการใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยาดังกล่าวมาแล้ว  พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ที่เป็นสัตบุรุษทั้งหลาย  ซึ่งหมายรวมถึงพระองค์เองด้วย  เป็นผู้ที่มีสัปปุริสธรรม ๗ ประการ  มีความเป็นผู้รู้จักเหตุรู้จักผลเป็นต้น  นั่นหมายความว่าความเป็นผู้รู้จักเหตุรู้จักผลหรือความเป็นผู้มีเหตุผลนั้นเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้าด้วย  หลักกาลามสูตรเป็นหลักธรรมที่สอนไม่ให้เราปลงใจเชื่อข้อมูลที่มาจาก ๑๐ แหล่ง  มีข้อมูลจากการใช้เหตุผลตามหลักตรรก (มา ตักกเหตุ) และการอนุมาน (มา นยเหตุ) อยู่ในจำนวนนั้นด้วย  มองผิวเผินเหมือนเป็นการปฏิเสธการใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยา  แต่การไม่ให้ปลงใจเชื่อข้อมูลสิบแหล่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลเหล่านั้นเชื่อถือไม่ได้เอาเสียเลย เป็นเพียงการย้ำเตือนให้เรารู้จักคิดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะปลงใจเชื่อนั่นเอง  ซึ่งถ้ามองอีกแง่หนึ่ง การไม่ให้ปลงใจเชื่ออะไรง่ายๆ ก็คือการสอนให้รู้จักใช้เหตุผลอย่างรอบคอบนั่นเอง  นอกจากนั้น หลักคำสอนที่ว่าด้วยบ่อเกิดแห่งปัญญา ๓ อย่าง คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง (สุตมยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการคิด (จินตามยปัญญา) และปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา (ภาวนามยปัญญา)  จะเห็นว่าจินตามยปัญญาหรือปัญญาที่เกิดจากการคิดตามหลักเหตุผลก็ถือว่าเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอย่างหนึ่งที่พระพุทธศาสนาให้การยอมรับ  จากหลักธรรมต่างๆ ที่ยกมา  พอที่จะสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนาส่งเสริมและสนับสนุนให้คนเรารู้จักใช้เหตุผล ความมีเหตุผลเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอย่างหนึ่งและป้องกันไม่ให้เราเชื่ออย่างงมงาย  นอกจากนั้น ความมีเหตุผลยังเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้าและสัตบุรุษทั้งหลายด้วย                      

 

การใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้า  

คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ถูกรวบรวมไว้ในรูปของพระไตรปิฎกนั้น  เป็นผลแห่งการนำหลักธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ออกเผยแผ่ให้ชาวโลกได้ทราบแล้วปฏิบัติตาม  แน่นอนว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าไม่ได้เกิดการนั่งคิดเอาตามหลักเหตุผลแล้วทำให้บรรลุธรรม  หากแต่เกิดจากการฝึกฝนตามลำดับจนเกิดปัญญาญาณหยั่งรู้ขึ้นภายใน  เมื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นผลมาจากการใช้เหตุผลอย่างมนุษย์สามัญทั่วไป  แล้วเราจะหาการใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้าในไตรปิฎกได้อย่างไร  อย่าลืมว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกนั้นเป็นผลแห่งการประกาศคำสอนแก่ชาวโลกของพระองค์  หรือเกิดจากการที่พระองค์นำหลักธรรมที่ได้ตรัสรู้ไปสื่อสารกับชาวโลกให้พวกเขาเข้าใจแล้วละความเชื่อเดิมมาเดินตามแนวทางของพระองค์  ซึ่งชาวโลกที่พระองค์เสด็จไปโปรดนั้นก็คือมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลอย่างที่อริสโตเติลบอกไว้  นอกจากนั้น กลุ่มคนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดส่วนใหญ่ก็มีศาสนาเดิมที่พวกเขานับถืออยู่แล้ว  การที่จะเปลี่ยนคนจากศาสนาเดิมให้หันมานับถือศาสนาใหม่ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องอาศัยการโน้มน้าวจูงใจหลายอย่างเพื่อให้พวกเขาเห็นคล้อยตาม  หนึ่งในนั้นก็คือการโน้มน้าวด้วยเหตุผลนั่นเอง  กล่าวได้ว่า การประกาศคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นกิจกรรมแห่งการชี้ทางหรือบอกทางให้คนเชื่อแล้วดำเนินตาม  ซึ่งจะต้องอาศัยพลังแห่งเหตุผลไม่มากก็น้อยในการโน้มน้าวให้คนฟังเชื่อตาม  ต่อไปนี้ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างข้อมูลที่แสดงถึงการใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก  โดยแบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ การใช้เหตุผลกับตนเอง และการใช้เหตุผลกับคนอื่น ดังนี้[๓]

๑. การใช้เหตุผลกับตนเอง

            การใช้เหตุผลกับตนเองในที่นี้หมายถึงการที่บุคคลใช้เหตุผลภายในตนเองเพื่อให้ตนเชื่อแล้วเลือกตัดสินใจกระทำการบางอย่าง  เช่นกรณีที่คนเกิดความขัดแย้งในใจตนเองโดยไม่รู้ว่าจะเลือกทางไหนดีระหว่างการนอนผักผ่อนอยู่ที่บ้าน กับการออกจากบ้านไปทำงาน  เขาพยายามคิดหาเหตุผลมาทำให้ตนเองเชื่อว่าทางเลือกอย่างหนึ่งดีกว่าแล้วตัดสินใจทำไปตามนั้น  ในพระไตรปิฎกมีเหตุการณ์เกี่ยวกับชีวิตของพระพุทธเจ้าหลายตอนที่สะท้อนให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้เหตุผลเพื่อพระองค์เองเช่นเดียวกัน  ดังตัวอย่างเหตุการณ์ต่อไปนี้

            (๑) การใช้เหตุผลตอนเกิดอุปมา ๓ อย่าง:[๔]  ช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชและกำลังแสวงหาทางหลุดพ้นอยู่นั้น  ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงครุ่นคิดอยู่กับตัวเองมากพอสมควรว่าจะทำอะไรอย่างไรถึงจะหลุดพ้นได้   หลักฐานในพระไตรปิฎกบอกว่า ขณะกำลังแสวงหาทางหลุดพ้นอยู่นั้น  พระองค์เสด็จจาริกไปในแคว้นมคธตามลำดับจนถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์  มีราวป่าน่าเพลินใจ  มีน้ำใสไหลเย็น  เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนา  จึงทรงเลือกที่แห่งนั้นเป็นที่บำเพ็ญเพียร  ขณะนั้นพระองค์ทรงเกิดความคิดแบบอุปมา ๓ อย่างดังนี้    (๑) ไม้สดมียางที่ยังแช่อยู่ในน้ำ  ไม่สามารถนำไปสีให้เกิดไฟได้  เปรียบเหมือนคนผู้ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ในใจด้วย  คลุกคลีอยู่ในกามคุณด้วย  ไม่สามารถจะพัฒนาปัญญาขึ้นมาได้  (๒) ไม้สดมียางวางอยู่บนบก  ก็ไม่สามารถนำไปสีให้เกิดไฟได้  เปรียบเหมือนคนที่มีกิเลสตัณหาอยู่ในใจ  แม้ไม่คลุกคลีในกามคุณก็ตาม  ก็ไม่สามารถพัฒนาปัญญาขึ้นมาได้ (๓) ไม้แห้งไม่มียางที่วางอยู่บน  สามารถนำไปสีให้เกิดไฟได้  เปรียบเหมือนคนที่ไม่มีกิเลสตัณหาในใจ  และไม่คลุกคลีในกามคุณด้วย  สามารถพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้นมาได้TP[๕]PT  เขียนให้เข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้

            อุปมาที่ ๑

            -ไม้สด + แช่อยู่ในน้ำ = สีให้เกิดไฟไม่ได้

            -คนมีกิเลส + คลุกคลีในกามคุณ = เกิดปัญญาตรัสรู้ไม่ได้

            อุปมาที่ ๒ 

            -ไม้สด + วางอยู่บนบก = ไม่อาจสีให้เกิดไฟได้

            -คนมีกิเลส + ไม่คลุกคลีในกามคุณ = เกิดปัญญาตรัสรู้ไม่ได้

            อุปมาที่ ๓ 

            -ไม้แห้ง + วางอยู่บนบก = สีให้เกิดไฟได้

            -คนไม่มีกิเลส + ไม่คลุกคลีในกามคุณ = เกิดปัญญาตรัสรู้ได้

 คนสมัยโบราณนั้น  เนื่องจากไม่มีไม้ขีดไฟเหมือนปัจจุบัน  เวลาก่อไฟเพื่อหุงหาอาหารนิยมเอาไม้แห้งมาสีกันให้เกิดความร้อนแล้วลุกเป็นไฟ  ไม้ที่สดและเปียกน้ำไม่มีทางที่จะนำมาสีกันแล้วทำให้เกิดไฟได้  พระพุทธเจ้าทรงทราบข้อมูลเรื่องนี้ดีจึงทรงสามารถคิดเชื่อมโยงตามแนวเหตุผลว่าไม้แบบไหนเมื่อนำมาสีกันแล้วทำให้เกิดไฟได้และแบบไหนทำให้เกิดไฟไม่ได้  จากข้อมูลตรงนี้ทำให้พระองค์ทรงคิดเชื่อมโยงไปถึงความหลุดพ้นของพระองค์ว่า ไม้สดที่แช่อยู่ในน้ำหรือวางอยู่บนบกก็ตาม  นำมาสีกันอย่างไรก็เกิดไฟไม่ได้  คนมีกิเลสที่ยังคลุกคลีอยู่ในกามคุณหรือไม่ได้คลุกคลีก็ตาม  บำเพ็ญเพียรอย่างไรก็บรรลุธรรมไม่ได้  ไม้ที่แห้งและไม่เปียกน้ำเท่านั้น  จึงสามารถนำมาสีกันให้เกิดไฟได้  คนที่ไม่มีกิเลสและไม่คลุกคลีอยู่ในกามคุณเท่านั้น  จึงจะบำเพ็ญเพียรให้บรรลุธรรมได้  กล่าวได้ว่าความคิดแบบอุปมา ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงใช้เหตุผลกับพระองค์เองเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกเดินตามเส้นทางแบบใดถึงจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้      

            (๒) เหตุผลที่ไม่แสดงธรรมโปรดสัตว์ตอนแรก: เหตุการณ์ช่วงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ  และกำลังเสวยวิมุตติสุขอยู่นั้น  ทรงทบทวนธรรมที่ได้ตรัสรู้คือปฏิจจสมุปบาทกลับไปกลับมา  ทรงเกิดความคิดขึ้นว่าธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นเป็นของประณีตลึกซึ้งยิ่งนัก  เกินกว่าที่จะเข้าใจได้ด้วยการคิดตามหลักเหตุผล ผู้ที่เป็นบัณฑิตเท่านั้นถึงจะเข้าใจได้  ส่วนหมู่สัตว์ผู้หนาแน่นพอกพูนด้วยกิเลสตัณหาไม่มีทางที่จะเข้าใจได้  ดังข้อความที่ว่า “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้  ลึกซึ้ง  เห็นได้ยาก  รู้ตามได้ยาก  สงบ  ประณีต  ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก  ละเอียด  บัณฑิตพิงรู้ได้  สำหรับหมู่ประชาชนผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย  ยินดีในอาลัย  เพลิดเพลินในอาลัย  ฐานะนี้อันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก…” [๖] จากความคิดนี้ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรมโปรดสัตว์ในช่วงเวลานั้น  จะเห็นว่าการใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้าได้นำไปสู่การตัดสินใจทำอะไรบางอย่างคือการไม่แสดงธรรม  จากเหตุการณ์ตรงนี้ วิธีการใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้าก็คือ ทรงคิดเชื่อมโยงว่าธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้มีความประณีตลึกซึ้งยิ่งนัก  ธรรมที่ลึกซึ้งย่อมเหมาะสมแก่ที่มีปัญญาลึกซึ้งเท่านั้นคือผู้เป็นบัณฑิต  สรุปว่าบัณฑิตเท่านั้นเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะฟังธรรมของพระองค์  ส่วนสัตว์โลกนั้นเป็นผู้ที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลสชนิดที่ตรงกันข้ามกับธรรมอันลึกซึ้งของพระองค์เลยทีเดียว  ธรรมที่ลึกซึ้งแบบนี้จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งกับคนที่ยังมืดบอดด้วยอวิชชา  ดังนั้น  จึงไม่ควรแสดงธรรมในเวลานั้น  เพราะถึงแสดงอย่างไรก็เข้าถึงจิตใจของผู้ยังหนาแน่นด้วยกิเลสได้อยาก 

            (๓) เหตุผลในการแสดงธรรมโปรดสัตว์:[๗] อย่างไรก็ตาม  ความคิดที่จะไม่แสดงธรรมโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้านั้นเกิดขึ้นในบริบทที่พระองค์กำลังพิจารณาปฏิจจสมุปบาทว่าเป็นของประณีตและลึกซึ้ง  อยากที่หมู่สัตว์ผู้หนาแน่นด้วยกิเลสจะเข้าใจได้  ซึ่งถ้าคิดในกรอบของบริบทนี้ก็ถือว่ามีเหตุผลแล้วที่พระองค์จะไม่แสดงธรรม  ต่อมาเมื่อมีพรหมมาอาราธนาให้แสดงธรรม (พรหมในที่นี้บางท่านตีความว่าหมายถึงเสียงเตือนแห่งพรหมวิหารธรรมภายในพระทัยของพระองค์) พระองค์จึงทรงเกิดความคิดใหม่และนำไปสู่การตัดสินใจใหม่ด้วย  กล่าวคือพระองค์ทรงเกิดความคิดว่าหมู่สัตว์ในโลกนั้นมีอุปนิสัยแตกต่างกัน  พวกที่มีธุลี(กิเลส)ในจักษุมากก็มี  มีธุลีในจักษุเบาบางก็มีอยู่  มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี  มีอินทรีย์อ่อนด้อยก็มี  อุปมาเหมือนดอกบัวในน้ำที่มีหลายระดับ  ดอกบัวบางเหล่าโผล่พ้นน้ำพอได้รับแสดงอาทิตย์ก็เบ่งบาน  บางเหล่าอยู่เสมอน้ำจะเบ่งงานในวันถัดไป  บางเหล่าอยู่ใต้น้ำรอเวลาที่จะเบ่งบานในวันต่อๆ ไป    ดอกบัวในน้ำมีระดับสูงต่ำแตกต่างกัน  แต่ละระดับมีโอกาสที่จะเบ่งบานได้  แต่ต้องใช้เวลามากน้อยไม่เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับระดับสูงต่ำของดอกบัวนั้นๆ  หมู่สัตว์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน  ทุกคนมีโอกาสที่จะบรรลุธรรมได้  แต่จะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับอุปนิสัยและอินทรีย์ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล   จะเห็นว่า จากการใช้เหตุผลเชิงเปรียบเทียบดังกล่าวนี้ทำให้พระพุทธเจ้าเปลี่ยนพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก  อย่างไรก็ตาม  บางท่านอาจคิดว่าพระพุทธเจ้าทรงเปลี่ยนพระทัยมาแสดงธรรมตามคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหมมากกว่า  ผู้เขียนมองว่าเหตุผลนี้ก็ถือว่ามีส่วนจริงอยู่บ้าง  แต่คงไม่ใช่ทั้งหมดที่นำไปสู่การเปลี่ยนพระทัย    เหตุผลหลักมาจากการที่พระองค์ทรงใช้เหตุผลเองว่าสัตว์โลกมีสติปัญญาแตกต่างกันหลายระดับ  เหมือนดอกบัวในน้ำที่มีหลายระดับ (มีต่อตอน ๒)

 

หมายเลขบันทึก: 395748เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้า

ช่วงนี้คนตายติดๆๆๆๆกันเยอะมากค่ะ

เหตุผลคือ คนเกิดมาต้องตาย

เจริญพร คุณไผ่ไม่มีกอ

อาตมาขอความรู้นิดหนึ่ง เนื่องจากเพิ่มเข้ามาสมัครเลยไม่รู้วิธีการเปลี่ยนรูปใหม่ พยายามเปลี่ยนแต่ก็ยังเห็นรูปเดิมอยู่ ทำยังไงดี

พระมหาสมบูรณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท