สระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองร้อยเอ็ด


101

 

              สระน้ำมงคลเมือง   สระน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของชาวอีสานเป็นอย่างยิ่ง  เพราะชาวอีสานแล้งมากเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวและร้อน  ฉะนั้นภูมิปัญญาของปราชญ์โบราณการรักษาบ่อน้ำให้คงอยู่ด้วยดีก็คือ  การเคารพว่าบ่อนั้นศักดิ์สิทธิ์คนก็จะกลัวไม่กล้าเอาน้ำมาก  เอาแต่พอใช้  น้ำก็พอใช้จ่ายกัน  บางแห่งเป็นความศักดิ์สิทธ์โดยตำนานที่เล่าขนานกันมา

                สระน้ำในร้อยเอ็ดถือว่าเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ระดับประเทศ   เพราะเมื่องานราชาภิเษก

รัชกาลที่  9   ก็ได้อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 19  จังหวัดทั่วไทย    ร้อยเอ็ดเป็นเมืองหนึ่งที่ต้องส่ง

น้ำศักดิ์สิทธิ์เข้าพระบรมมหาราชวังเพื่อทำพิธีราชาภิเษก   โดยใช้ทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์และใช้สรงอาบ

สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวร้อยเอ็ดมีความสำคัญละซ่อนเร้นไปด้วยตำนานอันแปลกพิศดารเป็นฉนวนให้เกิดข้อพิพาททางตำนานหลายครั้ง  

                ในปัจจุบัน  หากถามชาวร้อยเอ็ดว่าสระน้ำศักดิ์สิทธิ์มีหรือไม่   อยู่ที่ใดนั้น น้อยนักที่จะทราบและสามารถที่จะตอบได้อย่างถูกต้องครบทั้งหมด   เพราะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยและ

วัฒนธรรมสระน้ำเหล่านั้นตกอยู่ในสภาพสระน้ำธรรมดาที่ใช้เลี้ยงปลาเท่านั้น 

                สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์มีทั้งหมด  5  สระด้วยกันคือ  สระแก้ว  สระทอง  สระบริสุทธิ์(สระเงิน)   สระประเสริฐสงคราม   และสระชัยมงคล  และยังมีสระน้ำสำคัญที่ควรศึกษาคือ  สระฮาง

                                1. สาแก้ว,  สระแก้ว  เป็นสระน้ำจืดขนาด  10 x 20 เมตร  มีการก่อตั้งวัดที่ริมน้ำนั้นใช้ชื่อวัดว่า  วัดสระแก้ว  สรนี้เป็นสระที่มีมาแต่โบราณ  อยู่ใกล้กับสระฮางซึ่งห่างกันไม่ถึง  50  เมตร  แต่ที่น่าแปลกคือน้ำคนละสีและนำที่สระแก้วไม่เคยแห้งเหือดเลย  เป็นสระศักดิ์สิทธิ์ที่น้อยคนจะรู้ว่าอยู่ที่ใน  ปัจจุบันอยู่ในบริเวณวัดเพราะวัดได้สร้างกำแพงล้อมเอาสระเป็นอาณาเขตวัดด้วย

                                2. สาทอง,  สระทอง  เป็นสระน้ำจืด  สันนิษฐานว่า  น่าจะขุดหลังสร้างวัดแล้วเสร็จเพราะตามคติโบราณอีสานเมื่อสร้างวัดต้องขุดสระเพื่อประโยชน์ใช้สอยของพระสงฆ์  จากหลักฐานที่วัดนี้แต่เดิมเรียกวัดพระสังกัจจายน์เพราะมีพระสังกัจจายน์สมัยโบราณ(น่าจะตั้งมาพร้อมการสร้างวัดในครั้งนั้น)เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย  สระทองจึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นของสระน้ำสำคัญของเมืองร้อยเอ็ด

                                3.สาบริสุทธิ์,  สระบริสุทธิ์ (สระเงิน)  เป็นสระน้ำจืดกลางเกาะบึงพลาญชัย  เป็นสระขนาดเล็ก ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าน่าจะมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  สระเงิน  เพราะโดยอดีตโบราณแล้วของมงคลคือ แก้ว  เงิน  ทอง  จึงน่าจะมีชื่อนี้ดังว่าเงินมีสีขาวบริสุทธิ์นั่นเอง  แต่เดิมเมื่อมีการขุดลอกบึงพลาญชัยแล้ว  จึงทำการขุดลอกสระบริสุทธิ์ด้วย  จึงได้พบเสาหลักเมืองจมอยู่ที่ก้นสระ  จึงทำการอัญเชิญมาปักที่โนนดินที่พูนให้สูงขึ้น   ทำการบวงสรวงบัตรพลีเป็นเสาหลักเมืองร้อยเอ็ดเป็นที่สิงสถิตของเจ้าพ่อเมหศักดานุภาพหลักเมือง

                                4.สาปะเสิฐสงคาม,  สระประเสริฐสงคราม  เป็นสระน้ำจืดตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของค่ายประเสริฐสงคราม  มีความสำคัญเพราะเป็นสระน้ำประจำค่าย   เข้าใจว่าเดิมเป็นศระที่ใช้ล้างดาบเมื่อไปทัพสงครามชนะแล้วและก่อนที่จะไปทัพ  

                                5.สาซัยยะมงคุล,  สระชัยมงคล  เป็นสระน้ำจืดตั้งอยู่บริเวณวัดบึงพลาญชัย  ซึ่งจากหลักฐานเป็นวัดเก่าแก่  สันนิษฐานว่าน่าจะตั้งมาพร้อมจึงหวัดร้อยเอ็ด  ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นทุ่งสนามรบ  เมื่อทำการรบแล้วชนะจึงตั้งบ้านเมืองสาปชื่อว่า  พะลานชัย  หมายถึง  ลานแห่งชัยชนะ  สระน้ำคงจะขุดมาพร้อมวัด   ซึ่งมีประวัติว่าเป็นวัดเก่าที่สร้างในสมัยทวารวดี  โดยอาศัยจากชื่อวัดและใบเสมาที่อยู่รอบพระอุโบสถ  คาดว่าแต่เดิมสระคงไม่กว้างใหญ่มากนัก  ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะขุดให้ลึกและกว้างขึ้นและมีการสร้างหอกลางน้ำเรียกว่า  หอพระไตรมิ่งเมือง

                สระน้ำสำคัญ

                                สระฮาง   สระน้ำสำคัญของเมืองร้อยเอ็ดที่น่าที่จะทำการศึกษาทั้งทางด้านสังคมวิยาและมนุษย์วิทยา  เพราะชุมชนที่สระฮางถือได้ว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีการดำรงความเป็นอยู่แบบเดิมกล่าวกันว่า   ชุมชนนี้มีลักษณะของคนที่เป็นคนลักเล็กขโมยน้อย     เป็นคนที่ชอบเสพยา   เป็นลักษณะที่ยังคงเป็นเช่นเดิมจะมีการเปลี่ยนแปลงก็บ้างเล็กน้อย     ปัจจุบันชุมชนนี้ก็ยังเป็นชมชนใหญ่อยู่  แต่พฤติกรรมไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเช่นไร  ซึ่งน่าจะดีขึ้นบ้าง  แต่จากคำบอกเล่าของคนที่อยู่ใกล้เคียงชุมชนนี้ปรากฏว่ายังเป็นเช่นเดิมก็เป็นที่น่าศึกษาว่าเพราะเหตุใด

                                สาฮาง,  สระฮาง เป็นสระน้ำจืดที่เป็นที่พักน้ำทิ้ง, น้ำเสียมาแต่โบราณแต่เดิมคงเรียกสระฮ้าง  เพราะคำว่า  ฮ้าง แปลว่า  พัง, เสีย,  ไร้ค่าฯ  น่าจะหมายถึงสระที่มีน้ำเน่าเสียก็เป็นได้   ตั้งอยู่หลังสระแก้วคือถัดจากสระแก้วมาทางทิศเหนือประมาณ  100  เมตรเชื่อมต่อกับคลองคดของคลองรอบเมือง  จึงเรียกบริเวณทั้งสองสระรวมกันว่า สระฮาง

คำสำคัญ (Tags): #อีสานมิวเซียม
หมายเลขบันทึก: 393489เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2010 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ  เป็นเรื่องราวที่ไม่เคยได้อ่านมาก่อนครับ  ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท