นปส.55 (39): พัฒนายั่งยืน


“ครัวของโลก” น่าจะหมายถึง การเป็นแหล่งอาหารที่เป็นที่พึ่งของคนไทยและคนทั้งโลกได้ ทั้งในแง่ความหลากหลายของชนิดอาหาร ปริมาณอาหารและคุณภาพของอาหาร (คุณค่าอาหารและรสชาติความอร่อย)

ปลายสัปดาห์ที่ 11 ของการฝึกอบรม วิถีชีวิตก็ยังคงเดิม ตื่นแต่เช้ามาออกกำลังกาย ช่วงเย็นก็ไปฝึกเล่นกอล์ฟกับโปรอ๋อ ตอนค่ำก็กลับมาพักผ่อนที่ห้อง อ่านหนังสือบ้าง เล่นเน็ตบ้าง และก็พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่เล็กและพี่เล็กสอนผมผูกเนคไทแบบอังกฤษ ตอนแรกผมทำแบบอเมริกันคือพันรอบเดียว แต่มีปัญหาคือปมไม่สวยและส่วนที่เหลือยาวเกินไป เคยหัดมาครั้งหนึ่งแล้ว ทำไม่ได้ มาคราวนี้พี่เล็กค่อยๆสอนจนทำได้ ดูเหมือนเรื่อง่ายๆแต่กลายเป็นเรื่องยากของผม

วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2553 ช่วงเช้ารายวิชา บทบาทและผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านการค้าโลกและการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหาร โดยรศ. บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ ที่บรรยายถึงการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหารโลกในมุมมองภาคเอกชน ที่มองวาเอเชียมีความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร อาจารย์เสนอ"ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารประเทศไทย" เป็น 9 ข้อ คือ

  1. วางตำแหน่งของประเทศไทยเป็นผู้นำธุรกิจอาหารโลก
  2. การสั่งสม “สมรรถนะ” และ “ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอาหาร” โดยเฉพาะด้านการตลาด (กำไรหัวใจลูกค้า) การผลิต และการวิจัยพัฒนาทั้งระดับองค์กรและปัจเจกชน
  3. การสนับสนุนโดยภาครัฐอย่างจริงจัง ต้องก้าวข้ามวัฒนธรรม “ผลประโยชน์ทับซ้อน” มีแต่ “ผลประโยชน์ชาติ” เท่านั้น
  4. เน้นรูปแบบ “เกษตรอุตสาหกรรม” มากกว่า “เกษตรรายย่อย”
  5. ต้อง “มีจิตเชิงธุรกิจ (Business mind)” เริ่มที่ “ตลาด” เข้ามา ไม่ใช่ “ผลิตออกไป”
  6. สร้าง “ธุรกิจแบบเครือซีพี” ขึ้นมาให้มากๆเพื่อให้ออกไป “ทำจริง” ในตลาดทั่วโลก โดยการสร้างคน สร้างสถาบันการศึกษาสนองยุทธศาสตร์นี้
  7. ร่วมมือกับ  “ภูมิภาคเอเชีย” ทั้งไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนามและประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพ (ทวิภาคีเฉพาะอาหาร) เป็น Cooperative strategy
  8. การเมืองต้องนิ่ง รัฐบาลต้องไม่มัวแต่บริหารการเมือง จนไม่มีเวลาบริหารบ้านเมือง
  9. ทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ แม้เปลี่ยนรัฐบาลแนวคิดนี้ก็ยังอยู่

ทั้ง 9 ยุทธศาสตร์นี้ จะต้องพุ่งเป้าหมายเดียวคือ Kitchen of the world การจะทำให้วิสัยทัศน์ “Kitchen of the World” เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ จะต้องดำเนินการ ดังนี้ ภาครัฐ วางวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ 9 ข้อดังกล่าว ผลักดันให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยการสนับสนุนภาคเอกชนโดยใช้ CP Model สร้างองค์การแบบซีพีให้มากขึ้น และภาคเอกชน บุกเบิกออกไปพัฒนาธุรกิจด้านอาหารทั่วโลก โดยมีรัฐเป็นกองหนุนอย่างแข็งขันเอาจริงเอาจัง

ในความคิดของผม ยุทธศาสตร์ทั้ง 9 ข้อดังกล่าวในมุมมองของภาคเอกชน มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในหลายประเด็น แต่ผมวิเคราะห์ดูแล้วค่อนไปทางการตามกระแสทุนนิยมเสรี ซึ่งยังคงมองที่ความอยู่รอดทางธุรกิจ การแข่งขัน แย่งชิงโอกาสและผลกำไร มากกว่าการแบ่งปัน การอยู่ร่วมกันและไม่เป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรรายย่อยจะหายไปกลายสภาพจากเจ้าของกิจการไปเป็นลูกจ้างแรงงานเพราะสู้การแข่งขันจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวกว่าไม่ได้

ผมคิดว่า “การเป็นผู้นำธุรกิจอาหารโลก” แคบกว่าและไม่ใช่การเป็น “ครัวของโลก” หรือ “Kitchen of the world” การมุ่งเป็นผู้นำธุรกิจอาหารโลก เป็นการแย่งชิงโอกาสในการค้ากำไรจากการทำธุรกิจอาหาร ปัจจัยสี่ของมนุษย์ และเมื่อเป็นผู้นำธุรกิจอาหารโลก ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันได้ว่า คนไทยหรือชาวโลกจะไม่อดตาย เพราะปรัชญาสูงสุดก็ยังคงเป็นกำไรสูงสุดหรือ Maximize profit ไม่ใช่แค่ Optimize profit ซึ่งต้องใช้เงินเป็นสื่อกลาง เมื่อคนไม่มีเงินก็ย่อมเข้าถึงอาหารได้ยาก

การเป็น “ครัวของโลก” น่าจะหมายถึง การเป็นแหล่งอาหารที่เป็นที่พึ่งของคนไทยและคนทั้งโลกได้ ทั้งในแง่ความหลากหลายของชนิดอาหาร ปริมาณอาหารและคุณภาพของอาหาร (คุณค่าอาหารและรสชาติความอร่อย) จากยุทธศาสตร์ 9 ข้อที่อาจารย์เสนอ ทำให้ผมคิดว่า น่าจะมีการปรับยุทธศาสตร์เหล่านี้เพื่อให้สามารถเป็นครัวของโลกได้จริง ดังนี้

  1. วางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็น “ครัวของโลก”
  2. สั่งสม “สมรรถนะ” และขีดความสามารถในการจัดการด้านอาหาร
  3. การสนับสนุนอย่างจริงจังโดยภาครัฐภายใต้หลักธรรมาภิบาล
  4. พัฒนา “เกษตรอุตสาหกรรม” โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในรูปของสหกรณ์เพื่อการสนับสนุนซึ่งกันและกันในด้านปัจจัยการผลิตและการต่อรองการตลาดเพื่อทำให้สามารถตอบสนองอุตสาหกรรมการแปรรูปอย่างเหมาะสม
  5. สร้างจิตธุรกิจภายใต้การยึดมั่นในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือสมดุล มั่นคง ยั่งยืน
  6. สร้างความร่วมมือกับนานาประเทศโดยเฉพาะอาเซียนและเอเชีย
  7. สร้างธุรกิจแบบเครือข่ายที่พึ่งพาอาศัยกันโดยไม่มีการผูกขาดโดยบริษัทหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  8. จัด “ครัวของโลก” ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างเข้าใจตรงกัน
  9. สร้างความต่อเนื่องของการพัฒนาสู่ครัวโลกโดยใช้หลักการ “เกษตรนำ อุตสาหกรรมหนุน ท่องเที่ยวเสริม การศึกษาเป็นฐาน”

บ่าย รายวิชา บทบาทของฝ่ายปกครองกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยนายสุวัฒน์ ตันประวัติ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง ท่านเคยเป็นผู้ว่าฯตาก ตอนนั้นผมอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตาก ได้จัดมหกรรมอาหารสะอาด รสชาติอร่อยบ้านตาก ร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านตาก ท่านได้มาเป็นประธานเปิดงานให้

และอีกครั้งหนึ่งคือผมจัดงาน 31 ปีโรงพยาบาลบ้านตากกับการเปิดตัวมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตาก เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2544 ท่านมาเป็นประธานเปิดงานให้ พอท่านเปิดงานเสร็จและมอบโล่ให้ผู้บริจาคเงินเรียบร้อยแล้ว ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก ท่านก็บอกว่า ถือว่างานสำเร็จแล้ว เพราะพิธีการจบแล้ว งานแสดงที่เตรียมมาก็เลยไม่ได้แสดงโชว์จนครบ ตอนนี้มูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตาก มีเงินเกือบ 6 ล้านบาทโดยผมยังคงเป็นประธานมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตากอยู่

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความยั่งยืนต้องดึงเอาศักยภาพหรือพลังของพื้นที่ทุกตำบลหมู่บ้านออกมาใช้ การแบ่งเขตจังหวัดและการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นขึ้นมาเป็นการจัดระเบียบการปกครองเป็นหลัก เมื่อต้องใช้แผนยุทธศาสตร์มากำกับขับเคลื่อนการพัฒนาจึงไม่ค่อยเหมาะสมนัก จึงต้องมีการกำหนดการบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบกลุ่มจังหวัดขึ้นมา

ในสภาพความเป็นจริงพบว่า ปัญหาของประชาชนมีอยู่มากมายแต่ที่สำคัญคือปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ถือเป็นเป้าหมายหลักและสำคัญสูงสุดของการบริหารราชการแผ่นดิน สิ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเรียกว่า “ปัญหา” ซึ่งปัญหาสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมช่วยกันในการแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และปัญหาการเมือง

บทบาทของฝ่ายปกครองในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ บทบาทตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จากแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพื่อให้ปัญหาในพื้นที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว และ แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและประชาชน

เงื่อนไขความสำเร็จในการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ควรประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ การวางแผนยุทธศาสตร์ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ทั้งผู้วางแผนและผู้บริหารระดับสูง การบริหารโครงการตามแผนยุทธศาสตร์จะต้องไม่ละเลยหลักการทางวิชาการและรับฟังความคิดเห็นต่างๆรอบด้าน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลและองค์การต่างๆตามจำนวนที่มีความจำเป็นตามระยะเวลาที่กำหนดในยุทธศาสตร์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2553 เช้ารายวิชา ประสบการณ์นักปกครองของกระทรวงมหาดไทย: การพัมนาจังหวัดอย่างเป็นรูปแบบและการนำจังหวัดสู่ความเป็นสากล ผลงานด้านการพัฒนาจังหวัดที่ประสบผลสำเร็จและการสร้างระบบก้าวสู่ความเป็นสากล โดยนายสนธิ เตชานันท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การพัฒนาจังหวัดอย่างเป็นรูปแบบและการนำจังหวัดสู่ความเป็นสากล จะต้องพิจารณาก่อนว่าเวลาพิจารณาเมืองน่าอยู่ระดับโลก เขาพิจารณาจากปัจจัยอะไรกันบ้างและเมืองใดที่น่าอยู่ระดับต้นๆ

ท่านยกตัวอย่างเมืองน่าอยู่ของโลก จากการจัดอันดับ 10 เมืองน่าอยู่ เรียงตามลำดับคือเวียนนา (ออสเตรีย) ซูริค (สวิส) เจนีวา (สวิส) แวนคูเวอร์ (แคนาดา) โอ๊คแลนด์ (นิวซีแลนด์) ดัสเซลดอร์ฟ (เยอรมนี) มิวนิค (เยอรมนี) โดยปัจจัยที่ใช้ตัดสินเมืองน่าอยู่ ประกอบด้วย 15 ปัจจัยคือ

กฎหมาย อาชญากรรม เสถียรภาพ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณสุข เสรีภาพในการแสดงออก กิจกรรมกีฬา กิจกรรมนันทนาการ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คุณภาพของสถานศึกษา บ้านเช่า อากาศและอุณหภูมิ ภัยพิบัติธรรมชาติ ตลาดสินค้าและแหล่งจับจ่ายใช้สอย และคางสร้างพื้นฐาน (การจราจร ไปรษณีย์ ไฟฟ้า ประปา ถนน)

บ่าย ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด: ภูมิภาค ท้องถิ่นและภาคเอกชน โดยนายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ท่านพูดถึงประเทศไทยในบริบทของความเปลี่ยนแปลง 4 มิติคือมิติด้านนานาชาติ (การค้าเสรี การเพิ่มขีดความสามารถในการเจรจาการค้า การสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย) มิติด้านเศรษฐกิจ (การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ การสร้างความรอบรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยี) มิติด้านสังคม (การขาดคุณภาพในการพัฒนาสังคม ปัญหาคอรัปชั่นทั้งภาครัฐและเอกชน ปัญหาคุณภาพทางการศึกษา กระแสวัตถุนิยม) และมิติด้านการเมือง (แรงผลักดันจากการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญ 2550)

แนวทางการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีประกอบด้วย 2 ส่วนคือ แผนยุทธศาสตร์ ที่ประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์ (เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย) กำหนดแผนการบริหารการเปลี่ยนแปลงตามประเด็นยุทธศาสตร์ (การเปลี่ยนแปลงเป็นการทั่วไปและการจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง) ส่วนที่สองคือการประเมินติดตามผล แบ่งเป็น 2 หมวดคือ หมวดตัวผลักดัน คิด 40% (มิติ 2 คุณภาพ มิติ3 ประสิทธิภาพ มิติ4 การเรียนรู้และพัฒนา) และหมวดผลสัมฤทธิ์ คิด 60% (มิติที่ 1 ประสิทธิผลตามแผนยุทธศาสตร์)

เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ประกอบด้วย การใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดเพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันเป็นกลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันโดยกระบวนการความร่วมมือของทุกภาคีการพัฒนา ใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเป็นเครื่องมือในการพัฒนาระดับพื้นที่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและบูรณาการกับทุกภาคส่วนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดและศักยภาพจังหวัด และมีการกำหนดตัวชี้วัดและประเมินผลการบริหารราชการจังหวัดแบบบูรณาการ

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2553 รายวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการบริหารงานจัดการความรู้ของส่วนราชการ โดยอาจารย์สรวิทย์ เปรมชื่น เป็นการพูดถึงการจัดการความรู้เป็นครั้งที่สามของการฝึกอบรม เนื้อหารายละเอียดแนวคิดก็คล้ายๆกัน อาจารย์ได้พูดถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของการเป็นผู้นำสมัยใหม่ประกอบด้วย 4 ปัจจัยคือเป็นผู้บุกเบิก วางเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาองค์กร (Path-finding) ปรับเปลี่ยนขั้นตอนและระบบการทำงานแบบบูรณาการและเชื่อมดยงการทำงานของทุกฝ่ายเข้าหากันเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย (Aligning) มอบอำนาจการตัดสินใจเพื่อให้ได้มาซึ่งการมีส่วนร่วมของคนในองค์การ (Empowering) และเป็นต้นแบบของความศรัทธา ความไว้เนื้อเชื่อใจแก่บุคคลรอบด้าน (Modeling)

อาจารย์ได้ขยายคำว่า ภาวะผู้นำ “Leadership” ออกมาเป็น 10 องค์ประกอบคือ Love รักงาน รักความยุติธรรม รักลูกน้อง, Education/Experiences มีความรู้ในงานและมีประสบการณ์, Adaptability สามารถปรับตัวได้ดี, Decisiveness กล้าตัดสินใจ, Enthusiasm กระตือรือร้น, Responsibility มีความรับผิดชอบ, Sacrifice/Sincere เสียสละ จริงใจ, Harmony ส่งเสริมความสามัคคี, Intellectual มีไหวพริบ ทันคน ทันเหตุการณ์, Persuasiveness มีความสามารถในการจูงใจคน

การบูรณาการจัดการความรู้และกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ จะมีกระบวนการจัดการความรู้ที่ประกอบด้วย  7 ขั้นตอนคือ การบ่งชี้ความรู้ การสร้างและแสวงหาความรู้ การจัดความรู้ให้เป็นระบบ การประมวลและกลั่นกรองความรู้ การเข้าถึงความรู้ การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้และการเรียนรู้ (คล้ายๆโมเดลไข่ ดูที่ http://pubnet.moph.go.th/techjrn/hto/16_6_LKASA-Phichet.pdf ) ทั้งนี้ต้องมีกระบวนการประกอบอีก 6 กิจกรรมคือการเตรียมการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสื่อสาร กระบวนการและเครื่องมือ การฝึกอบรมและเรียนรู้ การวัดผล และการยกย่องชมเชยและการให้รางวัล

หลังเลิกเรียนนั่งรถกลับตากกับพี่โภ ช่วงแรกพี่โภเป็นคนขับ เราคุยกันเพลินจนเลยทางแยก ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิเข้ากรุงเทพฯและกลับออกทางเส้นวิภาวดีฯ หลังจากถึงบางปะอิน ผมก็สลับมาขับแทน แวะทานอาหารเย็นและซื้อปลาเค็มกันที่สิงหบุรีและกลับถึงตาก

พี่โภ หรือโภคากร สินสกลวัฒน์ นายอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นคนที่สมาร์ท มีมาดนักบริหารมาก เป็นผู้ใหญ่ใจดี อบอุ่น เป็นคนมีน้ำใจ อัธยาศัยใจคอดีมาก พี่โภจะคอยกระตุ้นผมให้พยายามทำคะแนนให้ดีเผื่อจะได้เป็นที่หนึ่งของรุ่น แต่ผมก็เฉยๆเพราะไม่ได้คิดเรื่องคะนงคะแนนอะไร แค่ได้มาอบรมก็ดีโขแล้ว พี่โภมีประสบการณ์ทำงานมากมายและเล่าประสบการณ์ในการบริหารคนให้ผมเรียนรู้ขณะนั่งรถกลับบ้านด้วยกัน พี่โภกับพี่เวงเป็นนักเรียนนายอำเภอรุ่น 48 ด้วยกัน

ผมนึกถึงเรื่องการบริหารงานกลุ่มจังหวัด ผมได้เขียนเสนอในบันทึกการเรียนรู้ว่า ดูในแผนแล้วดี แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงเป็นแบบจังหวัดใครจังหวัดคนนั้นอยู่ น่าจะรวมกลุ่มจังหวัดเป็นเขตหรือมณฑล (เหมือนสมัย ร. 5) หรือ Region แล้วให้มีการบริหารคล้ายๆการบริหารประเทศ อาจเป็นทบวงหรืออะไรก็ได้ที่มีความเป็นเอกภาพในการบริหารได้ โดยให้มีผู้ว่าราชการเขต ที่เทียบเท่ารองปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือจะสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้

มณฑลหรือเขต มีคณะรัฐมนตรีเขต ที่มีผู้ว่าราชการเขตเป็นหัวหน้าบริหาร คณะรัฐมนตรีเขตมาจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งในเขตและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมกันแล้วไม่เกิน 10 คน ทำหน้าที่บริหารส่วนราชการประจำเขต มีสภานิติบัญญัติเขต ไว้คอยพิจารณาข้อบัญญัติ งบประมาณและแผนประเด็นยุทธศาสตร์ต่างๆรวมทั้งการจัดสรรงบประมาณให้แก่จังหวัดตามความเหมาะสมต่อการพัฒนาโดยมีองค์ประกอบมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ 20 คน ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่เขต 20 คนและภาคประชาชน/ประชาสังคม/เอกชนอีก 20 คน รวมเป็น 60 คน และมีศาลยุติธรรมเขตทำหน้าที่ตุลาการ

หมายเลขบันทึก: 390598เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2010 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท