ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพWorld Expo 2020


Thailand World Expo 2020

  

 

 

 

ปฐมบท

 

Thailand World Expo 2020

 

Balanced Life...Sustainable Living  

 

ชีวิตสมดุล อยู่อย่างยั่งยืน 

 

ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกมาแล้ว โดยเฉพาะงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549- 31 มกราคม 2550 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่ 470 ไร่ เป็นงานที่รวบรวมสุดยอดความมหัศจรรย์แห่งพรรณไม้ ในพื้นที่เขตร้อนชื้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความหลากหลายมากที่สุดของพรรณไม้กว่า 2,200 ชนิด กว่า 2.5 ล้านต้น

 


งานพืชสวนโลก ยังเป็นการประกาศศักยภาพการผลิตพืชผลทางการเกษตรของไทยด้าน พรรณไม้ดอกไม้ประดับ ไม้สมุนไพร พืชสวนครัว ไม้แปลกหายาก และ พืชผลทางการเกษตร สู่เวทีตลาดการค้าโลก ซึ่งงานครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา เพื่อแสดงศักยภาพในการเพาะปลูกพันธุ์ไม้เขตร้อน และเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีก้านพรรณไม้เขตร้อนทั่วโลก และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจ สังคม และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านกาเกษตร ภายใต้ Theme ของงาน
“เพื่อนำความรักสู่มนุษยชาติ” (To Express the Love for Humanity)

การจัดงานสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ได้รับการรับรองในการจัดงานในระดับ A1 อย่างเป็นทางการจากสำนักงานมหกรรมโลก ( Bureau of International Exposition – BIE ) สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ( Association of Horticulture Producers – AIPH )
และภายใต้การสนับสนุนจาก สมาพันธ์ดอกไม้โลก ( World Flower Council – WFS ) และสมาคมพืชสวนนานาชาติ ( International Society for Horticultural Science – ISHS ) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานของประเทศไทยทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะความพร้อมด้านขนาดพื้นที่ ระยะเวลาการจัดงาน สาระนำเสนอในระดับสากล และความหลากหลายของพืชพรรณไม้ที่นำมาจัดแสดง

 

บทเรียนที่ทรงคุณค่า 

 

สำหรับความเป็นมาของงานนิทรรศการระหว่างประเทศเป็นงานใหญ่ที่อาจจะสามารถเทียบได้กับงานจัดงานโอลิมปิก หรือฟุตบอลโลก ได้เพราะเป็นงานที่มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมงานสูงถึงกว่า 200 ประเทศ และถือว่าเป็นงานที่จะได้มีการแสดงสัญลักษณ์ของแต่ละประเทศ (Nation Branding) ด้วยการจัดสร้างศาลาของแต่ละประเทศที่เน้นถึงสถาปัตยกรรมของประเทศตนเอง ภายในตัวอาคารจะมีการแสดงถึงสินค้าอันเป็นการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ รวมถึงแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของประเทศตนเองที่ต้องการเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศ
 

 

งานมหกรรมโลกได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1851 หรือประมาณ 159 ปีที่ผ่านมาซึ่งจัดขึ้นที่พระราชวังคริสตัล ไฮด์ปาร์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้มีการจัดสืบเนื่องต่อมาและมีการจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี โดยมีองค์กรระหว่างประเทศที่มีรับผิดชอบจัดงานที่เรียกว่า "Bureau of International Exhibition หรือ BIE" ซึ่งการจัดงานมหกรรมสินค้านี้ได้มีวิวัฒนาการมาจนถึงในปัจจุบัน จำแนกได้เป็น 3 ยุคดังนี้
 

 

ยุคการพัฒนาอุตสาหกรรม “Industrialisation” (ค.ศ.1851-1938) การแสดงสินค้าจะเน้นการแสดงสินค้า และการแสดงการคิดค้นเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง ความก้าวหน้าทางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ซึ่งตัวอย่างของสินค้าใหม่ในช่วงนี้ เช่น โทรศัพท์
 

 

ยุคการแลกเปลี่ยนของวัฒนธรรม “Cultural Exchange” (ค.ศ.1939-1987) ได้มีการปรับเปลี่ยนจุดเน้นของงานแสดงสินค้ามาเป็นการแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติที่มีการเน้นถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ โดยเริ่มขึ้นในการจัดมหกรรมโลกที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.1939 ภายใต้แนวคิดของการจัดงานว่า การสร้างโลกสำหรับวันพรุ่งนี้ "Building the World of Tomorrow"      
 

 

ยุคการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ (ค.ศ.1988-จนถึงปัจจุบัน) การแสดงของแต่ละประเทศจะเน้นสัญลักษณ์หรือภาพลักษณ์ของประเทศ ที่รวมไปถึงความเจริญก้าวหน้าของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับการแสดงสินค้าและนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ด้วยการจัดสร้างศาลาของแต่ละประเทศที่แสดงถึงสัญลักษณ์และมีการแสดงออกศิลปวัฒนธรรม
 

 

เนื่องจากงานมหกรรมโลกนี้จะมีผู้เข้าเยี่ยมชมจำนวนมากด้วยมีระยะเวลาการจัดงานยาวนานถึงประมาณ 6 เดือน เช่นงาน world expo ที่เซี่ยงไฮ้ในปีนี้ที่มีคาดการณ์ว่าจะมีผู้เที่ยวชมงานสูงถึงประมาณ 70 ล้านคน ดังนั้น จึงเป็นที่แข่งขันกันสูงในการที่จะชิงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน 
 

 

เสนอตัวเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง

 

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสนใจที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมโลกดังกล่าว ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน. เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก หรือเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 โดยคณะรัฐมนตรีให้ความสนใจ เป็นเจ้าภาพเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 ต่อจากงาน world expo 2015 ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ ทั้งนี้เพราะจะเป็นการยกระดับของประเทศสู่การเป็นเจ้าภาพงานระดับโลกมากขึ้น โดยได้มีการประมาณการรายได้ว่า หากไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ถึง 1 แสน 7 หมื่นล้านบาท  โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้วเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดงานประเภทนี้สูง ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำระดับประเทศ เช่นการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ยูโร-อาเซม หรือการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่เชียงใหม่มาแล้ว
 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ไทยก็จะเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นจากหลายประเทศและหลายเมืองซึ่งจนถึงปัจจุบันได้มีผู้ที่จะเสนอตัวลงแข่งขันในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานในปี ค.ศ.2020 นับตั้งแต่ประเทศสหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก ออสเตรเลีย ส่วนประเทศในเอเชีย ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ หรือเมืองดูไบ ของสหภาพอาหรับเอมิเรตส์ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาและมีการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด

 

 

 

สาระสำคัญของการจัดงานมหกรรมโลก 

 

สสปน.รายงานว่า

 

1. ที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันพุธที่ 17 มีนาคม 2553 ได้มีมติเห็นชอบให้ สสปน. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเสนอตัวลงรับสมัครคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลกเวิล์ด เอ็กซ์โป ในปีพ.ศ. 2563 (World Expo 2020)

 

2. งานมหกรรมโลก World Expo เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2394 (ค.ศ. 1851) ณ ประเทศอังกฤษ โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ดูแลลิขสิทธิ์การจัดงานคือสำนักงานมหกรรมโลก (Bureau of International Exposition-BIE) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาขององค์การสหประชาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 ประเทศและงานนิทรรศการระดับโลกนี้ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 5 ปี ประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก BIE ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 โดย พณ.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนประสานงานกับ BIE โดยมีสำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงปารีส เป็นผู้แทนในต่างประเทศและได้อนุมัติในหลักการให้มีการหมุนเวียน กระทรวง ทบวง กรม ที่เป็นเจ้าของเรื่องการจัดงาน Expo เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ (Organizer) เป็นกรณีไป

 

3. ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานมหกรรมโลก World Expo เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 22 ครั้ง โดยร่วมงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2405 (ค.ศ.1862) นับเป็นประเทศที่ 3 ในทวีปเอเชียที่เข้าร่วมงาน และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2550 ให้ประเทศไทยเข้าร่วมงาน The World Exposition Shanghai China 2010 (พ.ศ.2553) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม — 31 ตุลาคม 2553 ภายใต้หัวข้อ “เมืองที่ดีกว่าเพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” (Better City Better Life) โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการเข้าร่วมงาน

 

4. งานมหกรรมโลก World Expo เป็นงานสำคัญระดับโลกเทียบเท่ากับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อให้การศึกษาแก่สาธารณชน การแสดงถึงนวัตกรรม ความก้าวหน้าทางอารยธรรมของมนุษยชาติ ทิศทางการพัฒนาของโลกในอนาคตและประโยชน์ที่มีต่อมวลมนุษย์ รวมถึงช่วยยกระดับของการพัฒนาประเทศโดยการสร้างสรรค์โอกาสให้เกิดขึ้นเพื่อการรับรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดอันหนึ่งในการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว ก่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคและช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศในระดับโลก และยกระดับของการพัฒนาประเทศโดยรวม

 

5. หากรัฐบาลสนับสนุนให้ สสปน.ดำเนินการเพื่อเสนอตัวลงสมัครรับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 จะต้องมีการเตรียมการดำเนินการตามวิธีการและขั้นตอนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมโลก World Expo ดังนี้

 

5.1 ประเทศที่ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพต้องมีหนังสือแสดงเจตจำนงเสนอต่อ BIE (Bureau International des Expositions) โดยจะต้องยื่นเอกสารสมัครล่วงหน้าอย่างมาก 9 ปี และอย่างน้อย 6 ปี ก่อนวันเปิดงานมหกรรมโลก World Expo

 

5.2 การประมูลสิทธิ์การจัดงาน (Bidding) โดยคณะผู้สำรวจ (enquiry missions) จะประเมินถึงความเป็นไปได้ (feasibility)และความสามารถ (viability) ของโครงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก โดยเฉพาะหัวข้อการจัดงาน (Theme of the exhibition) ซึ่งต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวเนื่องกับปัญหา และสิ่งท้าทายมนุษยชาติในขณะนั้น การลงคะแนนเสียง (The Vote) โดยประเทศสมาชิกในการประชุมใหญ่สมัยสามัญ (General Assembly)

 

6. สสปน.ได้เริ่มเปิดตัวโครงการแนวทางและความเป็นไปได้ในการประมูลสิทธิ์งานมหกรรมโลก World Expo แก่สาธารณะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 และได้จัดให้มีการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับงานมหกรรมโลก และชี้แจงเกี่ยวกับหลักการและเหตุผล ผลประโยชน์ของประเทศ แนวทางและความเป็นไปได้ ตลอดจนการรับฟังถึงข้อเสนอแนะ ปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่จะต้องมีการเตรียมการทั้งในด้านภาระงบประมาณ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และการยอมรับและการมีส่วนร่วมจากภาครัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไป

 

7. สสปน.ได้จัดส่งคณะผู้แทนจากประเทศไทยเดินทางไปพบปะกับคณะผู้แทนของรัฐบาลจีนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดงานมหกรรมโลก World Expo ซึ่งจะมีขึ้น ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ในเดือนพฤษภาคม 2553 เพื่อขอรับฟังข้อเสนอแนะ ประสบการณ์ต่าง ๆ ของประเทศจีนตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการ การรณรงค์ การบริหารการจัดการต่าง ๆ ที่   ทำให้เมืองเซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดงานดังกล่าว ตลอดจนได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำการศึกษาหาข้อมูลในเบื้องต้นจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Sources) ทุติยภูมิ (Secondary Sources)เพื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความคุ้มค่าของการลงทุน งบประมาณลงทุน รายได้จากการจัดงาน การจ้างงาน อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่จะได้รับประโยชน์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากอาคารสิ่งก่อสร้างจากการจัดงานดังกล่าว

 

8. สสปน.ได้จัดให้มีการประชุมระดมความคิดเห็นของผู้แทนทั้งจากภาครัฐ เอกชนในธุรกิจอุตสาหกรรมไมซ์ ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 500 คน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับความร่วมมือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในการส่งตัวแทน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2010 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ มาเป็นวิทยากรในการประชุมสัมมนาดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการที่ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2010 ดังกล่าว

 

9. ขณะนี้มีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 แล้ว 14 เมือง ใน 9 ประเทศ ทั้งจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกา โดยคู่แข่งของไทยที่มีศักยภาพด้านเงินลงทุนสูงคือ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สำหรับประเทศในเอเชียที่ได้มีการเปิดตัวแถลงข่าวแล้วคือ ฟิลิปปินส์

 

10. จากการศึกษาข้อมูลและประมาณการเบื้องต้นพบว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยและการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการลงทุนของประเทศไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวน 167,250 ล้านบาท จะก่อให้เกิดรายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทางอ้อม เช่น รายได้จากการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ออกแบบก่อสร้าง รื้อถอน และบริหารจัดการ การจำหน่ายสินค้า สิ่งพิมพ์ การจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ลิขสิทธิ์สัญลักษณ์ (Logo) การสนับสนุน (Sponsorship) และภาษี เป็นต้น โดยมีเป้าหมายจำนวนผู้เข้าชมงาน 30 ล้านคน โดยเป็นผู้เข้าชมงานในประเทศร้อยละ 70 และชาวต่างประเทศร้อยละ 30 (ที่มา :ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี วันที่  20 เมษายน 2553)

 

ก้าวต่อไปเพื่อคนไทยทั้งชาติ

 

 

การจัดงานมหกรรมโลก Thailand World Expo 2020 ภายใต้ Theme “Balanced Life...Sustainable Living”  ผู้เขียนขอแปลเป็นไทยว่า “ชีวิตสมดุล อยู่อย่างยั่งยืน

 

พื้นที่จัดงาน ไทยแลนด์ เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ที่ สสปน.จะเสนอ ครม.ในวันนี้ได้คัดเลือกจาก 6 จังหวัดที่เสนอตัว เหลือเพียง 3 จังหวัด คือ จังหวัดอยุธยา บริเวณศูนย์ศีลปาชีพบางไทร จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา และ จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ของทหาร

แต่ละจังหวัดก็มีแนวคิดที่ต่างกัน อยุธยา เสนอแนวคิด ดุลยภาพแห่งความเป็นเมืองมรดกโลก เกษตร อุตสาหกรรม ชลบุรี เสนอแนวคิด สมดุลแห่งธรรมชาติ เมืองท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เชียงใหม่ เสนอแนวคิด ดุลยภาพแห่งศาสตร์และศิลปะ นำมาซึ่งเอกลักษณ์อันยั่งยืน

คุณอรรคพล สรสุชาติ กล่าวว่า ดูจากเกณฑ์คัดเลือกในตอนนี้แล้ว จังหวัดอยุธยามีจุดแข็งมากที่สุด คือ อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี แต่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ชลบุรี ได้เปรียบตรงเป็นพื้นที่เอกชน มีท่าเรือ และโรงแรมจำนวนมาก ศักยภาพด้อยสุดคือ เชียงใหม่ อยู่ไกลสนามบินสุวรรณภูมิเกินไป

ในทัศนะของผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการจัดงานมหกรรมโลก Thailand World Expo 2020 ในอีก10 ปีข้างหน้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด ที่จะใช้จัดงาน ด้วยเหตุผลสำคัญ ดังนี้

 

1)      เป็นเมืองมรดกโลก (World Heritage)

 

2)      เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบก ทางเรือ ทางอากาศ (อยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ)

 

3)      เป็นศูนย์กลางการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมของต่างชาติ ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม หลายแห่ง เช่นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค, บางปะอิน, สหรัตนนคร, โรจนะ ฯลฯ

 

4)      สถานที่ตั้งอยู่ห่างกรุงเทพมหานคร ประมาณ 75 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 1 ชั่วโมง

 

โดยรถยนต์ และในอนาคตหากมีการขยายส่วนต่อรถไฟฟ้าจากกรุงเทพฯ-นนทบุรี-อยุธยา  หรือระบบรถไฟเชื่อมAirport link  เชื่อว่าการเดินทางจะสะดวกรวดเร็วและประหยัดพลังงานไม่น้อย

 

5)      โครงสร้างทางสาธารณูปโภคมีความพร้อมสูงทุกด้าน เช่น ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ และเครือข่ายโทรคมนาคม

 

6)      มีสถาบันอุดมศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย    เป็นต้น

 

7)      จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียง เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี นครนายก สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ เป็นต้น

 


ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าในภูมิภาคเอเชีย ดูเหมือนจะมีเพียง 3 ประเทศ เท่านั้นที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดงาน

 

World Expo คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ จีน ถ้าหากประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2020 ก็จะเป็นประเทศที่ 4 ในเอเชียที่จะประกาศความยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครในภูมิภาคนี้

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 387912เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2010 06:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท