ตายแบบไหนดี


การดูแลแบบ Palliative Care น่าจะช่วยให้ผู้ป่วย “ตายดี” ได้ แม้จะไม่สามารถเลือกได้ว่า “ตายแบบไหนดี”

คำถามที่ถามได้ ลองตอบได้ แต่เอาเข้าจริงอาจจะเลือกไม่ได้

ถ้าดูตามกราฟแต่ละแบบจะเห็นว่าคนเราทุกคนมีทางเลือกที่จะจากไปอยู่ไม่กี่แบบเท่านั้นเอง ยังไงก็คงต้องเป็นสักแบบสำหรับคนทุกคน

ให้แกนแนวนอนเป็นเวลา และ แกนแนวตั้งเป็นการดำเนินโรคนะคะ

แบบที่ 1 น่าจะเดาได้ไม่ยาก ว่าเป็นการตายแบบเฉียบพลัน เช่นอุบัติเหตุ การฆ่าตัวตาย การถูกฆ่าตาย

แล้วแบบไหนเป็นโรคมะเร็งกันนะ คำตอบก็คือจะเป็นแบบที่ 2,3 หรือ 4 ก็ได้ค่ะ

 

 

แบบที่ 2 อาจจะเป็นโรคมะเร็งกลุ่มที่มีการดำเนินโรคช้า ค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจจะหมายรวมถึงโรคเรื้อรังต่างๆเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับและโรคทางหลอดเลือดสมองด้วยก็ได้

แบบที่ 3 อาจจะเป็นโรคมะเร็งกลุ่มที่มีอาการแย่ลงเป็นช่วงๆแต่พอได้รับเคมีบำบัด การผ่าตัดหรือการฉายแสงแล้วผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นช่วงๆ หรืออาจจะหมายรวมถึงกลุ่มโรคหัวใจที่ผู้ป่วยมีน้ำท่วมปอดบ่อยๆ โรคหอบหรือโรคถุงลมโป่งพองที่ผู้ป่วยมีอาการหอบเฉียบพลันและต้องเข้ามารับการรักษาบ่อยๆก็ได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถึงจะมีอาการดีขึ้นแต่มักไม่ดีเท่าพื้นฐานเดิมที่เคยเป็น

แบบที่ 4 อาจจะเป็นโรคมะเร็งกลุ่มที่เมื่อได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกก็พบว่าเป็นระยะสุดท้ายเลย อาจจะมีการรักษาได้อยู่ แต่ก็ไม่ทำให้อาการดีขึ้น หรือในผู้ป่วยมะเร็งบางกลุ่มที่ผู้ป่วยเลือกที่จะไม่รับการรักษาทำให้อาการของโรคแย่ลงเรื่อยๆ

 อาจารย์สุรเดช หงส์อิง กุมารแพทย์โลหิตวิทยา เสนอไว้ว่าน่าจะมีแบบที 5 ด้วย เป็นกราฟแบบที่เรียกว่า กราฟแห่งความหวัง เพราะในผู้ป่วยมะเร็งบางคนอาจจะมีอาการแย่ลงแล้วได้รับการรักษาที่ทำให้หายขาดจากโรคทำให้อาการดีขึ้นได้เช่นกัน เราต้องเชื่อด้วยว่าบางครั้งปาฏิหารย์ก็มีจริง

ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตประมาณ  400,000 คน ในจำนวนนี้สามารถสำรวจสาเหตุการตายได้ประมาณ 200,000 คน โดยพบว่าเป็นกลุ่มที่ 1 ประมาณ ร้อยละ 25 และ กลุ่ม 2,3 และ 4 รวมกันประมาณ ร้อยละ 75

สำหรับมุมมองทางการแพทย์ไม่ว่าเป็นผู้ป่วยในกลุ่มไหนก็ควรได้รับการดูแลทั้งนั้น สำหรับแบบที่ 1 ทีมแพทย์อาจจะมีเวลาดูแลคนไข้ไม่นาน หรือ คนไข้อาจจะเสียชีวิตก่อนที่จะมาพบเรา แต่กลุ่มคนสำคัญที่เราจะต้องดูแลประคับประคองจิตใจคือญาติผู้สูญเสีย การสูญเสียแบบเฉียบพลันเป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับได้เสมอ

ส่วนกลุ่ม 2,3, และ 4 ทั้งผู้ป่วยและญาติมักต้องการการดูแลควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นโรคในกลุ่มมะเร็งหรือไม่ใช่มะเร็งก็ตาม การที่ได้รับข่าวว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย หรือต้องเป็นโรคเรื้อรังไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ย่อมไม่ใช่ข่าวดีอย่างแน่นอน ผู้ป่วยและญาติจึงต้องการแพทย์ที่เข้าใจเขา ที่จะช่วยเป็นผู้ดูแลและที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะคนไข้เราอาจจะไม่มีสิทธิเลือก แต่ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์เราสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติได้ทุกกลุ่มค่ะ และสำหรับกลุ่ม 2,3, และ 4 การดูแลแบบ Palliative Care น่าจะช่วยให้ผู้ป่วย “ตายดี” ได้ แม้จะไม่สามารถเลือกได้ว่า “ตายแบบไหนดี”

หนังสืออ้างอิง

The Key Statistics of Thailand 2007. Bangkok: National Statistical Office of Thailand, Statistical Forecasting Bureau.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ความตาย
หมายเลขบันทึก: 393893เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2010 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หวัดดีดาริน

trajectory ช่วยเรามากในการตัดสินใจว่า คนไข้เราอยู่ตรงไหน(บน graph) แล้วช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง แต่มี NEJM 2010 ตีพิมพ์ในอีกแง่ว่า tracjectory เองก็มี defect ของมันเองว่า มีเฉพาะ dementia เท่านั้นที่เป้นไปตาม graph ในขณะที่อื่นๆ vary มาก

ชอบสไตล์การเขียนแบบมีข้อมูลสนับสนุน แบบพี่เป้มากคะ

ยังสงสัยว่า PPS สร้างมาจากสมมติฐานของ trajectory แบบ 4

ดังนั้น หากผู้ป่วยมี trajectory แบบอื่น อาจใช้ทำนายได้ไม่แม่นยำ หรือเปล่านะ

พี่โรจน์ ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ แต่บางครั้ง dementia ก็ทำนายยากเหมือนกันนะเพราะมันก็มีภาวะแทรกซ้อนได้ เป้ว่า trajectory นี้อาจจะเป็นประโยชน์มากกว่าในแง่ว่า ยังไงคนเราก็ต้องตายซักแบบอยู่ดี เป็นมะเร็งก็ไม่น่าจะแย่มากนัก เพราะยังมีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ และก็ไม่เป็นภาระคนอื่นนานเกินไป

แต้ ขอบคุณสำหรับคำชมนะจ๊ะ พี่ก็ชอบ style การเขียนแบบโยงจากประสบการณ์จริงของแต้เหมือนกันจ้ะ

พี่เห็นว่าถ้าเป็นแบบ 4 ก็เอา PPS มาใช้ได้ตรงไปตรงมา ถ้าแบบ 1 ก็ไม่ต้องใช้เลย แต่ถ้าเป็นแบบ 2,3 ก็คงต้องดูว่าตอนเอามาใช้เป็นช่วงคนไข้มีภาวะแทรกซ้อนอยู่รึเปล่า เพราะถ้ามีอยู่ตอนใช้ PPS ก็จะต่ำ แต่พอแก้เหตุได้ PPS ก็จะขึ้นมาจ้ะ

แต่ก็มีหลายๆครั้งที่ PPS ยัง 70 อยู่เลย แต่คนไข้มีภาวะแทรกซ้อนเช่น DVT, PE แล้วก็ไปเร็วเลยก็มีเนอะ trajectory 4 อันนี้ก็เลยเป็นโครงร่างคร่าวๆอยู่ดีจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท