ของฝากจากอินโดฯ : Trip Knowledge Assets in Non-IT Environment


ตอนที่ 2 Resource Speaker

วันที่ 23 สิงหาคม 48  เป็นวันแรกที่ระบุไว้ในโปรแกรมอย่างเป็นทางการ   กลุ่มผู้เข้าร่วมก็พอเห็นหน้าตากันบ้างแล้วแต่หลายคนยังไม่แนะนำตัวกัน  เลยได้แต่มองๆกันช่วงทานอาหารเช้าที่โรงแรม    โรงแรมนี้มีลูกค้าเยอะจริงๆ  ผมเดาว่าเป็นเพราะทำเลที่ตั้ง   ซึ่งอยู่หัวถนน maliboro  หากเทียบกับบ้านเราก็คงพอประมาณไนท์บาซ่า  เชียงใหม่  อะไรประมาณนั้น    เช้ามากรุ๊ปทัวร์ลงมาทานอาหารเช้าแบบต้องเข้าแถวกันยาวทีเดียว   หากใครสนใจไปเที่ยว Yogyakarta ก็อาจจะเล็งๆโรงแรมแถวๆถนนเส้นนี้นะครับ  หากว่าท่านชอบช๊อปปิ้ง  มีหลายโรงแรมให้เลือกอยู่เหมือนกัน   

หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จก็รีบไปห้องประชุม  เพราะใจจริงจะได้รู้จักเพื่อนร่วมการประชุมที่จะต้องอยู่ร่วมกันประมาณ 4 วันถัดไป    ไปถึงก็ลงทะเบียนรับเอกสาร  เปิดดูกำหนดการดูคร่าวๆ รอการเปิดอย่างเป็นทางการ   ระหว่างนั้นก็ทักทาย  แนะนำตัวกับเพื่อนที่มาถึงก่อน  พูดคุยถามไถ่กันระหว่างที่รอ   

 

0900 เป็นเวลาเปิดอย่างเป็นทางการ  แต่ดูค่อนข้างเป็นกันเองครับ  เพราะจำนวนกลุ่มของเรามีไม่เกิน 30 คน  บรรยากาศเลยดูเป็นกันเอง  เริ่มด้วยผู้ใหญ่ในจังหวัด Yogyakarta มากล่าวต้อนรับและแนะนำถึงความโดดเด่นของเมืองทั้งทางด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา   เมืองแห่งการศึกษามีมหาวิทยาลัยมากกว่า 1 แห่งและมีชื่อเสียง   และยืนยันเราว่าคิดถูกแล้วที่มาจัดประชุมที่ Yogyakarta

จากนั้นผู้เข้าร่วมทุกคนแนะนำตัวเอง  ก่อนที่ Mr. Kirnadi, APO Director for Indonesia จะกล่าวเปิดอย่างเป็นทางการ

หลังเบรค Resource Speaker  ท่านแรก, Ms. Elena Avedillo-Cruz (เราเรียกเธอสั้นๆว่า คุณ Lanlan), Managing Director Center for Knowledge Management, Development Academy of th Philippine ได้รับเชิญมานำเสนอในหัวข้อ "Knowledge Capital, Knowledge Management & Corporate Excellence through KM-Application at non-IT environment"   เนื้อหาโดยสรุป  เธอกล่าวถึง  intellectual capital ในองค์กร  อาทิ ความชำนาญ ทักษะความสามารถของพนักงาน (Human capital), กระบวนการการทำงาน  กลยุทธ์  วัฒนธรรมองค์กร   ภาพลักษณ์ทางการค้า  สิทธิบัตร เอกสาร ฐานข้อมูล (structural capital), และ ความสัมพันธ์กับลูกค้า  ผู้รับช่วงทางการค้า พันธมิตรทางการค้า (stakeholeder capital)  ซึ่งทุนเหล่านี้เรามักจะมองไม่เห็นในทางบัญชีแสดงสินทรัพย์ขององค์กรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน   ในขณะที่ทุนประเภทนี้มีสัดส่วนที่มากกว่าทุนทางการเงินหลายเท่าตัวนัก    จากนั้นคุณลันลันใช้โมเดล Hamburger มาอธิบายการเชื่อมโยง KM กับผลทางธุรกิจ  ซึ่งโมเดลที่ว่านั้น  องค์ประกอบเช่นเดียวกันกับ องค์ประกอบที่ใช้ในการพิจารณารางวัล TQA  นั่นเอง  แสดงว่าต้องอ่านตำราเล่มเดียวกันแน่นอนเลยครับ     มาถึงจุดนี้ ทำให้ผมเกิดอยากจะแสดงความรู้สึกส่วนตัวทิ้งไว้ (เอาไว้ให้ตัวเองกลับมาดูใหม่ได้อีก) ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ไม่ค่อยดีเท่าไร (เข้าใจว่าอย่างนั้น) ลึกๆไม่ค่อยชอบยึดกรอบอะไรที่ตัวเองเห็นว่ามันแข็งไป    เท่าที่ผ่านมาในชีวิต  เราก็เรียนกรอบคนอื่นมามากพอแล้ว     เรียนแบบเลือกกรอบ หรือ เลือกคอก เพื่อเอาไว้ขังตัวเองมานานพอควร    เลยให้สัญญากับตัวเองว่า  ต่อแต่นี้ไป   จะเรียนวิธีรื้อคอกแทน   และจะสร้างคอกใหม่เองหากจำเป็นต้องใช้    ผมชอบกรอบ  หรือแนวขอบเขตของตัว  "อะมีบา"  ที่เปลี่ยนรูปได้เสมอ  ตรงไหนเจอร้อนหน่อย  หรือเย็นหน่อย  ก็หดเข้ามาซะ    ตรงไหนมันพอดี  ก็ยืดตัวออกไป     หากเป็นได้แบบนี้คงดีเป็นแน่        กลับมาที่เนื้อหาของคุณลันลันอีกครั้งหนึ่ง  ผมชอบช่วงท้ายของการนำเสนอที่เธอหยิบยกเรื่อง ยกระดับความรู้ในทางปฏิบัติในสภาพที่ไร้ IT  ชอบเรื่องที่เธอเล่าถึงกรณี City Government of Marikina ที่มีความเด่นในเรื่องภาวะผู้นำ และการวางแผนกลยุทธ์   มีการสร้างวัฒนธรรมการ share เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมทางวิธีการทำงานแบบใหม่  ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติจนชาวเมือง Marikina รู้สึกพึงพอใจ

ส่วนช่วงบ่ายหลังอาหารเที่ยงก็มี Resource Speaker อีกท่าน  Dr.Nalinee Joy Taveesin, Managing Director Dynamic International Corporation Thailand   มาพูดในหัวข้อ "Business Strategies for Excellence in Traditional Products"  เธอมาเล่าเรื่องภาพรวมของสินค้าพื้นเมือง  ลักษณะเฉพาะของสินค้าพื้นเมือง  ความสำคัญ   วิเคราะห์ SWOT สินค้าพื้นเมือง หรือ สินค้า OTOP ว่ามีข้อดี ข้อเสีย  โอกาส  ข้อจำกัดอย่างไรบ้าง   ข้อดีที่เด่นๆก็มี เรื่องกระบวนการผลิตที่อิงตามทักษะภูมิปัญญาของท้องถิ่น   ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความละเอียดอ่อนทางหัตถกรรมมากกว่าการผลิตแบบเครื่องจักร   สินค้ามีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่ม (กลุ่มลูกค้าที่ชอบสินค้า original)  ส่วนข้อเสียมีในเรื่อง  ยากต่อการขยายตลาด  ต้องต่อสู้กับการวัฒนธรรมการผลิตแบบมวลรวมเชิงอุตสาหกรรมพาณิชย์  ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง  ลงทุนมาก  หรือนิสัยติดยี่ห้อของนอก     ขาดแคลนความรู้ในด้านการออกแบบหีบห่อ  คุณภาพและอนามัย   ผู้ประกอบการขาดทักษะทางการบริหารธุรกิจ   เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารทำให้ต้นทุนสูง   ขาดการวางแผนทางการตลาด    ขาดการศึกษาวิจัยและการร่วมมือทางเทคโนโลยีในการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์       มาดูโอกาสในมุมของคุณจอยกันบ้าง    เธอบอกว่ามีประเด็นของเรื่องการออกแบบความเป็นเอกลักษณ์ที่โลกรับรู้   การเพิ่มชนิด ประเภทผลิตภัณฑ์มากขึ้น  รัฐให้การสนับสนุนในเชิงนโยบายระดับประเทศ   ขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน   ลงทุนน้อย     แต่ในด้านข้อจำกัด หรืออุปสรรค  เธอวิเคราะห์ประมาณว่า  ด้วยอิทธิพลของการค้าเสรีเสริมแรงทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเองนิยมสินค้า brand name มากขึ้น และน่าเสียดายที่มีของพื้นเมืองบางอย่างหายไปจากสังคมไทยโดยผู้คนไม่เห็นคุณค่าของมันเลย    จากนั้นคุณจอยก็เพิ่มเติมในเรื่องบทบาทของรัฐต่อการส่งเสริมอุตสากรรม (สินค้าพื้นเมือง)   โดยยกเรื่อง OTOP บ้านเรามาเล่าให้ฟัง   การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี  ด้านการตลาด  การเรียนรุ้ภูมิปัญญาท้องถิ่น  นิทรรศการระดับประเทศ      ประเด็นสำคัญเธอพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันของกลยุทธ์ทางการค้าที่ประเมินว่าใช้ได้กับสินค้าพื้นเมือง  ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยที่ยังอยู่ในสภาพที่ไม่สู้ดีนัก  กลยุทธ์ที่พอจะต่อสู้ได้ก็มี  กลยุทธ์การตลาดที่เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ  การสร้างกลยุทธ์ที่สร้างความแตกต่าง (แม้สินค้าจะเป็นประเภทเดียวกัน)  กลยุทธ์ที่เน้นผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย (เธอบอกว่าคล้ายๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของ กลยุทธ์การตลาดที่เน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจง)

สำหรับช่วง resource speaker ก็มี 2 สองท่านนี้แหละครับ   หลังจากนั้นของวันแรกก็ต่อด้วย การนำเสนอ country paper โดยผู้เข้าร่วม  ซึ่งจะเล่าต่อในตอนต่อไปครับ    เจอกันใหม่ครับ

    

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3926เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2005 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
     ผมอยากให้คุณ thawat ช่วยอธิบายเรื่อง "มีการสร้างวัฒนธรรมการ share เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมทางวิธีการทำงานแบบใหม่" ว่าเป็นอย่างไรบ้าง สนใจมากครับ [email protected]

จากที่วิทยากรนำเสนอ พูดประมาณว่า  เมือง Marikina ผู้นำกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันคิดวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ  เรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบริหารจัดการเมือง  งานบริการบนศาลากลางอะไรประมาณนั้น    ประมาณว่า create กันได้เต็มที่ โดยไม่ต้องพะวงเรื่อง กฎระเบียบ มากนัก (คาดว่าเขาคงจะช่วยหาทางแก้ไขในภายหลังหากมีข้อติดขัดตามระเบียบ) หรือแม้แต่การแก้กฎระเบียบของบ้านเมืองในข้อที่เขาเห็นว่ามันไม่เอื้อต่อการทำงานแบบใหม่   ในทางปฏิบัติเขามีการนำเรื่องเหล่านั้น  มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเจ้าหน้าที่กันเอง  เป็นการเสริมเรื่องการเรียนรู้ไปในตัว   นำไปสู่การวางแผนแบบดึง stakeholder ในเมืองนั้นเข้ามาร่วมกันกำหนดเป็นแผนกลยุทธ์  โดยมีผู้นำชุมชนเป็นสมาชิกสภา (พัฒน์) ของเมือง

การหากลยุทธ์ที่ทำให้คนในชุมชนของตัวเอง  แสดงพลังของการคิดสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบวิธีการทำงาน หรือเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ   แล้วนำมาแลกเปลี่ยนพูดคุย  โดยวางกุศโลบายให้ทำต่อเนื่องเป็นนิจ  และทำให้สมาชิกรู้สึกเวทีนี้มีประโยชน์มาก  ชอบที่จะมาแลกเปลี่ยนจนเป็นความเคยชินที่ค่อยๆฝังไปทีละนิด  จนกลายเป็นวิถีปกติวิสัย  อย่างนี้กระมังครับที่เขาเรียกว่า  วัฒนธรรม

     ขอบคุณมากนะครับ พอจะนึกภาพตามไปได้ และนึกถึงประวัติศาสตร์ของกรุงโรม ที่สภาฯ เปิดโอกาสเช่นที่ว่าน่าจะคล้าย ๆ กันนะครับ

     สำหรับบ้านเรา จริง ๆ ต้องทำได้นะครับ แต่หลาย ๆ เรื่องเราก็เคยชินกับการนำเอากฏ ระเบียบที่สร้างขึ้นมาผูกมัดเราเสียเอง จนกลายเป็นว่า วันนี้ใครมีโอกาสออกกฏ คนนั้นเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด รองลงไปคือพรรคพวก น้อยที่สุดคือตามี และยายมา ครับ

     ในสังคมเล็ก ๆ สังคมหนึ่งวันนี้ก็มีความคิดอย่างที่คุณ thawat เล่านะครับ โดยมีผู้บริหารสูงสุดลงมานั่งคุยกับ จนท.ระดับล่างสุด และจะเกิดขึ้นในค่ำของวันพรุ่งนี้ครับ (21 ก.ย. 48) ได้ผลอย่างไรแล้วจะเล่าให้อ่านไว้ที่ http://gotoknow.org/tri-paki นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท