ความหลากหลายทางพันธุกรรมสัตว์และการใช้ประโยชน์ โดย ศ.ดร.จรัญ จันทลักขณา


“จงอดทน และทำต่อไป” “อย่าให้คำพูดพร่อย ๆ ราคาถูกของคนอื่น มามีผลราคาแพงต่อชีวิตเรา”

         ท่านศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2479  จบการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา เข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สองปี ก่อนจะได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อที่ lowa State  University,U.S.A. ได้รับปริญญาตรีสาขา สัตวศาสตร์ เมื่อ ค.ศ.1959 และได้รับ Gamma Sigma Delta Membership Award (Honor Society in Agriculture) จากนั้นได้ศึกษาต่อจนสำเร็จ  การศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเดียวกันในปี ค.ศ.1968 โดยได้รับรางวัล Centenial  Scholar Award for Outstanding Foreign Graduate Student 

           ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา เข้ารับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ตั้งแต่ พ.ศ.2504 ได้เริ่มต้นงานวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ โดยการผสมข้ามพันธุ์ ที่สถานีวิจัยทับกวาง ตั้งแต่ พ.ศ.2506 โดยทดสอบผสมข้ามพันธุ์ ระหว่างพันธุ์เฮอร์ฟอร์ด  จากสหรัฐอเมริกา กับ โคพันธุ์พื้นเมือง และโคอินเดียพันธุ์เรดซินดิ ทำให้ได้ข้อสรุปในการ ปรับปรุงโคพันธุ์พื้นเมืองเป็นโคเนื้อคุณภาพดี โดยใช้เชื้อพันธุ์จากอเมริกา และอินเดีย จากนั้นได้มาบุกเบิกงานวิจัยที่สถานีวิจัยกำแพงแสน เป็นผู้วางพื้นฐานปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ โดยใช้โคพันธุ์พื้นเมืองผสมข้ามกับพันธุ์บราห์มันคัดเลือกโคพันธุ์ผสม(ไทย-บราห์มัน) แล้วผสมข้ามกับโคพันธุ์ชาโรเลส์ (จากสหรัฐอเมริกา) จนได้โคพื้นฐานพันธุ์ใหม่  ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันเรียกว่า โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน จนได้รับโล่รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ แก่วงการโคเนื้อในงานวันโคเนื้อแห่งชาติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อ พ.ศ. 2537 

        ท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการความร่วมมือ กับกรมปศุสัตว์ ในการปรับปรุงพันธุ์กระบือที่สถานีปรับปรุงพันธุ์สัตว์ จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2517 ก่อตั้งโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือแห่งชาติที่กรมปศุสัตว์ จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ และโคขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ตั้งแต่ พ.ศ.2527จัดตั้งศูนย์สนเทศกระบือนานาชาติ (International Buffalo Information Center, IBIC) ตั้งแต่ พ.ศ.2523 เป็นผู้นำในการพัฒนางานวิจัย และสร้างนักวิจัย รุ่นใหม่ ๆ ขึ้น  เป็นจำนวนมาก  ใน พ.ศ.2528 ได้รับรางวัล Science Pioneer Prize จาก World Buffalo Federation พ.ศ.2534 ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การเกษตรดีเด่น จากสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย พ.ศ.2535 ได้รับโล่บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นและสร้างชื่อเสียงให้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.2537 ได้รับรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการปศุสัตว์ไทย จากสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย พ.ศ.2538 ได้รับโล่เกียรติยศเมธีวิจัยอาวุโส สกว. รุ่นแรก จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และเป็นนักวิชาการไทยที่ได้รับการ ยอมรับอย่างสูงจากนานาชาติ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการต่าง ๆ อาทิเช่น พ.ศ.2529-2533  เป็นกรรมการของ TAC (Technical Advisory Committee) ของ CGIAR (Consultative Group on International Agricultural Research) พ.ศ.2537 เป็นกรรมการ Implementing Advisory Committee ของ CGIAR ในการจัดตั้งสถาบันวิจัยปศุสัตว์นานาชาติ และในพ.ศ.2538 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรรมการบริหาร (Board of Trustee) ของสถาบัน ILRI (Inrtenational Livestock Research Institute) ฯลฯ

         และยังมีผลงานทางวิชาการ หนังสือ บทความ ได้รับการตีพิมพ์ต่อเนื่องมาโดยตลอด ตำแหน่งล่าสุดก่อนเกษียณอายุราชการ ท่านดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ (สวพป.)นับได้ท่านเป็นนักวิจัยด้วยจิตและวิญญาณที่ไม่เคยหยุดยั้งในการสร้างสรรค์ และอุทิศตนให้กับงานวิจัยด้านโค-กระบืออย่างจริงจังและต่อเนื่องมากว่า 30 ปี คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติจึงมีมติประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2539 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา

       จากประวัติและการทำงานข้างต้นของท่านถือเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มีโอกาสรับฟังการบรรยายและเล่าถึงประสบการณ์ดี ๆ ที่มีคุณค่าจากท่านอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ได้บรรยายเกี่ยวกับระบบปศุสัตว์ของคนในชนบท โดยในช่วงแรกของการบรรยายอาจารย์ได้ให้ดูภาพต่างๆ จากในและต่างประเทศที่อาจารย์ได้เคยไปทำงานมา บางภาพเป็นภาพในสมัยก่อน บางภาพใครหลายๆคนที่ได้ดูอาจจะเคยเห็นมาบางใช้ช่วงหนึ่งของชีวิต อย่างเช่นฉันเป็นต้น โดยเฉพาะคนที่เคยอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งในภาพจะแสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ของคน สัตว์ ต้นไม้ วิถีชีวิตของคนในชนบทที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา คนมีความผูกพันกับสัตว์ เช่น วัว ควาย เป็นสัตว์ที่มีประโยชน์มากมาย เพราะเป็นระบบเงินฝากของชาวบ้าน ก็คือเวลาต้องการเงินก้อนใหญ่ก็เอาไปขาย หมู ไก่ ก็เช่นกัน ในประเทศไทยไม่สามารถหนีเรื่องการเกษตรได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และระบบปศุสัตว์มีความสำคัญมากเช่นกันเพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบเกษตรกรรม ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากสัตว์ได้มากมาย คือ

Agricultural System

1.Companion                                  8.   Soil fertility

2.Foods                                         9.   Use of crop residues                       

3.Draught power/Transport            10.  Sustainability of farming system

4.Recreation                                 11.  Gender role

5.Cultural/Religious needs              12.  Old age

6.Food security                             13.  Community spirit : Buffalo Bank

7.Savings                                     14.  Buy-products :หนังสัตว์ กระดูกสัตว์

      ในการอนุรักษ์หรือรักษาไว้นั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ 1.แบบ In situ คือ ห้อยู่เหมือนเดิม ตามเดิม ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ให้อยู่กับชาวบ้าน และ2. แบบ Ex situ คือ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์โดยให้อยู่นอกถิ่น อาจนำมาเลี้ยงในสถานี/หน่วยงาน ซึ่งการอนุรักษ์ไว้ให้อยู่กับชาวบ้านน่าจะดี แต่ต้องดูแลในเรื่องของโรคสัตว์ให้ดี ซึ่งในตอนนี้สัตว์ที่อยู่กับชาวบ้านนั้นน้อยลงไปเรื่อย ๆ สัตว์ท้องถิ่นบางชนิดอาจไม่มีให้เห็นแล้ว อย่างวัว ควาย คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยเห็นตัวจริงของมันเลย ในปัจจุบันก็เริ่มมีการอนุรักษ์กันแล้วอย่าง การอนุรักษ์ควายไทยที่อยู่จังหวัดสุพรรณบุรี ถ้าในอนาคตยังไม่รีบอนุรักษ์ไว้ตั้งแต่ตอนนี้ คงอาจเห็นแค่ในรูปภาพก็คงเป็นไปได้

 เคล็ดลับความสำเร็จของอาจารย์ที่ท่านได้ให้ไว้ตอนท้าย คือ

 “จงอดทน และทำต่อไป” เราทำอะไรอยู่อย่าท้อแท้ อย่าท้อถ้อย อย่าหยุด

 “อย่าให้คำพูดพร่อย ๆ ราคาถูกของคนอื่น มามีผลราคาแพงต่อชีวิตเรา”

หมายเลขบันทึก: 391942เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท