แก้ปัญหายาเสพติด ด้วย Tacit knowledge


ผลการประชุมระดมความคิด การแก้ปัญหายาเสพติด

               ช่วงที่ผมไปประชุมสัมมนาการวางแผนป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชน   ได้มีการแบ่งประชุมกลุ่มย่อยตามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ  หรือ รั้วต่าง ๆ 

 

 

              

          สำหรับผม ได้เข้าประชุมกลุ่มย่อย   "รั้วโรงเรียน"   ได้ประชุมระดมความคิด และ อภิปรายกันหลากหลาย   โชคดีที่กลุ่มผม ได้ผู้ดำเนินการประชุมที่ดี และ ผู้เข้าประชุมใจกว้าง   รับฟังซึ่งกันและกัน  ไม่ยึดความคิดของตัวเองเป็นใหญ่   บรรยากาศการประชุมจึงเปิดกว้าง  ทุกคนได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น  ผลการประชุม  ได้ Tacit knowledge  ดังนี้ครับ

 

 

            1.  การแก้ปัญหาที่ผ่านมา  บางครั้ง มีการนำนักเรียนกลุ่มเสี่ยง  กลุ่มเสพ   มาเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม   โดยนิมนต์พระมาเทศน์   เชิญตำรวจ  นักกฏหมาย  สาธารณสุข มาให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด   คุณครูมาเป็นผู้ควบคุมระเบียบวินัย   การจัดค่ายดังกล่าว  ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้   ที่สำคัญ ทั้งผู้ปกครอง และ นักเรียน   มีทัศนคติที่ไม่ดี  ต่อค่ายดังกล่าว  เพราะชื่อค่ายในลักษณะเด็กที่มาเข้าค่าย เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

 

          2.  ปัญหาของเด็กกลุ่มเสี่ยง หรือ กลุ่มเสพ  สาเหตุที่แท้จริง  ทางกลุ่มบอกว่าล้วนมีสาเหตุมาจากครอบครัวทั้งนั้น  การแก้ต้องแก้ที่ครอบครัว   ซึ่งทำได้หลายลักษณะ   เช่น  นำพ่อแม่มาเข้าโรงเรียนพ่อแม่ (โดยกระบวนกร เป็นผู้ให้กระบวนการ  ไม่ใช่ให้ความรู้)   การนำพ่อแม่ลูก มาเข้าค่ายร่วมกัน โดยหัวใจสำคัญ อยู่ที่การจัดกระบวนการให้ "เปิดใจคุยกัน"  เช้น  ค่ายครอบครัวสุขภาวะ  ค่ายสายใยครอบครัว

 

         3.  การแก้ปัญหาที่โรงเรียน  มีหลายโรงเรียนที่ได้ผล   เช่น  นำเด็กที่มีปัญหา  มาเป็นผู้นำในโรงเรียน   ด้วยการเป็นจราจรโรงเรียน   ตำรวจโรงเรียน   สายสืบโรงเรียน   พี่ดูแลน้อง  ฯลฯ   เด็กกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ  จะมีพฤติกรรมเป็นผู้นำสูง  ให้เขาได้แสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง และ ได้รับการยอมรับ  เขาจะมีความภาคภูมิใจในตนเอง   ไม่ไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอีกต่อไป   เพราะเขามีความสุขจากการเป็นที่ยอมรับ

 

        4.  การนำนักเรียนมาเข้าค่าย จะให้ได้ผลจริงๆ ต้อง "ลงทุน" เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญเรื่อง จิตวิทยาพัฒนาการเด็ก   จิตวิทยาให้คำปรึกษา   หรือ  วิทยากรที่มีความชำนาญเรื่องการทำค่ายพัฒนาเด็ก  วิทยากรกลุ่มนี้   ต้องยอมลงทุนบ้าง แต่ผลที่ได้  คุ้มค่า

 

       5.  แนวทางการพัฒนาในปีต่อไป ทางกลุ่มเสนอให้เชิญครูมาประชุมอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักจิตวิทยาในการแก้ปัญหาและพัฒนาเด็ก   โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านจิตวิทยา   เช่น  อาจารย์มหาวิทยาลัย  ผู้เชี่ยวชาญด้านแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน    ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว   เพื่อให้ครูสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการอบรม ไปใช้แก้ปัญหาเด็ก หรือ  ทำกระบวนการโรงเรียนพ่อแม่ได้

 

        ครับ เป็น 5  แนวทางที่ได้จากการประชุม และ ได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับไป    ส่วนผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร   ก็แล้วแต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะพิจารณาครับ   เขาอาจไม่เอาของเราก็ได้ แต่อย่างน้อย   ก็ถือว่าได้เสนอข้อคิดเห็นไปแล้ว

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 394341เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2010 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อาจารย์ครับ

ข้อเสนอทั้ง ๕ ข้อนี้โดนจริง ๆ ครับ

แต่จะขยับให้มันเป็นจริงได้อย่างไร

แหะ แหะ คม ชัด ลึก เช่นนี้ เหมาะสมกับว่าที่ "อินทรีย์" แล้วครับ

สวัสดีค่ะ

พี่คิมเชียร์ข้อ ๓ และข้อ ๔ ค่ะ  มีความเป็นไปได้สูงค่ะ  ที่สำคัญ  ไม่ต้องรอถึงกับกิจกรรมกลุ่มหรือกิจกรรมค่ายว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้

ครูนั่นแหละสามารถจัดการได้เลยว่า "เด็กแต่ละคนควรแก้อย่างไรกับเขา" ไม่ยากหรอกหากมีใจทำเพื่อเด็กอย่างจริงจัง

โรงเรียนพี่คิมอยู่ในสังคมกลุ่มเสี่ยง  แต่เด็กไม่ติดยา มีแต่ลองบุหรี่เท่านั้น  แต่เราจัดการได้ทั้งหมดค่ะ

Ico32คุณหนานเกียรติครับ

     เป็นข้อเสนอจากผู้ที่คลุกคลีกับคนทำงานเรื่องเด็กมาจริงๆครับ

             การแก้ปัญหาเด็ก ต้องแก้ที่ "จิตใจ" ครับ

                         ขอบคุณครับ

Ico32พี่คิมครับ

    ประทับใจตรงนี้ครับ

ครูนั่นแหละสามารถจัดการได้เลยว่า "เด็กแต่ละคนควรแก้อย่างไรกับเขา" ไม่ยากหรอกหากมีใจทำเพื่อเด็กอย่างจริงจัง

     ผมว่าไม่ยากจริงๆนะครับ ถ้ามีใจทำเพื่อเด็กอย่างจริงจัง

                          ขอบคุณครับ  

สวัสดีครับอาจารย์

มาชวนอาจารย์ไปแลกเปลี่ยนความเห็น ที่นี่ ครับ

 

เห็นด้วยจริง ๆ ค่ะว่า การแก้ปัญหาเด็กต้องแก้ที่ "จิตใจ"

บังเอิญไม่นานมานี้ ใบไม้ฯ เพิ่งมีโอกาสได้จัดค่ายให้เยาวชนจากสถานพินิจของจังหวัดหนึ่ง (เป็นกลุ่มเด็กชนบท ส่วนใหญ่ฐานะยากจนค่ะ พฤติกรรมจะมีความแตกต่างจากเด็กเมืองอยู่บ้าง)

ค้นพบเลยค่ะว่า สำหรับเยาวชนที่พลาดพลั้ง สิ่งที่เขาต้องการมาก คือ "การให้โอกาส"และ "ความเข้าใจ" จากคนใกล้ชิด

การถูก "ตีตรา" ยิ่งทำให้เขารู้สึกไม่มีที่ยืนในสังคม จึงง่ายที่จะกลับไปเสพยา และตอนนี้ยาหาง่ายเหมือนร้านขายก๋วยเตี๋ยว (อันนี้มาจากคำพูดเปรียบเทียบของเด็ก)

ภายใต้ท่าทีที่เหมือนจะแข็งกร้าว จิตใจพวกเขาอ่อนไหวมาก ๆ ค่ะ หลายคนทำงานศิลปะได้ดีมากอย่างเหลือเชื่อ และด้วยความอ่อนไหวนี้เองจึงง่ายที่จะเสพยาด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ.. พวกเขาไม่มีเป้าหมายชีวิต ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า จึงใช้ชีวิตไปวัน ๆ

การทำงานเชิง "ป้องกัน" น่าจะง่ายและถูกกว่า การทำงานเชิง "แก้ไข" มากค่ะ

ต้องสร้างให้เด็กรู้สึกถึงความมีคุณค่าในตัวเอง..

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่เรียนไม่เก่งมักไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่เป็นที่ยอมรับจากครู หากครูมองความสามารถของเด็กให้หลากหลายนอกเหนือไปจากเรื่องการเรียนดี อาจทำให้เด็กค้นพบตัวเอง และใช้พลังในตัวเองในเชิงสร้างสรรค์ได้ค่ะ ...^__^...

Ico32คุณหนานเกียรติครับ

     ดีครับ ได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้

Ico32คุณใบไม้ย้อนแสงครับ

     เสนอความคิดและมุมมองมาได้ถูกใจผมมากเลยครับ  ผมว่าปัญหาของเด็กอยู่ที่เขาไม่มีที่ยืนในสังคม

    ปัญหานักเรียนนักเลง เด็กอาชีวะตีกัน นักวิชาการเขาก็วิเคราะห์ออกมาในทำนองนี้แหละครับ

    และการแก้ ก็ไม่ต้องแก้ใหญ่โตอะไร  แก้ที่ห้องเรียนครับ แก้ที่ครู อาจารย์  ขอเพียงครู  อาจารย์  ให้ความรัก ความเอื้ออาทร ให้การยอมรับเขา ให้เขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง ด้วยกิจกรรมที่ทางสถาบันการศึกษาดำเนินการให้   ไม่ต้องลงทุนงบประมาณอะไรมากมาย

    ขอเพียงลงทุนที่ใจ ใช้ใจซื้อใจ   ได้ผลคุ้มค่าครับ

เรียนท่านอาจารย์Ico64ที่นับถือ

  • แวะมาสวัสดีวันหยุด และเรียนรู้ไปด้วยค่ะ
  • มีความสุขในวันหยุดนี้นะคะ

Ico32คุณยายครับ

   ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท