KM สร้างเสริมสุขภาพ (๑)


รู้จักความรู้ Tacit เฉยๆ ไม่พอ ต้องเห็นคุณค่าของมันจึงจะหยิบไปใช้

วันที่ ๑๕-๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ แผนงานพัฒนาเครือข่ายพยาบาลศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (พย.สสส.) ได้จัดมหกรรมการเรียนรู้เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การประชุมในวันที่ ๑๕ เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้เทคนิคพื้นฐานของการจัดการความรู้ รับผิดชอบโดยทีมวิทยากรจาก สคส. ที่ยกกันมาหมดทั้งสถาบัน นำโดยคุณธวัช หมัดเต๊ะ คุณแอน-ชุติมา คุณอุ-อุไรวรรณ คุณอ้อ-วรรณา คุณอ้อม-อุรพิณ คุณหญิง-นภินทร คุณจ๋า-ฉันทลักษณ์ คุณเม้ คุณโหน่ง มาทำหน้าที่คุณอำนวยประจำกลุ่ม น้องกิ๊ก มาขายหนังสือ และคอยตามดูกิจกรรมในแต่ละกลุ่ม

เราจัดห้องประชุมให้มีเฉพาะเก้าอี้ล้อมเป็นวง ๑๐ กลุ่มๆ ละ ๒๕ คน พอถึงเวลาปรากฏว่ามีผู้เข้าประชุมมาน้อยกว่าจำนวนที่ได้รับแจ้ง เราจึงยุบกลุ่มเอาเก้าอี้ที่เหลือออกไป ๒ กลุ่ม คนที่มาทีหลังจึงต้องไปแทรกตามกลุ่มที่มีอยู่แล้ว ทำให้ขนาดของกลุ่มไม่เท่ากัน

 

เริ่มต้นภาคเช้าด้วยกลุ่มใหญ่ๆ

คุณธวัชเป็นผู้ดำเนินรายการตลอดวัน คอยนำทีละ Step บอกว่า KM ต้องจัดการความรู้จักกันก่อน กิจกรรมช่วงแรกคุณอำนวยประจำกลุ่มจึงให้สมาชิกแนะนำตัว ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที ต่อจากนั้นจึงเรียนรู้ “การฟัง” โดยให้ฟังเพลง ๑ เพลง แล้วสะท้อนวิธีการฟัง คุณภาพการฟังของตนเอง มีอะไรที่ทำให้การฟังเป็นแบบนั้นๆ

ช่วงพัก รับประทานอาหารว่าง มีเสียงมาว่ากลุ่มมีขนาดใหญ่ไป ฟังกันไม่ค่อยได้ยิน เราจึงหารือกันใหม่ ปรับขนาดของกลุ่มที่ใหญ่ให้เล็กลง ปรับคุณอำนวยประจำกลุ่มใหม่ เพื่อให้คุณธวัชลอยตัว ดูแลภาพรวมได้เต็มที่ เมื่อเริ่มกิจกรรมช่วงที่ ๒ คุณธวัชสรุปเรื่องการฟังอีกครั้ง เพื่อให้ทุกกลุ่ม start ใหม่ได้พร้อมกัน

ก่อนพักเที่ยง เป็นกิจกรรมเรียนรู้เรื่อง Tacit Knowledge ทั้งในเชิงคุณค่า และแสดงให้เห็นว่าความรู้ Tacit อาจมาจากหลายๆ ฝ่าย เช่น บุคลากรสาธารณสุข คุณหมอ คุณพยาบาล หรือชาวบ้านก็ได้ ผ่านการดู Clip หนัง KM เรื่อง “แทงน้ำเกลือเด็ก” “สื่อความรู้เบาหวาน” และ “ออกกำลังกาย หยาดโมเดล” หลายคนบอกว่าดี สนุก แต่ก็มีบางคนมาถามหาว่าจะมี Lecture ไหม

อาจารย์พยาบาลท่านหนึ่งมาสะท้อนให้ดิฉันฟังว่า "...พวกเราไม่ชินกับการเรียนรู้ที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ชินกับการอยู่ในบทบาทเดียวคือไม่เป็นผู้ให้ก็เป็นผู้รับ ชีวิตการทำงานวนเวียนอยู่กับบทบาทแบบนี้เป็นเวลาหลายสิบปี อีกอย่างหนึ่งคือในฐานะที่เป็นอาจารย์ก็ติดอยู่กับเรื่องถูก-ผิด ผิดไม่ได้...การจัดการความรู้ของพวกเราไม่ค่อยมุ่งกระบวนการ มุ่งแต่ตัวความรู้..."

คุณธวัชสรุปให้เห็นว่าความรู้ปฏิบัติมีอยู่เยอะมาก แต่เป็นเรื่องเล็กๆ ต่างจากความรู้แจ้งชัดที่เราคุ้นเคย ในทุกๆ ที่ที่มีคนทำงาน จะมีความรู้ปฏิบัติอยู่เสมอ แม้ตัวจะเล็ก แต่กว่าจะได้ความรู้นั้นๆ สักเรื่อง เขาต้องสังเกต ทดลอง มีการเรียนรู้...เรารู้จักความรู้ Tacit เฉยๆ ไม่พอ ต้องเห็นคุณค่าของมันจึงจะหยิบไปใช้... สคส.จึงเน้นกระบวนการจัดการ Tacit Knowledge มากหน่อย แต่ไม่ได้ละทิ้งความรู้แจ้งชัด

ช่วงบ่ายผู้เข้าประชุมได้ฝึกการเล่าเรื่อง-การฟังในกลุ่มย่อยที่มีขนาดเล็กลง มีบางกลุ่มอยากจะเล่า-ฟังเรื่องการพัฒนาสุขภาพชุมชน เราจึงต้องตั้งกลุ่มใหม่โดยเชิญอาจารย์อ๋อ ดร.อาภา ยังประดิษฐ มาช่วยเป็นคุณอำนวยให้

 

บรรยากาศในภาคบ่าย

หลังพักภาคบ่าย คุณธวัชสุ่มถามในกลุ่มว่าประทับใจเรื่องเล่าอะไรในกลุ่ม คำตอบจากกลุ่มต่างๆ มีดังนี้
- การสอนผู้ป่วยล้างมือ ที่มีการคิดคำให้จำได้ง่ายๆ “ประกบ ขี่ ขยี้ ขยำ กำ รูด” (พร้อมทำให้ดูไปด้วย) ซึ่งจะครบขั้นตอนของการล้างมือ
- การยกเรื่องของคนอื่นในการสอนจริยธรรม เพราะคนมักอยากรู้เรื่องของคนอื่น
- ใช้การ “กำมือ” สอนเรื่องการรักนวลสงวนตัว ในการสอนเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
- การสอนจริยศาสตร์ โดยให้นักศึกษาเล่าเรื่องของตนเอง และให้ไปสัมภาษณ์คนดีมา ๑ คน นักศึกษาสามารถสกัดหาคนดีในเรื่องต่างๆ ได้ อาจารย์ช่วยสะท้อนคิด มีการรวบรวมเรื่องราวของคนดีๆ ไปไว้ในห้องสมุด เกิดเป็นตัวอย่าง
- เรื่องเล่า Palliative care ที่แม่ได้ดูแลลูก ช่วยนำให้ลูกได้เห็นสิ่งดีๆ ก่อนที่จะจากไปในอ้อมแขนของแม่

คุณธวัชบอกต่อว่าสิ่งที่สำคัญของเรื่องเล่าคือคุณทำอย่างไร ไม่ใช่คิดอย่างไร ทำอย่างไรจึงเกิดความสำเร็จนั้นได้ เรื่องเล่าเป็นเทคนิคหนึ่งของการจัดการความรู้ จริงๆ ยังมีเทคนิคอื่นอีกมากมาย

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 394938เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท