นปส.55 (50): แม่ของสองฝั่ง


จอห์น แม๊กเวลล์ กล่าวไว้ว่า “ไม่มีองค์กรใดก้าวหน้าและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวคิดและวิธีการทำงานแบบเดิมๆ เพราะความสำเร็จในอนาคตจำเป็นต้องใช้แนวความคิดใหม่ๆและความก้าวหน้า” สังคมยุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว “ยิ่งใหญ่ยิ่งได้เปรียบ (Economy of scale)” ใช้ไม่ได้แล้วต้อง “ยิ่งเร็วยิ่งได้เปรียบ (Economy of speed)”

(50): แม่ของสองฝั่ง

การดูงานอีสานและเวียดนามบนเส้นทางพื้นที่ที่ผู้คนมีวิถีชีวิตผูกพันใกล้ชิดอยู่กับแม่น้ำโขง แม่น้ำสายใหญ่ที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านมณฑลชิงไห่ ประเทศจีนและที่ราบสูงธิเบต ไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ผ่านประเทศจีน ลาว เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีความยาวทั้งหมด 4,880 กิโลเมตร อยู่ในประเทศจีน 2,130 กิโลเมตร ช่วงที่ไหลผ่านจีนเรียกว่า แม่น้ำหลานชาง (ล้านช้าง) และเมื่อไหลเข้าเมียนมาร์และลาว เรียก แม่น้ำของ ในไทยเรียก แม่น้ำโขง เป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาวด้วย มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 759,00ตร.กม.ปริมาณน้ำเฉลี่ย2,506.6 ล้านลบ.เมตร

ลักษณะสำคัญของแม่น้ำโขงคือ มีตลิ่งที่สูงชันมากทั้งสองฝั่ง ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา กระแสน้ำจะไหลจากทางเหนือลงสู่ทางใต้ตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ความเร็วของกระแสน้ำขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล ดินในแม่น้ำโขงเป็นดินทราย มีเกาะแก่งน้อยใหญ่กว่าหนึ่งร้อยแห่งเรียงรายตลอดแม่น้ำ ทำให้ได้รับการขนานนามว่า แม่น้ำดานูบตะวันออก สัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญและพบได้เฉพาะในแม่น้ำโขงได้แก่ ปลาบึก นึกถึงคำประพันธ์ “ของสองฝั่ง” ที่นายผี (อัศนี พลจันทร) เขียนไว้อย่างงดงามทางวรรณศิลป์และวิถีชีวิตว่า

ตลิ่งของสองข้างทางน้ำของ                   แม้ยืนมองดูยังคอตั้งบ่า

เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา                         แต่ตีนท่าลื่นลู่ดั่งถูเทียน

เหงื่อที่กายไหลโลมลงโทรมร่าง                   แต่ละย่างตีนยันสั่นถึงเศียร

อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน         ก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย

การดูงานที่อุดรธานี มีเจ้าถิ่นที่อยู่ในรุ่นเรา ช่วยกันดูแลด้วยเช่น พี่ปี๊ด (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุดรธานี) พี่รงค์ และพี่สมฤกษ์

พี่รงค์หรือวรงค์ คลังเงิน ท้อถิ่นจังหวัดอุดรธานี เป็นคนน่ารักน่าคบ มนุษยสัมพันธ์ดี พูดน้อยแต่เป็นมิตร เป็นกันเอง ไม่เรื่องมาก มีน้ำใจกับเพื่อนฝูง สีหน้าเปี่ยมด้วยรอยยิ้มเสมอ

พี่สมฤกษ์ บัวใหญ่ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดหนองคาย เป็นคนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นกันเอง มีความเป็นมิตร ให้เกียรติคนอื่นๆ พูดน้อยแต่ยิ้มมาก ไม่ถือตัว รับฟังความคิดของผู้อื่น อ่อนโยน สุภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2553 ถูกปลุกตื่นแต่ตีห้า เตรียมตัวเดินทาง ตีห้าครึ่งรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม หกโมงเช้านั่งรถบัสเดินทางไปท่าเรือท่าด่าน เทศบาลนครพนม ลงเรือโดยสารข้ามฟากไปเมืองท่าแขก ประเทศลาว เรือลำใหญ่พอควรใช้เวลาราว 20 นาทีก็ถึงฝั่งลาว ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ร้านค้าต่างๆยังคงปิดทำการเพราะยังเช้าอยู่มาก บริการของทัวร์เริ่มออกอาการว่าไม่น่าจะดีเท่าไหร่ ไม่มีไกด์ไทยมาช่วยอำนวยความสะดวก มีเพียงเจ้าของที่มาเดินดูๆทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยวในกลุ่มเรา ไม่ได้ช่วยบริการพวกเราเท่าไหร่ ด่านท่าแขกเป็นด่านเข้าเมืองเล็กๆบนตลิ่งฝั่งน้ำโขง (ของ)

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People's Democratic Republic) เป็นประเทศที่ ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนติดจีนและพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดต่อกับไทยทางทิศตะวันตก แบ่งเขตการปกครองเป็น 16 แขวง ผมเคยเขียนเล่าไว้แล้วตอนก่อนที่ http://gotoknow.org/blog/practicallykm/388886

ท่าแขกเป็นเมืองหลวงของแขวงคำม่วน ตั้งอยู่ระหว่างแขวงบอลิคำไซและสะหวันนะเขต ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนมทางทิศตะวันออกโดนมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติขวางกั้น ได้ชื่อว่า “เมืองแห่งผืนป่าและธรรมชาติ

แขวงคำม่วน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ลาว ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 แขวงนี้เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักฟูนันและเจนละมีชื่อว่า “ศรีโคตรบูรณ์” ต่อมาฝรั่งเศสยกทัพมายังเมืองศรีโคตรบูรณ์ในปี ค.ศ. 1910 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าแขก” ทำให้พบตึกสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสหลายแห่ง แขวงคำม่วนอยู่ห่างจากนครเวียงจันทร์ลงมาทางทิศใต้ 350 กิโลเมตร เป็นเมืองศูนย์กลางการเดินทางและเป็นด่านที่สำคัญแห่งหนึ่ง

เป็นที่ราบริมโขง มีหมู่บ้านหลายแห่ง ตอนกลางแขวงมีภูเขาสูงที่สุดชื่อ “ภูผาเป็ด” สูงราว 1,558 ฟุต มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำมูน แม่น้ำเทือน แม่น้ำหินบูน แม่น้ำเซบั้งไฟและแม่น้ำเซบั้งน้อย แขวงคำม่วนแบ่งออกเป็น 4 อำเภอ มีประชากรทั้งหมดจำนวน 111,971 คน ส่วนใหญ่เป็นลาว พวน ผู้ไท กะโซ้ แสก ย้อ และญวน มีป่าสงวนที่สำคัญ 2 แห่งคือ ภูหินปั้น และนากาย-น้ำเทิน เป็นป่าสงวนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นับเป็นแขวงที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ที่สุด

กิจกรรมท่องเที่ยวในแขวงคำม่วนส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองท่าแขก มีการชมวัด ตัวเมือง อาคารสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส และวัดศรีโคตรบูรณ์ วัดเก่าริมแม่น้ำโขง นอกตัวเมืองท่าแขกเป็นการเที่ยวธรรมชาติ ชมถ้ำพระซึ่งต้องพายเรือแจวเข้าไปและเที่ยวถ้ำนกนางแอ่นได้

คณะเราขึ้นรถบัสสองคัน มีไกด์ลาวคันละคน ไม่มีไกด์ไทยเลย เจ้าของทัวร์อ้างว่าไกด์ไทยป่วยมาไม่ได้แล้วก็ทำเฉยไป ไกด์ลาวคันที่ผมนั่งเป็นผู้หญิงชื่อเป็ด พูดไทยได้ดี ภาษาทันสมัย แต่ก็แยกยากเพราะคำไทยกับคำลาวคล้ายๆกัน มีไกด์เวียดนามชื่อแก้วตา หน้าตาน่ารักเข้าขั้นสวย เอวบางร่างน้อย กำลังเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจที่ราชภัฏอุบลราชธานี เป็นคนที่เก่ง พูดไทยได้ดีมาก ฉลาดทันคน อีกคันหนึ่งชื่อยิ้ม เรียนที่ราชภัฏนครพนม ช่วงที่อยู่ในลาว ไกด์ลาวก็จะทำหน้าที่แนะนำสถานที่และพูดคุยคอยดูแลพวกเรา

รถบัสพาเราวิ่งไปบนถนนลาดยางสองเลนที่รถสวนกันได้ ลัดเลาะไปตามแนวป่าเขา ได้เพลิดเพลินชื่นชมธรรมชาติและทิวทัศน์สองข้างทาง ที่แทบไม่มีบ้านคนหรือมีน้อยมาก นานๆจะผ่านหมู่บ้านชาวลาวภูเขาหรือลาวสูง ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 9 ของประชากรลาวทั้งประเทศ การเดินทางยาวนานมากใช้เวลาเกือบสามชั่วโมงเข้าสู่ด่านลาวเวียดนามที่เมืองดงฮา จังหวัดกวางตรี ตอนเที่ยงวัน หยุดพักทานอาหารกลางวันร้านอาหารที่เมืองดงเหย รถพาพวกเราเดินทางทำเวลาได้ดีถึงก่อนกำหนดเกือบสองชั่วโมง เนื่องมาจากพวกเราตรงเวลากันมากและรถบัสวิ่งเร็วมาก

ทานอาหารเสร็จเดินทางต่ออีก 1 ชั่วโมงไปถึงอุทยานแห่งชาติฟองญา-เคบัง ตอนบ่ายสองโมงเย็น พวกเราใช้เวลา 1 ชั่วโมง ล่องเรือไปตามลำน้ำซอน เข้าไปในถ้ำฟองญา เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2546 อยู่ในอำเภอโบจักห์และอำเภอมินห์หัว จังหวัดควงบินห์ ห่างจากฮานอยมาทางใต้ 500 กิโลเมตร เป็นกลุ่มหินปูน ขนาดพื้นที่ 857.55 ตารางกิโลเมตร มีความสวยงามของถ้ำที่มีจำนวนมาก และเป็นสถานที่ 1 ใน 2 ของโลกที่เป็นหินปูนที่มีลำธารใต้ดินขนาดใหญ่

เรือที่พวกเรานั่งนั้นเป็นเรือหางยาวขนาดใหญ่ มีหลังคา มีที่นั่งสองแถว พอเข้าถึงปากถ้ำจะดับเครื่องยนต์และใช้คนพายเรือแทน พอเข้าไปในถ้ำจะมีหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่เล็ก สวยงาม ตามแต่ละคนจะคิดและจินตนาการ ในถ้าค่อนข้างมืด เข้าไปจนถึงบริเวณที่เป็นลานขนาดใหญ่ ก็ให้ขึ้นจากเรือไปถ่ายรูปกันได้ แต่ค่อนข้างมืดมาก การประดับไฟยังทำได้ไม่ดีเหมือนถ้ำที่เมืองจีน

บ่ายสามโมง เดินทางต่อไปตามเส้นทางลาดยางเล็กๆ แต่รถวิ่งเร็วมากและซิ่งพอสมควรพร้อมกับเสียงบีบแตรดังลั่นไปเกือบตลอดทาง สองข้างทางมีทั้งป่าเขาต้นไม้และบ้านเมืองเป็นระยะๆ แต่ดูจะเจริญกว่าในเขตลาว หลายคนนั่งหลับพักผ่อนด้วยความอ่อนเพลีย ในขณะที่บางคนหลับไม่ลงเพราะนั่งลุ้นไปกับคนขับรถด้วยเพราะซิ่งได้สะใจดี น้องแก้วตาก็ส่งเสียงพูดคุยให้ข้อมูลเป็นระยะๆ สังเกตว่า คณะเราสนใจการพูดคุยบอกเล่าของน้องแก้วตามากกว่าน้องเป็ด แถมมีการแซวกันเรียกเสียงเฮฮาได้เป็นระยะๆ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงก็ถึงเมืองเว้ตอน 6 โมงเย็นและแวะรับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคารในเว้

หนึ่งทุ่ม แก้วตาพาคณะเราไปลงเรือชมมโหรีเว้ ล่องไปตามลำน้ำหอม (ซงเฮือง) มีนักดนตรีพื้นเมือง 4 คนและนักร้องสาวสวยในชุดอ๋าวใหญ่ 4 คน บนเรือมีสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกขายพร้อมดอกกุหลาบที่ให้นักท่องเที่ยวซื้อมอบให้แก่นักร้องนักแสดงด้วย สองทุ่มเข้าที่พัก Century Hotel พักผ่อนตามอัธยาศัย ผมพาภรรยาออกเดินเที่ยวชมสินค้าที่ถนนหน้าโรงแรมได้สักพัก ฝนก็เริ่มตกลงมา จึงต้องรีบกลับโรงแรมที่พัก นอนเก็บเรี่ยวแรงไปเที่ยวต่อพรุ่งนี้ คืนแรกในเวียดนามโชคดีที่ได้นอนห้องวีไอพีค่อนข้างหรูมาก ต้องขอบคุณพี่เล็ก (ศุภวัชร) ที่เปลี่ยนห้องให้เพราะเห็นว่าเป็นเตียงเดี่ยว

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของไทย ถัดจากลาวและกัมพูชาไปทางทิศตะวันออก มีพรมแดนติดจีนทางทิศเหนือ ลาวและกัมพูชาทางทิศตะวันตก และอ่าวตังเกี๋ย ทะเลจีนใต้ ทางทิศตะวันออก  เมืองหลวงชื่อ ฮานอย  เมืองใหญ่สุดคือ โฮจิมินห์ซิตี้หรือไซ่ง่อน

ปี พ.ศ. 2488 โฮจิมินห์รับมอบอำนาจจากจักรพรรดิบ๋าวได่ เป็นประธานาธิบดีคนแรก แต่ฝรั่งเศส กลับเข้ามาขับไล่รัฐบาลของโฮจิมินห์และไม่ยอมรับเอกราชของเวียดนาม นำไปสู่สงครามจนในที่สุดฝรั่งเศสแพ้แก่กองกำลังเวียดมินห์ที่ค่ายเดียนเบียนฟู ในปี 2497 และทำสนธิสัญญาเจนีวายอมรับเอกราชของเวียดนาม

แต่สหรัฐอเมริกาและชาวเวียดนามภาคใต้บางส่วนไม่ต้องการรวมกับรัฐบาลของโฮจิมินห์ ได้ตั้งเวียดนามภาคใต้เป็นอีกประเทศหนึ่ง คือ สาธารณรัฐเวียดนาม (เวียดนามใต้) มีไซ่ง่อนเป็นเมืองหลวง ใช้เส้นละติจูดที่ 17 องศาเหนือแบ่งแยกกับเวียดนามเหนือ ต่อมากองกำลังเวียดนามเหนือและเวียดกงสามารถยึดไซ่ง่อนและเวียดนามใต้ได้ทั้งหมดในปี 2518 การรวมเวียดนามทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันเกิดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม 2519 และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

เมืองเว้ (Hue) เป็นเมืองเอกของจังหวัดถัวเทียน-เว้ และเคยเป็นเมืองหลวงเก่าในสมัยราชวงศ์เหงียน ช่วงปี พ.ศ. 2345-2488 มีชื่อเสียงจากโบราณสถานที่มีอยู่ทั่วเมือง จำนวนประชากรอยู่ที่ประมาณ 340,000 คน ตั้งอยู่ในเวียดนามตอนกลาง ริมฝั่งแม่น้ำหอม ห่างจากริมฝั่งทะเลจีนใต้ 2-3 ไมล์ ห่างจากกรุงฮานอยไปทางใต้ 540 กิโลเมตร และห่างจากโฮจิมินห์ซิตี้ไปทางเหนือ 644 กิโลเมตร

ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเป็นที่ตั้งของพระราชวังเว้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของย่านประวัติศาสตร์ โบราณสถานและวัดสำคัญ ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำเป็นเมืองใหม่ มีย่านธุรกิจและที่พักอาศัยมากมาย สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเว้จะเป็นป้อมปราการ พระราชวังหลวง และสุสานจักรพรรดิ โบราณสถานในเมืองเว้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2536 ปัจจุบันเว้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของเวียดนาม

เว้เคยเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์เหงียน ซึ่งปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเวียดนามตอนใต้ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-19 จนถึงปี พ.ศ. 2488 เมื่อจักรพรรดิบ๋าวได๋ทรงสละราชสมบัติ และมีการตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นที่ฮานอย ทางตอนเหนือของเวียดนาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 จักรพรรดิบ๋าวได๋ทรงได้รับการช่วยเหลือจากชาวฝรั่งเศสในอาณานิคม และทรงก่อตั้งเมืองหลวงใหม่ คือ ไซ่ง่อน ทางใต้ของประเทศ

ในช่วงสงครามเวียดนาม เว้อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับอาณาเขตระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ โดยเว้อยู่ในอาณาเขตของเวียดนามใต้ ในปี พ.ศ. 2511 ตัวเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะโบราณสถานหลายแห่งที่ระดมยิงและถูกระเบิดจากกองทัพอเมริกัน หลังสงครามสงบลงโบราณสถานก็ยังไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เพราะกลุ่มผู้นำคอมมิวนิสต์และชาวเวียดนามบางส่วนมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของระบอบศักดินาในอดีต แต่ตอนหลังก็เริ่มมีการบูรณะโบราณสถานบางส่วน

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2553 ตื่นหกโมงเช้า ไม่เร่งรีบมาก เก็บกระเป๋าเดินทางต่อตอน 8 โมงเช้า หลังทานอาหารเช้าที่โรงแรมแล้ว ไปเยี่ยมชมพระราชวังเว้ มรดกโลกทางวัฒนธรรม ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเหือง สร้างตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือ  พระราชวังเว้มีลักษณะพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง 2 กิโลเมตร มีคูเมือง และกำแพงเมืองล้อมรอบ และใช้แม่น้ำเหืองเป็นปราการด้านตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนน้ำในคูเมืองนั้นก็ขุดคูเมืองเชื่อมกับแม่น้ำทางมุมเมืองทิศเหนือและใต้ ภายในจะเป็นกลุ่มอาคารมากกว่า 40 หลัง ประกอบด้วยประตูเมือง ราชสำนัก วัง วัด บ้านเรือนของข้าราชการต่าง ๆ โดยมีส่วนสำคัญถึงบริเวณแกนกลาง

พระราชวังเว้สร้างขึ้นหลังจากที่ขุนนางตระกูลเหงียน (เหงียนอันท์)ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เกียลอง (พระเจ้าญาลอง) ในปี พ.ศ. 2345  มีการปรับปรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมโดยกษัตริย์มินหม่างในปี พ.ศ. 2377 และกษัตริย์ข่ายดินห์ ระหว่างปี พ.ศ. 2459-2468

แนวกำแพงโบราณเมืองเว้ มีซุ้มประตูขนาดใหญ่ทรงคล้ายๆเก๋งจีน ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ซุ้มประตูหน้าพระราชวังชื่อว่าเฮียนยาน เป็นประตูด้านตะวันออกของพระราชวัง ตกแต่งประดับเศษกระเบื้องเคลือบชิ้นเล็กๆ ประกอบเป็นลวดลายแบบต่างๆทั้งรูปคน สัตว์ ดอกไม้ ตลอดไปจนถึงทิวทัศน์ธรรมชาติ ที่สำคัญคือลวดลายรูป “มังกรห้าเล็บ” ประดับด้วยเครื่องลายครามสีน้ำเงิน ทำท่าเผ่นผยองอยู่เหนือช่องประตู เพื่อข่มขู่สิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปกล้ำกรายจักรพรรดิได้

พระราชวังไดนอย แปลว่า “พระราชวังจักรพรรดิ” เริ่มสร้างในรัชกาลจักรพรรดิยาลอง เมื่อประมาณสองร้อยปีมาแล้ว สร้างขึ้นตามแบบพระราชวังกู้กง “นครต้องห้าม” ที่กรุงปักกิ่ง แต่ย่อส่วนให้มีขนาดให้เล็กลง พระราชวังแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการปกครองของเวียดนาม และเป็นที่ประทับของจักรพรรดิราชวงศ์เหงียนทุกพระองค์ จนกระทั่งจักรพรรดิเบ๋าได๋เป็นองค์สุดท้าย

ประตูทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประตูหน้าของพระราชวังชื่อว่าประตูโงมอน (ประตูเที่ยงวัน) เป็นประตู 3 ช่อง มีช่องทางหลักอยู่ตรงกลาง ด้านบนสร้างเป็นอาคารที่ประทับของจักรพรรดิแบบจีน ที่ปีกของอาคารแต่ละด้านเป็นป้อม พลับพลาเหนือประตูด้านขวามีกลองใหญ่ตั้งอยู่และด้านซ้ายมีระฆังโบราณ ที่ใช้ตีบอกเวลา ระฆังใบนี้มีลายประดับเป็นรูปหมู่ดาวต่างๆ ตามหลักวิชาดาราศาสตร์

ถัดจากประตูเที่ยงวันเข้าไปข้างในเป็นสระน้ำ เรียกว่า สระไท้ดิ๊ก มีสะพานต่อจากประตูกลางข้ามสระเรียกว่าสะพานตรังด๋าว เมื่อพ้นซุ้มเล็ก ๆ ไปเป็นอาคารพระที่นั่งท้องพระโรงไท้ฮวา ที่ตั้งพระราชบัลลังก์ของจักรพรรดิและเป็นดั่ง “ศูนย์กลางแห่งจักรวาล” ในโลกทัศน์ของราชสำนักเวียดนามเมื่ออดีต ใช้เป็นท้องพระโรง สำหรับจักรพรรดิเสด็จออกว่าราชการ และประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมถึงการเสด็จออกรับราชทูตที่มาเจริญสัมพันธไมตรีจากราชอาณาจักรอื่นๆ

ใจกลางห้องโถงท้องพระโรงเป็นที่ตั้ง “พระราชบัลลังก์มังกร” สัญลักษณ์แห่งเดชานุภาพของราชวงศ์เหงียน ที่ปกครองแผ่นดินเวียดนามตลอดตั้งแต่อ่าวตังเกี๋ยจรดปากแม่น้ำโขง มีจักรพรรดิ 13 พระองค์ประทับว่าราชการตั้งแต่ ค.ศ. 1802-1945 เสาลายมังกรในห้องโถงพระที่นั่งมีลวดลายจากเทคนิคการ “ปิดแผ่นเงิน” บนพื้นที่เคลือบยางรักอย่างดี ไม่ใช่ลายเขียนสี ส่วนพระราชฐานชั้นในได้ปรักหักพังไปหมดเหลือเพียงแต่ซากให้จินตนาการเอาเอง ความรู้เกี่ยวกับพระราชวังนี้ได้รับการอนุเคราะห์จากพี่ก๊อด (พีรพน) ต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ครับ

ซากแห่งประวัติศาสตร์ที่ได้เห็น ทำให้นึกถึงประโยคหนังสือผู้นำ 360 องศาที่ได้อ่าน จอห์น แม๊กเวลล์ กล่าวไว้ว่า “ไม่มีองค์กรใดก้าวหน้าและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวคิดและวิธีการทำงานแบบเดิมๆ เพราะความสำเร็จในอนาคตจำเป็นต้องใช้แนวความคิดใหม่ๆและความก้าวหน้า” สังคมยุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว “ยิ่งใหญ่ยิ่งได้เปรียบ (Economy of scale)” ใช้ไม่ได้แล้วต้อง “ยิ่งเร็วยิ่งได้เปรียบ (Economy of speed)

หมายเลขบันทึก: 395377เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 07:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กรุณาตรวจทานชื่อ "นายผี" อีกสักครั้งได้ไหมครับ ว่าควรเป็น "อัศนี พลจันทร" หรือไม่?

เรียนคุณmputtipong

ขอบคุณมากครับที่ช่วยทักท้วง ได้ตรวจสอบและแก้ไขจาก "อัสนีย์ พลจันทร์" เป็น "อัศนี พลจันทร" แล้ว ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท