ว๊าว โตโยต้า


ทีมงานกลุ่มอนามัยวัยทำงาน  สำนักส่งเสริมสุขภาพ   ได้มีโอกาสประชุมถอดบทเรียนความสำเร็จของการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ บริษัทโตโยต้า  มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด  โดยได้รับการต้อนรับจาก คุณธานินทร์  ตัณฑเกษม  ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  คุณภัฏชฎา  กวีวัฒนถาวร  ผู้ช่วยผู้จัดการ และน้องพงศธร  วิไลวรรณ  หัวหน้างานอาวุโส 

 

สำนักงานส่งเสริมความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานพิเศษขึ้นตรงกับสายงานสนับสนุนการผลิต  มีหน้าที่กำหนดแผน นโยบาย และสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่นำมาซึ่งการสร้างความตระหนัก ปลูกจิตสำนึกและการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเน้นเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานทั้งในงานและนอกงาน   การรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมในการรักษาสิ่งแวดล้อม  รวมถึงการส่งเสริม สร้างกระแสในการเฝ้าระวัง ดูแล รักษาสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อให้พนักงานสามารถดูแล รักษาตนเองให้ปราศจากโรค การบาดเจ็บ การเจ็บป่วย ทั้งในงานและนอกงาน   ซึ่งปัจจุบัน บริษัท มีพนักงานที่อยู่ในความดูแลมากกว่า หนึ่งหมื่นสองพันชีวิต   อยู่ต่างสถานที่ทำงาน  ต่างลักษณะงาน ซึ่ง มีทั้งงานการผลิต    และ งานสำนักงาน  ซึ่งหลากหลายทั้งด้านวัยวุฒิ   คุณวุฒิ   วัฒนธรรม   ความเชื่อ

 

พี่ภัฎชฎา  หรือ พี่บล  เล่าให้ฟังว่า  เดิมทำหน้าที่ดูแล และวินิจฉัยให้การรักษาเบื้องต้นพนักงานที่ห้องพยาบาล  และได้เปลี่ยนบทบาทจากการดูแล รักษา มาเป็นงานส่งเสริม ป้องกัน โดยย้ายเข้ามาทำงานในสำนักงานส่งเสริมความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2549  และได้รับมอบนโยบายจาก บริษัท   โตโยต้า คอร์เปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่  ที่กำหนดนโยบายด้านสุขภาพ เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็น เรื่องอาชีวอนามัย ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในเรื่องการป้องกันมิให้เกิดโรคหรือความเจ็บป่วยจากงาน ซึ่งเน้นในเรื่องErgonomics  เช่น แสง เสียง ฝุ่น สารเคมี  ความร้อน และสิ่งแวดล้อม ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน  กลุ่มที่ 2 เป็นเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพทั่วไป มีนโยบาย เน้นเรื่อง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยใช้ชื่อโครงการว่า  BIP   หรือ Behavior  Innovation  Program   ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 2  หัวข้อ  คือ  การควบคุมน้ำหนัก  และ การงดสูบบุหรี่ 

 

ปีแรกของการเริ่มงานในสำนักงานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  ได้จัดมีการสำรวจสถานะสุขภาพของพนักงาน ( Health  Status  Survey) เพื่อนำผลสำรวจที่ได้มาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนจัดกิจกรรม ซึ่งในการสำรวจสถานะสุขภาพครั้งนั้น ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพนักงานทั่วทั้งองค์กร ทำให้เราสามารถมองเห็นปัญหาด้านสุขภาพของพนักงาน รวมทั้งได้รับทราบถึงปัญหาและความต้องการทางด้านสุขภาพของพนักงาน อย่างชัดเจน    พบว่าปัญหาส่วนใหญ่มักจะมาจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน  เช่น  เรื่อง อาหารที่เน้นการรับประทานเนื้อสัตว์ติดมัน ของทอด อาหารสำเร็จรูป ไม่นิยมการบริโภคผัก  การรับประทานอาหารมื้อเย็นเป็นหลัก   การขาดการออกกำลังกาย  ความเครียดจากการทำงานและปัญหาครอบครัวและการจัดการกับปัญหาด้วย การดื่มสุราและการสูบบุหรี่  ซึ่งส่งผลต่อปัญหาเรื่องภาวะน้ำหนักเกินและปัญหาสุขภาพด้านพฤติกรรม  ซึ่งไม่ต่างจากปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขวิจัยและค้นพบ 

 

ดังนั้น การจัดการปัญหาสุขภาพที่ใช้  จึงนำหลักการเดียวกันกับนโยบายการดูแล สร้างเสริมสุขภาพประชาชน โดยใช้หลัก 6 อ.  คือ  อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ อโรคยา อนามัยสิ่งแวดล้อม และ อบายมุข  นำมาศึกษา วิเคราะห์ วางแผนในการจัดกิจกรรม ซึ่งเราเรียกว่า 6 E  ภายใต้กรอบแนวคิดและปฏิบัติของ SAP ( S  :  Supporter    ,  A :  Auditor  & Monitoring  ,   P  :  Promotor )  คือ เป็นผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรม ติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งเผยแพร่ผลการดำเนินงาน   และ  TOYOTA WAY ซึ่งเราถือเป็น DNA  ของพวกเราชาวโตโยต้า (TOYOTA WAY  : วิถีแห่งโตโยต้า ประกอบด้วย 2 เสาหลัก คือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และ การยอมรับ นับถือและทำความเข้าใจในผู้อื่น)

 

                ปี  2550  ซึ่งเป็นปีแรกของการเริ่มต้นกิจกรรม ซึ่งเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องสร้างกระแสสุขภาพให้พนักงานเริ่มมีการตื่นตัวและเริ่มหันมามองเห็นความสำคัญของคำว่า “สุขภาพ”  แต่เนื่องจากงานส่งเสริมสุขภาพเป็นงานที่เพิ่งเริ่ม  ผู้รับผิดชอบมีเพียง 2 ชีวิต เท่านั้น  เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดว่า 2 ชีวิต ที่รับผิดชอบงานที่จะต้องเผยแพร่ให้พนักงานจำนวนเป็นหมื่น จะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพทั่วทั้งองค์กร  ดังนั้น หลักการหรือแนวคิด คำว่า อสม. เราจึงนำมาเทียบเคียงกับกิจกรรมของเรา  หัวหน้างานจะเป็นผู้ใกล้ชิดกับพนักงานมากที่สุด   หัวหน้างานจะสามารถสื่อสารเรื่องสุขภาพกับพนักงานได้โดยตรง  ไม่ต่างจาก อสม. ที่กำหนดไว้ว่า อสม 1 คน ดูแล ลูกบ้านและคนในครอบครัว 10-15 หลังคาเรือน  ดังนั้น หลักสูตร “การอบรมอาสาสมัครสุขภาพ” จึงเกิดขึ้นเป็นกิจกรรมแรก เพื่อแสวงหาแนวร่วมและเครือข่าย        พร้อมกันนั้น   การสร้างกระแสลดอ้วน ลดพุง ก็เกิดขึ้น พร้อม ๆ กับ กรมอนามัย โดยเราใช้ชื่อโครงการว่า “ Smart  &  Slim ”   ภายใต้แนวความคิดที่ว่า ผอมด้วย แข็งแรงด้วย  ไม่ใช่ผอมอย่างเดียว (ผอม :  ลดน้ำหนัก)   ซึ่งกิจกรรมนี้ เรามีการติดตามประเมินผลภาวะสุขภาพทั้งด้านร่างกาย ซึ่งได้แก่ น้ำหนักตัว รอบเอว สมรรถภาพความสมบูรณ์ทางกาย (Fit Test) และผลเลือด (น้ำตาลและไขมัน)

 

 

 

                ปี  2551   มีการดำเนินงาน   Smart   &  Slim  ปีที่  2  ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 8 กลุ่ม และผลพลอยได้จากการอบรมหลักสูตรอาสาสมัครสุขภาพ ทำให้เราสามารถต่อยอดกิจกรรม ได้ อีก 2 โครงการ คือ โครงการโรงอาหารในฝัน เราได้คณะกรรมการโรงอาหาร มาช่วยพัฒนาโรงอาหาร เพื่อให้เอื้อต่อกิจกรรม Smart & Slim  และ  โครงการตำรวจอาสา   เป็นโครงการสืบเนื่องมาจากการเชิญตำรวจมาเป็นวิทยากรต้านยาเสพติด ต่อยอดการอบรมเป็นตำรวจอาสา ช่วยตำรวจในการตรวจสถานบันเทิง  เรื่องยาเสพติดและการพนัน  การเฝ้าระวังอุบัติเหตุในโครงการเมาไม่ขับ  นอกจากนี้มีการดำเนินงานโรงงาน     สีขาวโดยกลุ่มตำรวจอาสาจะเป็นผู้เฝ้าระวังและตรวจยาเสพติดในหน่วยงานของตนเอง    และเริ่มโครงการ“งดเหล้า  เข้าพรรษา  และ  มีกิจกรรมจัดตลาดนัดสุขภาพ

 

 

 

                ปี  2552  ดำเนินโครงการ  Smart  &   Slim   เป็นปีที่ 3  และ สร้างกระแสรักษ์สุขภาพขยายผลไปยังครอบครัว  โดยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพระประแดง เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ  Health @Camp หรือโครงการเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไปเข้าค่าย 2 วัน 1 คืน เปิดรับสมัครแบบไม่จำกัดสิทธิ      จะไปเดี่ยว  ไปเป็นคู่  ไปเป็นครอบครัว ได้หมด เพราะเราเชื่อว่าครอบครัวที่เรียนรู้ร่วมกันจะช่วยดูแลและห่วงใยกันเป็นการสร้างความผูกพันธ์ ความอบอุ่นในครอบครัว    นอกจากนี้ยังได้ มีโครงการจัดอบรมทบทวนความรู้สุขภาพให้กับกลุ่มแม่ครัวและแม่ค้าที่มาจำหน่ายอาหารให้แก่พนักงาน  (Refresh  Course )   และพร้อมกันนั้น ในปีนี้เราได้ปรับเปลี่ยนนวัตกรรมวิธีการเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพ ผ่านระบบ  Intranet  และ  E – mail  จาก เอกสารแผ่นพับ  สไลด์นำเสนอความรู้สุขภาพ ที่มีแต่ตัวอักษร  มาเรียบเรียงจัดทำเป็น Clip  Video  ในการนำเสนอโดยมีเสียงดนตรีประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านสนใจติดตามและเพลิดเพลินขณะชม/รับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ

 

               

             ปี  2553  คุณเอกชัย รัตนชัยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส  ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มพนักงานสายงานสนับสนุนการผลิต  มีนโยบายในเรื่องของสุขภาพที่ชัดเจน ท่านมองเห็นความสำคัญของการเจ็บป่วยด้วยโรควิถีชีวิตที่มีผลต่อประสิทธิภาพ ประสิทธิผล  ท่านมองการณ์ไกลว่า หากพนักงานยังไม่ตระหนักในเรื่องของความเป็นอยู่ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ตั้งแต่บัดนี้ ปัญหาสุขภาพที่จะตามมาในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะส่งผลในเรื่องค่าใช้จ่ายหากพนักงานเกษียณอายุ ซึ่งโรคหรือความเจ็บป่วยเหล่านี้สามารถป้องกันได้  ดังนั้น ท่านจึงต้องการให้พนักงานใต้บังคับบัญชาของท่านเป็นกลุ่มต้นแบบในการดำเนินชีวิตสุขภาพอย่างมีรูปแบบที่ถูกต้อง  โดยในปีนี้กิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพจะต้องดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม มีการเก็บข้อมูลเบื้องต้น จัดกลุ่มพนักงานตามความเสี่ยง กลุ่มเฝ้าระวัง  จัดให้มีการอบรมและ ติดตามผลเป็นระยะ   ซึ่งกิจกรรมของพนักงานกลุ่มนี้ เมื่อมีการดำเนินกิจกรรมไปแล้ว จะสามารถนำเสนอในรูปแบบวิเคราะห์ วิจัย และนำผลสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมไปขยายผลต่อในกลุ่มพนักงานอื่น ๆ อีกต่อไป  ท่านคาดหวังไว้ว่า หลังจากมีการดำเนินกิจกรรมอย่างเต็มรูปแบบแล้ว โรคหรือความเจ็บป่วยจากวิถีชีวิตในการดำเนินสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน จะต้องลดลงหรือจะต้องไม่เกิดกับคนกลุ่มเสี่ยงต่อไป ซึ่งนั่นก็หมายความว่า พนักงานบริษัท โตโยต้า จะเป็นพนักงานที่มีสุขภาพที่ดี ไม่มีโรค และ เป็น The Happiness Workplace ในอนาคต   ซึ่งนอกจากนี้แล้ว กิจกรรมอื่น ๆ ที่ยังดำเนินอยู่ก็ยังต้องมีการต่อยอดขยายผล  เช่น โครงการ “คนต้นแบบ ลด  ละ เลิก บุหรี่ สุรา และอบายมุข หยอดกระปุก ถวายพ่อหลวง ”  โครงการ “อบรมสุขภาพหัวหน้างาน” 

 

 

 

ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพใน บริษัท  โตโยต้า  มอเตอร์  ประเทศไทย  จำกัด

  1. ผู้บริหารเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพและให้การสนับสนุน

  2. มีนโยบายการส่งเสริมสุขภาพที่ชัดเจน

  3. ทรัพยากรที่เพียงพอ   เช่น   วัสดุอุปกรณ์   สถานที่

  4. มีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายและสามารถเข้าถึงง่าย   เช่น   Internet  จดหมายข่าว  เป็นต้น

  5. มีการวิเคราะห์ข้อมูลภาวะสุขภาพและจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

  6. มีระบบการติดตาม  กำกับ  ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

  7. มีการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน

  8. ประสานความร่วมมือเครือข่ายภายในและภายนอกองค์กร

  9. ความร่วมมือจากทุกฝ่าย   เช่น   ผู้บริหาร  พนักงาน  หน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร

  10. ดำเนินการภายใต้ วิถีโตโยต้าที่ชัดเจน ( Continuous Improvement  , Respect for People)

  11. ใช้หลักการ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อย่างต่อเนื่อง

 

 

หมายเลขบันทึก: 387732เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท