Teacher isn't just a presenter!


ครูต้องไม่ขายแต่ความเชื่อให้เด็กๆ แต่ควรให้เด็กๆได้รับรู้ถึงความจริง ข้อเท็จจริงต่างๆอันเป็นรากเหง้าที่มาของความเชื่อนั้นด้วย โดยทำเรื่องที่ยากต่อความเข้าใจ (นามธรรม) ให้เห็นเป็นภาพ (รูปธรรม) ให้ได้

       จากเด็กน้อยคนหนึ่งที่มีความคิดอันสดใสและบริสุทธิ์ ปราศจากการปรุงแต่งด้วยสิ่งที่เป็นกิเลส และตัณหา นับตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลกคุณครูสองท่านแรกนั่นก็คือ คุณแม่-คุณพ่อเฝ้าเลี้ยงดูอบรมฝึกฝนให้คืบ คลาน ตั้งไข่ และเดินจนเด็กน้อยเกิดทักษะมีพัฒนาการเป็นไปตามช่วงวัยอย่างเหมาะสม จนเข้าสู่วัยศึกษาเรียนรู้ เด็กน้อยก็จะได้พบกับคุณครูที่ไม่ได้เป็นญาติผู้ใหญ่ ไม่ได้เป็นคนที่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อน แต่ท่านเหล่านั้นกลับมีความรักความเอ็นดูพวกเด็กๆดูแลเอาใจใส่อาจจะไม่ต่างอะไรกับลูกหลานของท่าน ปฏิบัติกับพวกเด็กๆด้วยเมตตาธรรม นี่คือครูที่มีจิตวิญญาณในความเป็นครูโดยแท้ 

       สมัยผมยังเป็นเด็กน้อย ผมก็ไม่เคยซาบซึ้งในสิ่งต่างๆเหล่านี้เลย ตรงข้ามผมกลับมีความรู้สึกว่า ทำไมเราต้องมาอยู่กับใครก็ไม่รู้ที่เราไม่เคยรู้จัก ชอบบังคับให้เราทำนั่นทำนี่ในสิ่งที่เราไม่อยากทำเลย จนผมเติบโตขึ้นความรู้สึกต่อคุณครูก็ไม่ได้ดีขึ้นเลยเพราะผมอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายอยู่บ้าง เช่น ถูกครูทำโทษโดยไม่ทราบเหตุผล (เกิดอาการคับข้องใจ) , ถูกคุณครูขัดใจในบางสิ่งบางอย่างที่ผมต้องการจะทำ (เกิดอาการไม่ได้ดั่งใจ) , ถูกคุณครูใช้คำพูดที่ตรงเกินไป (เกิดอาการรับไม่ได้) ที่สำคัญตอนสอบก็ดันออกข้อสอบไม่ได้ตรงกับสิ่งที่คุณครูได้สอนเลย (ความเข้าใจของผมตอนนั้นคำว่าตรงก็คือ ต้องออกให้เหมือนแบบฝึกหัดที่คุณครูได้ให้ทำในห้อง เปลี่ยนเฉพาะตัวเลขอะไรประมาณนั้น) 

       จนถึงวันนี้ผมทำหน้าที่เป็นผู้สอน,ผู้ถ่ายทอด ซึ่งไม่ต่างอะไรกับบทบาทของความเป็นครูที่สอนอยู่ในระบบการศึกษา เพียงแต่กลุ่มผู้เรียนของผมนั้นเป็นคนที่ทำงานจริง วิถีจริง ชีวิตจริง (ไม่ใช้ตัวแสดงแทน) ของจริงทั้งนั้น แต่ผมก็ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าวันหนึ่งผมจะไปเป็นครูให้พวกเด็กๆโดยเฉพาะพวกเด็กๆที่เขากำลังจะก้าวออกมาเผชิญชีวิตในโลกแห่งการทำงานจริง การสอนคนที่ทำงานแล้วนั้นความยากอยู่ตรงที่ เราต้องต่อสู้กับความเชื่อ ค่านิยม ที่มันเป็นบรรทัดฐานของคนหมู่มากในสังคมการทำงาน อย่างมีจุดยืนที่เหมาะสมของตัวเราเอง เพราะบรรทัดฐานบางอย่างของคนหมู่มากนั้นมันวิ่งสวนทางกับความเป็นจริงในอุดมคติ ยกตัวอย่างเช่น ความจริงในอุดมคติเรารู้ว่าการพูดความจริงเป็นสิ่งที่ดี แต่คนหมู่มากนั้นมักจะยอมรับความเป็นจริงไม่ได้กัน โดยเฉพาะถ้าความจริงนั้นมันตรงข้ามกับวิถีชีวิตที่เขาเป็นอยู่ แล้วสิ่งที่ครูผู้สอนพูดออกไปจี้จุดตรงนั้นของเขาพอดี จะทำให้เกิดปฏิกิริยาจากผู้เรียน ที่ครูผู้สอนสามารถรับรู้ได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้[๑] 

       ๑.       สงบนิ่ง ตระหนักฟัง ตั้งใจรับฟังความจริงนั้นโดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆมากนัก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้เรียนยังไม่มีประสบการณ์ตรงกับจุดที่ครูผู้สอนจี้ลงไป หรือจุดที่ครูผู้สอนจี้ลงไปนั้นคือสิ่งที่มันเป็นพฤติกรรมแบบไม่ทราบที่มาของเขาอยู่ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะยังไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีจุดยืนในตนเองที่ดีพอ

       ๒.      มีความเห็นสอดคล้อง และใฝ่ที่จะรับรู้ในเนื้อหา เนื่องจากเป็นไปได้ว่าจุดที่ครูผู้สอนจี้ลงไปนั้นโดนใจเขาอยู่พอดี เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่เป็นจุดยืนหลักของเขาอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้มีความจำเป็นต้องทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเขาจริงๆ คนกลุ่มนี้มีความสนใจที่จะถามแบบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูผู้สอนตลอดเวลา ใฝ่ที่จะเรียนรู้ในเนื้อหาเพื่อพยายามจะนำไปปรับใช้อย่างเต็มที่ แม้กระทั่งบ้างเรื่องที่เคยรู้มาบ้างแล้วแต่ก็มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลา

       ๓.      แสดงกิริยาไม่เหมาะสม และแสดงผิดบทบาท มักแสดงบทเป็นผู้สังเกตการณ์ มากกว่าเป็นผู้เรียน โดยอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายมาเพื่อศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง เป็นลักษณะถูกบังคับให้มาบ้าง , มาเพื่อหวังข้อมูลบ้าง , มาเพื่อแสดงความโดดเด่นต้องการลองภูมิความรู้บ้าง คนกลุ่มนี้หากครูผู้สอนพูดจี้จุดนิสัยที่แท้จริงของเขาในทางตรงข้ามหรือเป็นลบ สังเกตอาการง่ายๆเลยว่าของมักจะขึ้น เช่น พูดแทรกขึ้นเพื่อโต้แย้งทันทีโดยไม่ขออนุญาตและการโต้แย้งนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยน แต่ต้องการจะเอาชนะมากกว่า , ไม่มองหน้าครูผู้สอน , ไม่สบสายตาพยามหลบสายตาตลอด , ไม่แสดงภาษากาย , สีหน้าเบื่อหรือหงุดหงิดอย่างเห็นได้ชัด , นั่งไขว่ห้างพิงพนักเก้าอี้หันข้างให้ครูผู้สอน , แสดงส่อให้รู้ว่าตัวเองรู้แต่ความเป็นจริงรู้ไม่ลึกจะเป็นลักษณะจำมาพูดมากกว่า , ใช้โทรศัพท์เป็นระยะๆ เป็นต้น คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุดเพราะสักระยะหนึ่งเขาจะหมดคุณค่าความดีงามในตัวของเขาไป ด้วยความลุ่มหลงตัวเอง

       คนทำงานที่มีลักษณะแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น คือสิ่งที่ผมพยายามจะบอกครับว่ามันอาจจะยาก และต้องใช้เทคนิควิธีการนอกเหนือตำราการสอนมากมายเพื่อรับมือ แต่ความเป็นครูนั้นไม่สามารถเลือกศิษย์ได้ครับ หากแต่ศิษย์นั้นสามารถเลือกครูได้ การทำให้คนทุกคนพึงพอใจเป็นเรื่องที่ไม่ยากครับ หากครูรู้จักที่จะทำอะไรแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ครูเองก็ไม่อยากมีปัญหากับศิษย์ และครูทุกคนก็เรียนจิตวิทยาการสอนมาแล้ว แต่อย่าลืมว่าบทบาทของครูที่มีจิตวิญญาณนั้น ไม่ใช่แค่เรือจ้างส่งคนให้ถึงฝั่งเท่านั้น เคยฟังเพลงนี้กันไหมครับ....[๒]ผมชอบมากเลย.....

“ .....ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้
อบรม จิตใจ ให้รู้ ผิดชอบ ชั่วดี
ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอน ทุกที
ขอกุศลบุญบารมี ส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น....

ครูมีบุญคุณจะต้องเทิดทูลเอาไว้เหนือเกล้า
ท่านสั่งสอนเรา อบรมพวกเราไม่เว้น

 ท่านอุทิศไม่คิดถึงความยากเย็น
สอนให้รู้จัดเจน
เฝ้าแนะ เฝ้าเน้นมิได้อำพราง.....

*** พระคุณที่สาม งดงามแจ่มใส แต่ว่าใครหนอใคร
เปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง
ถ้าหากจะคิด ยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง
มีใครไหนบ้าง
แนะนำแนวทาง อย่างครู......

บุญเคยทำมาตั้งแต่งปางใด เรายกให้ท่าน
ตั้งใจกราบกราน เคารพคุณท่าน กตัญญู

โรคและภัยอย่ามาแผ้วพานคุณครู
ขอกุศลผลบุญค้ำชู ให้ครูมีสุขชั่วนิรันดร.......ให้ครูมีสุขชั่วนิรันดร......

        ทุกวันนี้ผมเข้าใจอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้วว่า ทำไมในอดีตผมถึงถูกทำโทษ , ผมถึงถูกขัดใจ , ผมถึงรับไม่ได้ในสิ่งที่คุณครูพูดตรงๆ และทำไมคุณครูออกข้อสอบไม่ตรงกับสิ่งที่สอน ลองคิดดูนะครับว่าจะมีประโยชน์อะไรกับคุณวุฒิที่เราได้มาโดยที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาขัดเกลาจิตใจของเราให้เข้าถึงหลักจริยธรรมในการดำเนินชีวิตเลย จะมีประโยชน์อะไรกับการที่เราได้ชื่อว่าผู้รู้ โดยใช้วิธีการ Copy & Develop แบบไม่สง่างามด้วยเกียรติของบัณฑิต ชีวิตมนุษย์ต้องมีจุดยืน ต้องรู้จักตนเองให้ดีที่สุด ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับสิ่งอื่นๆ สุนทรียภาพจำเป็นต้องมีไม่แพ้กับการใช้ตรรกะ เพราะสุนทรียภาพเป็นตัวกรองอารมณ์ที่หยาบให้มีความละเอียดขึ้น เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์หลุดจากกรอบความคิด ความเชื่อเดิมๆของคนหมู่มากที่ปราศจากเหตุผล

       ครูอาชีพ ไม่ใช่ผู้ยึดอาชีพครูเพียงเพื่อทำมาหากิน จึงไม่จำเป็นสร้างภาพให้ผู้เรียนพึงพอใจจากภาพลักษณ์ที่เป็นเปลือกเพียงภายนอก แต่คุณค่าที่แท้จริงจะบ่มเพาะจากจิตวิญญาณภายใน มิได้ประสงค์ให้ผู้เรียนมาลุ่มหลงในตัวตนของครู แต่ต้องการให้ผู้เรียนสนใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เรียนเอง “ไม่เป็นครูที่กระหายศิษย์ แต่ต้องทำกระทำทุกวิถีทางเพื่อประโยชน์แก่ศิษย์”  ความคิดเป็นอย่างไร พฤติกรรมแสดงให้เห็นอย่างนั้นไม่ต้องวิเคราะห์กันมากมาย Teacher isn’t  just a presenter เพราะสิ่งที่ครูขายคือ ความจริง ไม่ใช่ขาย ความเชื่อ! จะมีประโยชน์อะไรหากสิ่งที่ครูสอนกลับเป็นสิ่งสนับสนุนความเชื่อ และค่านิยมของคนหมู่มากในสังคมที่ออกนอกลู่นอกทางไปจากครรลองแห่งธรรม และยิ่งออกห่างมากขึ้นๆไปเรื่อยๆ เพียงเพราะครูไม่รู้จุดยืน และไม่ยืนหยัดในสิ่งที่เป็นความจริง ท้ายสุดสังคมจะเป็นอย่างไรก็ลองคิดดูเองแล้วกันนะครับ?

       พระพุทธองค์ทรงเคยตรัสพุทธวจนะแก่พระอานนท์ว่า “อานนท์! ครูบางคนในโลกนี้ ย่อมเสพเสนาสนะสงัด คือ ป่าไม้,โคนไม้,ภูเขา...อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อครูผู้นั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น ชาวนิคมหรือชาวชนบทที่เป็นพราหมณ์ หรือคหบดีย่อมเวียนติดตามครูผู้นั้น ครูผู้นั้นก็ผูกใจสยบ ติดอยู่ มีความกำหนัด มีความมักมาก นี่แหละอานนท์! เราเรียกว่าอันตรายสำหรับครูอาจารย์ สิ่งอันเป็นอกุศล เศร้าหมอง เป็นไปเพื่อการเกิดใหม่ ประกอบด้วยความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นผล ย่อมกดทับครูผู้นั้นไว้ อุปัทวะสำหรับครูอาจารย์เป็นอย่างนี้แล

       “อานนท์! เราตถาคต เกิดในโลก เป็นอรหันต์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ตถาคตนั้นเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าไม้,โคนไม้,ภูเขา...ชาวนิคม และชาวชนบทที่เป็นพราหมณ์หรือคหบดีเวียนติดตามอยู่ ตถาคตย่อมไม่ยอมผูกใจใคร่ ไม่ถึงความกำหนัด ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก”[๓]

       ขอเป็นกำลังใจ และชื่นชมคุณครูทุกท่านที่ได้ทำหน้าที่สร้างสรรค์สังคม ด้วยจิตวิญญาณ ด้วยคุณงามความดี อุทิศตน ทุมเทแรงการแรงใจ และชีวิต โดยเฉพาะคุณครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านเป็นผู้อุทิศและเสียสละอย่างแท้จริง สละได้แม้แต่ชีวิตของตนเอง หลายท่านต่อหลายท่านที่ผ่านมา และที่ยังคงยืนหยัดในการทำบทบาทหน้าที่ โดยที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่สามารถซึมซับรับรู้ถึงคุณค่าความดีงามที่คุณครูผู้กล้าหาญได้สร้างไว้เลย.....

 

 

“.....การทำงานด้วยใจรัก ต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้นเมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด เพราะที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะคิดว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้าไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้.....”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖



[๑] ข้อเท็จจริงส่วนบุคคลจากการสังเกตและวิเคราะห์ตามสภาพความเป็นจริง โปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้

[๒] เพลงพระคุณที่สาม เนื้อร้องรูปแบบประสานเสียงเปียร์โนคอนแชร์โต้

[๓] วศิน  อินทสระ “พุทธวิธีในการสอน” พิมพ์ครั้งที่๔ .สำนักพิมพ์ธรรมดา, ๒๕๔๕:๑๔-๑๕

หมายเลขบันทึก: 395123เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2010 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณ อ.แฟรงค์ นะครับที่ช่วยแนะนำ

ขอบคุณนะค่ะเนื้อหาดีๆๆตอนนี้หญ้าแฝกก็กำลังเรียนครูอยู่ค่ะปี1

ยินดีครับน้อง "หญ้าแฝก" ชื่อมีความหมายดีนะครับ เป็นกำลังใจให้ว่าที่คุณครูนะครับ มาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาสังคมและวิถีแห่งความเอื้ออาทรแบบดั่งเดิมให้บรรยากาศแบบนั้นหวนกลับมาสู่สังคมรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปภายภาคหน้ากันด้วยนะครับ อนาคตของสังคมไทยอยู่ที่คุณครูทุกๆท่านครับ ถึงแม้พวกเราจะเป็นเฟืองตัวเล็กๆแต่ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกันผมมั่นใจว่าสังคมไทยเราจะดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ ถ้าไม่คิดถึงใครก็ให้คิดถึงเด็กๆ ลูกของเราที่เขาจะต้องเติบโตใช้ชีวิตในสังคมต่อไปก็แล้วกันนะครับ

ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท