อิสรภาพแห่งการเรียนรู้ : ความพอใจที่ได้ "บันทึก"


สังคม G2K นี้จึงเป็นการเปิด "โลกทัศน์ (vision)" ใหม่ให้กับ "หัวใจ" ของคนที่รักและใฝ่ในการเรียนรู้

ถ้าจะสังเกตุดูจากเนื้อหาบันทึกใน Gotoknow จะสามารถเป็น 2 ประเภทกว้าง ๆ ด้วยกันคือ เรื่องงาน และเรื่องที่ "พอใจ"

ในกำแพงสูง ๆ ของห้องสี่เหลี่ยมที่เราถูกสมมติให้ทำงานอยู่ในนั้นแล้วรับตำแหน่งใด ๆ ก็ตาม ในการดำเนินชีวิตในที่นั้นอาจจะเกิดจากสิ่งที่เราเลือกหรือบางครั้งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เลือก คือ มีบางคนเลือกให้ หรือจับพลัดจับผลูไปได้ทำงานในที่นั้น

ดังนั้น เมื่อใครหลายคนได้มีโอกาสเข้ามาพบกับสังคมใหม่ สังคมที่ใครต่อใครก็มี "อิสระ" ไม่มีใครบังคับซึ่งกันและกัน

Cpac17

สังคม G2K นี้จึงเป็นการเปิด "โลกทัศน์ (vision)" ใหม่ให้กับ "หัวใจ" ของคนที่รักและใฝ่ในการเรียนรู้

บันทึกเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก การท่องเที่ยว นันทนาการ ศิลปะ วัฒนธรรม อาชีพเสริม หรือแม้กระทั่งกิจกรรมภายในครอบครัวจึงเป็นบันทึกที่สร้างรอยยิ้มให้กับทั้งผู้อ่านและผู้เขียน

การเขียนบันทึกจากสิ่งที่ตนเองรักนั้น ผ่องถ่ายเป็นความสุขใจ ที่อาศัยจุดเริ่มต้นจาก "การเรียนรู้"

หลาย ๆ คนรู้จักมองดูเมฆครั้งแรกจาก "ชมรมคนรักมวลเมฆ"

หลาย ๆ คนรู้จักชื่อกล้วยไม้ในบ้านของตนเองจากอาจารย์ชยพร

หลาย ๆ คนรู้จักมวลหมู่หนอนนักบันทึกของนักวิชาการการเกษตร

แต่ทุก ๆ คนนั้นสัมผัสการเรียนรู้อย่างพอใจได้จาก "Gotoknow"

การต่อยอดให้กับ "ผู้ใหม่" และการเติมเต็มความรู้ในหัวใจให้ "ผู้เก่า" เป็นภาพที่เราเห็นได้อย่างชินตาจาก "สุนทรียสนทนา (Diaglogue)" ที่เกิดขึ้น

ในสังคมแห่งนี้ไม่มีเส้นคั่นหนา ๆ ไม่มีกำแพงสูง ๆ ว่าคนในอาชีพใด วัยใด ฐานะใด จะต้องสนใจเรียนรู้จากบันทึกแต่เพียงแค่ "หน้าที่" หลักในสังคม

Ly001

"ความพอใจนั้นเอง เป็นแรงผลักดันคนให้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองรัก..."

เพราะความรักนั้นย่อมทำให้จิตใจของเรานั้น "จดจ่อ" อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ และกิจกรรมหรือการงานของสมาชิกใน Gotoknow แห่งนี้ เป็น "สัมมาอาชีพ" ดังนั้นจึงเป็นความรักต่อสิ่งที่ไม่ผิดทำนอง คลองธรรม เป็นความพอใจแห่งการเรียนรู้ทั้งเมื่อเริ่มต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย...

หลาย ๆ คนมีความสุขกับงานอดิเรกที่ได้เกิดจากการจุดประกายของ Blogger ร่วมสังคม

การค้นคว้า วิจัย ทดลอง ภายในบ้าน ภายในครัวเรือน ได้ถูกตีแผ่ออกมาเป็นปรากฏการณ์ที่สุขใจในสังคม

ครั้งหนึ่งข้าพเจ้ามีความสุขมากที่ได้ช่วยแม่ทำ "ข้าวต้มมัด" และ ข้าวต้มมัดนั้นเองได้ร้อยรัดความรู้ใหม่ที่สานสายใยจากความรู้เก่า... (ข้าวต้มมัด กับชุดโครงการวิจัยแบบ R2R , ข้าวเหนียวผัด : ข้าวต้มมัดแบบดั้งเดิม ,ความแตกต่างของข้าวต้มมัดฉบับดั้งเดิมและฉบับโลกาภิวัฒน์)

"งานอดิเรกของเราคนหนึ่ง ก็คืออาชีพหลักของคนอีกคนหนึ่ง บางครั้งงานอดิเรกของคนอีกคนหนึ่งนั้นก็เป็นอาชีพหลักของเรา..."

ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่การเรียนรู้และต่อยอดทางความรู้กันนั้นจะทำได้แต่เพียงผู้ที่มีอาชีพหลักในอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น เพราะการเรียนรู้จากคนที่รักในงานนั้น ๆ เป็นพลังแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่

ขอเพียงเรา "พอใจ" กับงานที่เรารักและได้ลงมือกระทำนั้น งานเล็ก ๆ ย่อมเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของจิตใจเราเสมอ...

หมายเลขบันทึก: 395111เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2010 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • มาสนับสนุนการบันทึกนะครับ...เพื่อ...
  • 1.เป็น Diary ว่าช่วงไหน เราทำอะไร น่ะครับ...
  • 2.เพื่อพัฒนางานของเรา ให้เดินหน้าต่อไป อย่างไม่แฉลบออกนอกเส้นทางไปไกล นะครับ...
  • 3.เพื่อบอกความในใจ ในขอบเขตที่จะสื่อได้ เช่น ความใฝ่ฝัน นะครับ...
  • 4.เพื่อให้ท่านอื่น ๆ ได้ประโยชน์ จากการทำงานของเราบ้าง ไม่มากก็น้อย นะครับ
  • 5.เพื่อให้คำแนะนำปรึกษา แก่ท่านที่ประสงค์จะขอคำแนะนำดังกล่าวจากเราครับ...
  • 6.เพื่อให้มีโอกาสได้อ่าน บันทึก ของท่านอื่น ๆ ที่มีคุณค่า ต่อเรา นะครับ ...
  • 7. เราเขียนให้ เรา นะครับ...เพราะบันทึกของเรา จะอยู่กับเรามากที่สุด และตลอดไป...ดังนั้น ใครจะอ่าน ใครจะแสดงความคิดเห็นหรือไม่ อย่างไร มีมาก-น้อย ไม่มี อย่างไร...ก็ย่อม ไม่เป็นไร (never mind) นะครับ ...
  • 8.แล้วจะทำให้เราเขียนได้นาน และมีความสุขครับ....
  • ด้วยมิตรภาพและความจริงใจครับ
  • ชยพร  แอคะรัจน์

ยินดีเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบพระคุณสำหรับ Tacit Knowledge ทางด้านเกษตรโดยเฉพาะเรื่อง "กล้วยไม้" ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์อย่างกว้างขวาง...

 

ขออนุญาตยกตัวอย่างท่านชยพรอย่างสืบเนื่อง เข้าไปเชื่อมโยงถึงวงการกล้วยไม้ในประเทศไทย

ช่วงก่อนที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และได้สัมผัสกับ "คนกล้วยไม้" หลายท่าน ก็ได้ทราบข่าวว่า พี่น้องชาวกล้วยไม้นี้เขารักกันมาก "มีอะไรก็ช่วยกัน" คือมีงานที่ไหนต่างคนก็ต่างเอากล้วยไม้ของตัวเองไปช่วยกัน ออกงานบ้าง ประกวดบ้าง เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังครั้งนั้นแล้วถือได้ว่าเป็นสมาคมที่น่ายกย่องของประเทศไทย เพราะการที่ไป แต่ละคนก็ต้องออกค่ารถค่าโรงแรมกันเอง ไปกันด้วย "ใจ" จริง ๆ

และที่สำคัญ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสฟังการถ่ายทอด Tacit Knowledge จากคุณชาลี ซึ่งการเดินทางไปที่สวนทุกครั้ง คุณชาลีก็จะเล่าเทคนิคการเลี้ยงกล้วยไม้แบบลึก ๆ ให้ฟังทุกครั้ง ซึ่งได้รับการกระซิบจากท่านอาจารย์ที่พาไปว่า "เรื่องนี้เขาไม่บอกกันง่าย ๆ หรอก" อาทิเช่นเรื่อง กล้วยไม้เวลาที่เข้าประกวดแล้วเริ่มโรย มีเทคนิคการเอาไข่ขาวแอบทาไว้ พอฝนตกก็เลยถูกจับได้ อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้นย้อนกลับมาถึงท่านอาจารย์ชยพร ที่ท่านได้เมตตาถ่ายทอด Tacit Knowledge ในการเลี้ยงกล้วยไม้จากประสบการณ์ จากชีวิตของท่าน ซึ่งก็ขอย้อนกลับไปถึงคำพูดที่ท่านอาจารย์เคยกระซิบว่า "เขาไม่บอกกันง่าย ๆ" แต่ด้วยการที่มี Gotoknow ซึ่งเป็นช่องในการถ่ายทอด Tacit Knowledge ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญในเรื่องของ "การจัดการความรู้ (Knowledge Mangement)"ทำให้เรามีโอกาสได้รับความรู้ทางด้านกล้วยไม้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญเป็นการสื่อสารแบบ Two way communication ซึ่งผู้อ่านสามารถถ่ายรูปกล้วยไม้บ้านตัวเองมาถามสอบถามกับ Blogger ผู้เชี่ยวชาญได้โดยทันที 

ซึ่งแต่เดิมถ้าหากเราจะต้องการความรู้ลึก ๆ แบบนี้ก็จะต้องทำหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญ พร้อมจัดค่าอาหาร ค่าที่พักเป็นจำนวนมากกว่าจะได้ความรู้ลึก ๆ แบบนี้มาสักชุดหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ ถ้าถอยออกมามองในภาพกว้าง ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นส่วนตัวว่า ผู้บริหารการศึกษาในเมืองไทย หรือนักวิชาการในส่วนกลางทั้งทางภาครัฐและเอกชนนั้นทำงานได้ง่ายมากขึ้น

เพราะถ้าจะต้องการ Focus ความรู้ฝังลึกในเรื่องใด ก็สามารถใช้ Tag (คำสำคัญ) ที่ผู้พัฒนาระบบวางไว้ แล้วเข้าไปสืบค้นเพื่อนำไปใช้ตอบคำถาม วิเคราะห์ สรุปผลในเอกสารทางวิชาการต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

ซึ่งในอดีต เมื่อเราต้องการความรู้เรื่องใด ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการเขียนโครงร่างการวิจัย ขอทุน ดำเนินการ สรุปผล จึงจะได้ความรู้มาเพื่อใช้งาน

แต่ในวันนี้ที่มีบล็อค ประเทศไทยกำลังมีการดำเนินการจัดการ Story telling ครั้งใหญ่ของประเทศ และที่สำคัญเป็นข้อมูลที่ "ลึก" และ "ลอย"

"ลึก" นั้นหมายถึง เป็นข้อมูลที่มีที่มา และที่ไป ซึ่งเป็นข้อดีอย่างเช่นที่ท่านอาจารย์ชยพรได้นำเสนอไว้ในภาษาแบบง่าย ๆ ทั้ง 8 ประการ

ดังนั้น การวางแผนงานในภาพรวมทางด้านวิชาการจะทำได้ง่ายมากขึ้น เพราะมี Gotoknow เป็นฐานของงานในระดับ "ปฐมภูมิ (Primary Data)" คือ ถ้าต้องการข้อมูลทางวิชาการด้านใดให้เข้ามาหยิบได้เลยใน Gotoknow ซึ่งข้อมูลแบบนี้คือการ "ลอย" ทางวิชาการ คือ เป็นความรู้ที่ลอยอยู่แล้ว ใครอยากใช้ก็ช้อนไปใช้ได้ทันที ไม่ต้องไปซื้อเบ็ด หาเหยื่อ แล้วไปนั่งรอตกปลาในสระน้ำ เหมือนกับที่เราจะต้องไปควานหาในชุมชนดั่งเช่นในอดีต

และถ้าหากเราต้องการข้อมูลเรื่องใดมากขึ้น ระบบ social network ที่เกิดขึ้นจาก G2K ที่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ตัดกำแพงระหว่างองค์กรออกไปได้ที่ดำเนินการมากกว่า 5 ปีแล้วนั้น ถือว่าเป็น network ของนักวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ในทุกแขนงวิชามี Link เชื่อมต่อเข้าหากัน โดยมีข้อต่อเป็นบุคคลสำคัญต่าง ๆ ที่เข้ามาส่งเสริมให้การสนับสนุนระบบบ่อย ๆ อาทิเช่น ท่านอาจารย์หมอ รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยยาคำ และท่าน อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง ที่สามารถ Link สมาชิกทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าเข้าหากันได้อย่างกลมกลืน

 ดังนั้น ถ้าหากเราให้ความสำคัญกับ Story telling ในสังคมที่เปิดอิสรภาพแห่งการเรียนรู้ที่ชื่อว่า Gotoknow แห่งนี้แล้ว ข้าพเจ้ามีความเชื่อว่า ความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้านของประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างก้าวกระโดด...

ขอบคุณค่ะ..ความสุขจากการแบ่งปัน..ขยายผลสู่องค์ความรู้กว้างไกลนะคะ..

         

สวัสดีค่ะ

     คลิกมาอ่านข้อมูลเพิ่มต่อจากอ.ชยพรค่ะ ก็ได้ทราบสิ่งที่ไม่ทราบมากขึ้นจากที่เข้ามาอยู่ G2K ครบ 1 ปีแล้ว  ไม่ค่อยไปไหนเท่าไหร่  ขอบคุณมากนะคะ

         

  • มาเยือนอีกรอบนะครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ

ขออนุญาตตาม Link เข้ามาเรียนรู้ ต่อ......ขอแบ่งปัน

การทำงานในห้องแอร์ที่หรูหรา กับคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ ๆ หรือจะมีระบบ Internet ที่ไวสักแค่ไหน แต่ถ้า "ผู้ใช้" ขาดความ "พอใจ" แล้วย่อมไม่ได้ "คุณภาพ" ของเนื้องาน

บันทึกในสังคม G2K แห่งนี้จึงเป็น "บันทึกคุณภาพ" เพราะเป็นบันทึกที่มีพื้นฐานจากความพอใจ และในจิตใจของผู้เขียนทั้งหลายห่างไกลจากคำว่า "ผลประโยชน์"

ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่า สมาชิกทุกท่านที่เข้ามาร่วมเขียนบันทึกในสังคมแห่งนี้เป็นบุคคลที่เสียสละมาก เสียสละพลังกาย พลังใจ พลังความคิด สติปัญญา มีใจที่ประกอบด้วย "ความเมตตา" ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าของ "การแบ่งปัน"

ภาพของการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันใน gotoknow จึงสวยสดและงดงามเสมอ เพราะเป็นภาพแบบ "พี่ให้น้อง" ที่อยู่ใน "ครอบครัวแห่งการเรียนรู้ (Knowledge-base Family)"

สมาชิกทุกคนมารวมตัวเป็นครอบครัวเดียวกันเพราะท่านทั้งหลายมี "ใจรัก" ในการเรียนรู้เช่นเดียวกัน

อาจจะเรียกได้ว่า "การเรียนรู้" นำเราทั้งหลายให้มาเจอกันและมี "ปฏิสัมพันธ์" กัน

ปฏิสัมพันธ์ทางความรู้นั้นเป็นการเติมเต็มและต่อยอดซึ่งกันและกัน พี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน "เสริมส่วนขาด เติมส่วนเต็ม"

ช่องว่างระหว่างวัยจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการเรียนรู้ในสังคมแห่งนี้ คนที่มีอายุมากสักแค่ไหนก็กลับเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกได้ถ้าหัวใจรักใน "การเรียนรู้"

ครอบครัวอื่นอาจจะใช้โต๊ะอาหารเป็นที่พบปะพูดคุยในครอบครัว แต่ครอบครัวแห่งความรู้นี้ใช้หน้าจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เชื่อมสัมพันธ์

บ้านหลังนี้เรากินความรู้แทนข้าว ดื่มอรรถรสจากสุนทรียสนทนาแทนน้ำ ความปีติ อิ่มเอิบใจเป็นผลที่ได้จาก "อาหารแห่งความรู้" นี้

ข้าวอาจจะทำให้เราอิ่มไปหนึ่งมื้อหรือหนึ่งวัน แต่ความรู้นั้นสามารถทำให้เราอิ่มได้ไปหลายปี

หลายคนมีงานใหม่ ตำแหน่งใหม่ หน้าที่ใหม่ที่เกิดจากการ "ใส่ใจ" ในสังคมแห่งการเรียนรู้ที่นี้

หลายคนได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวแห่งความสุขเพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ที่ได้เข้ามาอ่าน แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่ได้มีที่ระบายความทุกข์และก็มีคนในครอบครัวนี้ปลอบประโลม

ครอบครัวนี้จึงมีมิตรภาพให้กันเสมอ ถึงแม้นจะไม่ได้ใช้ตาในการสัมผัสพบเจอ แต่เราก็ใช้ใจส่งให้กันและกัน

ครอบครัวที่อบอุ่นเป็นพลังสร้างสรรค์ชีวิตที่สมบูรณ์

และชีวิตที่สมบูรณ์นี้เองย่อมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีแก่สังคม...

 

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณบันทึกนี้

ที่เข้าใจชาวโกทูโนว์ได้อย่างลึกซึ้ง

ในส่วนตัวจะบันทึกเมื่อใจอยากบันทึก

แม้จะดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่

แต่ขอบอกจากใจจริงว่า

ตั้งใจทุกบันทึก และเรื่องราวเหล่านั้นตราตรึงใจเราเป็นอย่างดี

และเชื่อว่า ส่วนใหญ่แล้วนักบันทึกแห่งโกทูโนว์

มีจิตที่บริสุทธิ์ต่อกัน และเปิดเผยเสมอ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ขอเพียงเรา "พอใจ" กับงานที่เรารักและได้ลงมือกระทำนั้น งานเล็ก ๆ ย่อมเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของจิตใจเราเสมอ... เห็นด้วยอย่างยิ่งคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท