เกร็ดเล็กๆจากประชุมวิชาการ เรื่อง การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง : มิติที่ท้าทายการพยาบาล


บรรยายพิเศษ การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง โดย รศ.ประคอง อินทรสมบัติ

ตามที่สมาคมพยาบาลฯ ได้จัดโครงการประชุมวิชาการ เรื่อง การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง : มิติที่ท้าทายการพยาบาล ในระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2553 ณ ห้องแกรนด์บอล์ลรูม บี ชั้น 8 โรงแรมลีการ์เด้นท์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พยาบาลPCU ได้มีโอกาสไปร่วมช่วงบรรยายพิเศษการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง โดย รศ.ประคอง  อินทรสมบัติ  มีเนื้อหา และประเด็นเด่น ที่อยากเอามาฝากเยอะเลย แต่ยังไม่มีโอกาสได้พิมพ์ วันนี้เอามาฝากแค่บรรยากศก่อนนะคะ

พยาบาลPCUได้ขออนุญาต รศ.ประคอง  อินทรสมบัติ  นำเนื้อหาฉบับเต็มมาลงในบันทึกคะดังย่อหน้าถัดไปนี้คะ

การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง : มิติที่ท้าทายการพยาบาล

โดย    รศ.ประคอง  อินทรสมบัติ

ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

--------------------------------------------

       ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอันดับแรกและทวีความรุนแรงมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 เรียกว่าเป็นการระบาด คือ แพร่กระจายทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปีคศ.2005 สาเหตุการตายการป่วยและทุพพลภาพ        ร้อยละ 60 เกิดจากโรคเรื้อรัง และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 73 ในปีคศ.2020 (WHO 2002) หากไม่หาทางป้องกันและจัดการอย่างเป็นระบบ รายงานสถานะสุขภาพของคนไทยในปีพศ.2546-2550 พบว่าอัตราป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง จากข้อมูลพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลในอันดับต้น ๆ ก็เป็นภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง คือ โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง นอกจากนี้การเข้าสู่สังคมสูงอายุที่เป็น Baby Boomer แรกซึ่งจะมีอายุ 65 ปี ในปีคศ.2011 กลุ่มผู้สูงอายุนี้จะมีโรคเรื้อรังสะสมเพิ่มขึ้น ที่เกิดโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ และวัยกลางคนและจะเป็นภาวะเรื้อรังหลายอย่าง ข้อมูลขององค์กรอนามัยโลกพบว่าภาวะเรื้อรัง 4 อันดับแรกคือโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ระบบบริการสุขภาพจำเป็นจะต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับภาระนี้ และปรับปรุงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าว

 

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยเรื้อรัง

          ปัจจัยหลายอย่างทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังเพิ่มขึ้น  การพัฒนาการสาธารณสุข   Bacteriology , Immunology  และเภสัชวิทยา  ทำให้อัตราตายจากโรคเฉียบพลันลดลง  การประสบความสำเร็จทางการแพทย์มีผลทำให้คนมีอายุยืนยาวเกิดโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นและสามารถค้นพบโรคได้เร็วขึ้น  นอกจากนี้การมีอายุยืนยาวมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและโรคที่กลายเป็นภาวะเรื้อรัง  เช่น  ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว  ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น  วัยรุ่นที่มีอัมพาตจากอุบัติเหตุที่มีชีวิตยืนยาวจากการฟื้นฟูสภาพ  และการดูแลต่อเนื่อง  ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถมีชีวิตยืนยาวจากการบำบัดทางไตหรือการปลูกถ่ายไต

          การเพิ่มขึ้นและการขยายของชุมชนเมืองทำให้ขาดแหล่งประโยชน์และบริการที่จำเป็นสำหรับการมีสุขภาพดี  เช่น  ที่อยู่อาศัย  น้ำดื่ม  น้ำใช้  สิ่งแวดล้อม  การกำจัดขยะมูลฝอย  ความยากจน  ความอดทน  ชีวิตความเป็นอยู่  การดำเนินชีวิต  ความเครียด  และบริการสุขภาพ

          วิถีชีวิตและพฤติกรรมเสี่ยง  เช่น  สูบบุหรี่  ดื่มอัลกอฮอล์  รับประทานอาหารไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย  ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้

 

ความหมายของการเจ็บป่วยเรื้อรัง

          ความหมายของโรคกับความเจ็บป่วย  (disease  VS.  illness)  โรคและความเจ็บป่วยมีความแตกต่างกันคำว่าโรค  หมายถึงภาวะที่วิชาชีพสุขภาพ  ให้ความหมายด้วยพยาธิสรีรภาพด้วยรูปแบบชีวภาพการแพทย์เป็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย  (Structure & function)  ในทางตรงกันข้าม  ความเจ็บป่วยเป็นประสบการณ์ของมนุษย์เกี่ยวกับอาการและความทุกข์ทรมาน  และมีความหมายถึงการรับรู้ต่อโรคที่เป็น  การมีชีวิตอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นและการตอบสนองของบุคคลและครอบครัว  แม้ว่าพยาบาลต้องให้ความสำคัญกับพยาธิสภาพของโรคเรื้อรัง  แต่ต้องเข้าใจประสบการณ์ความเจ็บป่วยด้วยเพื่อให้การดูแลผู้เจ็บป่วยเรื้อรังระยะยาว

 ความผิดปกติชนิดเฉียบพลันกับเรื้อรัง

          การเกิดโรคเฉียบพลัน  มีอาการเริ่มต้นทันทีทันใด  อาการและอาการแสดงเกิดจากกระบวนการของโรค  และเกิดในเวลาสั้น  มีการฟื้นหายและกลับสู่ปกติหรืออาจเสียชีวิต

          ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง  เกิดขึ้นยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด  ความอยู่รอดและความตายจะดำเนินไปด้วยกัน  การเจ็บป่วยกลายเป็นเอกลักษณ์ของบุคคล  เช่น  เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง  เข้าสู่ระยะโรคสงบ  แต่บุคคลนั้นก็ยังคงถูกตราว่าคนๆ นั้น เป็นมะเร็ง  ภาวะเรื้อรังมีหลายลักษณะและแบบแผน  การเริ่มเป็นแตกต่างกัน  อาจเกิดทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป  มีระยะโรคกำเริบหรือเข้าสู่ระยะโรคสงบโดยไม่มีอาการเป็นเวลานาน  มีความผาสุกและควบคุมอาการได้  ซึ่งต้องอาศัยความสมดุลระหว่างการปฏิบัติตามแผนการรักษา  และรักษาคุณภาพชีวิต  (lubkin & Larsen, 2006)

         ความหมายของภาวะเรื้อรัง  (Chronicity)

          การให้ความหมายของภาวะเรื้อรังมีความซับซ้อน  นักวิชาการหลายท่านพยายามให้ความหมาย  และมีความแตกต่างกันเริ่มจากคณะกรรมการโรคเรื้อรัง  (Commission  On  Chronic  Illness)  ซึ่งอธิบายลักษณะของโรคเรื้อรังว่าเป็นความบกพร่องหรือเบี่ยงเบนจากปกติที่มีลักษณะต่อไปนี้  1  อย่างหรือมากกว่า  คือ  (Lubkin & Larsen , 2006 : 5)

          1.  มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร

          2.  มีความพิการหลงเหลืออยู่

          3.  พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับคือสู่ปกติ

          4.  ต้องการการฟื้นฟูสภาพ  หรือ

          5.  ต้องการการติดตามเพื่อนิเทศ  สังเกตอาการ  และให้การดูแลเป็นระยะเวลานาน

          การประชุมระดับชาติเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง  ได้เพิ่มเติมมิติของเวลาเข้าไปในลักษณะของภาวะเรื้อรัง  คือ  โรคเรื้อรังหรือความบกพร่องที่เกิดขึ้นเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระยะเฉียบพลันเกิน  30  วัน  หรือต้องติดตามประเมินและฟื้นฟูสภาพเป็นเวลา  3 เดือนหรือมากกว่านั้น

          องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความของภาวะเรื้อรังว่า  (Chronic  Conditions)  ไปอย่างช้า ๆ  ต้องจัดการอย่างต่อเนื่องเป็นปี ๆ  หรือสิบ ๆ ปี  และมีภาวะปัญหาสุขภาพหลายอย่างมากกว่าคำจำกัดความดั้งเดิมคือความเจ็บป่วยเรื้อรัง  เช่นโรคหัวใจ  เบาหวาน  และโรคหืด  นอกจากนั้นรวมถึงโรคติดเชื้อ  (HIV/AIDS)  และความผิดปกติทางจิต  (WHO, 2002)

          นอกจากนั้น  การให้นิยามของภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังเฉพาะบางโรคอาจมีความยากลำบาก  เช่น  การเกิดโรคมะเร็ง  อาจเริ่มต้นก่อนปรากฏอาการหลายปี  และเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง  ได้แก่  การรับประทานอาหาร  วิถีชีวิต พันธุกรรม  ดังนั้น  ระยะเวลาของการเกิดโรคอาจมีการถกเถียงกันว่าเริ่มต้นเมื่อตรวจชิ้นเนื้อหรือก่อนหน้านั้นซึ่งมีผลต่อการป้องกันการเกิดโรค

          การให้ความหมายของความเจ็บป่วยเรื้อรัง  เพื่อกำหนดขอบเขตของทิศทางให้ชัดเจนและครอบคลุมขอบเขตของความเรื้อรังไปจนถึงความพิการ  จะพบปัญหาในการวัดความพิการว่ามากน้อยเพียงใด  ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัย  สภาวะและความรุนแรงของโรค  แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น  เช่น  อายุ  ระยะพัฒนาการ  การปรับตัว  การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต  และความจำกัดในกิจวัตรประจำวัน

          การให้ความหมายของภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังในทัศนะทางการพยาบาลโดย  Curtin & Lubkin (1995)  ทำให้ความหมายสมบูรณ์ขึ้นและครอบคลุมภาวะต่าง ๆ  คือ  “การเจ็บป่วยเรื้อรัง  เป็นภาวะที่ไม่สามารถกลับสู่ปกติ  ความเสื่อมจากโรคสะสม  หรือซ่อนเร้น  สงบ  หรือมีความบกพร่อง  ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของบุคคลเพื่อการดูแลสนับสนุน  และการดูแลตนเอง  ธำรงไว้ซึ่งการทำหน้าที่  และป้องกันภาวะทุพพลภาพที่เพิ่มขึ้น  การให้ความหมายนี้ทำให้เข้าใจทุกมิติของความเจ็บป่วย  สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง  และผลกระทบจากความเจ็บป่วย

 

ผลกระทบของความเจ็บป่วยเรื้อรัง

          ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วยทุกด้าน  และมีความแตกต่างของแต่ละบุคคล  ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ  ความเชื่อและการให้คุณค่า  ระบบสนับสนุน  และปัจจัยอื่นที่แตกต่างกัน  ตัวอย่าง  เช่น  ผู้หญิงอายุ  40 ปี  เป็น  Multiple  Sclerosis  อาจมีประสบการณ์ความเจ็บป่วยแตกต่างจากผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่อายุเท่ากัน  และโรคเดียวกันดังนั้น  แต่ละบุคคลจึงมีประสบการณ์ความเจ็บป่วยเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง  ผลกระทบของความเจ็บป่วยเรื้อรังมีดังนี้

          1.  การเจริญเติบโตและพัฒนาการ  ความเจ็บป่วยเรื้อรังยื่นเข้าไปในทุกระยะของการเจริญเติบโต  และพัฒนาการ  อาจไม่สามารถกระทำพัฒนกิจในช่วงวัยต่าง ๆ ได้สำเร็จ  อาจล่าช้า  หรือหยุดชะงัก  เช่น  การเจ็บป่วยในวัยเด็ก  วัยรุ่น  วัยผู้ใหญ่ตอนต้น  วัยกลางคน  และวัยสูงอายุ

          2.  คุณภาพชีวิตกับชีวิตที่ยืนยาว  ความสามารถและการประสบความสำเร็จในการปรับตัวต่อภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง  มีความหมายต่อคุณภาพชีวิตซึ่งเป็นคุณค่าที่ต้องใช้ความพยายามและสู้ชีวิตต่อไป  โรคเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต  คนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในเรื่องความเข้มแข็ง อดทน  และความแข็งแกร่งซึ่งเป็นโครงสร้างบุคลิกภาพเรียกว่า  Hardiness  Personality  ที่ประกอบด้วยลักษณะของบุคคลที่เชื่อว่าสามารถควบคุมหรือมีผลต่อเหตุการณ์ที่ประสบ  (Control)  มีความสามารถในการเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีข้อผูกพันอย่างลึกซึ้ง  (Commitment)  และมองเหตุการณ์อย่างท้าทาย  (Challenge)  (Kobasa, 1979)  ดังนั้นในโรคเดียวกัน  คนแต่ละคนมีความสามารถในการปรับตัวแตกต่างกัน  ซึ่งขึ้นอยู่กับโรค  อายุระยะพัฒนาการ  ความรุนแรงของภาวะทุพพลภาพ  และการรักษา  รวมทั้งครอบครัว  และชุมชน  และวิชาชีพสุขภาพ/ระบบสุขภาพ 

          3.  อิทธิพลของสังคม  สังคมมักให้ความหมายความเจ็บป่วย  และความอ่อนแอโดยมุ่งที่โรคเป็นหลัก  จึงทำให้ผู้เจ็บป่วยเรื้อรังเสียโอกาส  และไม่เกิดผลดี  ผู้เจ็บป่วยเรื้อรังควรจะได้รับการพิจารณาว่าสามารถปรับเปลี่ยนมากกว่าจะมองว่าเป็นคนที่ไม่สร้างผลผลิต  (Nonproductive)  ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยเหลือให้เต็มศักยภาพ  และมีคุณค่า  เกิดผลผลิตได้นอกจากนี้การกำหนดนโยบาย  และกฎหมายจะช่วยให้เกิดการสนับสนุนผู้ป่วยเรื้อรัง  ลดการตราบาปต่อผู้ป่วย  และจัดการทางการเงิน  การคลัง

          4.  ผลกระทบทางเศรษฐกิจ  ภาวะเรื้อรังมีผลต่อเศรษฐกิจ  การเงิน  ค่าใช้จ่ายทางด้านบริการสุขภาพ  เช่น  ผลกระทบจากการเป็นเบาหวาน  ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายโดยตรงและภาวะทุพพลภาพ  ไม่สามารถประกอบวิชาชีพ  อัตราป่วยก่อนวัยอันควร  ซึ่งสถาบันแพทย์เสนอว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่ควรจะมีการปรับปรุงคุณภาพของบริการสุขภาพอย่างยิ่ง  เมื่อหันกลับมาพิจารณาผู้ที่มีภาวะเรื้อรัง  5  อย่างหรือมากกว่า  ต้องติดตามการรักษา  มาตรวจตามนัดถึง  15  ครั้งต่อปี  และใช้ยาประมาณ  50  ชนิดต่อปี  ที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง  และจากสิทธิประโยชน์พึงได้จากรัฐ

          5.  เจตคติของวิชาชีพสุขภาพต่อภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง  วิชาชีพสุขภาพสามารถมีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเรื้อรังได้  และช่วยบุคคลให้พัฒนาเต็มตามความสามารถ  มีมุมมองทางบวกต่อครอบครัว  หรือสังคม  และในขณะเดียวกัน  การมีเจตคติทางลบ  มีผลต่อการฟื้นฟูสภาพเช่นเดียวกัน  การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังไม่ใช่การดูแลเพื่อช่วยให้รักษาชีวิตที่หน่วยฉุกเฉินเท่านั้นแต่จำเป็นจะต้องให้ความรู้สนับสนุนการจัดการตนเองกับผู้ป่วยถึงผลในระยะยาว  และการดูแลต่อเนื่องตามวิถีโคจรของความเจ็บป่วย  (Trajectory) 

 

รูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

       องค์การอนามัยโลกได้เสนอระบบการป้องกันและจัดการภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เรียกว่า Innovative Care for Chronic Conditions (ICCC)  ซึ่งเป็นการขยายจากรูปแบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง (Chronic Care Model)ของ Wagner,et al (1999) นวัตกรรมการดูแล  ผู้ป่วยเรื้อรังเป็นการเสนอความคิดวิธีการและโปรแกรมใหม่เพื่อป้องกันและจัดการภาวะเรื้อรัง ซึ่งนวัตกรรม (Innovation) มีความหมายว่าบูรณาการองค์ประกอบพื้นฐานจาก ระดับ Micro,Meso และ Macro ของระบบบริการสุขภาพแต่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ แนวคิดของภาวะเรื้อรังเสียใหม่โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญ ผู้ป่วยมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดผลลัพธ์ ผู้ป่วยไม่ได้เป็นเพียงผู้ตามแต่มีส่วนร่วมอย่างสำคัญที่จะทำให้เกิดสุขภาพดี (ดังแสดงในรูปที่ 1)

      รูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง  พัฒนาขึ้นโดย  Edward  H.  Wagner  ซึ่งเป็นแพทย์แห่งสถาบัน  Group Health  Cooperative  of  Puget  Sound’s  MacColl  Institute   for  Health  Care.  Innovation  เป็นรูปแบบสำหรับให้การดุแลผู้ป่วยระดับปฐมภูมิที่เจ็บป่วยเรื้อรัง  เพื่อนำไปใช้พัฒนาการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่มีประวัติเสี่ยง  เนื่องจากผู้ป่วยเรื้อรัง  เช่น  ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน  ติดบุหรี่  ไขมันในเลือดสูง  ภาวะหัวใจล้มเหลว  หัวใจเต้นผิดจังหวะ  AF  โรคหืด  และภาวะซึมเศร้าไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง  จึงจำเป็นต้องออกแบบใหม่เพื่อให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน  การสร้างรูปแบบจัดการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังอิงหลักฐานเชิงประจักษ์  และกรอบแนวคิดมีลักษณะเปรียบเป็นหมู่ดาว  3  กลุ่ม  ที่คาบเกี่ยวกัน  ประกอบด้วย 

1)  ชุมชนทั้งหมด  ที่มีแหล่งประโยชน์มากมาย  รวมทั้งนโยบายสาธารณะ  นโยบายเอกชน 

2)  ระบบบริการสุขภาพรวมถึงระบบการจ่าย  และ 

 3)  องค์กรผู้ให้การดูแล 

      ไม่ว่าจะเป็นระบบบูรณาการ  คลินิก  หรือเครือข่าย  ในระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่เหมือน  3  หมู่ดาวของจักรวาลนี้  การทำงานอาจช่วยเหลือหรือเป็นอุปสรรคต่อการดูแลให้เต็มที่  โดยรูปแบบการดูแลประกอบด้วย  6  ส่วน  คือ  แหล่งประโยชน์ชุมชน  และนโยบายชุมชน  หน่วยงานบริการสุขภาพ  การสนับสนุนการจัดการตนเอง  การออกแบบระบบให้บริการ  การสนับสนุนการตัดสินใจ  และระบบความรู้และข่าวสารทางคลินิก  โดยต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีส่วนร่วม  ระหว่างผู้ป่วย (ที่รับรู้และมีส่วนร่วม)  กับทีม  เกิด  ผลลัพธ์ทางด้านการทำหน้าที่  และผลลัพธ์ทางคลินิก  (Bodenheimer,  et  al  2002)  ดังแสดงในรูปที่ 2      

การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง : มิติท้าทายของการพยาบาล

การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ท้าทายในศตวรรษที่ 21 คือการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและของโลก พยาบาลสามารถรับผิดชอบกับภารกิจนี้โดยอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ จากการศึกษาวิจัย ปรับปรุงโปรแกรมการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพที่เปลี่ยนแปลง และการใช้หลักการของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังลงสู่การปฏิบัติทางคลินิก ความหมายของสิ่งที่กล่าวว่าท้ายทายคืออะไร ผู้ป่วยเรื้อรังเป็นประชากรที่มีความต่าง เช่น ปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพจิต และอื่น ๆ ถึงแม้ว่ามีความต่าง แต่ความเหมือน คือ ไม่หายขาด ต้องการการรักษาตลอดชีวิต ต้องติดตาม และจำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะ การจัดการตนเองเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์สุขภาพ และหลีกเลี่ยงการกำเริบของการเจ็บป่วย (WHO, 2002) ในขณะที่ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้ทุกวัย ตลอดกระบวนการของชีวิตตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และมีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังจึงแตกต่างจากการดูแลผู้ป่วยเฉียบพลัน ในสถานการณ์ปัจจุบันมักมุ่งที่การรักษาภาวะเฉียบพลัน  ซึ่งถ้า ความสนใจน้อยกับการจัดการตนเอง ของผู้ป่วยครอบครัว การป้องกันและให้การดูแลต่อเนื่อง การดูแลที่เกิดผลลัพธ์ทางบวกต่อรูปแบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง (chronic care model) ของ Wagner และคณะคือผลลัพธ์ทางคลินิกและความสามารถในการทำหน้าที่ ส่วน Innovative care for chronic condition (ICCC) ซึ่งปรับโดยองค์การอนามัยโลก ที่อ้างว่าจะเหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนาด้วย แนวคิดหลักของรูปแบบทั้ง 2 นี้ต้องการวางแผนการดูแลที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างระบบบริการสุขภาพที่ต้องเริ่มจากการเชื่อมโยง การเตรียม การให้ข้อมูล และการเพิ่มแรงจูงใจให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ทีมสุขภาพ และชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการดูแลต่อเนื่อง การใช้ภาวะผู้นำและมีแรงดึงดูดใจ การจัดระบบระเบียบและเตรียมทีมสุขภาพ สนับการจัดการตนเองและป้องกันปัญหา พัฒนาและกระตุ้นให้ใช้ระบบข้อมูลและกำหนดนโยบายของสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ทางคลินิก และความสามารถในการทำหน้าที่/คุณภาพชีวิต

    สภาการพยาบาลระหว่างประเทศ (ICN) เป็นองค์กรวิชาชีพที่ให้ความสำคัญกับภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยการกำหนดหัวข้อในวันพยาบาลสากล ปีคศ.2010  “พยาบาลนำชุมชน สร้างสรรค์คุณภาพ การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง” ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบต่อความรุนแรงของปัญหา และความเร่งด่วนในการร่วมแก้ปัญหา  และรวมพลังพยาบาลทั่วโลก นอกจากนี้ด้วยฐานคิดหลักของวิชาชีพการพยาบาล เช่น การดูแลสุขภาพองค์รวม ปรัชญาการดูแลตนเอง การดูแลที่มุ่งผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในการดูแล และการดูแลต่อเนื่องล้วนเป็นรากฐานสำคัญของการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง Bodenheimer, McGregor และ Stothart (2005) อ้างว่าพยาบาลเป็นผู้นำในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง จากหลายการศึกษาแสดงให้เห็นถึงบทบาทหลักของพยาบาลในการใช้องค์ประกอบของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง จากหลายการศึกษาแสดงให้เห็นถึงบทบาทหลักของพยาบาลในการใช้องค์ประกอบของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังโดยเฉพาะเรื่องการวางแผนติดตามเยี่ยมผู้ป่วย  การสื่อสารมีประสิทธิภาพ  การใช้กลวิธีและฝึกทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่พยาบาลเป็นผู้นำ (nurse  led program) ที่มีผลต่อคุณภาพการดุแลผู้ป่วยเบาหวาน อุปสรรคที่เกิดขึ้นคือการศึกษา การจ่ายประกัน และบางสถาบันใช้พยาบาลไม่คุ้ม ซึ่งต้องขจัดอุปสรรคเหล่านี้ด้วยการพัฒนาศักยภาพและการเตรียมทางด้านการศึกษา และการฝึกอบรม จากการปฏิบัติการพยาบาลทั่วไปและการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ทีเป็นการจัดการกลุ่มผู้ป่วย (Care management) และการจัดการรายกรณีในผู้ที่มีปัญหาซับซ้อน รวมทั้งการสร้างระบบบริการผู้ป่วยเรื้อรัง

 

สรุป

          ความต้องการการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง มีความซับซ้อน ที่เป็นความต้องการซึ่งเกิดขึ้นจากความเจ็บป่วยและการรักษา ความต้องการโดยทั่วไป และความต้องการในระยะพัฒนาการการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นการดูแลระยะยาว ที่เป็นการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ป่วยครอบครัว และทีมสุขภาพ รวมถึงสิ่งแวดล้อมและแหล่งประโยชน์ในชุมชน การจัดการดูแลตนเอง เป็นหัวใจสำคัญของหน่วยบริการสุขภาพที่ต้องเสริมพลังให้กับผู้ป่วยและครอบครัวพัฒนาความสามารถในการดูแลตนเองอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว พยาบาลมีบทบาทสำคัญมากในระบบสุขภาพที่มีส่วนร่วมในทีมสุขภาพ เพื่อป้องกันและจัดการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เริ่มตั้งแต่ประชาชนที่มีสุขภาพดี กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรัง การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ผู้เจ็บป่วยเรื้อรังที่อาการรุนแรงและโรคก้าวหน้า รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต การออกแบบระบบการดูแล แนวคิด การดูแลตนเองต่อเนื่องในการดูแล การดูแลที่มุ่งผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง แนวคิดหลักเหล่านี้ถูกเตรียมมาในวิชาชีพการพยาบาลซึ่งช่วยให้การดูแลผู้เจ็บป่วยเรื้อรังมีคุณภาพ

----------------------------------------

บรรณานุกรม

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักนโยบายและแผนกระทรวงสาธารณสุข. (2541). การสำรวจสภาวะสุขภาพของประชาชนโดยตรวจร่างกาย พ.ศ.2539-2540.

Bodenheimer, T. ; MacGregor, K. & Stothart, N. (2005). Nurses as leaders in Chronic Care. BMJ. 330, 612-3.

Geest. (2009). Care for the chronically ill : a challenge also for nursing  Journal of Nursing Scholarship. 41, 229-230.

Epping – Jordan, J.E. ; Pruitt, S.D. ; Bengoa, R. & Wagner, E.H. (2004). Improving the quality health care for chronic conditions. Qual. Saf. Health Care. 13, 299-305.

Kobasa, S.C. (1979). Stressful life events, personality and health  : An injury into hardiness. Journal of Personality and Social psychology, 37, 1-11.

Lubkin, I.M. & Larsen, P.D. (2006). Chronic Illness Impact and Interventions. Boston : fJones and Bartlett publishers.

Vonkorff, M. ; Gruman J. ; Schaefer, J. ; Curry, S.J. & Wagner, E.H. (1997). Collaborative Management of Chronic Illness. Annals of Internal Medicine. 17, 1097-1102.

Wagner, E.H. ; Davis, C., ; Schaefer, J. et al. (1999). A survey of leading chronic disease management programs : are they consistent with the literature? Manage Care Q. 7 : 56-66.

World Health Organization. (2002). Innovative care for chronic conditions: Building Blocks for Action Global Report.

                                 .................................

และคุณรำภาภรณ์ ได้สรุปเนื้อหาในการประชุมมาเล่าในการประชุมวิชาการพยาบาล    คลินิคเวชปฏิบัติครอบครัวดังLink ด้านล่างคะ

 http://gotoknow.org/file/pcunurse/Chronic.pdf

หมายเลขบันทึก: 393699เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2010 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท