การจัดระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการ


ปัจจัยแห่งความสำเร็จประกอบด้วยภาวะผู้นำและการสร้างทีมงานที่มีความเข้าใจในประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาบริการปฐมภูมิ อีกทั้งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้การสนับสนุนในด้านนโยบาย แนวทางการปฏิบัติงาน ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงงบประมาณที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา

      โครงการการจัดระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการในเครือข่าย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร มีวัตถุประสงค์  เพื่อลดความแออัดในการให้บริการผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลคำชะอี   จัดระบบบริการเป็นเครือข่ายในระดับสถานีอนามัย บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการแบบองค์รวมโดยสหวิชาชีพตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว โดยวางยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้านประกอบด้วยการบริหารทรัพยากร  การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาระบบการกำหนดพื้นที่รับผิดชอบส่งต่อ  และการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชน ผลการดำเนินงานทำให้ประชาชนผู้มารับบริการในระดับสถานีอนามัยที่เป็น PCU หลักมีความพึงพอใจมากขึ้น ได้รับบริการที่มีความเท่าเทียมกับการมารับบริการที่โรงพยาบาลคำชะอี

                บทเรียนที่ได้รับเป็นประสบการณ์ในการใช้ทักษะและความรู้ทางการบริหารและองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวในการจัดการและพัฒนาระบบเพื่อให้บรรลุหัวใจของการบริการปฐมภูมิคือ เป็นบริการด่านแรกที่เข้าถึงได้ง่าย (Front-line care) ให้บริการที่ต่อเนื่อง (Ongoing care) บริการที่ผสมผสาน เข้าใจความต้องการของผู้ใช้บริการ (Comprehensive care) และเป็นหน่วยที่ประสานการบริการกับบริการเฉพาะทางอื่น หรือบริการทางสังคมอื่นที่เกี่ยวข้อง (Coordinated care)

                ปัจจัยแห่งความสำเร็จประกอบด้วยภาวะผู้นำและการสร้างทีมงานที่มีความเข้าใจในประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาบริการปฐมภูมิ อีกทั้งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้การสนับสนุนในด้านนโยบาย แนวทางการปฏิบัติงาน ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงงบประมาณที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา

สรุปสาระสำคัญ              การจัดระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการ

นายแพทย์อนุวัตร  แก้วเชียงหวาง   โรงพยาบาลคำชะอี  อำเภอคำชะอี  จังหวัดมุกดาหาร โทร. 0814713306  [email protected]  http://gotoknow.org/blog/doctorcmu http://sites.google.com/site/pcunet

บทนำ

                อำเภอคำชะอี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดมุกดาหาร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าทึบและภูเขาล้อมรอบ ระยะห่างจากจังหวัด 35 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล  88  หมู่บ้าน  10,308 หลังคาเรือน  11,714 ครอบครัว สาเหตุการป่วย 3 อันดับแรกของผู้ป่วยนอกคือ โรคระบบทางเดินหายใจ  โรคระบบกล้ามเนื้อ  โรคระบบย่อยอาหาร มีสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ คือ โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง 1 แห่ง สถานีอนามัย 12 แห่ง ปัญหาหลักของระบบบริการคือ โรงพยาบาลรับภาระผู้ป่วยนอกจำนวนมากเกินภาระงานของแพทย์ที่ให้บริการ ทำให้ขาดคุณภาพของการรักษาพยาบาล ประชาชนผู้รับบริการต้องเดินทางไกลและได้รับบริการที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เสียเวลารอคอยนาน จึงเป็นเหตุผลให้เกิดโครงการการจัดระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการในเครือข่าย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร

วัตถุประสงค์

                1.เพื่อลดความแออัดในการให้บริการผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลคำชะอี 2.เพื่อจัดระบบบริการเป็นเครือข่ายในระดับสถานีอนามัย 3.เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 4.เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการแบบองค์รวมโดยสหวิชาชีพตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว

กลวิธีดำเนินการ

                โดยการใช้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการประชุมระดมความคิดเห็นและกำหนดเป็น 5 ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการดังนี้คือ

1.ยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากร  2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากร 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสาร 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการกำหนดพื้นที่รับผิดชอบส่งต่อ 5.ยุทธศาสตร์การพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชน

ผลการดำเนินงาน

                เชิงปริมาณ มีการจัดระบบเครือข่ายวง PCU ทั้งสิ้น 4 วง โดย 2 วงPCU มีการจัดบริการแบบศูนย์แพทย์ชุมชนแบบมีแพทย์บริการประจำ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์   มีพยาบาลวิชาชีพผ่านการอบรมเวชปฏิบัติทั้งสิ้น 7 คน ปฏิบัติงานประจำในโรงพยาบาล 2 คน ประจำศูนย์แพทย์ชุมชนแห่งละคน ที่เหลือประจำที่สถานีอนามัย  มีการจัดระบบยา และส่งของนึ่งปราศจากเชื้อแบบรวมศูนย์ที่โรงพยาบาล โดยมีรถรับส่งยา เวชภัณฑ์ Lab และชุดส่งนึ่งทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ผู้ป่วยเรื้อรัง 3 กลุ่มโรค (เบาหวาน,ความดัน,ไทรอยด์) ให้บริการตรวจรักษาที่ศูนย์แพทย์ชุมชน และ PCU หลักอีก 2 แห่ง

                เชิงคุณภาพ  มีการให้บริการแบบองค์รวม ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสภาพโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว  มีการค้นหากลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ (ได้แก่ เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์) เยี่ยมบ้านผู้ป่วยทุกบ่าย ยกเว้นบ่ายวันพุธ จัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Case conference โดยทีมสหวิชาชีพ การบริการในศูนย์แพทย์ชุมชนทั้ง 2 แห่ง ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้โดยมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล ใช้กรอบยาเดียวกับโรงพยาบาล มีเภสัชกรดูแลประจำหากยาขาดสามารถใช้ระบบช่องทางด่วนโดยใช้ใบสั่งยาที่ศูนย์แพทย์ฯยื่นรับยาที่ห้องยาโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องเข้าระบบผู้ป่วยนอกปกติ นอกจากนี้ในการออกเยี่ยมบ้านแพทย์สามารถออกใบสั่งยา ให้ผู้ป่วยหรือญาติสามารถมารับยาที่ศูนย์แพทย์ฯหรือโรงพยาบาลตามเวลาที่สะดวก เกิดความร่วมมือกับ อบต.ในการรับส่งผู้ป่วยกรณีส่ง  X-Ray (มีระบบแจ้งเตรียมคิวล่วงหน้าจากศูนย์แพทย์ไปยังห้องบัตร รพ.และห้อง X-Ray) และส่ง LAB ด่วน(ใช้ระบบการรายงานผลทาง E-mail ผู้ป่วยกลับมาฟังผลที่ศูนย์แพทย์ฯ) นอกจากนี้ยังเกิดการเรียนรู้ข้ามเครือข่ายกับบริการปฐมภูมิ และความรู้ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวกับเครือข่ายอื่นๆ โดยมีการแลกเปลี่ยนกันเป็นระยะและมีศูนย์กลางข้อมูลทาง Website  อภิปรายสรุปและข้อเสนอแนะ

การจัดระบบบริการโดยมุ่งเน้นงานปฐมภูมิ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความรู้และทักษะทางการบริหารประกอบกับความเข้าใจองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อให้สามารถจัดการในรายละเอียดและระเบียบที่เกี่ยวข้องได้     การทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องนับเป็นประเด็นหลักของผู้บริหารที่ต้องจัดผลักดันเรื่องใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รับรู้และเข้าใจที่ตรงกัน ประกอบกับสภาวการณ์เรื่องงบประมาณในระดับอำเภอยังเป็นปัญหาใหญ่ของโรงพยาบาลชุมชน การที่ต้องวางระบบและกำกับในรายละเอียดปลีกย่อยเป็นบทเรียนสำคัญที่ได้รับ อีกประเด็นคือทำให้ทราบว่า นิยามงานปฐมภูมิของเจ้าหน้าที่แต่ละระดับยังมีความหลากหลายต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและหล่อหลอมไปในทิศทางเดียวกัน ปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จของการจัดบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการที่สำคัญคือ การนำทางด้วยนโยบายศูนย์แพทย์ชุมชน และเสริมด้วยโครงการสนับสนุนการจัดการปฐมภูมิเครือข่าย ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ก่อให้เกิดการคิดการวางแผน การติดตามอย่างเป็นระบบ โดยมีการสนับสนุนงบประมาณเป็นตัวกระตุ้น อย่างไรก็ตามการจัดบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการของเครือข่ายอำเภอคำชะอีคงต้องมีการพัฒนาอีกค่อนข้างมากกว่าจะถึงหัวใจของปฐมภูมิดังที่ Starfield (1993) ได้ให้ความหมายของระบบริการปฐมภูมิไว้ว่าเป็นกระบวนการให้บริการที่เป็นบริการด่านแรกที่เข้าถึงได้ง่าย (Front-line care) ให้บริการที่ต่อเนื่อง (Ongoing care) บริการที่ผสมผสาน เข้าใจความต้องการขอผู้ใช้บริการ (Comprehensive care) และเป็นหน่วยที่ประสานการบริการกับบริการเฉพาะทางอื่น หรือบริการทางสังคมอื่นที่เกี่ยวข้อง (Coordinated care)

คำสำคัญ (Tags): #คำชะอี#มุกดาหาร
หมายเลขบันทึก: 387727เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท