นปส.55 (47): ปกครองป้องกัน


การเลือกคนใช้งานให้เหมาะสมแก่ตำแหน่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เป็นนายคน การที่จะรู้ว่าถูกหรือผิดนั้น จะต้องขยันเอาใจใส่ดูแลอยู่เสมอว่า ผลงานที่เขาทำนั้นเป็นเช่นไร ถ้าเขาทำได้ดีต้องยอมให้ว่าเป็นความดีของเขาเอง เราจะรับเอาไว้แต่เพียงว่าเลือกคนถูก ถ้าเขาทำผิดเราต้องรับเสียเองว่าเป็นเพราะเราเลือกเขา เขาจึงมีโอกาสทำผิด ทั้งนี้เพราะอำนาจอยู่ที่ไหน ความรับผิดชอบต้องอยู่ที่นั่นด้วย

เข้าสู่ปลายสัปดาห์ที่ 14 ของการฝึกอบรมแทบทุกคนต่างขะมักเขม้น อยู่กับการจัดทำรายงานการศึกษาอิสระ หน้ายุ่งหน้ามันอยู่กับการจัดทำเอกสาร บางคนก็หลับในห้องเรียนด้วยความเหนื่อยเพลีย บรรยากาศในห้องเรียนช่วงนี้ก็เงียบๆเหงาๆไปบ้าง

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2553 เรียนรายวิชา การป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยอาจารย์ทินกร เขมะวิชานุรัตน์ อาจารย์กล่าวถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติหรือ ปปช. ถูกตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อให้การบริหารราชการมีความโปร่งใส ลดการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ เพื่อให้ระบบราชการไทยใสสะอาด

บทบาทหน้าที่ของ ปปช. คือรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในวงราชการโดยตรง ปัจจุบันพบการทุจริตมากขึ้นจน ปปช. ทำงานไม่ทัน จึงมีการตั้ง “ปปท.” ขึ้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ แต่ก็พบว่า “ปปท.” เอง ยังมีปัญหาในการปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่เนื่องจากยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ “กระบวนการและกลไกกฎหมายเน้นให้รู้เหตุรู้ผล จะทำให้ระงับยับยั้งเหตุที่จะเกิดขึ้นในองค์กรเราได้ ถ้าไม่รู้ก็อาจเกิดความพลาดพลั้งได้เพราะกฎหมายมีมาก มีกระบวนการตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น จนเราอาจจะเข้าข่ายผิดแบบไม่รู้ตัว

การเรียนรายวิชานี้มีวัตถุประสงค์กำหนดขึ้นเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และลดความเสี่ยงของความผิดแบบไม่รู้ตัวให้แก่ผู้เรียน การกระทำความผิดมี 3 กลุ่มคือ กระทำความผิดโดยเจตนา กระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และกระทำความผิดในภาวะจำยอม คณะกรรมการ ปปช. มี 9 คน มาจากการสรรหา ครองตำแหน่งครั้งละ 9 ปี มีหน้าที่ไต่สวน หาข้อเท็จจริง วินิจฉัย กำกับดูแลคุณธรรมและอื่นๆตามบทบัญญัติในกฎหมาย

การรับเรื่องไว้พิจารณาของ ปปช. ทำได้โดยผู้กล่าวหาต้องทำเป็นหนังสือ ผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือพ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกินสองปี ระบุชื่อที่อยู่ผู้กล่าวหาพร้อมลงลายมือชื่อ ระบุชื่อ-ตำแหน่งผู้ถูกกล่าวหา ระบุข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำผิด

ในรุ่นเราจะมีพี่จู๊ดหรือนพดล เพชรสว่าง ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 4 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม เป็นคนเงียบๆ แต่ในเวลาเรียนก็ชอบออกความเห็น อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์และเพื่อนๆบ่อยๆ ยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ด้วยแล้ว พี่จู๊ดจะร่วมให้ความคิดเห็นด้วยเสมอเพราะมีประสบการณ์ตรงในงานที่ทำอยู่ เป็นคนน่ารัก แม้จะพูดน้อยแต่ก็ทักทายปราศรัยกันด้วยดีเสมอ

ช่วงบ่าย เรียนรายวิชา บทบาทประเทศไทยกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างประเทศ โดย ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงศ์ เทคโนโลยีสานสนเทศ (Information Technology) เรียกสั้นๆว่า IT ใช้สำหรับการประมวลผลสารสนเทศซึ่งครอบคลุมถึงการรับส่ง การแปลง การจัดเก็บ การประมวลผลและการค้นหาสืบค้นสารสนเทศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือComputer, Communication, Data ซึ่งมักเรียกรวมๆกันว่า ICT (Information and communication Technology)

คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ทางอิเล็กโทรนิกส์ที่มีความสามารถในการคำนวณอัตโนมัติตามคำสั่ง การสื่อสารมีทั้งระบบใช้สายและไร้สาย ส่วนข้อมูลหมายถึงข้อเท็จจริง เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอาจเป็นตัวเลข ตัวหนังสือหรือสัญลักษณ์ก็ได้

เป้าหมายของการพัฒนาICTเพื่อการยกระดับประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 5 มีความรู้และสามารถใช้ICTได้อย่างมีวิจารณญาณและเพื่อยกระดับความพร้อมด้านไอซีที ยุทธศาสตร์การพัฒนาSmart Thailand ประกอบด้วย 6 ประการ คือ การพัฒนากำลังคน การบริหารจัดการICTของประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางICT การใช้ICTเพื่อสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารและการจัดการภาครัฐ การพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมด้านไอซีที และการใช้ไอซีทีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ผมคิดว่า การใช้ICTแบบรู้จัก รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นทาสของมัน และนำมาใช้อย่างถูกต้อง จะช่วยพัฒนาคน พัฒนาสังคมและพัฒนาประเทศชาติได้อย่างดียิ่ง แต่หากจะพิจารณากันจริงๆแล้ว “การพัฒนาระบบICT หัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคน ทำให้คนไทยใช้เป็น คิดเป็น และนำไปสู่การประดิษฐ์ต่อยอดให้พัฒนาและเกิดประโยชน์ยิ่งๆขึ้นไป มากกว่าแค่การเป็นผู้ใช้ผู้เสพICTที่นำเข้ามาจากต่างประเทศอย่างเดียว

หลังเลิกเรียนรีบเขียนรายงานIS แล้วนำไปเข้าเล่มที่ร้านในพัทยาเสร็จแล้วนำไปส่งที่น้องเจนได้ทันเวลาพอดี ต้องรีบส่งก่อนเพราะวันพรุ่งนี้ต้องรีบเดินทางไปเรียนที่กรุงเทพฯ ตอนเย็นผมขับรถยนต์เข้าไปนอนที่โรงแรมพีเจวอเตอร์เกต ประตูน้ำกับพี่เวงเพื่อที่จะได้ไม่ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปพร้อมรถบัสที่วิทยาลัยฯจัดให้ในตอนเช้าตรู่ ถึงโรงแรมที่พักก็ทานอาหารเย็นและรีบพักผ่อนเนื่องจากอ่อนเพลียจากการอดนอนมาหลายวัน

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2553 ตื่นเช้ารู้สึกระคายคอเล็กน้อย พี่เล็ก (เพื่อนพี่เวง) ขับรถยนต์ไปส่งที่กระทรวงมหาดไทยโดยผมจอดรถยนต์ไว้ที่โรงแรมเพราะเกรงจะหาที่จอดยากและไม่ชินกับถนนหนทางในกรุงเทพฯอาจหลงทางและไปเรียนไม่ทันได้

ช่วงเช้าเรียนรายวิชา การปฏิบัติงานในพระราชพิธี รัฐพิธี การรับเสด็จ การถวายรายงานและการสมาคม โดยอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เนื้อหาที่อาจารย์นำมาบรรยายเป็นเหมือนการพูดคุยเล่าเรื่องให้ฟังทำให้สนุกสนานน่าติดตามได้อรรถรสเป็นอย่างยิ่ง สังคมสมัยโบราณ ผู้คนนับถือผี พราหมณ์ ฮินดู และต่อมาเกิดศาสนาพุทธขึ้นมาที่ไม่เน้นนับถือพระเจ้าแต่เน้นนับถือพระพุทธเจ้าหรือพระผู้มีพระภาคเจ้าแทน แต่ผู้คนโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงนับถือเรื่องของพระเจ้าอยู่ โดยเฉพาะตามหลักของศาสนาพราหมณ์และฮินดู โดยนับถือพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 3 พระองค์ คือ

พระพรหม ถือว่าเป็นผู้สร้างโลก ทรงหงส์เป็นพาหนะ พระนารายณ์ ถือว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาโลก ทรงครุฑเป็นพาหนะ และพระอิศวร ถือว่าเป็นผู้ทำลาย โดยมีตาที่สามอยู่ที่หน้าผาก ถ้าลืมตานี้เมื่อไหร่สิ่งที่ขวางหน้าก็จะถูกทำลายไป

สังคมโบราณ มีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่าพระมหากษัตริย์ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระผู้เป็นเจ้า และในศาสนาพุทธถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นมนุษย์ แต่ก็ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระโพธิสัตย์ ในสมัยสุโขทัยเรามีระบบการปกครองโดยกษัตริย์แบบพ่อปกครองลูก แต่มาสมัยอยุธยา ธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์ ก็เปลี่ยนมาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งประยุกต์แนวคิดของพราหมณ์และพุทธเข้าด้วยกัน ถือว่ากษัตริย์เป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า

ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีความเชื่อว่าราชวงศ์จักรี เป็นพระนารายณ์อวตาร ซึ่งพระนารายณ์มีสี่กร ถือตรี คทา จักร สังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ ข้าราชการจึงมีตราครุฑ ถือเป็นผู้รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ไม่ได้ถือว่ามาจากพระนารายณ์องค์เดียว บางครั้งกษัตริย์ก็เป็นพระพรหม เช่น เวลาเสด็จทรงเรือสุพรรณหงส์ เป็นต้น

สมัยก่อน “ห้ามเอ่ยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าเอ่ยพระนามถือว่าไม่ให้ความเคารพ” ดังนั้นเวลาจัดงานพิธีต่างๆ เมื่ออ่านรายงานหรือกล่าว จึงไม่ควรเอ่ยพระนามของในหลวงหรือพระราชวงศ์ ควรกล่าวแค่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระบรมราชินินาถ ซึ่งเท่าที่พบเรามักจะกล่าวพระนามพระองค์ท่านกันเสมอในงานพิธีต่างๆและเป็นการกระทำไม่ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมที่มีมา

กรณีที่ในหลวงหรือสำนักพระราชวังเป็นเจ้าภาพถือเป็นพระราชพิธี ใช้คำว่า “หมายกำหนดการ” แต่ถ้าพระราชวังไม่ได้เป็นเจ้าภาพ แม้จะทรงเสด็จร่วมงานก็ถือว่าเป็นงานพิธี ใช้คำว่า “กำหนดการ” เช่นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

สำนักพระราชวัง มีเลขาธิการพระราชวัง เป็นหัวหน้าดูแลพระราชวัง (งานบ้านทั้งหลาย) ยกเว้น การขอพระราชทานน้ำหลวง ไฟหลวง ทำเรื่องขอได้จากที่นี่ สำนักราชเลขาธิการ มีราชเลขาธิการ เป็นหัวหน้าดูแลเกี่ยวกับงานเอกสารต่างๆ มีกองการในพระองค์ กองการเลขาฯในสมเด็จพระนางเจ้า สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ และสำนักเลขาฯองคมนตรี แต่กองกิจการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทั้งส่วนงานบ้านและส่วนเอกสารอยู่ในสำนักพระราชวัง

ก่อนจบอาจารย์ธงทองท่านเน้นเรื่องการกราบ ถ้าเรากราบพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ให้กราบ 3 ครั้งแบบแบมือ ไม่ใช่กราบครั้งเดียว ส่วนพระสยามเทวาธิราชเป็นเทวดา ให้กราบครั้งเดียวไม่แบมือ

หลังบรรยายจบช่วงเช้า ก็ทานอาหารกลางวันกันที่ห้องประชุมเลย ผมรู้สึกเพลียๆ ระคายคอ ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะไม่สบาย แต่ก็ได้เดินทางต่อไปกับคณะเพื่อรับฟังบรรยายและศึกษาดูงานวังวรดิศในช่วงบ่าย ในหัวข้อ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ การปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยร้อยเอก มล. ปนัดดา ดิศกุล บรรยายที่หอสมุดกรมพระยาดำรงฯ ชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆภายในหอสมุดที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปอ่านหนังสือและเยี่ยมชมได้

มล.ปนัดดา ท่านเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ท่านเป็นคนมีบุคลิกดีมาก มีความน่ารัก ลักษณะท่าทางใจดี มีความเป็นนักวิชาการสูง และเป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะอ่อนน้อม ให้เกียรติผู้อื่น ไม่ยกตนข่มท่าน สุภาพอ่อนโยนแต่แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็ง จริงจัง ท่านได้บรรยายพระประวัติของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพพร้อมทั้งผลงานของพระองค์ท่านได้อย่างเข้าใจกระจ่างแจ้ง การบรรยายบอกเล่าด้วยน้ำเสียงและคำพูดที่ดึงดูดใจเร้าใจมาก

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระโอรสในรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ทรงเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของรัชกาลที่ 5 การได้ศึกษาพระประวัติของพระองค์และแนวทางหลักการทรงงานของพระองค์ทำให้ได้แนวคิดที่ดีในการทำงานและสอดคล้องกับหลักการบริหารภาครัฐแนวใหม่ ที่เรากำลังคลั่งไคล้ใหลหลงตามก้นฝรั่งกันอยู่ในปัจจุบันนี้

 เมืองไทย เคยเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย (Little government) มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ไทย (สยามประเทศ) เราเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมจากชาวตะวันตก รัชกาลที่ 5 จึงทรงให้มีการปฏิรูปการปกครองให้เป็นแบบราชอาณาจักร (Kingdom) ขึ้นมา ซึ่งพระราชนโยบายของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมอบให้เป็นแนวทางในการปฏิรูปการปกครองแก่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มี 4 ข้อ คือ

  1. ให้แก้ลักษณะการปกครองแบบประเทศราช (Empire) มาเป็นแบบพระราชอาณาจักร (Kingdom) ของประเทศไทยรวมกัน (ตอนนั้นเรียกว่าสยามประเทศ)
  2. ให้รวมการบังคับบัญชาหัวเมืองซึ่งเคยแยกกันอยู่ 3 กรม คือ มหาดไทย กลาโหมและกรมเจ้าท่า ให้มารวมกันอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว
  3. ให้จัดรวมหัวเมืองต่างๆเป็นมณฑลตามสมควรแก่ภูมิประเทศให้สะดวกแก่การปกครองโดยมีสมุหเทศาภิบาลบังคับบัญชาทุกมณฑล
  4. การเปลี่ยนแปลงที่ทรงพระราชดำรินี้ให้ค่อยจัดทำไปเป็นขั้นๆ มิให้เกิดความยุ่งเหยิงในการที่จะเปลี่ยนแปลง

กระทรวงมหาดไทย มาจากคำว่า “มหทย” หรือ “Mahadaya” ซึ่งแปลว่า “เมตตายิ่ง” และผู้ที่ทำหน้าที่ในการดูแลมณฑลหรือเมืองต่างๆหรือจังหวัด อำเภอในปัจจุบัน เรียกว่า “นักปกครอง” มาจากคำว่า “นัก คือ เชี่ยวชาญ เก่ง รู้จริง ทำเป็น ทำได้” คำว่า “ปก หมายถึง การทำให้ได้รับความร่มเย็น” ส่วนคำว่า “ครอง หมายถึง การสามารถผูกจิตใจคน” ผมลองเอาความหมายมาผูกโยงกันแล้ว “นักปกครอง น่าจะหมายถึง ผู้เชี่ยวชาญในการทำให้ได้รับความร่มเย็นและสามารถผูกจิตใจคนได้” ซึ่งจะไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจเป็นหลัก แต่ต้องใช้ใจ

พร้อมกันนี้สมเด็จฯได้กำหนดคำขวัญสั้นๆแต่ทรงคุณค่า ซึ่งผมคิดว่าถ้าเป็นภาษานักบริหารปัจจุบันก็คงเรียกว่า “ค่านิยมร่วม” หรือ “Core Value” ไว้ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” นั่นคือ ช่วยทำให้ทุกข์หายไป และช่วยขยายให้ความสุขมากขึ้น ผมลองดูแล้ว กระทรวงอื่นๆแทบจะไม่มีคำขวัญสั้นๆที่ได้ใจความแสดงถึงตัวตนของคนกระทรวงมหาดไทยได้เท่านี้ ลองคิดถึงกระทรวงสาธารณสุข ผมก็จำไม่ได้ว่าใช้คำว่าอะไร น่าจะใช้คำว่า “สร้างสุขของสาธารณะ” ไม่รู้จะได้เรื่องหรือเปล่า

ท่านปนัดดา เล่าให้ฟังอีกว่า แต่เดิมไทยเรามีชื่อว่า “สยามประเทศ” หรือ “Kingdom of Siam” รัชกาลที่ 5 ท่านทรงใช้คำแทนพระองค์ว่า “สยามินทร์” และในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ท่านได้มีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ท่านก็ทรงใช้คำว่า “สยาม” เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศเป็น “ประเทศไทย” หรือ “Kingdom of Thailand” ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักคำว่า “สยามประเทศ” มีข้อสังเกตว่าชื่อประเทศที่มี Land ต่อท้าย มักเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่เมืองไทยเราไม่ใช่กลับไปใช้Land ต่อท้าย

ตอนที่ผมไปเรียนที่เบลเยียมเพื่อนๆมาถามว่า ประเทศไทยเพิ่งเกิดใหม่ไม่นานใช่ไหม ผมตอบไม่ใช่ เขาบอกว่าเวลาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไม่เห็นมีคำว่า Thailand ผมก็บอกเขาว่า แต่ก่อนเราชื่อ สยามหรือ Siam เขาก็ร้องอ๋อทันที จริงๆแล้วการใช้ชื่อประเทศหลายชื่อก็ไม่น่าจะแปลกอะไร เช่น อังกฤษยังมีตั้งหลายชื่อ เรียกEngland ก็ได้ Great Britain ก็เรียก United Kingdom ก็มี ไทยเราน่าจะใช้ทั้งประเทศไทยและประเทศสยาม (สยามประเทศหรือราชอาณาจักรสยาม) ควบกันไปได้ เพราะคนจะย้อนไปถึงความยิ่งใหญ่แห่งอดีตของประเทศเราได้ง่าย

หลังการบรรยายทางคณะเราได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯและชมความงดงามภายในวังวรดิศ หลังจากที่พวกเราเข้าไปในวังกันแล้ว ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก ผู้นำชมวังต้องส่งเสียงดังมากเพื่อให้พวกเราได้ยินคำบรรยาย นอกจากจะได้ชมความงาม วิถีชีวิตและห้องต่างๆภายในวังแล้ว พวกเรายังได้มีโอกาสกราบพระอัฐิของรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ด้วย ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตยิ่งนัก

เกือบห้าโมงเย็นก็แยกย้ายกันกลับ ผมรอรถพี่เล็กมารับ รอเกือบชั่วโมง รู้สึกเพลีย หิวและเป็นไข้ เข้าไปซื้อยาลดไข้และอาหารในร้านเซเว่นฯมาทาน รู้สึกหนาวจนขนลุกเลย พอกลับถึงโรงแรมเก็บกระเป๋าใส่รถ ทานอาหารเย็นข้างๆโรงแรมแถวประตูน้ำกับจะเด็ด (ชำนาญ ปินนา) เพื่อนร่วมงานที่ สสจ.ตากที่เข้ามาเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหิดลและผมชวนเขากลับบ้านด้วยกัน

จะเด็ดจึงช่วยทำหน้าที่คนขับรถให้ผมได้ โชคดีมากไม่อย่างนั้น ผมต้องขับรถกลับเองคนเดียวและอาจเกิดอุบัติเหตุได้จากสภาพร่างกายไม่พร้อม ผมเพลียมากนั่งหลับไปเกือบตลอดเส้นทาง การอดหลับอดนอนนอนดึกเพราะนั่งเรียบเรียงรายงานไอเอสแล้วต้องตื่นตีห้าครึ่งมาออกกำลังกายยามเช้า ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเป็นไซนัสอักเสบกำเริบขึ้นมาอีก กลับถึงบ้านเกือบเที่ยงคืนต้องรีบทานยาแก้อักเสบและนอนพักทันที

หมายเลขบันทึก: 394182เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2010 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท