วิชาการสายรับใช้สังคมไทย ๙. แนวคิดด้านการผลิตบัณฑิตเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรม


 
          งานวิชาการเพื่อประโยชน์ของสังคมไทยมีมิติด้านต่างๆ มากมาย   ในตอนนี้เป็นเรื่องการเรียนการสอน   โปรดอ่านข้อความจาก อี-เมล์ ต่อไปนี้

          เรียนคุณหมอวิจารณ์ และ อ. ปิยะวัติ ที่เคารพ

          มีบทความดีเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยกับ real sector ที่ผมส่งมานี้ น่าอ่านมากครับ อ. วิทยาเขียนในแนวความสัมพันธ์ supply chain-value chain ต่อกัน  เป็นแนวคิดของการได้ประโยน์ต่อกันที่น่าจะเป็นแนวคิดที่ปรับใช้กับที่คุณหมอประเวศพูดเรื่องมหาวิทยาลัยกับจังหวัด  หรือที่คุณหมอวิจารณ์พูดเรื่องนักวิชาการรับใช้สังคมได้ดี 

          บทความนี้เวียนอยู่ในกลุ่มนักวิจัย logistics ครับ
          สุธีระ (suteerapsu(at)gmail.com) 

 

          เรียน ทุกท่านครับ

          ผมยังไม่ได้มีโอกาสตอบบทความของอาจารย์ดวงพรรณเลยครับและผมได้ไปร่วมงานวิพากษ์หลักสูตรการเรียนการสอนของกลุ่มสิ่งทอและ garment ที่จัดโดยมูลนิธิเครื่องนุ่งห่มไทย


          ก็เลยได้แนวคิดเรื่องการทำหลักสูตร ปริญญาตรี  ที่เชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติ    ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรม

 
          ผมก็เลยเขียนเป็นความเห็น  ตอบอาจารย์ดวงพรรณใน เรื่อง  นักปฏิบัติ   และตอบ  กลุ่มอาจารย์สิ่งทอและกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและ Garment ในเรื่อง  ความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย    ในลักษณะเป็นความเรียง ดังนี้ครับ  เผื่อว่าจะประโยชน์กับทุกท่านได้บ้าง  และพร้อมรับข้อคิดเห็นและติเพื่อก่อครับ 


          หรือ ถ้ายังไม่มีเวลาอ่านนะครับ   ติดตามได้ภายหลัง  ที่ 
http://drvithaya.blogspot.com/  ครั้งนี้  พูดถึงปริญญาตรี  เป็นตอนที่ 1  ไปก่อน   คราวต่อไปจะเป็นปริญญาโทและเอกตามมาครับ


          จากปริญญาตรี สู่ นักปฏิบัติในวงการธุรกิจอุตสาหกรรม  : ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม  (ตอนที่ 1) 


          เมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมวิพากษ์หลักสูตรการเรียนการสอนที่จัดโดยมูลนิธิเครื่องนุ่งห่มไทย หรือ SHARE  ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้อยู่ในวงการสิ่งทอหรือ Garment โดยตรง แต่ที่ถูกเชิญให้ไปวิพากษ์ก็คงเป็นเพราะเรื่อง ลีน (Lean) มากกว่าครับ เพราะว่าในวงการสิ่งทอกำลังสนใจเรื่องลีน แต่ในความเห็นของผม พื้นฐานของลีนคือ Supply Chain นะครับ แล้วเรื่องลีน ก็ดูจะห่างๆ ออกไปจากหลักสูตรการเรียนในระดับปริญญาตรีเสียด้วย หลังจากได้ฟังความคิดเห็นจากทางภาคอุตสาหกรรมและทางอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านสิ่งทอและ garment แล้ว ผมก็พอจะสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมไทยเราจะต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัย (University - Industry Linkage) ในขณะที่อุตสาหกรรมเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรม (แต่เป็นในมุมไหน?) มหาวิทยาลัยก็ต้องดิ้นรนในการอยู่รอดด้วยจำนวนนักศึกษาที่สมัครเรียนและด้วยกฎระเบียบและการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่ตลาดการศึกษาได้ขยายวงกว้างมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องรักษาจำนวนนักศึกษาให้เหมาะสมไว้ ผมไม่คิดว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยฟังอุตสาหกรรมเท่าไรนัก และผมก็ไม่คิดว่าอุตสาหกรรมเชื่อในมหาวิทยาลัยมากนัก เหมือนที่ อ.ดวงรัตน์ จาก ม.เกษตร ให้ข้อคิดเห็นไว้ และเหมือนๆ ที่ผมได้ประสบมา

          ที่จริงแล้วอุตสาหกรรมต้องนำหน้าการศึกษาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งการศึกษาเองก็จะต้องเป็นผู้ที่นำหน้าอุตสาหกรรมด้านทฤษฎีและแนวคิดด้วย ทั้งอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยนั้นจะต้องเป็น Partnership หรือหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน ในขณะที่อุตสาหกรรมต้องการความรวดเร็วและการปรับตัวที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีลูกค้าที่เป็นนักศึกษาในระบบที่ต้องการมาเรียนปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ ความต้องของนักศึกษาเหล่านี้ก็ต้องการแค่ใบปริญญาที่สามารถออกไปหางานได้ และความรู้ประสบการณ์ที่เป็นพื้นฐานที่เพียงพอต่อการไปทำงาน 


          ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของนักศึกษาจึงไม่รุนแรงหรือรวดเร็วเหมือนกับที่อุตสาหกรรมกำลังประสบอยู่ ลูกค้าจริงๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นนักศึกษา ไม่ใช่อุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยจึงเป็นความสัมพันธ์หรือความร่วมมืออย่างหลวมๆ ไม่ใช่ในเชิงธุรกิจ อุตสาหกรรมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับมหาวิทยาลัยโดยตรง เพราะว่าอุตสาหกรรมไม่ได้จ่ายเงินให้มหาวิทยาลัยเพื่อซื้อตัวนักศึกษามาใช้งาน นักศึกษามีอิสระที่จะเลือกสถานที่ทำงาน และบริษัทก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกที่ตัวนักศึกษา ไม่ใช่ที่มหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์ในเชิงโซ่อุปทานของมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมตรงนี้ค่อนข้างจะต่ำ เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกัน พอนักศึกษาจบปริญญาตรีออกมาก็ไร้สังกัดแล้ว เป็นอิสระ ทั้งนักศึกษาและอุตสาหกรรมก็สามารถเลือกกันเองได้ตามชอบใจ (Shopping round) นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการแรงงาน 


          ดังนั้นความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถลงไปถึงการพัฒนาตัวนักศึกษาได้ครบถ้วนหรือตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมมากนัก แต่ในปัจจุบันก็ยังมีโครงการความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีความร่วมมือกับอุตสาหกรรม เช่น Internship หรือ Co-Op ต่างๆ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะทำไม่ได้กับจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ที่สำคัญมันจะต้องมีคำสั่งหรือใบสั่ง หรือเป็นข้อตกลงที่เป็นความร่วมมือกันจริงๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม   ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นศึกษาเฉพาะทางกันไป  ไม่เป็น General   ทำให้กลายเป็นโรงเรียนฝึกอาชีพไป


          ต้องบอกว่ามหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมไม่ได้เชื่อมโยงกันจริงๆ ในฐานะหุ้นส่วนในโซ่อุปทาน (Supply Chain Partners) ขาดการทำงานร่วมกัน (Collaboration) สิ่งที่ทำได้ก็คือ เรียกร้องหรือบอกกล่าวกัน ในความเป็นโซ่อุปทานระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่เป็นจริงจึงดูอ่อนไป เพราะว่าการเรียกร้องหรือบอกกล่าวกันนั้น ทำให้ผลลัพธ์ที่ต้องการอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะว่าไม่ได้มีข้อตกลงในการส่งผ่านคุณค่ากันโดยตรง ความร่วมมือในโซ่อุปทานนั้นจะต้องฟังร่วมกันอย่างใกล้ชิด ต้องมานั่งกำหนดปัญหาและแก้ปัญหาร่วมกัน ต้องสั่งและทำตามกันได้ บนพื้นฐานที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่อยู่กันคนละโลกกัน คนละมิติกัน ผู้ที่ให้คุณและโทษเป็นคนละคนกัน แล้วจะมาบอกว่ากันว่า มหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมจะต้องร่วมมือกัน

 
          ผมให้ความสำคัญใครมากกว่ากัน ระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม คำตอบก็คือ อุตสาหกรรมครับ เพราะว่าอุตสาหกรรมสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์โดยตรงครับ มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะสินค้าและบริการที่โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ สร้างออกมา แล้วมหาวิทยาลัยทำอะไร? มหาวิทยาลัยเป็นโซ่อุปทานที่สร้างคนเข้าไปในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทีหนึ่ง มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างคน ทำให้คนมีความรู้พื้นฐาน แล้วส่งออกไปในตลาดแรงงาน เมื่ออุตสาหกรรมต้องการคนไปทำงานสร้างคุณค่าในโซ่อุปทาน จึงออกมาคัดเลือกคนไปทำงาน บางบริษัทก็ออกมาคัดเลือกกันถึงในมหาวิทยาลัย ดังนั้นตลาดแรงงานจึงเป็นตลาดเสรีที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกและถูกเลือก และกว่าจะได้ถูกคนและถูกใจกันจริง ก็เสียเวลาและทรัพยากรไปพอสมควร เพราะว่าอุตสาหกรรมไม่สามารถออก Spec ไปว่าต้องการคนคุณภาพแบบนี้ แล้วมหาวิทยาลัยไปสร้างมา อุตสาหกรรมไม่สามารถควบคุมได้เต็มที่หรือทั้งหมดของกระบวนการ เหมือนการสั่งวัตถุดิบ 


          บทบาทของมหาวิทยาลัยทั่วไปก็เป็นแค่ผู้ที่สอนความรู้พื้นฐานในระดับปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่เป็นผู้ควบคุม (Regulator) ก็คือ สกอ. ที่เป็นภาครัฐซึ่งเป็นผู้ให้คุณให้โทษโดยตรงกับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่อุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ที่เอานักศึกษาไปใช้งาน และที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินให้กับมหาวิทยาลัย แต่เป็นนักศึกษาที่จ่ายเงินให้กับมหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์ตรงนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้ครับ 


          ประเด็นก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้มหาวิทยาลัยนั้นก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและอุตสาหกรรม และที่จริงแล้วบทบาทของมหาวิทยาลัยควรจะเป็นอย่างไรบ้าง ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับประเด็นที่ว่ามหาวิทยาลัยต้องตามอุตสาหกรรมให้ทันและในบางส่วนมหาวิทยาลัยก็ต้องนำอุตสาหกรรม ทั้งสองประเด็นนี้ก็คงต้องมากำหนดหรือออกแบบความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกัน (Collaborations) ใหม่ ผมคิดว่าทั้งมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมมีการทำงานร่วมกันน้อยมากในปัจจุบัน ซึ่งตามแล้วมีการทำงานร่วมกันอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมี Impact เท่าไรนัก เป็นแค่การคุยกันมากกว่า

 
          มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ในการสร้างคนในระดับปริญญาตรีเข้าตลาดแรงงาน ในสาขาวิชาต่างๆ ผมมองว่าการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นการสร้างคนในระดับการปฏิบัติการ (Operations) แต่ผมก็ไม่ได้คาดหวังและคงเป็นไปไม่ได้ที่นักศึกษาที่จบออกไปแล้วจะต้องปฏิบัติงานได้เลย เพราะว่ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่โรงเรียนฝึกอาชีพ มหาวิทยาลัยนำเสนอองค์ความรู้ในหลากหลาย ครอบจักรวาล (Universal) ถึงได้ชื่อว่า เป็น “University” แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สอนคนในทุกเรื่อง แถมยังต้องแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ ให้นักศึกษาเลือกตามสิ่งที่สนใจหรือตามที่ถนัด เราจึงมีนักศึกษาปริญญาตรีสาขาต่างๆ จบออกมาทำงานตามบริษัทต่างๆ 


          ผู้ที่จบปริญญาตรีออกมาแล้ว ควรจะเป็นอย่างไรบ้าง? ผมมองการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นเป็นผู้ที่เรียนรู้และศึกษาเป็น นั่นก็คือ อ่านหนังสือแล้วเข้าใจ รู้เรี่อง คิดเป็น นำทฤษฎีที่มีอยู่สู่การปฏิบัติได้ ด้วยการทำความเข้าใจหรือศึกษาบริบท โดยมีอาจารย์เป็นผู้สอนวิธีการศึกษา อาจารย์ไม่ได้สอนตัวความรู้ในสาขาต่างๆ ตัวอาจารย์ใช้ความรู้ในสาขาต่างๆ เป็นแค่เครื่องมือหรือตัวอย่างในการทำให้เราได้ฝึกฝนในการศึกษาต่างหาก  นักศึกษาควรจะอ่านเองได้  ศึกษาเองได้ด้วยตัวเอง  อาจารย์ไม่ต้องมาอ่าให้ฟัง  แต่อาจารย์ควรจะชี้นำในแนวคิดหรือวิธีคิดที่แฝงอยู่ในบทเรียนหรือในตำรามากกว่า 


         เราเข้าใจกันว่าการศึกษาว่าจะต้องเริ่มต้นกันที่หนังสือหรือในห้องเรียนเท่านั้น นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดมากๆ เพราะในห้องเรียนเป็นการฝึกฝนให้นักศึกษาเรียนรู้และนำเอาสิ่งที่รู้มาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมจึงเรียกสารสนเทศเหล่านั้นว่า “ความรู้” ดังนั้นผู้ที่จบปริญญาตรีไปจะต้องนำเอาความรู้ ทฤษฎี หรือข้อปฏิบัติต่างๆ ที่รู้ มาประยุกต์ใช้กับบริบทของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานและชีวิตประจำวัน   มหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนให้นักศึกษาให้ปฏิบัติได้ทุกเรื่อง ทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นจริงๆ   แต่มหาวิทยาลัยต้องสอนวิธีการศึกษา วิธีการเรียนรู้ หลักคิดและการสร้างหลักปฏิบัติให้กับนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาที่จบปริญญาตรีจะสามารถนำเอาหลักคิดและการสร้างหลักปฏิบัติไปศึกษาบริบทของการทำงานหรือปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วจึงลงมือปฏิบัติ   ถึงตอนนั้นนักศึกษาปริญญาตรีก็จะกลายเป็นนักปฏิบัติ มหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนหรือนำเสนอบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจได้ครบหมด เพราะบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   บริบทของปัญหาหรือเรื่องราวต่างๆในหนังสือหรือตำราย่อมจะไม่เหมือนหรือแตกต่างกับบริบทที่เกิดขึ้นจริงตลอดเวลาในชีวิตจริง  แต่หลักคิดและทฤษฎีต่างๆก็ยังใช้ได้อยู่เสมอ   สิ่งที่นำเสนอเป็นแค่ตัวอย่างให้คิดและเรียนรู้เท่านั้น ผู้ที่จบปริญญาตรีจะต้องไปเรียนรู้ในพื้นที่ปฏิบัติงานหรือไปรับการฝึกอบรมเฉพาะทางสำหรับเรื่องนั้นๆ เมื่อไปทำงาน เพื่อนำไปฏิบัติให้เกิดผลในการทำงาน 


          ไม่ว่าบริบทของสังคมและธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หลักในการศึกษาและการเรียนรู้ หลักคิดและทฤษฎี รวมทั้งการนำไปสู่การปฏิบัติก็ยังคงเดิมอยู่ ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร เทคโนโลยีจะเกิดใหม่อย่างไร หลักคิดและการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติก็ยังคงเดิมอยู่ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป บริบทสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป การปฏิบัติจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่หลักคิดและทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังก็ยังคงอยู่ครับ เพราะนักปฏิบัติรู้วิธีการศึกษาและเรียนรู้เป็น และประยุกต์ความรู้หรือทฤษฎีให้เข้ากับบริบทใหม่จนกลายเป็นการปฏิบัติใหม่ นักปฏิบัติที่ดีจะต้องบอกได้ว่า ทำไมต้องทำอย่างนี้ เหตุและผลของมันคืออะไร นั่นคือความเป็นวิชาการของนักปฏิบัติซึ่งต้องเข้าใจทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังได้ครับ 

          ผู้ที่จบปริญญาตรีทุกคน ถึงแม้ว่าจะจบมาจากแตกต่างสาขา จะมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะต้องเรียนรู้เป็น เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ รู้จักการศึกษาบริบทของปัญหาเพื่อที่จะประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีอยู่หรือทฤษฎีต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ   ผู้ที่จบปริญญาตรีมาแล้วได้ทำงานตรงสาขา ก็โชคดีไป มีความรู้และทฤษฎีต่างๆ ในสาขาที่จบมาแล้วเป็นทุนเดิม เพียงแต่จะต้องเข้าไปศึกษาบริบทของการทำงานให้เข้าใจและประยุกต์ความรู้หรือทฤษฎีให้ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองหรือองค์กร 


          ผู้ที่จบปริญญาตรีที่จบมาแล้ว ทำงานต่างสาขา ไม่ตรงกับที่เรียนมา ก็สามารถทำงานได้เช่นกัน แต่ต้นทุนการเรียนรู้สูงกว่า เพราะจะต้องมาเรียนรู้ความรู้ใหม่ เรียนรู้ทฤษฎีใหม่เพื่อที่จะประยุกต์ในบริบทใหม่ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและองค์กร 

          แต่น่าเสียดายว่า ผู้ที่จบปริญญาตรีมาส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักปฏิบัติเลย เพราะไม่ได้ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา ศึกษาไม่เป็น ทำให้ไม่เข้าใจบริบทของปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานหรือการดำรงชีวิต ทำงานไม่เป็น แต่คนเหล่านี้ไปแค่นักทำ (Doer) ทำตามที่บอก ทำแล้วได้ผล แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ลองผิด จนได้ถูก แล้วก็ทำถูกมาเรื่อยๆ แต่ไม่รู้และไม่เข้าใจในกลไกหรือความเป็นไปเป็นมาของสิ่งที่ตัวเองทำลงไป เมื่อบริบทของสังคมหรือเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ทำมาเดิมก็ไม่ได้ผล จึงต้องกลับมาลองผิดลองถูกกันอีก ซึ่งเป็นต้นทุนของการดำเนินการอย่างยิ่ง   ถ้าคนเหล่านี้จบปริญญาตรีมาด้วยความเป็นนักปฏิบัติ (Practioner) แล้ว เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคมและธุรกิจทำให้เกิดปัญหาขึ้น นักปฏิบัติเหล่านี้จะต้องศึกษาบริบทเพื่อที่จะนำเอาความรู้และทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและสังคม 


          ดังนั้นการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นจะต้องสร้างนักศึกษาที่จบออกมาเป็นนักปฏิบัติ มากกว่าเป็นนักทำ   ดังนั้นเรื่องราวของการปฏิบัติจริงหรือให้เหมือนจริงในการเรียนการสอนนั้นจึงไม่น่าจะเป็นประเด็นมากนัก   การปฏิบัติในระหว่างการเรียนการสอนนั้นเป็นแค่สิ่งที่ใช้ฝึกฝนการเป็นนักปฏิบัติของนักศึกษา   ดังนั้นเครื่องไม้ เครืองมือหรือเรื่องราวของเทคโนโลยีต่างๆ ในการเรียนการสอนอาจจะตามการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมได้ไม่ทัน   ยิ่งปัจจุบันแล้วมีการเปลี่ยนแปลงของบริบทธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก   มหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจและเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น  ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็อาจจะใช้เครื่องมือในสมัยก่อนหรือโบราณเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างไร หลักคิดและทฤษฎีก็ยังคงใช้ได้อยู่ เพียงแต่ว่านักศึกษาที่จบมาใความเป็นนักปฏิบัติมากเพียงใด   รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์และภาวะผู้นำที่จะทำให้เขามีความเป็นนักปฏิบัติที่มีประสบการณ์มากขึ้น


          ถ้าเราจะปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีกันแล้ว ผมมีความเห็นว่า น่าจะมาปรับที่การแสดงให้เห็นถึงปรัชญาของปริญญาตรีในการผลิตนักศึกษาออกมาเป็นนักปฏิบัติ (ผมคิดเอาเองน่ะครับ) ยังไม่ใช่เป็นการสอนในเรื่องราวที่เป็นบริบทของปัญหาในอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรม   มหาวิทยาลัยผลิตคนให้ป็นนักปฏิบัติและคิดเป็น มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนให้แค่ทำเป็น แต่ต้องสอนให้ปฏิบัติเป็น ด้วยตัวอย่างของเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าบริบทจะเปลี่ยนไปอย่างไร เทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่อย่างไรผู้ที่จบปริญญาตรีมาและเป็นนักปฏิบัติจะต้องสามารถที่จะเรียนรู้และศึกษาเรื่องใหม่ๆ ในบริบทใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ตลอดชีวิตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการสร้างคุณค่าให้กับตนเอง องค์กรและสังคม 


          อุตสาหกรรมเองก็ไม่อาจจะคาดหวังได้ว่ามหาวิทยาลัยจะผลิตผู้ที่จบปริญญาตรีออกมาแล้วใช้งานได้เลย   แต่อุตสาหกรรมสามารถให้ข้อมูลรายละเอียดของปัญหาต่างๆในบริบทของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง เมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้เป็นตัวอย่างในการศึกษาแล้ว เมื่อจบออกไปเป็นนักปฏิบัติแล้ว เขาเหล่านั้นก็จะใช้เวลาในการเรียนรู้เรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นจริงน้อยลง อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนก็จำเป็นที่จะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคมด้วยการออกไปทำวิจัยและสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกันกับอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้กรณีศึกษาหรือข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) มาเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้หรือการประยุกต์ให้ความรู้หรือทฤษฎีในบริบทต่างๆ ของอุตสาหกรรมให้กับนักศึกษา 


          ผมคิดว่า กิจกรรมตรงนี้น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยเชื่อมโยงกันแข็งแรงขึ้น แต่ละอุตสาหกรรมไม่สามารถไปบอกมหาวิทยาลัยต้องสอนในสิ่งที่ควรปฏิบัติในแต่ละอุตสาหกรรมได้   แต่อุตสาหกรรมสามารถบอกมหาวิทยาลัยได้ว่า นักปฏิบัติที่ดีควรจะมีอะไรเพิ่มเติมจากนักปฏิบัติในอดีตสำหรับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคต มีตัวอย่างของบริบทใดบ้างที่สมควรใช้เป็นตัวอย่างในการสร้างนักปฏิบัติ เพื่อให้อาจารย์ใช้สอนหรือฝึกนักศึกษาให้ออกมาเป็นนักปฎิบัติ   อุตสาหกรรมสามารถสนับสนุนเรื่องราวเหล่านี้ได้   ถ้ามีกิจกรรมอย่างนี้แล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยก็สามารถที่จะ Update ได้ทันกับอุตสาหกรรม ไม่ใช่จมอยู่กับเรื่องราวที่เก่าล้าสมัย และไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคม 


          ที่สำคัญตัวอาจารย์เองก็จะต้องปรับตัวเองให้ทันกับบริบทของธุรกิจและสังคม การยกตัวอย่างที่เป็นบริบทในการแก้ปัญหาต่างๆ ก็สมควรที่จะต้องพบเห็นได้ในสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจารย์จะได้ข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดหรือเป็นกรณีศึกษาก็ต้องมาจากการวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรม เพราะว่าถ้าอาจารย์ไม่ได้เข้าไปในอุตสาหกรรมแล้ว อาจารย์ก็ไม่มีวันรู้ว่าของจริงนั้นที่เข้าปฏิบัติกันเป็นอย่างไร ทำให้ไม่สามารถอธิบายได้อย่างเด่นชัดและลึกซึ้ง การยกตัวอย่างจากหนังสือหรือตำราอาจจะไม่ได้ทำให้เห็นภาพได้เด่นชัดหรืออาจจะล้าสมัยเกินไปสำหรับเรื่องราวในหนังสือที่เป็นตำรา แต่ตำราก็มีประโยชน์เสมอเพราะว่ามันประกอบไปด้วยหลักคิดและทฤษฎี ตัวอย่างการประยุกต์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เราต้องอย่าลืมว่า นักศึกษานั้นเป็นผู้เริ่มศึกษากระบวนการศึกษาเท่านั้น ยังไม่เป็นผู้ที่ศึกษาเป็นแล้วหรือนักปฏิบัติ ดังนั้นเราคงจะต้องหาวิธีหรือเครื่องมือที่ทำให้เขาเข้าใจและศึกษากระบวนการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพจนเป็นนักปฏิบัติได้ บริบทของการศึกษาในมหาวิทยาลัยจึงไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหมดก็ได้ 


          มหาวิทยาลัยสร้างนักปฏิบัติ ธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสินค้าและบริการให้กับลูกค้า   ธุรกิจอุตสาหกรรมก็ต้องใช้นักปฏิบัติจากมหาวิทยาลัย   แต่เมื่อลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยอย่างแน่นอน   แต่ถ้าในองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมมีนักปฏิบัติตัวจริงที่จบปริญญาตรีทำงานอยู่ในระยะเวลาหนึ่ง นักปฏิบัติเหล่านี้จะต้องสามารถใช้ความรู้และทฤษฎีที่เรียนมาและที่เรียนรู้จากการทำงานมาโดยตลอดไป  รวมทั้งความรู้ใหม่ที่ค้นพบจากการปฏิบัติในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมาประยุกต์ใช้กับบริบทใหม่ๆที่เปลี่ยนแปลงไปอีกขั้นเพื่อให้ตนเอง องค์ธุรกิจและสังคมให้อยู่รอดได้   นี่คือคนหรือผู้ที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องการ  


          อ. วิทยา  สุหฤทดำรง (vithaya(at)vithaya.com) 5 ส.ค. 53

 

          จริงดังที่ ดร. สุธีระว่า ข้อเขียนนี้ข่วยเป็นพื้นฐานความคิดในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้อุดมศึกษาเข้าไปแนบชิดสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรม   เน้นที่ความร่วมมือกันทำให้การผลิตบัณฑิตสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมมากขึ้น   โดยที่ภาคอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต่างก็ดำรงหลักมั่นที่แตกต่างกันของตนไว้

          ผมเชื่อว่า หากมีความใกล้ชิดกัน ตัวเชื่อมระหว่างกันจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะที่ด้านการผลิตบัณฑิต   แต่จะมีการร่วมมือกันด้านการวิจัยหรือการพัฒนาตามมา   การทำงานร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์ย่อมนำไปสู่การมีผลงานวิชาการของฝ่ายอุดมศึกษา

 

วิจารณ์ พานิช
๗ ส.ค. ๕๓
        
                               
  

หมายเลขบันทึก: 392674เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2010 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท